ฮีลใจใน 6 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ที่เติมส่วนผสมของความยั่งยืน
Better Living

ฮีลใจใน 6 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ที่เติมส่วนผสมของความยั่งยืน

Focus
  • ในไทยนั้นการท่องเที่ยวชุมชนมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งชุมชนที่โดดเด่นด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต เกษตรกรรม อาหารการกิน ไปจนถึงชุมชนที่เป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งชุมชนที่มีส่วนผสมเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
  • 6 เส้นทางท่องเที่ยวที่คัดสรรมานั้นมีจุดเด่นเรื่องการลดคาร์บอน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อปลายทางคือการท่องเที่ยวในชุมชนที่ยั่งยืน

ในบางช่วงของจังหวะชีวิตการเปิดใจให้กว้างขึ้นแล้วออกเดินทางไปพบประสบการณ์ใหม่ๆ อย่าง ท่องเที่ยวชุมชน เป็นอีกหนึ่งวิธีท่องเที่ยวฮีลใจที่เติมพลังให้เราได้ไม่น้อย ในไทยนั้น การท่องเที่ยวชุมชนมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งชุมชนที่โดดเด่นด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต เกษตรกรรม อาหารการกิน ไปจนถึงชุมชนที่เป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งชุมชนที่มีส่วนผสมเรื่องความยั่งยืน เช่นเดียวกับ 6 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ที่ Sarakadee Lite อยากชวนไปปักหมุด เป็น 6 ชุมชนที่เติมส่วนผสมเรื่องความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ได้อย่างกลมกลืนและเที่ยวสนุกมาก ส่วนจะมีชุมชนไหนบ้าง ไปปักหมุดได้เลย

เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน

01 “ลีเล็ด” กินโอมากาเสะจากวัตถุดิบชุมชน

“ลีเล็ด” ชื่อนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีเพียง 10 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นสร้างชุมชนท่องเที่ยวมาจากเป้าหมายที่ต้องการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมืออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลควบคู่กับการอนุรักษ์วิถีชุมชน ที่ลีเล็ด ผู้คนยังผูกโยงวิถีชีวิตเข้ากับธรรมชาติ ตั้งแต่ “คลอง” เชื่อมต่อไปยัง “ป่าชายเลน” จนถึง “ทะเลอ่าวบ้านดอน” กลายเป็นพื้นที่แห่งคลังอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาที่ต่อยอดมาจากทรัพยากรในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกะปิ จักสาน การทำประมงพื้นบ้านโดยไม่ทำลายทรัพยากร และอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาลจากป่าเขาสู่ทะเลที่มาลีเล็ดแล้วจะไม่ลิ้มลองไม่ได้

เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน

นอกจากออกไปล่องเรือสัมผัสธรรมชาติป่าชายเลน แวะชมการทำประมงพื้นบ้านแล้ว มาที่ลีเล็ดจะขาดเรื่องอาหารการกินไปไม่ได้โดยมี Foossie Eatery House เป็นพิกัดความอร่อยตำรับลีเล็ดที่ห้ามพลาด ที่นี่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนลีเล็ดอย่าง แอ้-นุชนารถ สิงหภูติ กับไอเดียการทำร้านอาหารในสไตล์โอมากาเสะภายใต้ชื่อ Foossie Eatery House หมายถึงการรังสรรค์ภูมิปัญญาด้านอาหารตามสไตล์คนลีเล็ดโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและเครือข่ายประมงในพื้นที่ใกล้เคียง เน้นคุณภาพความสดใหม่โดยที่เชฟจะเป็นคนเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุดในแต่ละวันให้ นักท่องเที่ยวเพียงโทรจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน จากนั้นเชฟชุมชนจะออกไปคัดวัตถุดิบจากชุมชนประมงมาปรุงอาหาร พร้อมเรื่องเล่าจากชุมชนลีเล็ดที่ถ่ายทอดผ่านวัตถุดิบในแต่ละเมนูแบบคำต่อคำ เช่น มะพร้าวคั่วกุ้ง มีวัตถุดิบเด่นเป็นมะพร้าวหนัง ยำน้ำกะทิสด ซุปเย็นที่ชาวลีเล็ดนิยมกินในฤดูร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย เป็นต้น

เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน

Activities : ไม่เพียงแต่เรื่องกิน กิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชนท่องเที่ยวลีเล็ดยังมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นล่องเรือชมป่าชายเลน ชมการทำประมงพื้นบ้าน ปลูกต้นจากเพื่อเพิ่มจำนวนต้นจากในธรรมชาติ รวมทั้งการงมหอยแล้วนำมาทำเป็นเมนูมื้อค่ำที่โฮมสเตย์ซึ่งทางชุมชนมีโฮมสเตย์เปิดให้บริการอยู่ 5 หลัง และถ้าโชคดีมาในช่วงทำกะปิก็อาจจะได้ออกทะเลไปตามหาแหล่งวัตถุดิบต้นเรื่องเพื่อนำมาทำกะปิของดีชุมชน อีกไฮไลต์คือกิจกรรมมัดย้อมสีธรรมชาติจากปอทะเล ลูกจาก และเปลือกมะพร้าว

Location : ชุมชนลีเล็ด อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Contact : Foossie Eatery House และ ท่องเที่ยวโดยชุมชน ลีเล็ด โทร. 080-499-0742  (Foossie Eatery House เปิดวันศุกร์-อาทิตย์ รอบเช้า 11.00-14.00 น. และรอบเย็น 17.00 – 20.00 น.)

เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน

02 “บ้านหนองส่าน” วิถีไทเทิงภู นา ป่า คราม

ชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อ บ้านหนองส่าน ซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาภูพาน โดยมี “วิถีไทเทิงภู” เป็นเอกลักษณ์ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของวิถีไทบ้านกับธรรมชาติรอบตัว จุดเด่นของที่นี่คือความเรียบง่ายแต่มากด้วยอัตลักษณ์ของชุมชน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น รวมทั้งการทอผ้าและทำคราม และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่าง “หมิว-พรพิมล มิ่งมิตรมี” เห็นต้นทุนด้านอัตลักษณ์ของชุมชนและตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดผ่านเรื่องราวของการท่องเที่ยวในแบบที่เรียกว่า “วิถีไทเทิงภู นา ป่า คราม” ที่ออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับวิถีของคนในชุมชนและขึ้นอยู่กับฤดูกาลตามธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ความเป็นท้องถิ่นที่ไร้การปรุงแต่งน้อยที่สุด

ท่องเที่ยวชุมชน

ไฮไลต์กิจกรรม เช่น โปรแกรมหาเวียก  เรียนรู้เรื่องงานฝีมือ ทั้งการทำเส้นใยฝ้าย การย้อมสีธรรมชาติ การทำผ้าย้อมคราม พร้อมกับได้ผ้าพันคอหรือเสื้อยืดที่ทำได้ด้วยตัวเองกลับบ้าน อีกโปรแกรมคือ มีแฮง เน้นกิจกรรมเชิงสุขภาพ ผ่านอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล ให้นักท่องเที่ยวออกไปตามหาวัตถุดิบจากพื้นที่เกษตรและในป่ามาทำอาหาร ถือเป็นการออกกำลังเที่ยวชมบรรยากาศในชุมชน การเรียนรู้การทำนา และปิดท้ายด้วยการนวดผ่อนคลายในแบบอีสานโบราณ “กดหนัก กดเน้นๆ จนต้องร้องโอ้ว มีแฮง” หรืออย่าง โปรแกรมสัมมะปิ (แปลว่า หลายอย่างปนๆกัน) ก็เป็นการออกแบบกิจกรรมตามความสนใจของนักท่องเที่ยว เพื่อให้ตรงกับประสบการณ์ในการเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวมากที่สุด

ท่องเที่ยวชุมชน

Activities : ปัจจุบันกิจกรรมท่องเที่ยวที่ชุมชนออกแบบเพื่อให้สอดรับกับบริบทชุมชนและการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ 1)กิจกรรมเรียนรู้ตามวิถีไทเทิง ภู นา ป่า คราม ในลักษณะของ One day trip และ Half day trip 2) เวิร์กช็อปเรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับผ้าและครามในลักษณะ Long stay ที่นักท่องเที่ยวจะต้องมาอยู่ มากิน มาเรียนรู้กับปราชญ์ท้องถิ่นเป็นเวลา 3-7 วัน นอกจากเรื่องของการท่องเที่ยวแล้วชุมชนบ้านหนองส่านยังมีการพัฒนาต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การพัฒนาลายปักในผ้าย้อมสีธรรมชาติ การพัฒนาผ้าทอสีธรรมชาติ ผ้าย้อมคราม และการทำสีธรรมชาติ

Location : บ้านหนองส่านอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร

Contact : ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน โทร. 062-428-2247

ท่องเที่ยวชุมชน

03 ล่องใต้ไปตามหา “Fine Robusta ชุมพร”

 “ชุมพร” เป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสตามากที่สุดของประเทศไทย โดยพื้นที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอท่าแซะ สวี พะโต๊ะ และตัวเมืองชุมพร แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าในรูปแบบของกาแฟที่แปรรูปแล้วเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป พร้อมที่จะนำไปใช้เบลนด์กับกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าเพื่อสร้างเรื่องราวของรสชาติใหม่ให้กับกาแฟ แต่ที่จริงแล้วโรบัสต้าเองก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากมีการปลูกอย่างใส่ใจ เก็บอย่างพิถีพิถัน ผ่านกระบวนการที่ดี ไม่ว่าจะควบคุมการตาก คัดสรรเมล็ดสารที่มีคุณภาพ เข้าใจเรื่อง Roast Profile ไปจนถึงมีวิธีการชงที่เข้าใจในคาแรกเตอร์กาแฟโรบัสต้าโดยเฉพาะ

ท่องเที่ยวชุมชน

และเพื่อยกระดับการผลิตกาแฟโรบัสต้าแบบเก่าให้เป็นกาแฟคุณภาพหรือ “Fine Robusta” ซึ่งตอนนี้ได้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในชุมชนเริ่มรวมตัวกันและหันกลับมาพัฒนากาแฟโรบัสต้าในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อยกระดับมูลค่าของราคากาแฟโรบัสต้าในท้องถิ่นให้สูงขึ้น ครบวงจรตั้งแต่กระบวนการ “จากต้น จนจิบ”  สำหรับใครที่มีแพลนล่องใต้ไปตามหา “Fine Robusta” ที่ชุมพร เราปักเช็กลิสต์กลุ่ม “Fine Robusta” ในอำเภอต่างๆ ไว้ให้ในโพสต์นี้แล้ว

ท่าแซะ : “สวนกาแฟลุงไข่” ของคุณแขก ธนาสิทธิ์ สอนสุภา สวนกาแฟที่ปลูกภายใต้แนวคิดเกษตรอินทรีย์ การันตีด้วยรางวัลกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ จาก Thai Coffee Excellence, The Finest Robusta Thailand และ Best of Chumphon

เมืองชุมพร : “ร้านกาแฟสวนนิลเขียว” 1 ในร้านกาแฟที่ดีที่สุดในชุมพรกับกาแฟโรบัสต้าคุณภาพที่มาจากสวนของตัวเอง ผ่านกระบวนการโพรเซส การคั่ว และการชงอย่างใส่ใจในรสชาติกาแฟ

สวี : เส้นทางลับผ่านไปยังระนอง ลองแวะ “Hubkafae หุบกาแฟ” Home roasting เล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โอบล้อมไปด้วยภูเขา เสมือนห้องเรียนเล็ก ๆ ที่เรียนรู้เรื่องราวของกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ “จากต้นจนจิบ” แต่จะเปิดเป็นช่วงเวลาเท่านั้น ใครสนใจเข้าไปเยือนต้องสอบถามล่วงหน้าไปทางเพจ

พะโต๊ะ : Momento Coffee Roaster ร้านกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งร้านลับของผู้ที่เดินทางผ่านทางพะโต๊ะไประนอง บาริสต้าที่นี่คัดสรรเมล็ดกาแฟตั้งแต่กระบวนการโพรเซส คั่วเอง ไปจนถึงการชงที่ใส่ใจ เพื่อให้ได้รสชาติกาแฟที่เป็นเอกลัษณ์ บรรยากาศร้านร่มรื่น มีเมล็ดกาแฟคั่วจากหลายแหล่งให้เลือก

ละแม : อำเภอท้ายสุดของชุมพร ควรต้องแวะ KIM Coffee Home Roaster ร้านกาแฟที่เจ้าของร้านเป็น Q Robusta Graders ซึ่งแน่นอนคุณภาพมาตรฐานต้องมาอันดับหนึ่ง การคัดสรรเมล็ดกาแฟจากเครือข่ายเกษตรผู้ปลูก และความมุ่งมั่นในการพัฒนากาแฟ ส่งผลให้กาแฟโรบัสต้ามีคาแรกเตอร์ที่หลากหลาย

04 “AriAround” ซอกแซกอารีย์แบบใส่ใจโลก

นอกจากอารีย์ จะได้ชื่อว่าเป็นย่านฮิปที่เป็นแหล่งรวมของคาเฟ่ บาร์และร้านอาหาร ชาวอารีย์ยังบอกอีกว่า ย่านนี้มีของดีมากกว่านั้น และหนึ่งในสิ่งที่ชาวอารีย์คอยสื่อสารกิจกรรมดีๆ ให้กับคนในย่านและนอกย่านได้เข้าร่วมอยู่เป็นประจำก็คือ AriAround แพลตฟอร์มที่ก่อตั้งโดยกลุ่มอาสาสมัคร นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และดีไซเนอร์ชาวอารีย์ ซึ่งไม่เพียงแต่การรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนการพัฒนาพื้นที่ย่านอารีย์เท่านั้น AriAround ยังคิดค้นแอปพลิเคชันนำพาให้เราผู้อยู่นอกย่านอารีย์ได้เชื่อมโยงและซอกแซกเที่ยวชุมชนกลางเมืองแห่งนี้ได้สนุกขึ้น โดยมีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนถักทออยู่เบื้องหลัง

แล้วแอปพลิเคชันนี้ทำอะไรได้บ้าง ? ต้องบอกก่อนว่าแอปพลิเคชัน AriAround ที่เปิดให้ใช้งานอยู่ตอนนี้เป็นเบต้าเวอร์ชันที่กำลังพัฒนาต่อ แต่มีฟังก์ชันที่น่าสนใจและสามารถใช้งานได้แล้วคือการแลกเปลี่ยน AriCoin หรือเหรียญดิจิทัลที่จะได้มาเมื่อเรามีความอารี เริ่มเฟสแรกด้วยความอารีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการจัดการขยะ ที่หากเรานำวัสดุรีไซเคิลอย่าง ขวดพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียมและหนังสือที่สามารถบริจาคได้ไป Drop-Off ที่ Ari-Around Station ตามจุดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในย่านก็จะได้รับเหรียญ AriCoin มาสะสมเป็นการตอบแทนความใจดีที่มีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

แม้ AriCoin จะไม่ได้มีมูลค่าทางการเงินให้สามารถซื้อขายได้ แต่หากใครมีเหรียญสะสมไว้อยู่ก็สามารถนำไปแลกรับความอารีจากพาร์ตเนอร์ของ AriAround ได้ตามแผนที่ท่องเที่ยวย่านอารีย์ในแอปพลิเคชัน แถมจุดนี้ยังนำพาเราไปสำรวจโลเคชันใหม่ๆ ในย่านอารีย์ได้อีกด้วย ถือเป็นการท่องเที่ยวชุมชนเมืองแบบขั้นสุดผ่านกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่ไม่น่าเบื่อเลย เช่น LaLiart (ละเลียด) ซอยอารีย์สัมพันธ์ 10 ร้านกาแฟที่มีเค้กแครอทเป็นเมนูยอดฮิต ก็เคยร่วมจัดกิจกรรมแบ่งปันต้นอ่อนฟิโลเดนดรอนให้กับผู้ที่สะสม AriCoin ถึง 100 เหรียญ เพราะที่นี่เป็นทั้งคาเฟ่ ร้านชำสินค้าออร์แกนิกและพื้นที่สำหรับกิจกรรมเวิร์กช็อป ฝั่งไลฟ์สไตล์ใครที่ขับรถไปเองแล้วกังวลว่าจะหาที่จอดยากก็สามารถนำเหรียญไปแลกที่จอดรถเป็นเวลา 1 ชั่วโมงได้กับโครงการ The Hub Phahol – Ari แล้วเดินเท้าเที่ยวในย่านต่อหรือเรียกรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า Muvmi ที่มีจุดบริการรับ-ส่งในย่านอารีย์แบบทั่วถึงเพื่อเดินทางต่อได้เช่นกัน

ใครเป็นสายกิจกรรมบอกเลยว่าตารางกิจกรรม AriAround แน่นทุกเดือน โดยเฉพาะกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำอย่าง Ari Eco Walk ที่จะพาเราไปสำรวจมุมใหม่ๆ เพื่อพบกับความหลากหลายทางชีวภาพของย่านอารีย์ กิจกรรมนี้ใช้ 300 AriCoinในการเข้าร่วม AriCoin เลยเป็นเหรียญอารีที่เชื่อมโยง 3 สิ่งหลักเข้าไว้ด้วยกันนั่นคือเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างการจัดการขยะ เศรษฐกิจหมุนเวียนและคนในชุมชนที่มาร่วมกันแบ่งปันทักษะของตัวเองให้กับเพื่อนบ้าน

Contact : ติดตามกิจกรรมและพิกัดร้านที่ร่วมในโปรเจกต์ AriAround https://www.facebook.com/AriAroundTH และ www.instagram.com/ari.around/ 

05 “PILA Farm Studio” ฟาร์มเกษตรจัดจ้านด้วยงานดีไซน์

จากดีไซเนอร์แบรนด์ PILA Studio ที่ใช้ชีวิตทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มาตลอดตั้งแต่หลังเรียบจบปริญญาตรี แต่วันหนึ่งเมื่อชีวิตพลิกและมีเหตุให้ต้องกลับบ้านที่เป็นผืนดินเกษตรกรรมในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างถาวร แบรนด์รัฐวิสาหกิจชุมชนที่โดดเด่นตั้งแต่ชื่อไปจนถึงดีไซน์ PILA Farm Studio จึงเกิดขึ้นภายใต้พลังเต็มเปี่ยมของคนหล่มสักรุ่นใหม่อย่าง ตั้ม-นิพนธ์ พิลา ที่ไม่ต้องการเห็นราคาพืชผลการเกษตรต้องตกต่ำโดยที่เกษตรกรผู้ผลิตไม่มีทางเลือกได้

แต่ด้วยความที่ไม่ใช่อาชีพเกษตรเต็มตัว ตั้มจึงใช้ทักษะที่เขาถนัด นั่นคืองานดีไซน์มาแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตร ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปสร้างมูลค่าใหม่ให้กับสินค้าเกษตรแบบเดิม ไม่นานแบรนด์สินค้าการเกษตร PILA Farm Studio ก็เริ่มสร้างชื่อในตลาดด้วยแพ็กเกจน่าซื้อหา ขยายไลน์จากข้าว ใบยาสูบ มาสู่เทียนหอม บางครั้งก็เอาพลาสติกที่เหลือใช้มาทำรองเท้า นำไม้มะขามที่จะถูกโค่นทิ้งไปทำถ่านมาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็นเขียงไม้ที่หาซื้อได้เฉพาะที่เพชรบูรณ์ พร้อมกันนั้นยังเริ่มชวนเกษตรกรในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกด้วยเคมีมาเป็นออร์แกนิกและอินทรีย์ ซึ่งตั้มไม่ได้ทำงานด้านอบรม แต่เขาลงมือทำให้เห็นไปเลยว่าของดีของปลอดสารเคมีเหล่านี้ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด และล่าสุดกับโปรเจกต์ใหม่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในราวกลางเดือนตุลาคมนี้ในชื่อ STAY PILAFarm

ตัวอย่างบ้านพัก STAY PILAFarm

STAY PILAFarm โครงการหมู่บ้านฟาร์มสเตย์ออร์แกนิก เน้นงานออกแบบดีไซน์ด้วย “สัจจะวัสดุ” เป็นการบรรจบกันของภาคเกษตร ดีไซน์ ไลฟ์สไตล์ ชุมชน และความยั่งยืน โดยใช้ไม้วัสดุที่เหลือใช้จากในพื้นที่ร่วมกับสังกะสีเป็นโครงสร้างหลักของบ้านพักแต่ละหลัง ถอดแรงบันดาลใจมาจากเพิงหรือกระต๊อบมุงสังกะสีเล็กๆ ในท้องนา จัดวางโฮมสเตย์กลางฟาร์มออร์แกนิกทั้งหมด 7 หลัง อีกทั้งยังวางระบบการจัดการขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว ที่สำคัญพนักงานทั้งหมดของ STAY PILAFarm ก็คือคนในพื้นที่และสมาชิกเครือข่ายรัฐวิสาหกิจชุมชน โดยผู้ที่เข้ามาพักสามารถเลือกได้ว่าจะเข้ามานอนชิลรับลมหนาวหรือจะแวะไปเรียนรู้เรื่องการเกษตรยั่งยืนที่ไม่ได้เป็นคลาสเรียนรู้แบบเคร่งเครียด แต่จะเป็นการส่งต่อความรู้เกษตรยั่งยืนผ่านเวิร์กช็อปสนุกๆ มีฟาร์มตัวอย่างที่ทำได้จริงในพื้นที่เล็กๆ ให้ได้เห็น ที่สำคัญการเปิดฟาร์มเกษตรท่องเที่ยวครั้งนี้ยังทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เห็นว่าการเกษตรแบบยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ

Location : หมู่บ้านโสกเดื่อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

Contact: โทร. 089-449-1949 facebook.com/pilafarmstudio

06 นั่งเรือกอนโดลาดีไซน์ “บ้านสลักคอก”

ใครว่าเที่ยวภาคตะวันออกต้องไปเฉพาะฤดูร้อนถึงจะเห็นฟ้าใส แดดสวย ได้ชิมอาหารทะเลสดอร่อย จริงๆ แล้วภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดตราดในฤดูฝนนั้นเขียวฉ่ำด้วยพื้นที่ป่าชายเลนและเป็นป่าชุมชนที่สามารถออกไปท่องเที่ยวได้สนุกมาก เช่นเดียวกับ “ชุมชนบ้านสลักคอก” เกาะช้างที่ชวนนักท่องเที่ยวไปสัมผัสโมเมนต์พิเศษในการท่องเที่ยวป่าโกงกางด้วยเรือพื้นบ้านที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ ไม่เพิ่มปริมาณคาร์บอน แต่สามารถสร้างประสบการณ์ความโรแมนติกฉบับชาวเกาะได้อย่างน่าจดจำ

บ้านสลักคอกคือชุมชนชาวประมงในแนวโอบล้อมของป่าชายเลนผืนใหญ่สุดบนเกาะช้าง เปรียบเสมือนกำแพงธรรมชาติช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง ทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ สมัยก่อนชาวสลักคอกใช้เรือมาดเป็นพาหนะหลักในการลัดเลาะไปตามลำคลองป่าชายเลน แต่เมื่อมีรถ เรือใช้งานน้อยลง จนปี พ.ศ. 2548 ชาวชุมชนได้ร่วมกันก่อตั้งชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกและนำเรือมาดกลับมาจากเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนอีกครั้ง พร้อมจัดกิจกรรมแจวเรือชมธรรมชาติรอบปากอ่าว และเพื่อให้เก๋ไก๋นายท้ายเรือก็ใส่ชุดย้อนยุคและยืนแจวแบบโบราณจนเป็นที่กล่าวขานถึง แล้วเรือมาดก็ได้รับชื่อใหม่ว่า เรือกอนโดลาแห่งเกาะช้าง เปรียบกับเรือพายในเมืองเวนิส อิตาลี

เรือมาดลำย่อมมีที่นั่งให้เอนหลังรับลมเย็น ๆ ค่อย ๆ พาเราไปสัมผัสป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดของเกาะสองฝั่งน้ำมีแนวโกงกางแผ่กิ่งใบเขียวขจี บางคนยังได้เห็นปลาตีน ปูก้ามดาบ ลิงแสม และนกหลายชนิด ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบนิ่ง มีเพียงเสียงใบพายกระทบน้ำ เรารู้สึกเหมือนเวลาหยุดหมุน รู้สึกสงบ สบาย เปี่ยมสุข เมื่อพ้นแนวป่าชายเลนก็พบเวิ้งอ่าวขนาดใหญ่ นายท้ายจะแวะจอดที่สันทรายให้เราลงเดินชมบรรยากาศปากอ่าวนอกฤดูฝนเรือมาดบริการในช่วงเย็นด้วย นักท่องเที่ยวจะได้นั่งชิมอาหารค่ำบนเรือพร้อมชมพระอาทิตย์ตก แสงเทียนบนเรือสว่างวิบวับดูโรแมนติก บางคืนอาจพบหิ่งห้อยกะพริบไฟดวงน้อย ๆ ทักทายตลอดทาง

Activities : ที่นี่มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้นักท่องเที่ยวสายกรีนได้ออกกำลังกายกับการพายเรือคายักชมระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของป่าชายเลน รวมทั้งโฮมสเตย์นอนในชุมชน เข้าไปเรียนรู้ประมงพื้นบ้านที่รบกวนท้องทะเลให้น้อยที่สุด และไฮไลต์สุดโรแมนติก แน่นอนว่าต้องเป็นการล่องเรือมาดชมธรรมชาติบริเวณปากอ่าวสลักคอก เรือมาดหรือเรือแจวลำเล็กที่ยังใช้คนพายโดยไม่พึ่งแรงขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ นอกจากจะช่วยลดการใช้น้ำมันแล้วยังทำให้ได้เห็นระบบนิเวศชัดเจนมากขึ้น

Location : บ้านสลักคอก อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

Contact : ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก โทร. 087-748-9497


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite