เปิดรั้ว พระราชวังแวร์ซาย ให้ได้นอนในอ้อมกอดประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
Brand Story

เปิดรั้ว พระราชวังแวร์ซาย ให้ได้นอนในอ้อมกอดประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

Focus
  • พระราชวังแวร์ซาย เปิดประตูแมนชั่นส่วนตัวของขุนนางในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นโรงแรมหรูที่เต็มไปด้วยศิลปะและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)
  • อีแครลส์ ชาโต้ เดอ แวร์ซาย: เลอ กร็องด์ ก็องโทรน (Airelles Château de Versailles: Le Grand Contrôle) คือชื่อโรงแรมภายในพระราชวัง ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในต้นฤดูใบไม้ผลิปี 2021

นอกจากนอนในอ้อมกอดงานศิลปะกลางพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์แล้ว การได้ลากกระเป๋าไปเช็คอินท่ามกลางความโอ่อ่าของ พระราชวังแวร์ซาย ถือเป็นอีกความฝันสำหรับสายดำดิ่งในประวัติศาสตร์ และนี่ก็เป็นข่าวดีอย่างมากเมื่อ พระราชวังแวร์ซาย เปิดประตูแมนชั่นส่วนตัวของขุนนางในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นโรงแรมหรูที่เต็มไปด้วยศิลปะและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) กษัตริย์ฝรั่งเศสผู้สร้างและทำให้พระราชวังแห่งนี้กลายเป็นพระราชวังที่สวยงามติดอันดับโลก

อีแครลส์ ชาโต้ เดอ แวร์ซาย: เลอ กร็องด์ ก็องโทรน (Airelles Château de Versailles: Le Grand Contrôle) คือชื่อโรงแรมภายในพระราชวังที่ปล่อยภาพห้องพักออกมาเรียกเสียงฮือฮาเมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา และล่าสุดทางโรงแรมได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วในฤดูใบไม้ผลิของปี 2564

ตามประวัติ เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ประมาณ ค.ศ.1681 โดย จูล ฮาร์ดูอ็วง ม็องซารต์ (Jules Hardouin-Mansart) สถาปนิกคนโปรดประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อใช้เป็นแมนชั่นหรือที่พำนักส่วนตัวของดยุคแห่งโบวิลิเยร์ (Beauvilliers) บุตรเขยของ ฌ็อง บาส์ติส โกลแบร์ (Jean-Baptiste Colbert) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสในขณะนั้น

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ได้ผนวกเอาแมนชั่น เลอ กร็องด์ ก็องโทรน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเขตของตัว พระราชวังแวร์ซาย และได้มีการต่อเติมเพื่อขยายตัวอาคารเพิ่มเข้ามาอีกสองส่วน รวมเป็นตัวอาคาร 3 ส่วน เรียกว่า เลอ กร็องด์ ก็องโทรน (Le Grand Contrôle), เลอ เปอ ติ ก็องโทรน (Le Petit Contrôle) และ ปาวิยง เดส์ เพรอมิแยร์ ซองส์ มาร์คเชอะส์ (Pavillon des premières cents marches) ตั้งอยู่บนเลขที่ 12 ถนนแล็งเดป็องด็องซ์ อะเมคริแกน (La rue de l’Independence Americaine) ซึ่งห่างจากสวนออคร็องเฌอครี (Parterre d’Orangerie) และทะเลสาบแห่งทหารสวิส (La pièce d’eau des Suisses) ไม่กี่ย่างก้าวเท่านั้น

พระราชวังแวร์ซาย

เมื่อเข้าสู่สมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) และพระนางมารีอ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ชื่อเสียงและอำนาจของราชสำนักฝรั่งเศสได้แผ่ขยายไปทั่วยุโรปในยุคนั้น พร้อมๆ กับชื่อของ เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ก็ได้กลายมาเป็นสถานที่สำคัญและทรงอิทธิพลของฝรั่งเศสและยุโรปด้วยเช่นกัน และในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นี่เอง ที่เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ได้ถูกปรับให้เป็นสถานที่ตั้งของกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส และเป็นช่วงเวลาที่มีบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายประเทศแวะเวียนเข้ามาแลกเปลี่ยน และลงนามข้อตกลงร่วมกับบรรดารัฐมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เช่น ตูร์โกต์ (Turgot) หรือ แนแกร์ (Necker) อยู่เนืองๆ ยิ่งไปกว่านั้นสถานที่นี้ยังถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจากการปกครองของอังกฤษอีกด้วย ภายใต้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางด้านทหารและการเงินจากกษัตริย์ของฝรั่งเศสในขณะนั้น

พระราชวังแวร์ซาย

ด้วยสถาปัตยกรรมอันสวยงามและสไตล์การตกแต่งที่หรูหรา เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ได้กลายมาเป็นแหล่งนัดพบสังสรรค์ และเวทีแสดงความคิดเห็นของบุคคลในแวดวงไฮโซและผู้มีชื่อเสียงในยุคแห่งความสว่างไสวทางปัญญา (The Age of Enlightenment หรือ Siècle des Lumièresในภาษาฝรั่งเศส) ถือได้ว่า เป็นสถานที่นัดพบของขุนนางชั้นสูงทางด้านวัฒนธรรม รวมถึงสุดยอดนักคิดนักเขียนของยุโรปจะแวะเวียนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นด้านปรัชญาและวัฒนธรรมที่นี่

พระราชวังแวร์ซาย

ห้องสนทนา หรือ สมาคม ที่ภริยาของแนแกร์ จัดขึ้นมาเรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์แห่งยุค ที่รวมเอานักคิดนักเขียนเบอร์ต้น ๆ ของยุคนั้นมารวมไว้ในที่เดียวกันเลยก็ว่าได้ ต่อมาไม่นานบุตรีของตระกูลแนแกร์นามว่า มาดามสะแตล (Madame de Staël) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเฟมินิสต์ หรือ นักสิทธิสตรีตัวยงและหญิงสาวผู้ปราดเปรื่องที่สุดแห่งยุค ก็ได้สานต่อความยิ่งใหญ่ของเลอ กร็องด์ ก็องโทรนให้ลือเลืองขึ้นไปอีก จนในปี ค.ศ. 1788 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของ เลอ กร็องด์ ก็องโทรน ที่รุ่งเรืองสุด ๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 

สำหรับการปรับปรุงเป็นโรงแรมนั้นเอ็กซ์คลูซีฟเพียง 14 ห้อง พร้อมห้องจิบน้ำชา ห้องอาหารระดับพรีเมียมเน้นกาสโทรโนมิกแบบฝรั่งเศส บริหารงานโดย ดวูกาส ปารีส ภายใต้การกำกับดูแลของ เชฟอะแล็ง ดวูกาส (Alain Ducasse) เชฟผู้มีชื่อเสียงระดับเวิลด์คลาสของฝรั่งเศส 

พระราชวังแวร์ซาย

และที่ถูกใจสายประวัติศาสตร์อย่างที่สุดคือสิทธิพิเศษในการเยี่ยมชมพระราชวังและพระตำหนักเปอติ ทรีอานง (Le Petit Trianon) เป็นการส่วนตัว หรือจะเข้าไปเดินเล่นชมสวนแบบฝรั่งเศสที่ สวนออคร็องเฌอครี่ และทะเลสาบแห่งทหารสวิสก็ยังได้เพราะทางโรงแรมมีทางออกตรงเข้าสู่สถานที่สวยงามทั้งสองแห่งที่ว่าด้วย รวมถึงโอกาสที่จะได้ไปล่องเรือชมความยิ่งใหญ่ของทุกส่วนของพระราชวังในบริเวณส่วนที่เป็นคลองในพระราชวังได้อีกเช่นกัน  

Fact File


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง