LIT ปลุกสวนลับใต้สะพานพระปกเกล้า จุดเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะสู่การใช้งานจริง
Better Living

LIT ปลุกสวนลับใต้สะพานพระปกเกล้า จุดเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะสู่การใช้งานจริง

Focus
  • LIT โปรเจคต์โดย กรุงเทพมหานคร Urban Ally และ Cloud Floor ที่มุ่งสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะบริเวณใต้สะพานพระปกเกล้า ด้วยเห็นว่าเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโยงจุดหมายสำคัญ อาทิ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาและคลองโอ่งอ่าง
  • LIT เป็นการจัดแสดงไฟที่นอกจากอยากกระตุ้นให้เกิดการรู้จักพื้นที่มากขึ้น ยังมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะต่อไปในอนาคต

ในยามที่เราต้องการพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้ได้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าหรือทำกิจกรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์ สวนสาธารณะถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในหลายด้าน แต่ปัจจุบันการมีพื้นที่สาธารณะที่ควรจะเข้าถึงได้ง่ายและไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้กลับกลายเป็นพื้นที่ซึ่งห่างไกลไปจากตัวเลือกในแต่ละวัน ไม่ว่าจะด้วยการกระจายตัวของพื้นที่หรือถูกละเลยการมองเห็นจนพื้นที่สาธารณะที่มีโอกาสพัฒนากลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างที่ควรจะเป็น Urban Ally แพลตฟอร์มที่มุ่งสร้างนิเวศการเรียนรู้เมืองแบบใหม่ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการเดินหน้าวิจัยและพบว่าสวนสาธารณะใต้สะพานพระปกเกล้าที่เข้าถึงได้ยากในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพเพราะนอกจากตัวพื้นที่ของสวน ยังสามารถเชื่อมโยงจุดหมายสำคัญโดยรอบอีกหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานคร และ Make It Happen Lab กลุ่มวิจัยด้านการแปลงเมือง โดย Urban Ally จึงชักชวน Cloud Floor กลุ่มสถาปนิกที่มีความสนใจในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ มาร่วมปลุกชีวิตให้แก่สวนแห่งนี้ เกิดเป็น LIT โปรเจกต์แสงสีที่มุ่งนำทางให้ผู้คนเข้ามารู้จักกับพื้นที่และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ต่อไปในอนาคต

ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย

“โจทย์ของการออกแบบครั้งนี้เป็นการทำให้เกิดการเชื่อมพื้นที่ในตอนกลางคืนของบริเวณคลองโอ่งอ่างจนถึงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา โดยคลองโอ่งอ่างได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ช่วงของพื้นที่ที่จะขึ้นไปยังสะพานสวนลอยฟ้าเจ้าพระยายังขาดช่วงในการพัฒนาเส้นทางการเดินในตอนกลางคืน จึงเป็นที่มาของโครงการว่าจะใช้แสงไฟเป็นตัวช่วยนำทางในบริเวณจุดเชื่อมต่อของสองส่วนนี้เข้าหากัน โดยสภาพพื้นที่ในปัจจุบันมีสวนสาธารณะใต้สะพานพระปกเกล้าเป็นตัวคั่นกลางระหว่างคลองโอ่งอ่างกับสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาอยู่ ซึ่งตอนกลางคืนทางเข้ายังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร บางคนเลยอาจจะยังไม่ค่อยรู้ว่าจริง ๆ แล้วสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ จึงเป็นที่มาของการทำไลต์ติงบริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานพระปกเกล้า” ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Cloud Floor กล่าว

ในการออกแบบไลต์ติงสำหรับจัดแสดงในครั้งนี้ ฟิวส์กล่าวว่าเป็นเหมือนเฟสเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะทั้งสองแห่งในช่วงเทศกาลลอยกระทง พ.ศ.2564 หรือปีใหม่ที่กำลังมาถึง เลยริเริ่มจากการติดตั้งแสงไฟในตอนกลางคืน ซึ่งสำหรับการพัฒนาในอนาคตทางโครงการยังคงมีการวิเคราะห์มองหาแนวทางผลักดันเพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้ง่ายทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน

“LIT เป็นเหมือนการจุดประเด็นให้คนเห็นว่าสองพื้นที่นี้สามารถเชื่อมต่อกันได้ หรือรับรู้ว่ามีสวนใต้สะพานพระปกเกล้าอยู่บริเวณนั้นและเป็นสวนสาธารณะจริง ๆ ที่สามารถไปพักผ่อนหย่อนใจได้ หรืออนาคตอาจจะพัฒนาเป็นฟังก์ชันอื่น ๆ เช่นลานกีฬาก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นแสงไฟเหล่านี้หน้าที่หลักของมันนอกจากการช่วยเชื่อมต่อพื้นที่เข้าหากัน อีกนัยหนึ่งคือการทำให้คนรู้จักและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้นด้วย” ฟิวส์กล่าวเสริม

Secret Garden คือคอนเซปต์ที่ถูกพูดถึงในส่วนของการออกแบบไลต์ติง จากการตีความถึงสวนที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ฟังก์ชันของสีสันจากไฟที่ประดับจึงขยายไปสู่การติดตั้งและดีไซน์แสงไฟเพื่อให้กระจายไปทั่วทั้งพื้นที่ของสวนสาธารณะ คล้ายการฉายภาพให้ส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม เช่น สวนต้นไม้ น้ำพุหรือทางเดิน ให้มีความชัดเจนขึ้น ถูกค้นพบและมีความหมายขึ้นมาอีกครั้ง 

“จริง ๆ ไลต์ติงนี้เป็นเหมือนโครงการระยะสั้นที่อยากช่วยกระตุ้นให้เกิดการรู้จักพื้นที่มากขึ้น ทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะได้มาเห็นความสำคัญว่าพื้นที่นี้สามารถพัฒนาต่อไปได้ รวมถึงประชาชนที่จะได้รู้ว่าสามารถเดินเข้าออกพื้นที่นี้ได้ ทำให้สวนสาธารณะเกิดการใช้งานที่เป็นสาธารณะจริง ๆ”

Fact File

  • LIT จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เริ่มแสดงไฟเวลา 18:00 – 22:00 น.
  • รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Urban Ally หรือ Cloud-floor

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ