OMEGA และเรื่องราวเบื้องหลังนาฬิกาที่อยู่คู่สายลับ 007 มากว่า 2 ทศวรรษ
Brand Story

OMEGA และเรื่องราวเบื้องหลังนาฬิกาที่อยู่คู่สายลับ 007 มากว่า 2 ทศวรรษ

Focus
  • เอียน เฟลมมิง ผู้เขียนนิยายชุดสายลับ 007 ตั้งใจเขียนถึงนาฬิกาและให้นาฬิกาคือสิ่งที่สะท้อนตัวตนของสายลับ 007 เจมส์ บอนด์
  • นาฬิกาที่ปรากฏในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตั้งแต่ตอนแรกเริ่มจากแบรนด์ดังอย่าง Rolex จนถึง TAG Heuer และ Seiko ทว่าในช่วงสองทศวรรษหลังแบรนด์ OMEGA

เมื่อนึกถึง เจมส์ บอนด์ (James Bond) นอกจากชุดสูท มาร์ตินี และรถยนต์แล้ว นาฬิกาข้อมือ ก็เป็นอีกองค์ประกอบในจักรวาลเจมส์ บอนด์ ที่จะขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะฉากไล่ล่าผู้ร้าย ฉากผ่อนคลายในวันหยุด บอนด์ไม่เคยไม่ใส่นาฬิกาข้อมือติดตัว ซึ่งนาฬิกาไม่ได้เป็นการไทอินสินค้าที่เพิ่งมีในสายลับ 007 เวอร์ชันภาพยนตร์ แต่ เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) ผู้เขียนนิยายชุดสายลับ 007 ตั้งใจเขียนถึงนาฬิกา และให้นาฬิกาคือสิ่งที่สะท้อนตัวตนของสายลับ 007 ออกมา

นาฬิกาของเจมส์ บอนด์ ปรากฏอยู่ในนิยายต้นเรื่องของตัวละครนี้มาตั้งแต่ตอน Live and Let Die (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1954) ซึ่งเป็นเล่มที่ 2 ของนิยายชุดสายลับ 007 ส่วนในเวอร์ชันภาพยนตร์ปรากฏชัดเจนมาตั้งแต่ภาพยนตร์ตอนแรกที่ถูกสร้างคือ Dr.No (ฉายปี ค.ศ.1962) และหลังจากนั้นทุกตอนจะต้องมีบทสนทนาที่ต้องพูดถึงนาฬิกา การแสดงภาพนาฬิกาให้เห็นชัดเจนบนจอ ถือเป็นส่วนหนึ่งในจักรวาลของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ที่ต้องมีมาตลอดมา

ภาพ:OMEGA

ในเรื่อง เอียน เฟลมมิง สร้างตัวละครเจมส์ บอนด์ สายลับรหัส 007 แห่งหน่วยสืบราชการลับ MI6 ของสหราชอาณาจักร อังกฤษ ให้ต้องมาคู่กับนาฬิกาหรูที่เป็นมากกว่านาฬิกา ซึ่งเป็นนาฬิกาที่เพื่อนร่วมงานชื่อ คิว (Q) มือไอทีนักประดิษฐ์ประจำหน่วยงาน เป็นคนหยิบยื่นให้บอนด์เพื่อที่จะได้มีนาฬิกาที่ทำงานได้มากกว่าแค่บอกเวลาอย่างเที่ยงตรงเพียงอย่างเดียว แต่การปรากฏตัวของนาฬิกามาในฐานะเครื่องประดับและอาวุธไฮเทค ต่อเติมภาพลักษณ์ของพระเอกสายลับที่มีรสนิยมดีมีสไตล์ต่อยอดจากเสื้อผ้าทั้งนี้ เอียน เฟลมมิง ซึ่งเป็นอดีตสายลับแห่งกองทัพเรืออังกฤษเคยกล่าวถึงความสำคัญของนาฬิกาที่สะท้อนตัวตนของตัวละครได้ว่า

“นาฬิกาที่สุภาพบุรุษเลือกใช้บ่งบอกตัวตนของเขาได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับการเลือกสูทหรูของ ซาวิลล์ โรว์ (Savile Row)”

สำหรับในตอน No Time To Die (ฉายปี ค.ศ. 2021) เจมส์ บอนด์เอ่ยถึงความไฮเทคและพลังแห่งนาฬิกาเรือนใหม่ที่เขาสวมใส่ออกไปปฏิบัติการไว้ในบทพูดประโยคหนึ่งกับคิวว่า “นาฬิกาของนาย ทำให้เขา (ผู้ร้าย)ทึ่งตาแตกเลยนะเนี่ย” ซึ่งคำว่า “ทึ่งตาแตก” ไม่ใช่แค่มุกตบให้หนังแอ็กชันมีอารมณ์ขัน แต่เป็นการ โปรโมต ความล้ำของนาฬิกาข้อมือ ที่เป็นอาวุธลับหรือของเล่นไฮเทคชิ้นสำคัญของสายลับ 007 เจมส์ บอนด์อีกด้วย

OMEGA รุ่น Seamaster Diver 300M 007 Edition คือนาฬิกาของเจมส์ บอนด์ No Time To Die (ภาพ:OMEGA)

OMEGA แบรนด์นาฬิกาที่คู่กับเจมส์ บอนด์

สำหรับนาฬิกาที่ปรากฏในภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ตั้งแต่ตอนแรกที่ถูกสร้าง (Dr.No ฉายปี ค.ศ. 1962) เริ่มจากแบรนด์ดังอย่าง Rolex จนถึง TAG Heuer และ Seiko ทว่าในช่วงสองทศวรรษหลังแบรนด์ OMEGA (โอเมก้า) ได้ก้าวมาเป็นนาฬิกาประจำกายของสายลับ 007 ในภาพยนตร์ทุกตอน เริ่มตั้งแต่ GoldenEye (ออกฉายเมื่อปี ค.ศ.1995)

ลินดี เฮมมิง (Lindy Hemming) นักออกแบบเครื่องแต่งกายในหนังบอนด์ตอน GoldenEye บอกเหตุผลที่เลือก OMEGA รุ่น Seamaster เป็นนาฬิกาอาวุธลับของบอนด์ว่า “ฉันเชื่อว่า หัวหน้าบอนด์ ซึ่งเป็นนาวิกโยธินเก่า เป็นนักดำน้ำและเป็นสุภาพบุรุษจอมแหกกรอบของชาวโลกเนี่ย น่าจะเลือกใส่รุ่น Seamaster ที่มีหน้าปัดสีน้ำเงินนะ”

หลังจากนั้น Seamaster ก็ได้เป็นนาฬิกาคู่กายและอาวุธลับชิ้นสำคัญ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นสายลับรสนิยมเลิศ ในภาพยนตร์ตระกูลสายลับที่สร้างต่อเนื่องมายาวนาน โดยรุ่น Seamaster ตอบโจทย์การสร้างเอกลักษณ์ของเอกบุรุษในตัวละครและเรื่องราวผจญภัยต่อสู้สะเทินน้ำสะเทินบกของเจมส์ บอนด์ได้อย่างดี ด้วยนิยาม “ความแข็งแกร่งทนทานและเฉียบขาดแม่นยำ” รวมถึงการแต่งเติมให้นาฬิกาที่คุณภาพยืนยงท้ากาลเวลามานานนับศตวรรษ

ด้วยจินตนาการของเทคโนโลยีให้กลายเป็น “อาวุธลับ”ที่พกง่ายใช้สะดวกและมีประสิทธิภาพสูงในภาวะคับขัน กู้วิกฤติช่วยให้พระเอกรอดตายได้ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาที่สามารถยิงแสงเลเซอร์ตัดวัตถุของแข็งได้ (ในตอน GoldenEye) เป็นต้นขั้วสายสลิงโหนจากยอดตึก (ในตอน The World is Not Enough)นาฬิกาที่ช่วยปลดระเบิดและเลเซอร์ที่ยิงออกมาจากตัวเรือนได้ (ในตอน Die Another Day)ไปจนถึงนาฬิกาที่สามารถกดปุ่มระเบิดผู้ร้ายตาแตก(ใน No Time To Die)

(ภาพ:OMEGA)

เบื้องหลังการออกแบบ OMEGA เพื่อสายลับ 007

แม้อาวุธลับอาจจะเป็นเรื่องแต่ง แต่ความแข็งแกร่งและแม่นยำของนาฬิกาเป็นเรื่องจริง เจมส์ บอนด์ ได้ใช้บริการนาฬิกาและ OMEGA ก็ได้ภาพลักษณ์ของเอกบุรุษแข็งแกร่ง เจ้าเสน่ห์ และมีรสนิยมเด่นของบอนด์ผูกติด (tie-in) ไปกับแบรนด์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในคอลเลกชันรุ่น Seamaster ซึ่งมีรายละเอียดของการออกแบบเชื่อมโยงทั้งจุดเด่นของนาฬิกาและประวัติศาสตร์ของแบรนด์

Seamaster Diver 300M 007 Edition คือนาฬิกาของเจมส์ บอนด์ ตอน No Time To Die เป็นรุ่นใหม่ที่ออกแบบต่อยอดจาก Seamaster Diver 300M รุ่นมาตรฐาน แรงบันดาลใจอิงแนวคิดพื้นฐานการใช้งานของทหาร ซึ่งหากย้อนประวัติศาสตร์ของแบรนด์ เมื่อ ค.ศ.1940 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติกองทัพอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตร ได้มอบหมายให้ทางแบรนด์OMEGA เป็นผู้ผลิตนาฬิกาสำหรับใช้ในกองทัพเพียงรายเดียวและเป็นโอกาสเร่งรัดสายพานการผลิตนวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์นาฬิกาที่มีคุณสมบัติกันน้ำ (Water-Resistance) กันกระแทก (Shockproof) และต้านทานสนามแม่เหล็ก (Antimagnetic) ได้ โดยผลการใช้งานสะเทินน้ำสะเทินบกในสนามรบ ตอกย้ำจุดแข็งของนาฬิกาแบรนด์นี้ที่มีทั้ง “ความแข็งแรงและเที่ยงตรง” และพิเศษกว่านั้น Seamaster Diver 300M 007 Edition ยังเป็นงานออกแบบที่แดเนียล เครก (Daniel Craig) นักแสดงที่รับบทบอนด์ มาร่วมออกไอเดียในการออกแบบด้วย

Seamaster Diver 300M 007 Edition ใช้วัสดุพิเศษเน้นความแข็งแกร่งและน้ำหนักเบา เพื่อความคล่องตัวเหมาะกับการใช้งานและภาพลักษณ์ของตัวละคร เจมส์ บอนด์ ซึ่งในตอน No Time To Die มีภารกิจไปช่วยจิตแพทย์สาวจากถิ่นผู้ร้ายในเกาะกลางทะเล โดยน้ำหนักที่เบานี้มาจากหน้าปัดเป็นวัสดุอะลูมิเนียมตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียมเกรด 2 ขนาด 42 มม. ส่วนสายเป็นนาฬิกาไทเทเนียมถักกระจกครัสตัล แซฟไฟร์ทรงโดมแบบพิเศษบนตัวเรือนทำให้ดูแบนบางกว่า Seamaster Diver 300M รุ่นมาตรฐาน

OMEGA
แม้ในวันสบายๆ นาฬิกาก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของบอนด์

ส่วนสีขอบตัวเรือนอะลูมิเนียมกับหน้าปัดนาฬิกาเป็นสีเดียวกัน สีนี้จะเข้มขึ้นเมื่อใช้ไปเรื่อย ๆ วงการนักสะสมนาฬิกาเรียกสีแบบนี้ว่า ทรอปิคัล (Tropical) ด้านสีของสายนาฬิกา เป็นสายไทเทเนียมถักหรือสาย NATO ที่เป็นแถบ3 สี มีสีน้ำตาลเข้ม เทาและเบจ บนห่วงสายยังสลักเลข 007 ตามรหัสสายลับของเจมส์ บอนด์

ฝาหลังนาฬิกามีชุดตัวเลขที่เป็นรหัสบอกความหมายต่างไป โดยความหมายของตัวเลขที่อิงกับรหัสทางการทหารแห่งกองทัพอังกฤษ“0552” คือ เลขรหัสกองทัพเรือ 923 7697 คือเลขสำหรับนาฬิกาดำน้ำ ตัวอักษร “A” แสดงถึงนาฬิกาที่ใช้เม็ดมะยมแบบขันเกลียว ส่วนเลข “007” นั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือรหัสประจำตัวสุดไอคอนิกของสายลับเจมส์ บอนด์ และสุดท้ายคือ “62” ที่มาจากปีที่ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ภาคแรกเข้าฉาย ทั้งนี้การใส่รหัสตัวเลขบนฝาหลังนาฬิกา ทำตามต้นแบบนาฬิกาที่ผลิตขึ้นสำหรับใช้งานในกองทัพจริง

นอกจาก เจมส์ บอนด์ จะใส่ Seamaster Diver 300M 007 Editionในหนังแล้ว นาฬิการุ่นนี้ยังมีวางขายสำหรับคนทั่วไปแบบไม่จำกัดจำนวน รูปลักษณ์ ดีไซน์ ขนาดและคุณสมบัติความแข็งแรงเที่ยงตรงแบบเดียวกับในจอภาพยนตร์ทุกอย่าง ยกเว้นประสิทธิภาพเป็นอาวุธลับจุดระเบิดนั้นคงไว้เป็นเรื่องแต่งในภาพยนตร์

OMEGA
เจมส์ บอนด์ ตอน Quantum of Solace (2008) และนาฬิกา Omega Seamaster Planet Ocean 600M  (ภาพ:OMEGA)

ไทม์ไลน์สำคัญของแบรนด์ OMEGA ก่อนมาเป็นนาฬิกาในหนังสายลับ

  • ค.ศ.1848 หลุยส์ บรานด์ต(Louis Brandt) ช่างทำนาฬิกาอายุ 23 ปี ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ ลาโช-เดอ-ฟง (La Chaux-de-Fonds) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ความตั้งใจแรกของเขาคือ ต้องการสร้างนาฬิกาที่บอกเวลาได้อย่างแม่นยำที่สุด และงานของเขาก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงไปทั่วยุโรปภายในเวลาไม่กี่ปีหลุยส์เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ.1879 และต่อมา ค.ศ.1880 ลูกชาย 2 คนของเขา ชื่อหลุยส์-ปอล และ ซีซาร์ ได้สืบทอดกิจการ ตั้งบริษัทขึ้นมาชื่อ Louis Brandt&Fils (หลุยส์ บรานด์ตและลูกชาย) และย้ายสำนักงานใหญ่จากหมู่บ้านลาโช-เดอ-ฟง ไปยังตัวเมือง บีลหรือเบียน (Biel/Bienne) จนถึงปัจจุบัน
  • ค.ศ.1894 เริ่มใช้ชื่อ OMEGA โดยสองพี่น้องตระกูลบรานด์ตสานฝันของพ่อได้สำเร็จ เมื่อพวกเขาได้ทำนาฬิกา ที่เข็มนาฬิกาบอกเวลาได้เที่ยงตรงทั้งคู่ตั้งชื่อ นาฬิการุ่นนี้ว่า โอเมกา (OMEGA) และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็นOmega Watch Co. และกลายเป็นโรงงานผลิตนาฬิกาสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมในงาน 1900 Paris Exposition เอกซ์โประดับโลก ปี ค.ศ.1900 เดือนเมษายน ที่ปารีส เป็นงานมหกรรมแสดงเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของโลกนับจากเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป และ OMEGA ก็เป็นแบรนด์แรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ แกรนด์ ไพรซ์ (Grand Prize) สำหรับความสำเร็จในด้านเทคโนโลยีนาฬิกาซึ่งถือเป็นรางวัลสำคัญ ตัดสินจากความสำเร็จในการสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ใด ๆ ทั้งหมด ที่มาร่วมแสดงนวัตกรรมในงานเอกซ์โป หรืองานแฟร์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนั้น และในปี ค.ศ.1905 ก็ได้ขยับขึ้นมาเป็นนาฬิกาหลักในกีฬาระดับชาติ
OMEGA
OMEGA Co-Axial  สำหรับเจมส์บอนด์ SKYFALL
(ภาพ:OMEGA)
  • ค.ศ. 1905 หลังจากมีรางวัลการันตีความยอดเยี่ยมด้านเทคโนโลยีแล้ว ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OMEGA เริ่มเปิดตัวสู่ผู้บริโภคระดับมหาชน ด้วยการเป็นนาฬิกาหลักที่ใช้ในงานกีฬาระดับชาติของสวิตเซอร์แลนด์16 รายการ ด้วยคุณสมบัติของนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำในการบอกเวลา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้งานระหว่างการแข่งขันกีฬา
  • ค.ศ.1909 แบรนด์ OMEGAเริ่มได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วโลกจากความเที่ยงตรงและง่ายต่อการซ่อมแซม หนึ่งในความสำเร็จของนาฬิกาOMEGAตั้งแต่รุ่นแรก คือ การที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่นาฬิกาได้อย่างง่ายดายต่อมาใน ค.ศ.1931 ถือเป็นก้าวสำคัญของOMEGA กับการได้รับมาตรฐานรับรองแบบเต็มสิบไม่มีหัก จากคณะกรรมการที่ หอดูดาวเจนีวา (Geneva Observatory)ซึ่งทดสอบความแม่นยำและเที่ยงตรงของนาฬิการะบบโครโนมิเตอร์ ภายใต้สภาวะใด ๆ ก็ยังเที่ยงตรงแม่นยำ แบบที่ไม่มีเคยมีนาฬิกายี่ห้ออื่นใดทำได้มาก่อน และความแม่นยำเที่ยงตรงของOMEGA ยังคงเป็นจุดเด่นที่ยืนหนึ่งมาถึงทุกวันนี้ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพของวงการนาฬิกาโดยรวมอีกด้วย
  • ค.ศ.1932 ทางแบรนด์OMEGA ได้ยกตัวเองขึ้นมาจากนาฬิกาหลักในกีฬาระดับชาติมาเป็นนาฬิกาหลักในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ลอสแอนเจลิสเกมและเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนาฬิกาหลักในงานโอลิมปิกครั้งต่อ ๆ มา โดย OMEGA กลายเป็นนาฬิกาแบรนด์แรกที่ถูกเลือกให้เป็นนาฬิกาหลักใช้ระหว่างการแข่งขันกีฬาเกือบทุกรายการ ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1932 จัดระหว่างวันที่ 30กรกฎาคม -14 สิงหาคม ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และได้นำเทคโนโลยีบอกเวลาใหม่ ๆ มาเปิดตัวในงานโอลิมปิกปี1932 ด้วย
  • ค.ศ.1940 แบรนด์OMEGAได้กลายเป็นนาฬิกาของกองทัพอังกฤษเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น กองทัพอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรได้มอบหมายให้ OMEGAเป็นผู้ผลิตนาฬิกาสำหรับใช้ในกองทัพเพียงรายเดียวและเป็นโอกาสเร่งรัดนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์นาฬิกาที่ต้องมีคุณสมบัติกันน้ำ (Water-Resistance) กันสั่นสะเทือน (Shockproof) และกันแม่เหล็ก (Antimagnetic)ได้และผลการใช้งานสะเทินน้ำสะเทินบกในสนามรบ ตอกย้ำจุดแข็งของนาฬิกาแบรนด์นี้ที่มีทั้ง “ความแข็งแรงและเที่ยงตรง”
OMEGA
Casino Royale (2006) เปิดตัวพร้อม Seamaster Diver 300M Co-Axial และ Planet Ocean 600M Co-Axial (ภาพ:OMEGA)
  • ค.ศ.1948 ถือเป็นช่วงสำคัญตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีของกำเนิดแบรนด์ พร้อมการปล่อยนาฬิการุ่น Seamasterซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนาต่อยอดมาจากงานผลิตส่งให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นรุ่นที่ทนทานเที่ยงตรงในทุกภูมิอากาศและภูมิประเทศ ไม่ว่าจะเหินฟ้า ตะลอนบนพื้นดินหรืออยู่ใต้ทะเลลึก ด้วยคุณสมบัติทนทานทุกพื้นที่และกันน้ำชั้นยอด ที่ใช้คำโฆษณาว่า “SuperWaterproof”
  • ค.ศ.1956 มีการทดสอบการทำงานของนาฬิการุ่น Seamasterผ่านเครื่องบินเที่ยวบินเลาะขั้วโลกเหนือ ตอกย้ำความเสถียรและการทำงานอย่างแม่นยำ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1956 นาฬิการุ่น Seamaster ถูกแปะติดไว้นอกตัวเครื่องบินของสายการบินแคนาเดียนแปซิฟิกแอร์ไลน์เที่ยวบิน 302 ออกจาก อัมสเตอร์ดัม ข้ามทวีปไปยังประเทศแคนาดา เลาะเลียบเส้นทางขั้วโลกเหนือ ในเวลาเกือบ 9 ชั่วโมง หลังจากนั้นกัปตันเครื่องบิน ช่างเทคนิคบนเครื่องและเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ได้ตรวจสอบการทำงานของนาฬิกาเรือนนี้แล้ว ล้วนลงมติเอกฉันท์ถึงการทำงานที่ต่อเนื่องอย่างแม่นยำและเที่ยงตรง แม้จะผ่านสภาพอากาศที่หฤโหดและแปรปรวนมายาวนานก็ตาม
  • ค.ศ.1981 หลังจากที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และความสำเร็จมากมายทั้งในวงการกีฬาและการเดินทางสู่อวกาศ(ในรุ่น Speedmaster) นาฬิการุ่น Seamaster ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการทำงานใต้ทะเลลึก เมื่อฌาคส์ มายอล (Jacques Mayol) นักดำน้ำลึกแบบไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ ฟรีไดฟ์ ชาวฝรั่งเศส ได้ทำสถิติดำน้ำลึกถึง 101 เมตร ในอึดใจเดียว โดยไม่ใช้ถังออกซิเจนหรือสกูบา ในทะเลนอกชายฝั่งเอลบา ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 โดยฌาคส์ มายอล สวมใส่นาฬิกาข้อมือรุ่น Seamaster ลงไปด้วย ความอึดของมายอลที่ทำได้เกินมาตรฐานมนุษย์ทั่วไปในน้ำลึกและยังรอดชีวิตกลับมาอย่างปลอดภัยได้ อัตราการเต้นของหัวใจที่เหลือแค่ 27 ครั้งต่อนาที จากมนุษย์ปกติที่การเต้นของหัวใจเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ครั้งต่อนาที นับเป็นความมหัศจรรย์ และความอึดของรุ่น Seamasterในสภาวะใต้น้ำลึกเช่นนั้นก็ตอกย้ำมูลค่าของแบรนด์ได้ด้วย (ฌาคส์ มายอลเป็นแรงบันดาลใจและต้นเรื่องของภาพยนตร์เรื่อง The Big Blue หรือ Le Grand Bleu (ค.ศ. 1988) ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ลุก แบซง (Luc Besson))
  • ค.ศ.1995 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของแบรนด์กับการเดบิวต์แจ้งเกิดในภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ตอน GoldenEye และแล้ว Seamaster ก็เข้าสู่ฮอลลีวูดอย่างโดดเด่น ด้วยการเป็นนาฬิกาคู่กายและอาวุธลับชิ้นสำคัญ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นสายลับรสนิยมเลิศวิไล ในภาพยนตร์ตระกูลสายลับที่สร้างต่อเนื่องมายาวนานและตัวละคร เจมส์ บอนด์ สร้างสรรค์โดย เอียน เฟลมมิง ที่ถูกดัดแปลงจากนวนิยายมาสู่โลกภาพยนตร์อีกทั้งตอบโจทย์การสร้างเอกลักษณ์ของเอกบุรุษในตัวละครและเรื่องราวผจญภัยต่อสู้สะเทินน้ำสะเทินบกของเจมส์ บอนด์ได้อย่างดี รวมถึงการแต่งเติมให้นาฬิกาที่คุณภาพยืนยงท้ากาลเวลามานานนับศตวรรษ ด้วยจินตนาการของเทคโนโลยีให้กลายเป็น “อาวุธลับ” ที่พกง่ายใช้สะดวกและมีประสิทธิภาพสูงในภาวะคับขัน กู้วิกฤติช่วยให้พระเอกรอดตายได้และนับจาก GoldenEye (ค.ศ.1995) OMEGA ถูกเลือกใช้เป็นนาฬิกาซ่อนอาวุธลับ ของตัวละคร เจมส์ บอนด์ มาทุกภาค เช่นเดียวกับตอนล่าสุด No Time To Die (ค.ศ.2021) ซึ่งเป็นตอนที่ 25 ของ บริษัทอีออน โปรดักชันส์(EON Productions)

Fact File

  • ในต้นฉบับนิยายเจมส์ บอนด์ แบรนด์นาฬิกาที่ถูกกล่วถึงคือ Rolex ซึ่งเป็นนาฬิกาแบรนด์ที่ เอียน เฟลมมิง ผู้เขียน สวมใส่ในชีวิตจริง
  • ครั้งแรกที่นาฬิกาปรากฏในเนื้อเรื่องเป็นอาวุธลับคู่กายของเจมส์ บอนด์ คือ นิยายเรื่อง Live and Let Die เอียน เฟลมมิง ผู้เขียนนิยายต้นฉบับ ตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ.1954เป็นนิยายเล่มที่ 2 ในชุดสายลับ 007 ของเฟลมมิงมีฉบับแปลภาษาไทย โดย จารุวัฒน์ ชื่อเล่ม เจมส์ บอนด์ 007 ตอน เพชฌฆาตข้ามแดน พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2507 โดยสำนักพิมพ์บำรุงสาส์น

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป