เปิดเบื้องหลังขั้นตอน สัตว์ทดลอง กลไกสำคัญงานวิจัย วัคซีนโควิด-19
Better Living

เปิดเบื้องหลังขั้นตอน สัตว์ทดลอง กลไกสำคัญงานวิจัย วัคซีนโควิด-19

Focus
  • ในการผลิต วัคซีนโควิด-19 นั้นนอกจากทีมนักวิจัยแล้ว สัตว์ทดลอง คืออีกหนึ่งกลไกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทดลองและคิดค้นวัคซีน
  • การวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยทีมนักวิจัยไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2563 และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลองประเภท ไพรเมท หรือ ลิง

ในการผลิต วัคซีนโควิด-19 นั้นนอกจากทีมนักวิจัยแล้ว สัตว์ทดลอง คืออีกหนึ่งกลไกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทดลองและคิดค้นวัคซีน สำหรับในประเทศไทยเองนั้นปัจจุบันมีการวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยทีมนักวิจัยไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 3 ชนิดวัคซีน และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลองประเภท ไพรเมท หรือ ลิง โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังสัตว์ทดลองเหล่านี้ก็คือ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ดูแล สัตว์ทดลอง เบื้องหลังการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของคนไทยโดย “ทีมไทยแลนด์”

สัตว์ทดลอง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ไม่ใช่ภาพจากสถานที่จริง

กระบวนการคัดเลือก สัตว์ทดลอง

หลังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทีม ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องทำงานหนักขึ้น ภายใต้กรอบของความไม่พร้อมเชิงโครงสร้างบางอย่าง เพราะตอนนี้ทางศูนย์ฯ มีการทำงานด้านวิจัยวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยคนไทยอยู่ 3 ชนิดวัคซีนด้วยกัน ได้แก่ mRNA, วัคซีนจากโปรตีนพืชใบยาสูบ และดีเอ็นเอวัคซีน

โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทีมงาน ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ ต้องทำงานอย่างหนักแข่งกับเวลา เพื่อทำการวิจัยวัคซีนในขั้นตอนที่ใช้ใน สัตว์ทดลอง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพยายามปรับปรุงเทคโนโลยี พร้อมกับห้องทดลอง เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ

สำหรับการเลือก สัตว์ทดลอง ที่มาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ทาง ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ต้องคัดเลือกสัตว์ที่มีลักษณะการติดเชื้อซึ่งแสดงอาการเหมือนมนุษย์ เพราะสัตว์บางชนิดไม่สามารถแพร่เชื้อด้วยอาการไอเหมือนคนได้ ดังนั้นการวิจัยวัคซีนโควิด-19 จึงเลือกใช้ ลิง ที่มีสรีระกายวิภาคใกล้เคียงมนุษย์ อีกทั้งโรคระบาดหลายชนิดที่เกิดขึ้นในมนุษย์ มักแพร่กระจายไปสู่ลิงได้ ที่สำคัญภูมิคุ้มกันของลิงมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ ดังนั้นลิงจึงเป็นสัตว์ที่นิยมนำมาทดลองในการวิจัยวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนโควิด-19

โดยปกติแล้วลิงที่นิยมนำมาเป็นสัตว์ทดลองคือ ลิงวอก พบมากในหลายพื้นที่ทั่วโลก ลิงชนิดนี้มีข้อมูลการวิจัยด้านต่างๆ อยู่เยอะ และหากย้อนดูข้อมูลจะพบว่า ลิงวอกถูกนำมาเป็นสัตว์ทดลองที่ศูนย์วิจัยของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ.1964

ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ
ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนลิงที่ทาง ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ใช้เป็นสัตว์ทดลองวัคซีนโควิด-19 คือ ลิงแสม ที่ตอนนี้ศูนย์วิจัยทั่วโลกเริ่มมีการนำมาทดลองมากขึ้น เนื่องจากเป็นลิงที่มีการสืบพันธุ์ตลอดปี แพร่กระจายมากในเอเชีย ที่สำคัญลิงแสมตัวเมียมีรอบเดือนเหมือนมนุษย์ เช่นเดียวกับระบบฮอร์โมนของลิงแสมที่เหมือนมนุษย์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของลิงคล้ายกับระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มากที่สุดในบรรดาสัตว์ทดลองชนิดอื่นๆ ดังเช่นการใช้ลิงแสมเป็น สัตว์ทดลอง จนสามารถผลิตยาคุมกำเนิดที่มนุษย์ใช้แพร่หลายในปัจจุบันได้สำเร็จ แต่ไม่ใช่ว่าลิงทุกตัวจะสามารถนำมาเป็นสัตว์ทดลองได้ โดยเฉพาะลิงป่าจะไม่สามารถนำมาใช้ในการทดลอง เพราะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่คน และนั่นจึงทำให้ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติมีศูนย์เพาะพันธุ์ลิงเพื่อการทดลองโดยเฉพาะ

สัตว์ทดลอง
การทำงานภายในศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความล่าช้าทำให้ต้องเริ่มพัฒนา

การทดลองวัคซีนโควิด-19 ในสัตว์ทดลองทางการแพทย์เรียกว่า Non Clinical โดยขั้นตอนแรกนักวิจัยจะต้องทำการทดลองในหลอดทดลอง จากนั้นมาวิจัยในสัตว์ทดลองขนาดเล็ก เช่น หนูตะเภา เมื่อได้ผลที่ดีจึงจะนำมาวิจัยในสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ลิง โดยในการวิจัยวัคซีนโควิด-19 นี้ ทีมวิจัยต้องดูผลของการทดลอง หากได้ผลดีในลิง จึงจะทำการทดลองในมนุษย์ที่จะแบ่งเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกทดลองในคนจำนวนน้อย ต่อมาทดลองในคนที่กลุ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งในเฟสสุดท้ายจึงจะทดลองในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิด-19

ในขั้นตอนการใช้สัตว์ทดลอง ต้องใช้สัตว์ทดลองในจำนวนที่น้อยที่สุด ให้ผลการทดลองดีที่สุด โดยใช้ลิงที่มีอายุโตเต็มวัย เพศเดียวกัน เพื่อนำผลทดลองวัคซีนมาเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะต้องมาเปรียบเทียบกับลิงกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน และต้องตรวจดูว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีหรือไม่

สัตว์ทดลอง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ไม่ใช่ภาพจากสถานที่จริง

สำหรับวัคซีนโควิด-19 โดยนักวิจัยไทยที่นำมาทดลองที่ศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ ตอนนี้อยู่ในเฟสทำการทดลองในลิง โดยการฉีดวัคซีนและได้ผลพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้ทดลองในสัตว์ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 เนื่องจากขั้นตอนนี้ต้องใช้ห้องทดลองที่เป็นห้องปฏิบัติการระดับสูง ที่มีความปลอดภัยระดับ 3 ที่จะป้องกันโรคติดต่อทางอากาศ และป้องกันการแพร่ของเชื้อสู่ภายนอกซึ่งตอนนี้ทางศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติได้สั่งซื้อจากประเทศสิงคโปร์ เป็นห้องควบคุมขนาดเล็กแบบตู้คอนเทนเนอร์ ที่จะใช้ทดลองลิงได้ครั้งละ 10 ตัว

แม้นักวิจัยไทยมีการทดลองวัคซีนโควิด-19 มาตั้งแต่การแพร่ระบาดในช่วงแรก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 แต่ยังไม่สามารถทดลองในสัตว์ได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากห้องควบคุมขนาดเล็กแบบตู้คอนเทนเนอร์ต้องทำการเบิกจ่ายงบประมาณตามกระบวนการของรัฐที่มีความล่าช้า เบื้องต้นอาจได้แค่ห้องทดลองขนาดเล็ก แต่อนาคตทางศูนย์ฯ มีแผนที่จะของบประมาณจากรัฐ เพื่อทำห้องทดลองที่มีความปลอดภัยระดับ 3 ขนาดใหญ่ รองรับการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย

“เหตุที่ไทยวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ล่าช้า เนื่องจากเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม เพราะในกระบวนการสัตว์ทดลองที่ต้องฉีดวัคซีนเข้าไปในลิงที่ได้รับเชื้อโควิด-19 จะต้องใช้ห้องควบคุมโรค ที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศ หรือเรียกว่า ห้องปฏิบัติการ ABSL3 (Animal Bio-Safety Level 3) ที่ยังไม่มีในประเทศ แม้ศูนย์ฯ นี้จะใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ถ้าเทียบกับประเทศที่ผลิตวัคซีนได้ เขาจะมีห้องทดลองแบบนี้อย่างแพร่หลาย และมีขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าไทยไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตหากเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ในประเทศ ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมได้”

ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ
ภายในห้องวิจัยวัคซีนจากใบยาสูบ

ตอนนี้ การวิจัยวัคซีนในสัตว์ทดลองของนักวิจัยไทยทั้ง 3 วัคซีนยังไม่ได้ผลแตกต่างกันเท่าไร ยกเว้นในทีมวิจัยของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดที่ดูแลโดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ นักวิจัยแห่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้พยายามทดลองในสัตว์ที่มีอายุไม่โตเต็มวัย เพราะตอนนี้ทุกแห่งที่ผลิตวัคซีนในโลกทำการทดลองในลิงโตเต็มวัย ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในคนก็ยังไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ถ้าฉีดในเด็กจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ศ.ดร.สุจินดา กล่าวว่าถ้าการวิจัยนี้ได้ผล จะเป็นงานวิจัยแรกในโลกที่บอกได้ว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้สามารถป้องกันได้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

สำหรับการทดลองของทีม “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” จะต้องฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 2 เข็ม โดยต้องทดลองภายใน 1 เดือน โดยจะฉีดเข็มแรกในวันที่ 1 ของเดือน และฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 21 ของเดือน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้กลางเดือนเมษายนพ.ศ. 2564ทางทีมใบยา ไฟโตฟาร์มกำลังเร่งทำการวิจัย และทดสอบประสิทธิภาพเพื่อรอวันที่จะได้ทดลองในมนุษย์ในเฟสถัดไป

ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ
ภายในห้องวิจัยวัคซีนจากใบยาสูบ

ผ่านมา 1 ปีเศษของการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้ทั่วโลกจะวิจัยวัคซีนออกมาเป็นตัวเลือกหลายสิบบริษัท แต่สำหรับการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ “ทีมไทยแลนด์” ก็ยังคงเดินหน้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เหตุผลหนึ่งก็เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการทดลองและวิจัยด้านวัคซีนให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หรือโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

Fact File

  • ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์วิจัยไพรเมทระดับชาติแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองระดับนานาชาติจาก AAALAC International ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์ทดลองในด้านวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์สัตว์ทดลองชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วม รายละเอียดเพิ่มเติม https://nprct.org/
  • ประเทศไทยมีการตราพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 เพื่อ กำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ