ขนมเปี๊ยะจินตนา ตำนานที่ยืนหนึ่งเรื่อง ขนมเปี๊ยะไส้หมูหยอง มากว่า 40 ปี
Brand Story

ขนมเปี๊ยะจินตนา ตำนานที่ยืนหนึ่งเรื่อง ขนมเปี๊ยะไส้หมูหยอง มากว่า 40 ปี

Focus
  • ขนมเปี๊ยะจินตนา ก่อตั้งโดย จินตนา โล่ดำรงรัตน์ เมื่อราว 40 ปีก่อน แตกต่างจากขนมเปี๊ยะทั่วไปตรงที่เปลี่ยนจากไส้ถั่วเป็นไส้หมูหยอง และเปลี่ยนจากขนมเปี๊ยะทรงกลมเป็นขนมเปี๊ยะแบบแท่ง
  • ปัจจุบัน ขนมเปี๊ยะจินตนา ถูกส่งต่อมาถึงรุ่นที่ 2 ซึ่งได้แตกไลน์จากการขายขนมเปี๊ยะอย่างเดียวมาขายคุกกี้ และขนมอบประเภทอื่นๆ

ในทุกเทศกาล ทุกงานประเพณีของชาวจีน “ขนมเปี๊ยะ” เป็นขนมยืนหนึ่งที่ต้องมีด้วยกันแทบทุกงาน แต่ขนมเปี๊ยะแบบจีนไม่ได้มีแค่ไส้ถั่ว ไส้ฟัก และเขียนหน้าด้วยคำมงคลสีแดงเท่านั้น เพราะที่ ขนมเปี๊ยะจินตนา ร้านขายขนมเก่าแก่คู่ถนนเจริญนครแห่งนี้ เขาได้คิดค้นสูตรขนมเปี๊ยะแบบใหม่เป็น ขนมเปี๊ยะไส้หมูหยอง และขายขนมเปี๊ยะไส้น้ำพริกเผาหมูหยองสูตรนี้เพียงสูตรเดียวมานานร่วม 40 ปี

“จริงๆ พื้นฐานขนมเปี๊ยะแบบแท่งๆ ที่ร้านเราขายก็มาจากขนมเปี๊ยะแบบกลมๆ ที่เราเคยเห็นกันนั่นแหละ แป้งแบบเดียวกัน อบแบบเดียวกัน เพียงแต่คนละไส้ ทำคนละรูปทรง สมัยก่อนไปช่วยคุณลุงเขาทำขนมเปี๊ยะแบบกลมๆ ที่ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต บ้านคุณลุงทำขนมงานเทศกาลของจีน พวกขนมแต่งงาน ขนมจันอับ ขนมเปี๊ยะ ขนมไหว้พระจันทร์ พอช่วงเทศกาลเราก็นั่งรถทัวร์ลงไปช่วยทำเพราะคนสั่งขนมเยอะมาก

“ช่วยอยู่หลายปีจนเราเริ่มจับทางได้ แต่ถ้าจะทำขนมเปี๊ยะแบบกลมๆ มันเป็นงานหนักมาก กวนถั่ว กวนเครื่อง ใช้กระทะใบใหญ่ๆ มันต้องใช้แรงเยอะ เราทำคนเดียวไม่ไหว ก็เลยบอกอาแปะว่าหนูขอแค่สูตรแป้งนะ อาแปะบอกเอาไปหมดเลย ยกสูตรให้หมดเลยไม่มีใครทำต่อแล้ว เราก็บอกหนูไม่เอา หนูทำไม่ได้ ทำคนเดียว ก็เลยบอกแปะไปว่า จะเอาเฉพาะสูตรแป้ง ทำเฉพาะแป้ง แล้วจะไปดัดแปลงเอาหมูหยองมาใส่ อาแปะก็บอก จะบ้าเหรอ ใครเขาจะกิน”

จินตนา โล่ดำรงรัตน์ ผู้คิดค้นขนมเปี๊ยะไส้หมูหยอง

จินตนา โล่ดำรงรัตน์ ต้นตำรับผู้คิดค้นขนมเปี๊ยะไส้หมูหยอง พาเรานั่งไทม์แมชชีนย้อนไปเมื่อตอนที่ร้าน ขนมเปี๊ยะจินตนา ยังไม่เปิดตัว ตอนนั้นเธอเป็นเพียงผู้ช่วยอาแปะทำขนมเปี๊ยะตามงานเทศกาลต่างๆ ของคนไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ต ส่วนในเวลาปกติเธอก็อยู่กรุงเทพฯ ทำขนมปังปอนด์โฮมเมดขาย

“ก่อนที่จะไปช่วยลุงก็ทำขนมปังปอนด์ขาย ตอนนั้นเมื่อ 40 กว่าปีก่อนร้านเบเกอรีในกรุงเทพฯ ยังมีไม่มาก ขนมปังปอนด์ไม่ใช่ของหาง่ายที่มีขายในร้านสะดวกซื้อแบบตอนนี้ อาแปะก็เห็นว่าเรามาทางนี้พอจะทำขนมได้บ้าง ก็เลยให้ไปฝึกทำขนมเปี๊ยะเพราะได้เงินดีกว่า ซึ่งมันก็ได้เงินเยอะกว่าจริงๆ แหละ แต่เราทำไม่ไหว แต่ก็พอเห็นช่องทางว่ามันน่าจะเอาตัวแป้งมาปรับทำไส้ใหม่ๆ ได้ และส่วนตัวก็ชอบทาพริกเผาหมูหยองลงบนขนมปังปอนด์ที่ตัวเองทำอยู่แล้ว ก็คิดว่าน่าจะเข้ากันได้”

เมื่อคิดแล้วเธอก็ไม่ลังเลที่จะลงมือทำ ด้วยการทดลองทำขนมเปี๊ยะสูตรใหม่ไส่น้ำพริกเผาและหมูหยอง แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก ทั้งเรื่องการห่อแบบทรงกลมที่เมื่อเปลี่ยนจากถั่วเป็นหมูหยองก็ไม่สามารถบีบแป้งให้แน่นได้ ไหนจะเป็นเรื่องน้ำมันที่ออกมาจากน้ำพริกเผาที่ไม่สามารถทำให้ขนมเปี๊ยะแห้งและเก็บไว้ได้นานอย่างที่ขนมเปี๊ยะควรจะเป็น

ขนมเปี๊ยะจินตนา
ขนมแบบใหม่และต้นตำรับ

“เคยทำแบบกลมมันไม่สวยแบบขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ลูกค้าถามทำอะไรไม่น่ากินเลย เราก็เลยเปลี่ยนแบบมาเป็นแบบแท่ง ลูกค้าบอกเหมือนขนมพายเลย แต่เราก็บอกไม่ใช่พาย เพราะแป้งนี่เป็นแป้งขนมเปี๊ยะเลย ขนมพายมันต้องรีดแป้งเป็นชั้นๆ แต่ของฉันคือขนมเปี๊ยะ ไม่ได้ใช้เนย ใช้ไข่ทาแค่ผิว ไม่มีผงกรอบ ไม่มีผงฟู

“ส่วนน้ำพริกเผาก็เลือกใช้แม่ประนอมสูตรที่ไม่มีน้ำมันก็ช่วยได้ ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครทำขนมเปี๊ยะแท่งๆ แบบนี้ เราเป็นเจ้าแรกที่ทำขนมเปี๊ยะแบบแท่ง และก็ทำแบบเดียว ไส้เดียวมาตั้งแต่นั้น ตอนแรกทำหมูหยองเอง เตี่ยเป็นคนทำ แต่พอเตี่ยเสียไปก็ทำไม่ไหว มันต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้ก็ใช้เป็นหมูหยองเจ้าเก่าที่บ้านเรากินมา ส่วนไส้ไก่หยองก็เพิ่งทำได้ไม่นาน เพราะมีลูกค้าที่เขาไม่กินหมู จนลูกๆ เขาเรียนจบกลับมาช่วยงานที่บ้านก็เลยมีพวกคุกกี้วานิลลา ชาเขียว สับประรด ช็อกโกแลตที่ลูกๆ เขาถนัดออกมาเสริม”

ขนมเปี๊ยะจินตนา
เจน – ชนาภา โล่ดำรงรัตน์

เจน – ชนาภา โล่ดำรงรัตน์ ลูกสาวคนโต และ บัว – ฐิติภา โล่ดำรงรัตน์ ลูกสาวคนเล็ก คือรุ่นที่สองที่เข้ามารับช่วงต่อไม่ให้ขนมเปี๊ยะไส้หมูหยองแบรนด์จินตนาที่เลี้ยงทั้งสองคนให้เติบใหญ่มาต้องสูญหาย ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าถ้ารอให้แม่แก่ตัวลง และเธอค่อยเข้ามารับช่วงต่อก็คงไม่ได้มีเวลาเรียนรู้อย่างจริงจัง

เจน เล่าถึงการเข้ามารับช่วงต่อของสองพี่น้อง จากเดิมที่เป็นแค่คนช่วยแม่กระจายสินค้า นำขนมเปี๊ยะหมูหยองไปขายให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ซึ่งทั้งสองคนเรียนอยู่ และตอนนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าใต้โต๊ะเด็กคอนแวนต์ต้องมีขนมเปี๊ยะหมูหยองเป็นขนมฮิตที่หลายๆ คนแอบกินระหว่างชั่วโมงเรียน ต่อเมื่อถามว่าทำไมถึงอยากกลับมาสานต่อตำนานขนมเปี๊ยะของที่บ้าน คุณเจนตอบกลับมาว่า

ขนมเปี๊ยะจินตนา
บัว – ฐิติภา โล่ดำรงรัตน์

“คือเราเห็นตั้งแต่เด็ก เรารู้ว่าขนมเปี๊ยะมันเป็นงานที่โหด หน้ามัน เหนื่อย เหนื่อยมาก มันต้องตื่นแต่เช้า เราไม่ไหวหรอก เรียนจบก็เลยเลือกไปทำงานออฟฟิศ เจ้านายที่เขาเป็นคนจีนเขาถามว่า ทำไมลื้อไม่ทำงานของตัวเอง กิจการที่บ้านตัวเองก็มี ก็ตอบเจ้านายไปว่า อยากลองดูก่อน เห็นเพื่อนเขาแต่งตัวสวยๆ ไปทำงานออฟฟิศ ก็เลยอยากลองทำดูบ้าง

“พอได้ลองทำสักพักหนึ่งเรารู้แล้วมันไม่ใช่เรา ก็เลยเริ่มพูดกับแม่ว่า ถ้าหนูไม่ออกจากงานในวันนี้ แล้วรอจนแก่ ค่อยมาแตะตัวขนมเปี๊ยะ หนูจะไม่สามารถทำขนมนี้ได้อีกเลย เพราะว่าแม่แก่ตัวลงทุกวัน แล้วมีช่วงหนึ่งแม่เขาเข้าโรงพยาบาลด้วย ถ้าแม่ไม่ไหวแล้วใครจะมาสอนทำขนมเปี๊ยะสูตรนี้ได้ แต่วันนี้ในวันที่แม่มีกำลังจะสอนหนูอยู่ ทำไมแม่ไม่สอน แล้วต่อไปมันจะกลายเป็นอาชีพของพวกเรา การที่ไปเริ่มธุรกิจใหม่ๆ กว่าจะมีฐานลูกค้ามันยากมาก เราโชคดีตรงที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว การที่เราจะแตกไลน์สินค้าออกไปน่าจะดีกว่าเริ่มแบรนด์ใหม่”

ขนมเปี๊ยะจินตนา

สำหรับรุ่นสองของ ขนมเปี๊ยะจินตนา ยังคงเหมือนเดิมคือ สูตรเดิม เก็บไว้ได้นานเหมือนเดิมโดยไม่ได้ใส่สารกันบูดกันรา ไม่ได้จ้างลูกจ้าง ทำขนมกันเองในครัวเล็กๆ สามคนแม่และลูกสาว ตื่นมาตั้งแต่ตี 4 และเก็บงานทำขนมไปเรื่อยๆ ถึง 5 ทุ่ม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการแตกไลน์ขนมอบใหม่ๆ การเริ่มมองหาโอกาสของไส้ใหม่ๆ อย่างไส้เจ เพิ่มสีสันทำแพ็คเกจใหม่ ใส่ระบบต้นทุน การจัดการครัวอย่างถูกสุขลักษณะ ใช้การจัดการตลาดที่ได้เรียนมา สมัคร Line Official และเดินหน้าลุยตลาดออนไลน์อย่างเต็มตัว

“เราต้องเริ่มทำในวันที่แม่ยังมีกำลังที่จะสอนเราได้อยู่ และเราก็ไม่อยากให้ขนมที่เลี้ยงเรามาต้องหายไปในรุ่นของเรา” เจนกล่าวทิ้งท้าย

Fact File

  • ขนมเปี๊ยะจินตนา ปากซอยเจริญนคร 28 กรุงเทพฯ
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.00 -20.00 น.
  • โทร. 02-437-8184, 02-860-2984
  • www.facebook.com/chintanakanompai

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ