100 ปี สวนลุมพินี กับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ
Better Living

100 ปี สวนลุมพินี กับการปรับโฉมครั้งใหญ่ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ

Focus
  • สวนลุมพินี ปอดใจกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้คือสวนธารณะแห่งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
  • ในวาระ 100 ปี สวนลุมพินี ทางกรุงเทพมหานครมีโครงการปรับปรุงสวนครั้งใหญ่ ให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ

เปิดเผยภาพโครงการออกมาแล้วสำหรับ สวนลุมพินี โฉมใหม่ที่เตรียมปรับปรุงครั้งใหญ่ในวาระครบรอบ 100 ปี สวนลุมพินี ที่จะมาถึง จากสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2468 สู่แนวคิดสวนที่ “เป็นมากกว่าสวนสาธารณะ” ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นใน พ.ศ.2568 เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป

100 ปี สวนลุมพินี

สวนลุมพินี ปอดใจกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้คือสวนธารณะแห่งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งนั้นพระองค์ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวน 360 ไร่ ให้เป็น “วนสาธารณ์” หรือ “สวนสาธารณะ” แก่ประชาชน

สวนลุมพินี เดิมชื่อ “ทุ่งศาลาแดง” โดยทุ่งศาลาแดงที่ว่านี้เดิมทีเป็นทุ่งนา และเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล (แรกนาขวัญ) ประจำปีในสมัยรัชกาลที่ 6 บริเวณโดยรอบมีไม้ใหญ่พันธุ์พื้นเมือง โดยปี พ.ศ.2467 เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทูลเกล้าฯ ถวายแบบสร้างวนสาธารณ์ หรือ สวนสาธารณะที่ ตำบลศาลาแดง แขวงสีลม เขตบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 และเริ่มทำการก่อสร้างสวนลุมพินี

รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่สวนจะสร้างเสร็จว่า “สวนลุมพินี” ตามชื่อสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ต่อมา พ.ศ.2468 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการจัด “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ขึ้นในบริเวณสวนนี้ ซึ่งงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เป็นงานแสดงสินค้าของแต่ละจังหวัดในไทย คล้ายกับ “งานแสดงผลิตผลอุตสาหกรรมแห่งชาติ” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทว่าระหว่างการก่อสร้าง รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ต่อมาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้งดการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ แต่ยังทรงให้สร้างสวนสาธารณะต่อจนกระทั่งสำเร็จ และเปิดบริการครั้งแรกในปีเดียวกัน ถัดมาใน พ.ศ. 2485

100 ปี สวนลุมพินี

สำหรับโครงการปรับปรุง 100 ปี สวนลุมพินี ที่จะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้านั้นตั้งอยู่บนหลักในการออกแบบ 5 ด้าน ได้แก่

1. การคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

2. ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ

3. ผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม

4. เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมนันทนาการยุคใหม่

5. มีการออกแบบเพื่อคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ

100 ปี สวนลุมพินี

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า การปรับปรุงในวาระ 100 ปี สวนลุมพินี มีเป้าหมายที่จะให้สวนลุมพินีเป็นต้นแบบของสวนสาธารณะที่เป็น “มากกว่าสวนสาธารณะ” ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองแล้ว ในอนาคตสวนลุมพินียังต้องเปิดกว้างต้อนรับผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานะ ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์มีชีวิต รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และนวัตกรรม โดยในขั้นตอนของโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีแบ่งออกเป็น 2 เฟส

เฟสแรกเริ่มต้นโครงการที่บริเวณถนนแกนกลางสวน ประกอบด้วย งานปรับปรุงภูมิทัศน์ถนน งานก่อสร้างถังเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง และงานก่อสร้างอาคารสวนลุมพินี 100 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยจะใช้เวลาปรับปรุง 240 วัน 

100 ปี สวนลุมพินี

สำหรับเฟส 2 ได้แก่ การปรับปรุงพื้นที่ส่วนที่เหลือของสวนลุมพินีทั้งหมด ประกอบด้วย สวนน้ำช่วยเมือง (Resilient Park) สวนป่าและกิจกรรมยุคใหม่ จุดเชื่อมต่อสะพาน ลานรอบอาคารบันเทิง สวนจีน โรงอาหารและสวนผักในเมือง สวนเพื่อการเรียนรู้ ชมรมและกิจกรรมนันทนาการ นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างทางจักรยาน งานก่อสร้างอาคาร งานปรับปรุงอาคาร และสิ่งก่อสร้างเดิมภายในสวนลุมพินี ปรับปรุงสะพานข้ามคูน้ำภายในสวน 10 แห่ง งานปรับปรุงรั้วและประตู ก่อสร้างป้อมยาม งานปรับปรุงระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดินและปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง งานปรับปรุงระบบประปา และจัดระเบียบมิเตอร์น้ำประปา ปรับปรุงภูมิทัศน์ สนามหญ้า และการฟื้นฟูสภาพต้นไม้ใหญ่

สำหรับใครที่สนใจรายละเอียดโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีครั้งใหญ่ เนื่องในโอกาส 100 ปีสวนลุมพินี สามารร่วมชมนิทรรศการโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 มีนาคม 2564 เวลา 18.00-19.00 น. บริเวณสวนปาล์ม ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี กรุงเทพฯ

อ้างอิง : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite