ทำไมต้อง #Saveน้ำ กับ 7 ข้อที่อาจนำสู่สงครามชิงน้ำ
Better Living

ทำไมต้อง #Saveน้ำ กับ 7 ข้อที่อาจนำสู่สงครามชิงน้ำ

Focus
  • UN-Water หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ด้านทรัพยากรน้ำ หรือ วันน้ำโลก (World Water Day) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1993
  • จากสถิติขององค์การอนามัยโลกที่ทำการสำรวจในปี 2019 พบว่า ปัจจุบันมีคนมากถึง 2.2 พันล้านคน บนโลกนี้ ไม่มีน้ำสะอาดใช้ 
  • มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตคนจะทำสงครามแย่งชิงน้ำ ถึงเวลานั้นจะมีคนกว่า 5.7 พันล้านคน ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ และน้ำที่แล้งหนักมากจนไม่มีน้ำกินน้ำใช้ติดต่อกันเป็นนานนับเดือน

UN-Water หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ด้านทรัพยากรน้ำ หรือ วันน้ำโลก (World Water Day) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1993 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการที่ถูกต้องเพื่อให้ทุกคนบนโลกได้เข้าถึงน้ำสะอาด และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างวิถีการใช้น้ำในชีวิตประจำวันแบบยั่งยืน เตรียมรับมือกับวิกฤติทรัพยากร วิกฤติโลกร้อนที่ดูจะใกล้ตัวขึ้นมาทุกขณะ

สำหรับวาระสำคัญใน World Water Day 2020 วันน้ำโลก ปีนี้คือการชูเรื่อง น้ำกับวิกฤติสภาพอากาศ (Water and climate change) รวมองค์ความรู้ทั้งน้ำและอากาศมาช่วยยกคุณภาพชีวิตชาวโลกที่ต้องสู้กับภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ภาวะขาดแคลนน้ำ และมลพิษทางอากาศ เพราะทั้งน้ำและอากาศเกี่ยวเนื่องกันและส่งผลต่อกันอย่างแยกไม่ได้ และถ้าดูข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับน้ำจะพบว่า คำคาดการณ์เรื่องสงครามแย่งชิงน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยสักนิด เช่นเดียวกับ 7 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้ำที่ Sarakadee Lite ขอนำมาฝากกัน

  1. ลดโลกร้อนเท่ากับลดวิกฤติน้ำ : โลกร้อนกับวิกฤตน้ำเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าช่วยกันยั้งมือให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแค่ 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ตามที่ถูกคาดการณ์ไว้ ปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะเรื่องน้ำแล้งก็จะลดลงถึง 50 เปอร์เซนต์ (รายงาน UN-Water ปี 2019)
  2. ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ : ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และเกิดถี่ขึ้น เป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กว่า 90 เปอร์เซนต์ของภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีสาเหตุมาจากเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเห็นได้ชัด
  3. โลกกำลังไม่มีน้ำสะอาดใช้ : ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันมีประชากรราว 2.2 พันล้านคน บนโลกนี้ไม่มีน้ำสะอาดใช้  (องค์การอนามัยโลกปี 2019) 
  4. การใช้น้ำจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว : ในอีก 20 ปีข้างหน้า ราว ค.ศ. 2040 การใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำจะพุ่งสูงขึ้นเป็นอีกเท่าตัว วัดจากสถิติการใช้ทรัพยากรในปัจจุบันของชาวโลก มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเกิน 25 เปอร์เซนต์  และความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นกว่า 50 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะในภาคโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการใช้น้ำและพลังงานในครัวเรือน (ข้อมูลจาก  International Energy Agency 2018 /UNESCO ปี 2018)
  5. สงครามแย่งชิงน้ำจะเกิดขึ้น : วันหน้าอีกไม่ไกลมีการคาดการณ์ว่ามนุษย์จะทำสงครามแย่งชิงน้ำ โดยจะมีคนราว 5.7 พันล้านคน ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำแล้ง และไม่มีน้ำกินน้ำใช้ติดต่อกันเป็นเดือน สงครามแย่งชิงน้ำจะเกิดขึ้นแน่ถ้าทั่วโลกไม่แก้ไขและยุติปัญหาวิกฤตน้ำให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (ข้อมูลจาก UNESCO ปี 2018)  
  6. ไทยกำลังเจอภัยแล้งอย่างหนักในรอบ 40 ปี : ปี 2563  ประเทศไทย อาจจะเจอภัยแล้งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี เป็นรองแค่ปี 2522  ตามข้อมูลจากการประชุมเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ของหน่วยงานด้านน้ำของไทย ได้แก่ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุตุนิยมวิทยา การประปานครหลวง ซึ่งระบุปัญหาใหญ่ที่มีการพูดถึงในที่ประชุม คือ ปัญหาความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และปัญหาน้ำแล้งในหลายภูมิภาค (อ้างจาก www.bbc.com/thai)
  7. น้ำฝนปี 2563 ต่ำกว่าปกติ : ประเทศไทยแล้งน้ำนานมาก ตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 และอาจจะยาวไปถึง มิถุนายน 2563 จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา  ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป