อาหารแห่งความห่วงใย ส่งตรงจาก แมนดาริน โอเรียนเต็ล ถึงทีมแพทย์แนวหน้า
Better Living

อาหารแห่งความห่วงใย ส่งตรงจาก แมนดาริน โอเรียนเต็ล ถึงทีมแพทย์แนวหน้า

Focus
  • อาหารแห่งความห่วงใย เป็นโปรเจ็กต์เร่งด่วนในช่วงโควิด-19 ที่ทาง โรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ทำขึ้นโดยจะส่งอาหารกล่องไม่ต่ำกว่าวันละ 700 ชุด ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาด เป็นระยะเวลา 2 เดือน
  • โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เป็นเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยามาร่วม 144 ปี หลังจากชะงักไปเพราะโควิด-19 ตอนนี้ทางโรงแรมกำลังจะกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้

เป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ายินดีและควรค่าแก่การบอกต่อมาก ๆ เมื่อเราได้รู้ข่าวว่า โรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ จัดทำโปรเจ็กต์ อาหารแห่งความห่วงใย ส่งอาหารกล่องไม่ต่ำกว่าวันละ 700 ชุด ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาด ซึ่งเป็นอีกโรงพยาบาลที่ทุ่มกำลังอย่างหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งทำงานอื่นๆ เพื่อลดการระบาดของ โควิด-19

อาหารแห่งความห่วงใย

อาหารแห่งความห่วงใย เป็นการส่งอาหารกล่องไปยังทีมแพทย์ในระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งทุกวันยาวไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน โดยไม่มีเงื่อนไข และถ้าหากถามว่าทำไมเราถึงตื่นเต้นกับอาหารแห่งความห่วงใย คำตอบคือในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวในขณะนี้ถูกทุบลงมาจนแทบเป็นศูนย์ โรงแรม รีสอร์ต ทั่วทั้งประเทศต่างปิดบริการชั่วคราว ไหนจะลดจำนวนพนักงานอีก แม้บางโรงแรมจะเริ่มกลับมาให้บริการแล้วแต่รายได้ก็ไม่ได้กลับมาเต็มร้อยอย่างแน่นนอน ซึ่งอาหาร 700 ชุดต่อวันนั้นถ้านับเป็นต้นทุนการผลิต และการใช้กำลังพนักงานในการทำงานก็ต้องบอกว่าไม่น้อยเลย

อาหารแห่งความห่วงใย

ที่สำคัญด้วยความที่ โรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมเก่าแก่ที่อยู่คู่ริมน้ำเจ้าพระยามา 144 ปี อีกทั้งยังรวมร้านอาหารเบอร์ท็อปของกรุงเทพฯ ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ อยู่ในที่เดียว การคิดจะทำอาหารกล่องแบบฉบับแมนดาริน โอเรียนเต็ล จึงต้องผ่านการระดมไอเดียจากเชฟใหญ่ของห้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เชฟป้อม จากห้องอาหาร เทอเรซ ริมน้ำ เชฟอาโน ดูนัง โซทีเอร์ จากห้องมิชลิน 2 ดาวอาหาร เลอ นอร์มังดี รวมทั้งหัวเรือใหญ่ เชฟโดมินิค บูเนียวด์ หัวหน้าพ่อครัวของโรงแรม

ผลที่ออกมาคือแม้จะเป็นอาหารกล่องแต่ก็ยังคงคาเรคเตอร์ของแต่ละห้องอาหารไว้ได้ ทุกเมนู จะมีเครื่องเคียง มีการจัดแต่งอาหาร ทั้งยังใช้บรรจุภัณฑ์เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ งานนี้เราจะได้เห็นข้าวผัดแมนดาริน เมนูคลาสสิกของห้องอาหารเดอะ เวอรันด้า แปลงมาเป็นอาหารกล่อง โดยปกติเมนูนี้จะเสิร์ฟคู่กับ ไก่สะเต๊ะ แต่เมื่อแปรมาเป็นอาหารกล่อง ก็มีการปรับจากไก่สะเต๊ะเป็น ไก่ห่อใบเตย เพื่อให้ง่ายในการกิน

อาหารแห่งความห่วงใย

ส่วน ข้าวผัดพริกแกงเขียวหวานไก่ จากเชฟป้อม ก็แปลงมาจากเมนูแกงเขียวหวานซิกเนเจอร์ของเชฟ ผู้ขึ้นชื่อว่ามีความละเมียดในการปรุงอาหารไทยมากๆ สำหรับเมนูนี้เชฟยังคงใช้พริกแกงเขียวหวานสูตรคุณยาย นำมาปรุงเป็นเมนูข้าวผัด แทนที่จะเป็นแกงกะทิ ซึ่งไม่ค่อยทนต่อการทำเป็นอาหารกล่องมากนัก

ส่วนเชฟมิชลินสตาร์สองดาวอย่าง เชฟอาโน ดูนัง โซทีเอร์ก็ยังคงนำเสนอเมนูอาหารฝรั่งเศสซึ่งเป็นสูตรต้นตำรับคุณแม่ Poulet en Cocotte หรือไก่อบสมุนไพรหม้อดินราดซอสเห็ดเสิร์ฟคู่ผักจากโครงการหลวง เมนูนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากอาหารจานโปรดในช่วงฤดูร้อนตอนวัยเด็กของเชฟ แต่ปรับเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบจากในประเทศไทย เรียกว่าเป็นการส่งความสุขผ่านอาหารให้ทีมแพทย์อย่างจัดเต็มกันเลยทีเดียว

แมนดาริน โอเรียนเต็ล

อีกเมนูที่ไม่ใช่แค่อาหารหรือความอร่อย ทว่ายังสามารถเล่าสถานการณ์ช่วงนี้ได้เป็นอย่างดีคือ Crazy Water ปลากะพงในซอสมะเขือเทศผสมหญ้าฝรั่นและมันฝรั่ง ของเชฟโดมินิค เชฟเลือกใช้ปลากระพงไทยปรุงในสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน เชฟโดมินิคให้เหตุผลในการตั้งชื่อเมนูนี้ว่า Crazy Water  เพราะในสถานการณ์ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนักเสมือนกำลังตกอยู่ในท้องทะเลที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก

แมนดาริน โอเรียนเต็ล

ตอนนี้ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ได้คาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน โดยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบ อาหารแห่งความห่วงใย เพื่อส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ได้ โดยทางโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ จะนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการเข้าพัก รับประทานอาหาร หรือ ใช้บริการจัดส่งอาหารของโรงแรมฯ ไปยังที่บ้านพัก สมทบเป็นทุนสนับสนุน อาหารแห่งความห่วงใย


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์