เปิดไทม์ไลน์การค้นพบ ไวรัส สุดยอดสิ่งมีชีวิตพิสดารที่กลายเป็นศัตรูของมนุษย์
Better Living

เปิดไทม์ไลน์การค้นพบ ไวรัส สุดยอดสิ่งมีชีวิตพิสดารที่กลายเป็นศัตรูของมนุษย์

Focus
  • คำว่า ไวรัส ถูกตั้งเพื่อใช้เรียกเชื้อโรคบางชนิดที่มีขนาดเล็กประมาน 20-300 นาโนเมตร ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ทั้งพืช สัตว์ และคน
  • ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตพิสดารที่จะแพร่พันธุ์ต่อเมื่อได้เข้าไปอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และยังเป็นสุดยอดสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์ต้องหาทางตามให้ทันอยู่เสมอ และทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องมีหน่วยงานวิจัยเกี่ยวกับไวรัส และเกิดนักไวรัสวิทยาขึ้นมาโดยเฉพาะ

ไวรัส คำนี้กำลังสร้างความตื่นกลัวไปทั่วโลก แม้ ไวรัส จะดูเหมือนอนุภาคไร้ชีวิต เพราะเมื่ออยู่เฉยๆ ล่องลอยไปในอากาศ จะไม่สามารถสำแดงฤทธิ์เดช ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ แต่เมื่อไรที่ไวรัสมีโอกาสเข้าไปอาศัยในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เมื่อนั้นมันจะสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับวิกฤต ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ที่กำลังเขย่าขวัญคนทั้งโลกอยู่ในขนะนี้ 

ในอดีตที่ผ่านมา ไวรัสนับเป็นศัตรูอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตผู้คนทีละมหาศาล โรคระบาดที่เกิดกับคนในอดีตที่เรารู้จักกันดีคือโรคโปลิโอ ต่อมาคือโรคฝีดาษที่พบในบันทึกของชาวจีนเมื่อราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล โรคไข้เหลือง โรคไข้หวัดใหญ่ และโรค โควิด -19

“ทุกวันนี้มนุษย์ไล่ตามเชื้อไวรัสหนึ่งก้าวเสมอ เทคโนโลยีของทั้งโลกเป็นการวิ่งตามไวรัส คือรอให้ไวรัสเปลี่ยนตัวเองก่อนแล้วค่อยสร้างวัคซีนตามไป เราจึงช้ากว่าไวรัสหนึ่งก้าวเสมอ เราไม่สามารถทำนายได้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนไปทางไหน แต่ที่แน่ๆ ไวรัสจะอยู่กับเราไปอีกนาน”

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวไว้กับนิตยสารสารคดี ในปี 2553 และคำกล่าวนั้นเป็นจริงอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยโรคติดต่อต่างๆ มากมายที่มนุษย์เราเคยเผชิญไม่ว่าจะไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทั่วโลกตอนนี้อย่าง โควิด-19 ก็ล้วนมีที่มาจากเชื้อไวรัสทั้งสิ้น

Virus มาจากคำภาษาละตินที่แปลว่าPoison หรือ พิษ ส่วนในตำราชีววิทยาเก่าของไทยใช้คำว่า วิสา มาจากภาษาสันสกฤตที่แปลว่า พิษ เช่นกัน โดยคำว่า ไวรัส ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เรียกเชื้อโรคบางอย่างที่มีขนาดเล็กประมาน 20-300 นาโนเมตรซึ่งเล็กกว่าแบคทีเรีย ทั้งยังทำให้เกิดอาการของโรคภัยไข้เจ็บได้ทั้งในพืช สัตว์และคน 

วิธีการแสดงฤทธิ์ของไวรัสคือการเข้าไปเป็นบอสใหญ่คุมการทำงานของนิวเคลียสในเซลล์ จากนั้นบังคับให้โครโมโซมในนิวเคลียสผลิตโปรตีนใหม่ตามใบสั่ง และโปรตีนใหม่นี้ก็จะทำหน้าที่เป็นก็อปปี้ไวรัสที่ออกคำสั่งแก่โครโมโซมต่อไปอีกเป็นทอดนั่นเอง ด้วยขนาดของไวรัสที่เล็กมาก มองเห็นได้ยากแม้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำให้ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะสกัดและพบโครงสร้างของไวรัสได้สำเร็จ ดังเช่นไทม์ไลน์การถอดรหัสไวรัส สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่กำลังเขย่าโลกให้สั่นไหว

ค.ศ.1880 

นอกจากจะคิดค้นวิธีการถนอมอาหารแบบพาสเจอร์ไรเซชันแล้ว หลุย ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ยังได้พยายามหาวิธีรักษาโรคพิษสุนัขบ้าด้วยการศึกษาน้ำลายและอวัยวะภายในของสุนัขที่ตายด้วยโรคนี้ กระทั่งพบเชื้อโรคบางอย่างที่เป็นต้นเหตุ แต่ก็ยังไม่สามารถกรองและแยกเชื้อโรคต้นเหตุออกมาได้ แม้จะกรองด้วยเครื่องกรองที่ดีที่สุดในยุคสมัยนั้น ปาสเตอร์จึงยังไม่สามารถมองเห็นไวรัสได้ กระทั่งใน ค.ศ.1885 เขาได้ตัดสินใจทดลองฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้าให้กับคนและปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ

ค.ศ.1898

นักวิทยาศาสตร์ชาวดัตซ์ มาร์ตินัส วิลเลม ไบเจอร์ริงค์ (Matinus Willem Beijerinck) ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาเชื้อโรคจากการค้นหาเชื้อโรคต้นเหตุของใบยาสูบ และตั้งชื่อเชื้อโรคต้นเหตุนี้ว่า Filtrable Virus แปลว่า ไวรัส หรือ พิษ ที่ทะลุผ่านแผ่นกรองได้

ค.ศ.1916

เป็นครั้งแรกที่มนุษย์สามารถสกัดไวรัสออกมาได้สำเร็จด้วยแผ่นกรองละเอียดพิเศษโดย เอช. เอ. อัลลาร์ด (H. A. Allard) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถแยกเฉพาะตัวไวรัสออกมาได้

ค.ศ.1935

ในที่สุด เวนเดลล์ เอ็ม. สแตนลีย์ (Wendell M. Stanley) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ก็สามารถสกัดไวรัสจากใบยาสูบและแยกออกมาในรูปของผลึกได้จริงๆ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษารายละเอียดโครงสร้างและทราบว่าองค์ประกอบของไวรัสคือโปรตีนที่สลับซับซ้อนและไวรัสยังมีชีวิต

นอกจากขนาดที่เล็กจิ๋วมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ แล้ว ไวรัสยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่พิสดาร เพราะเมื่อล่องลอยอยู่ในอากาศและบนพื้นจะเปรียบเหมือนอนุภาคที่ไร้ชีวิต ไม่ออกฤทธิ์หรือขยายพันธุ์เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป แต่หากได้เข้าไปอาศัยในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเมื่อไหร่ มันจะแพร่พันธุ์ด้วยการแบ่งตัวเองแบบทวีขึ้นเรื่อยๆ จนเบียดบังทำลายเซลล์ในอวัยวะของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ และโดยส่วนใหญ่จะทำให้เกิดโรคตามมา 

เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถทราบองค์ประกอบ โครงสร้าง และธรรมชาติของไวรัสได้แล้ว จึงสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคได้หลายชนิด แต่ก็ยังมีโรคติดต่อทางไวรัสอีกมากที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างลงความเห็นว่า ไวรัส เป็นสุดยอดสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้อย่างรวดเร็ว มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และกลายพันธุ์ได้ เพราะเมื่อมนุษย์สามารถผลิตยาหรือวัคซีนขึ้นมาฆ่าไวรัสชนิดหนึ่งได้ ต่อมาไวรัสชนิดนั้นจะกลายพันธุ์หรือดื้อยา ทำให้ต้องคิดค้นยาหรือวัคซีนตัวใหม่ออกมาไล่หลังไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่กระจายต่อไป ดังที่ ดร.อนันต์ ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า “เราไม่สามารถทำนายได้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนไปทางไหน แต่ที่แน่ๆ ไวรัสจะอยู่กับเราไปอีกนาน” แต่ถึงอย่างนั้นเราต่างก็ต้องปรับตัวให้ทันและหาทางร่วมมือป้องกัน ยับยั้งสิ่งที่เกิดจากไวรัสที่แพร่กระจายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดผลกระทบในแต่ละส่วนอย่างน้อยที่สุดต่อไป

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 119 เดือนมกราคม ปี 2538 และฉบับที่ 299 เดือนมกราคม ปี 2553