ถอดรหัส ไข้หวัดสเปน เหตุใดกองทัพและสงครามจึงเร่งการระบาดของไวรัส
Better Living

ถอดรหัส ไข้หวัดสเปน เหตุใดกองทัพและสงครามจึงเร่งการระบาดของไวรัส

Focus
  • โรคไข้หวัดสเปนไม่ได้เริ่มต้นในประเทศสเปนอย่างชื่อ แต่ในช่วงเวลานั้นประเทศในแถบยุโรปกำลังมีศึกสงคราม หลายประเทศจึงตัดสินใจปิดข่าวการระบาดของโรค ยกเว้นสเปนที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามจึงมีการออกข่าวเรื่องโรคระบาด
  • ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดอยู่นานกว่า 18 เดือน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 20-40 ของประชากรโลก และส่งผลให้มีคนตายราว 40-50 ล้านคน เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตกว่า 5 แสนคน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษย์ต้องรับมือกับโรคระบาดครั้งใหญ่อย่าง ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ย้อนไปเมื่อ 102 ปีก่อน ได้เกิดเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งแรกในโลก เรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) หรือ ไข้หวัดสเปน ตรงกับปี ค.ศ.1918 อันเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังร้อนด้วยไฟของสงครามโลกครั้งที่ 1

ไข้หวัดสเปน มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดนั้น วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า ทำให้ไม่สามารถทำการศึกษาหาสาเหตุ และยาต้านไวรัสได้สำเร็จอย่างทันท่วงที แต่นั่นยังไม่เท่าการปกปิดข่าวของกองทัพและประเทศต่างๆ ที่เหมือนยิ่งเติมเชื้อ เร่งให้ไวรัสระบาดอย่างเงียบๆ แต่เป็นวงกว้างไปทั่วโลก

ในการระบาดครั้งนั้น มนุษย์ยังไม่รู้ว่าเชื้อโรคชนิดนี้คืออะไร โดยคาดว่าเป็นการติดต่อโดยตรงจากนกสู่คน แต่นักวิจัยบางคนสันนิษฐานว่าเชื้อน่าจะฟักตัวในตัวกลางอย่างหมู ก่อนจะติดต่อมาสู่คน

ไข้หวัดสเปน
ภาพเหล่าพยาบาลที่ต่างต้องสวมหน้ากากป้องกันการติดเชื้อ (Library of Congress)

อันที่จริงโรค ไข้หวัดสเปน นี้ไม่ได้เริ่มต้นในประเทศสเปนอย่างชื่อ แต่ในช่วงเวลานั้นประเทศในแถบยุโรปกำลังมีศึกสงคราม หลายประเทศจึงตัดสินใจปิดข่าว เพิกเฉยต่อการระบาดของโรค ทำให้ไม่มีการเตรียมการรับมือ ไม่มีการเตรียมเวชภัณฑ์ ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องป้องกันตัว ส่วนสเปนนั้นเป็นประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เลยมีข่าวเรื่องการระบาดออกจากประเทศสเปนเป็นประเทศแรก ทำให้ไข้หวัดชนิดนี้ถูกเรียกเหมาเอาว่าเป็น Spanish flu

โควิด-19
หน้ากากคือเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ไวรัส (จากนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล )

ไข้หวัดสเปน ระบาดอยู่นานกว่า 18 เดือน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 20-40 ของประชากรโลก และส่งผลให้มีคนตายราว 40-50 ล้านคน เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตกว่า 5 แสนคน มากกว่าอัตราการตายจากการระบาดใหญ่ของกาฬโรค หรือ Black Death ที่เกิดขึ้นในยุคกลางของยุโรป ระหว่าง ค.ศ. 1347-1351 เรียกได้ว่าผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ เป็นเหตุให้พื้นที่แทบทุกซอกทุกมุมในโรงพยาบาลเต็มไปด้วยเตียงคนไข้ โดยเฉพาะเมืองฟิลาเดล์เฟีย (Philadelphia) ซึ่งช่วงที่เริ่มต้นระบาดได้มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากเนื่องจากการจัดงานโปรโมตพันธบัตรสงคราม ทำให้เมืองนี้มีผู้ติดเชื้อราว 75,000 คน ส่วนอังกฤษเองก็ไม่น้อย มีประชากรถึง 250,000 คนต้องตายจาก ไข้หวัดสเปน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว และผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงด้วยซ้ำ

ไข้หวัดสเปน
โรงพยาบาล U. S. Army Camp  ที่เต็มไปด้วยคนไข้ไข้หวัดสเปน ( National Museum of Health and Medicine )
ผู้หญิงในออสเตรเลียใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการระบาด (National Museum of Australia)

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญอีกประการที่ไข้หวัดใหญ่สเปนสามารถระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วก็เพราะ “สงคราม” และสงครามนั้นก็เป็นสงครามระดับโลกเสียด้วย

เมื่อเกิดสงคราม เชื้อโรคได้แพร่กระจายไปกับพลทหารที่เดินทัพไปประจำการตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก มีการรวมตัวเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ และเมื่อสงครามยุติ หายนะจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อพลทหารเหล่านั้นได้กระจายเชื้อโรคกลับไปแพร่ระบาดยังบ้านเกิดของตนเอง เรียกได้ว่าจำนวนพลทหารที่เสียชีวิตในสมรภูมิรบยังไม่มากเท่าเสียชีวิตเพราะไข้หวัดสเปน

โควิด-19
แม้ผู้ป่วยจะแน่นทุกโรงพยาบาลแต่ทุกเตียงต้องกั้นผ้าม่านเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (Library of Congress )

สำหรับประเทศไทยเวลานั้นตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 9 ล้านคน คาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปนน่าจะอยู่ที่หลักหมื่น ถึงแสนคน

หลังการระบาดอย่างหนักและยังหาสาเหตุไม่ได้ วิธีการเดียวที่จะป้องกันคือการใส่ หน้ากากอนามัย เมืองต่างๆ เริ่มมีการแจกจ่ายหน้ากากเพื่อเป็นการชะลอการแพร่เชื้อ เคยมีภาพถ่ายเก่าๆ ในพิพิธภัณฑ์บันทึกไว้และเห็นได้ชัดว่า แม้แต่ในสนามมวย คนดูก็ต้องใส่หน้ากากทุกคน หรือการจะขึ้นรถรางสาธารณะก็ต้องใส่หน้ากากเท่านั้น และสภากาชาดเองก็เร่งผลิตหน้ากากแจกจ่ายให้กับพลเมืองนับแสนๆ ชิ้น

โควิด-19
เหล่ากาชาดต่างแร่งผลิตหน้ากากอนามัย (Public Health Matters Blog)

ท้ายที่สุดเหตุผลที่ไข้หวัดสเปนเริ่มหยุดการระบาด เพราะประชากรโลกเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตนเอง แต่อย่างที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวไว้กับนิตยสารสารคดี ในปี 2553 ว่า

ไข้หวัดสเปน
หน้ากากอนามัยถูกแจกจ่ายให้ทุกคนที่จะใช้รถรางสาธารณะ ( Library of Congress )

“ทุกวันนี้มนุษย์ไล่ตามเชื้อไวรัสหนึ่งก้าวเสมอ เทคโนโลยีของทั้งโลกเป็นการวิ่งตามไวรัส คือรอให้ไวรัสเปลี่ยนตัวเองก่อนแล้วค่อยสร้างวัคซีนตามไป เราจึงช้ากว่าไวรัสหนึ่งก้าวเสมอ เราไม่สามารถทำนายได้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนไปทางไหน แต่ที่แน่ๆ ไวรัสจะอยู่กับเราไปอีกนาน”

ดังนั้นการปรับตัว เรียนรู้ และป้องกันตัวเองอย่างมีสติ จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะโรคระบาดอาจไม่ได้จบแค่ โควิด-19 ไม่แน่ว่าในอีกร้อยปีข้างหน้าจะมีไวรัสตัวใหม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่

อ้างอิง