How to : ทำอย่างไรไม่ให้บ้าน เป็นแหล่งระบาดของโควิด-19
Better Living

How to : ทำอย่างไรไม่ให้บ้าน เป็นแหล่งระบาดของโควิด-19

Focus
  • การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านและหมั่นทำความสะอาดคือหัวใจในการป้องกันการแพร่เชื้อ เริ่มจากการจัดบ้านให้มีอากาศถ่ายเท ไม่อยู่ในพื้นที่ปิด ห้องปิดติดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่จับบ่อย
  • บ้านไหนมีสมาชิกที่ยังคงทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการพบเจอผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อโควิด-19 เช่น แพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถโดยสาร เมื่อกลับเข้าบ้านก็ควรจะแยกตัวเองออกจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัด

หนึ่งในสถานการณ์การระบาดที่น่ากังวลที่สุดในวิกฤติการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 นี้ กลางเดือนกรกฎาคม 2564 คือ การติดเชื้อทั้งครอบครัว จากการที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งไปรับเชื้อมาจากนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจากที่ทำงาน ระหว่างการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ระหว่างการออกไปซื้อของกินของใช้ หรือแม้แต่ระหว่างที่เราต้องยืนแอบ ๆ กินอาหารกลางวันอยู่ริมฟุตพาทอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเพื่อเป็นการตั้งการ์ดสูงสุดในบ้าน Sarakadee Lite จึงขอส่งลิสต์แนวทางการป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวไม่ให้บ้านเป็นแหล่งระบาดของโควิด-19

1. ตา จมูก ปาก จุดเสี่ยงควรเลี่ยง : เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ทางสารคัดหลั่ง ดังนั้นการเลี่ยงสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีสารคัดหลั่งอย่าง ดวงตา จมูก ปาก ขณะอยู่บ้านเป็นเรื่องที่ต้องเตือนตัวเองให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หรือหากเผลอไปสัมผัส เช่น ขยี้ตา เช็ดปาก แคะจมูก ก็ให้รีบทำความสะอาดมือทันทีเพื่อที่สารคัดหลั่งจะได้ไม่ไปปนเปื้อนตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน

2. ความสะอาดคือหัวใจ : การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านและหมั่นทำความสะอาดคือหัวใจในการป้องกันการแพร่เชื้อ เริ่มจากการจัดบ้านให้มีอากาศถ่ายเท ไม่อยู่ในพื้นที่ปิด ห้องปิดติดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่จับบ่อย เช่น ลูกบิดประตู กุญแจ บริเวณที่เปิด-ปิดตู้เย็น ไมโครเวฟรีโมตคอนโทรล เป็นต้น ถัดมาในส่วนของห้องน้ำ ถ้าใช้รวมกันต้องหมั่นทำความสะอาด ในกรณีที่มีสมาชิกต้องออกจากบ้านทุกวันไปทำงานรับความเสี่ยง แนะนำให้ทำความสะอาดห้องน้ำทุกวัน และถ้าทำได้แนะนำแยกขยะติดเชื้อจำพวก ถุงมือ กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย ส่วนเสื้อผ้าก็สำคัญเพราะหลายบ้านใช้ตะกร้าผ้าสำหรับผ้าใส่แล้วรวมกันและอาจจะทำให้ติดเชื้อจากจุดนี้ได้โดยเฉพาะคนที่ต้องนำผ้าไปซัก บ้านไหนมีสมาชิกที่ยังคงทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการพบเจอผู้ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อโควิด-19 เช่น แพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถโดยสาร เมื่อกลับเข้าบ้านก็ควรจะแยกตัวเองออกจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัด รวมทั้งแยกซักเสื้อผ้า หรือแยกตะกร้าผ้าต่างหากเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

3. อุปกรณ์การแพทย์ให้พร้อม : ในภาวะที่หลายโรงพยาบาลเริ่มเข้าสู่วิกฤติไอซียู เตียงผู้ป่วยโควิด-19 เต็มต่อเนื่องนานนับเดือน การตรวจโควิด-19 ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายแม้จะเริ่มมีชุดตรวจวางขายแล้วก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่แต่ละบ้านควรเตรียมพร้อมคืออุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานเผื่อฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เครื่องวัดระดับออกซิเจนจากปลายนิ้ว ยาพื้นฐานสำหรับลดไข้ แก้ปวดหัว ชุดตรวจโควิด-19 ที่สามารถซื้อมาตรวจได้ด้วยตนเอง ฟ้าทะลายโจรที่สามารถยับยั้งไวรัสเมื่อเข้าไปในร่างกายไม่ให้แพร่พันธุ์ได้เร็ว (ควรอ่านรายละเอียดก่อนใช้ https://bit.ly/3im8PT3) รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และหากสมาชิกคนใดในบ้านมีอาการไอ จาม น้ำมูก ไข้ขึ้น เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ให้แยกกักตัวทำตามกฎ Home Isolation ด้วยตัวเองทันที รักษาตามอาการ ตรวจเช็คโควิด-19 ด้วยตัวเอง หากผลออกมาว่าติดเชื้อจึงโทรศัพท์ประสานเบอร์ต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

4. สวมหน้ากากอนามัย : ข้อที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ที่บ้านแม้ขณะที่อยู่ในห้องส่วนตัวก็ตาม แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่ให้ใช้หน้ากากผ้าที่ซักและนำกลับมาใช้ซ้ำ

5. รักษาระยะห่าง : เป็นสิ่งที่ยากมากจริง ๆ สำหรับการเว้นระยะห่างภายในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ในคอนโดมิเนียมเล็ก ๆ หรือครอบครัวขยายที่มีสมาชิกจำนวนมาก แต่เอาเป็นว่าอย่างน้อยก็ให้เว้นระยะห่างเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะถ้าบ้านไหนมีกลุ่มผู้สูงอายุ ควรเว้นระยะห่าง งดการสัมผัสแยกไม่ให้ผู้สูงอายุนอนร่วมห้องกับสมาชิกที่มีความเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19 เช่น คนที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน รวมถึงงดการรวมตัวดูโทรทัศน์กินข้าวหรือทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งงดการเยี่ยมเยือนระหว่างญาติ ๆ เท่าที่จะทำได้

6. สร้างมุมส่วนตัวของสมาชิก : กฏอีกข้อที่ไม่ควรต้องเกิดขึ้น แต่ก็สามารถลดการกระจายเชื้อได้ดี คือ การสร้างพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนขึ้นมา เช่น มุมทำงานของใครของมันเพื่อไม่ให้ใช้ของร่วมกัน มุมกินข้าวงดกินรวมกันเป็นสำรับ หรือถ้าบ้านขนาดใหญ่ที่จำนวนสมาชิกไม่มากก็อาจจะทำประหนึ่ง Home Isolation เช่น แยกการใช้ห้องน้ำสำหรับสมาชิกที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19 ไปเลยเพราะอย่าลืมว่าเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ทางสารคัดหลั่ง หรือถ้าสำหรับหลายอาชีพที่ยังคงทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการพบเจอผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกลับเข้าบ้านก็ควรจะแยกตัวเองออกจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

7. ไอ จาม ต้องระวังขั้นสุด : การไอจามภายในบ้านเป็นสาเหตุของการกระจายเชื้อได้อย่างดี เพราะการไอจามอาจจะเกิดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่บ้าน หรือแม้อยู่ในห้องส่วนตัว และต้องเตือนตัวเองเสอว่าหากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือปิดปากและห้ามถอดหน้ากากอนามัยออกอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อนเชื้อไวรัสและยิ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ แต่หากฉุกเฉินเกิดการไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปากและจมูก และหันหน้าออกจากสมาชิกในบ้าน จากนั้นอย่าลืมทำความสะอาดร่างกาย หรือพื้นผิวสัมผัสตรงบริเวณนั้นทันทีเพื่อลดการกระจายของเชื้อ หรือหากใครที่รู้ตัวว่าจะไอจามไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่น หรืออยู่ห่างแบบปลอดภัยไปเลยอย่างน้อย 2 เมตร และให้หันหน้าไปยังทิศทางตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย

8. ทำความสะอาดมือให้บ่อย : แม้อยู่บ้านก็ต้องทำความสะอาดมืออยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะเมื่อจับหรือสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ร่วมกับคนในบ้าน


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite