สวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกของไทย ที่มีจุดกำเนิดจากงานแสดงสินค้า
Better Living

สวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกของไทย ที่มีจุดกำเนิดจากงานแสดงสินค้า

Focus
  • พ.ศ.2468 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการจัด “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ขึ้นในบริเวณ สวนลุมพินี ซึ่งงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เป็นงานแสดงสินค้าของแต่ละจังหวัดในไทย คล้ายกับ “งานแสดงผลิตผลอุตสาหกรรมแห่งชาติ” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส
  • ระหว่างการก่อสร้าง สวนลุมพินี รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้งดการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ แต่ยังทรงให้สร้างสวนสาธารณะต่อจนสำเร็จ และเปิดบริการครั้งแรกในปีเดียวกัน

สวนลุมพินี ปอดใจกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้คือ สวนธารณะแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งนั้นพระองค์ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์จำนวน 360 ไร่ ให้เป็น “วนสาธารณ์” หรือ “สวนสาธารณะ” แก่ประชาชน

สวนลุมพินี เดิมชื่อ “ทุ่งศาลาแดง” โดยทุ่งศาลาแดงที่ว่านี้เดิมทีเป็นทุ่งนา และเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล (แรกนาขวัญ) ประจำปีในสมัยรัชกาลที่ 6 บริเวณโดยรอบมีไม้ใหญ่พันธุ์พื้นเมือง โดยปี พ.ศ.2467 เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทูลเกล้าฯ ถวายแบบสร้างวนสาธารณ์ หรือ สวนสาธารณะที่ ตำบลศาลาแดง แขวงสีลม เขตบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 และเริ่มทำการก่อสร้างสวนลุมพินี

รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่สวนจะสร้างเสร็จว่า “สวนลุมพินี” ตามชื่อสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ต่อมา พ.ศ.2468 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการจัด “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ขึ้นในบริเวณสวนนี้ ซึ่งงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เป็นงานแสดงสินค้าของแต่ละจังหวัดในไทย คล้ายกับ “งานแสดงผลิตผลอุตสาหกรรมแห่งชาติ” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ทว่าระหว่างการก่อสร้าง รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ต่อมาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้งดการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ แต่ยังทรงให้สร้างสวนสาธารณะต่อจนกระทั่งสำเร็จ และเปิดบริการครั้งแรกในปีเดียวกัน ถัดมาใน พ.ศ. 2485 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้าง พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ไว้ด้านหน้าสวน เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผู้ทรงให้กำเนิด สวนลุมพินี

ปัจจุบันสวนลุมพินีอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับสวนสาธารณะอีก 36 แห่ง รวมแล้วปัจจุบันมีสวนสาธารณะในความดูแลของกรุงเทพมหานครทั้งหมด 37 แห่งดังนี้

1 สวนเบญจกิติ คลองเตย

2. อุทยานเบญจสิริ คลองเตย

3. สวนวารีภิรมย์ คลองสามวา 

4.สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)  จตุจักร 

5.สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จตุจักร

 6.สวนจตุจักร  จตุจักร

7.สวนรมณีทุ่งสีกัน ดอนเมือง 

8.สวนทวีวนารมย์  ทวีวัฒนา

9.สวนธนบุรีรมย์ ทุ่งครุ

10.สวนกีฬารามอินทรา บางเขน

11.สวนวัชราภิรมย์ บางเขน

12. สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บางกอกน้อย

13.สวนสิรินธราพฤกษาพรรณ บางกอกน้อย

14.สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษารัชกาลที่ 9  บางคอแหลม

15. สวนหลวง พระราม 8 บางพลัด

16.สวนจรัญภิรมย์ บางพลัด

17. สวนเสรีไทย บึงกุ่ม

18. สวนนวมินทรภิรมย์ บึงกุ่ม

19. สวนลุมพินี ปทุมวัน

20.สวนปทุมวนานุรักษ์ ปทุมวัน 

21.สวนกีฬาบึงหนองบอน ประเวศ 

22.สวนหลวง ร.9 ประเวศ

23. สวนวนธรรม ประเวศ

24. สวน 50 พรรษามหาจักรีสิรินธร ประเวศ

25. สวนรมณีนารถ พระนคร

26. สวนสราญรมย์ พระนคร

27.สวนสาธารณะสันติไชยปราการ พระนคร

28. สวนนาคราภิรมย์ พระนคร 

29.สวนสิริภิรมย์ มีนบุรี

30.สวนพระยาภิรมย์ มีนบุรี

31. สวนสันติภาพ ราชเทวี

32.สวน 60พรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ลาดกระบัง 

33.สวนพระนคร ลาดกระบัง

34.สวนสาธารณะบึงน้ำลาดพร้าว 71  ลาดพร้าว

35.สวนเฉลิมพระเกียรติ 80  พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สาทร 

36.สวนหนองจอก หนองจอก

37.สวนราษฎร์ภิรมย์ หนองจอก

อ้างอิง

  • นิตยสารสารคดี ฉบับมกราคม 2552
  • สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม , มีนาคม 2562