สำรวจวงจรการย่อยสลายของกระทงชนิดต่างๆ ใน เทศกาลลอยกระทง
Better Living

สำรวจวงจรการย่อยสลายของกระทงชนิดต่างๆ ใน เทศกาลลอยกระทง

Focus
  • กระทงขนมปัง กระทงโคนไอศกรีม เป็นกระทงที่ดูเหมือนเป็นมิตรต่อลำธารและแม่น้ำ แต่ทราบหรือไม่ว่ากลายเป็นกระทงที่จัดเก็บยากและมีส่วนทำให้น้ำเน่าเสียได้มากที่สุด
  • กระแสคนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ ลอยกระทงกันน้อยลงจากที่จัดเก็บขยะจากกระทงได้ราว 8 แสนใบในปี 2561 ปัจจุบันเหลือราว 4 แสนใบ

เทศกาลลอยกระทง ถือเป็นอีกเทศกาลที่มีการถกเถียงกันมาตลอดระหว่างฟากฝั่งวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมว่าจะทำอย่างให้งานประเพณีสามารถสืบทอดไปพร้อมกับการรักษาแม่น้ำลำคลองได้อย่างแท้จริง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจบค่ำคืนวันลอยกระทง แม่น้ำลำคลองล้วนเต็มไปด้วยขยะจากกระทงเป็นจำนวนมาก เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเก็บกระทงได้มากกว่า 400,000 ใบในทุกปีแม่จะลดมาแล้วจาก 800,000 กว่าใบในปี 2561 ก็ตาม

นอกจากการปรับโหมดมาลอยกระทงออนไลน์ ลอยในสระปิด การรวมกันลอยแบบหนึ่งครอบครัว 1 กระทงแล้ว การเลือกใช้วัสดุในการทำกระทงก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยลดมลพิษ ลดการสร้างขยะให้แหล่งน้ำ เพราะมีกระทงอีกไม่น้อยที่หลุดจากแม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเลสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลอีกทอดหนึ่ง

Sarakadee Lite ชวนไปส่องวงจรชีวิตของกระทงแต่ละชนิดใน เทศกาลลอยกระทง กันดูบ้าง กระทงชนิดไหนที่ครองแชมป์กระทงแห่งชาติที่ใช้เวลาย่อยสลายยาวนานที่สุด

เทศกาลลอยกระทง
  • กระทงน้ำแข็ง ละลายภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
  • กระทงมันสำปะหลัง ย่อยสลาย 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
  • กระทงต้นกล้วยและใบตอง ย่อยสลายอย่างน้อย 14 วัน (ไม่นับรวมเข็มหมุด ตะปูหมุดที่ไม่ย่อยสลาย)
  • กระทงกระดาษ ย่อยสลายอย่างน้อย 2-5 เดือน และเมื่อกระดาษถูกน้ำจะเปื่อยยุ่ย ยากแก่การจัดเก็บ
  • กระทงขนมปัง และโคนไอศกรีม ย่อยสลาย 3 วัน  และเมื่อขนมปังถูกน้ำจะเปื่อยยุ่ย ยากแก่การจัดเก็บ และทำให้น้ำเน่าเสียง่ายเพราะขนมปังเป็นสารอินทรีย์ ซึ่งปัญหาของการเน่าเสียของน้ำเกิดจากจุลินทรีย์เอาสารอินทรีย์มาใช้แล้วก็ย่อยเป็นสารอาหาร ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลงจนเกิดน้ำเน่า
  • กระทงกะลา ย่อยสลายอย่างน้อย 15 วัน
  • กระทงโฟม กระทงพลาสติก เป็นกระทงที่ย่อยสลายได้ยากที่สุด หรืออาจะไม่ย่อยสลายเลยขึ้นอยู่กับชนิดพลาสติกหรือดฟมที่นำมาใช้ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 50 ปีขึ้นไป แถมเมื่อโดนกระแสน้ำ คลื่นลมก็ทำให้พลาสติกแตกตัวเป็นเม็ดเล็กๆ กลายเป็นปัญหาไมโครพลาสติกต่อเนื่องกันไป

อ้างอิง : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite