เบื้องหลัง หนวด หมวกแดง และชุดเอี้ยมของ มาริโอ จากวิดีโอเกมสุดฮิตสู่จอภาพยนตร์
Brand Story

เบื้องหลัง หนวด หมวกแดง และชุดเอี้ยมของ มาริโอ จากวิดีโอเกมสุดฮิตสู่จอภาพยนตร์

Focus
  • ราว ค.ศ. 1981 ตัวละคร มาริโอ ได้ออกมาโลดเล่นบนจอวิดีโอเกมชื่อ Donkey Kong ของบริษัทนินเทนโด ประเทศญี่ปุ่น โดยการสร้างสรรค์ของ ชิเกรุ มิยาโมโต
  • มาริโอมาพร้อมภาพจำคาแรคเตอร์ชาวอิตาลีไว้หนวด สวมหมวกแดง และใส่เอี้ยมช่างประปา ซึ่งได้ขยายความนิยมจากเกาะญี่ปุ่นไปทั่วโลก

ย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีราว ค.ศ. 1981 ตัวละคร มาริโอ (Mario) ได้ออกมาโลดเล่นบนจอวิดีโอเกมชื่อ Donkey Kong ของบริษัทนินเทนโด ประเทศญี่ปุ่น โดยการสร้างสรรค์ของ ชิเกรุ มิยาโมโต  (Shigeru Miyamoto) จากนั้นได้ขยายสู่จักรวาลเกม Super Mario Bros. ที่ไม่ได้โด่งดังเพียงแค่เกาะญี่ปุ่น เรื่องราวการกระโดดข้ามอุปสรรคกีดขวางในจอเล็กๆ ที่มาพร้อมภาพจำคาแรคเตอร์ชาวอิตาลีไว้หนวด สวมหมวกแดง และใส่เอี้ยมช่างประปาได้ขยายความนิยมไปทั่วโลก และล่าสุดมาริโอ กลับมาอีกครั้งในฉบับภาพยนตร์แอนิเมชัน  The Super Mario Bros. Movie ฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกพร้อมกันในเดือนเมษายน 2023 ถือเป็นอีกพัฒนาการของมาริโอที่ก้าวมาไกลจากวิดีโอเกมในความทรงจำ Sarakadee Lite ชวนไปย้อนกำเนิดตัวละคร และวิดีโอเกมขวัญใจมหาชนตลอดกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมากันอีกครั้ง

มาริโอ

มาริโอ ผลงานคลาสสิคของนินเทนโด

มาริโอเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ชิเกรุ มิยาโมโต นักออกแบบวิดีโอเกมผู้มีพื้นฐานในการสร้างสรรค์มังงะมาก่อน เขาเริ่มทำงานตำแหน่งนักออกแบบให้กับบริษัทนินเทนโดใน ค.ศ. 1977 ขณะที่มีอายุเพียง 24 ปี ตรงกับยุคที่ ตู้เกม หรือ เกมอาเขต (arcade game) กำลังเป็นกระแสในสหรัฐอเมริกา

ช่วงปี ค.ศ. 1979-1980 มิยาโมโต ในฐานะนักออกแบบและเป็นคนที่ชอบเล่นวิดีโอเกมมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ได้รับภารกิจในการสร้างสรรค์วิดีโอเกมให้บริษัทโดยมีโจทย์ใหญ่คือเป็นเกมใหม่ที่จะมาแทนเกม Radar Scope ซึ่งอยู่ในช่วงขาลง ทำรายได้ไม่ดีนักในอเมริกา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดวิดีโอเกมและเป็นตลาดวิดีโอเกมแบบเกมตู้ที่ใหญ่ที่สุดในช่วงยุค 70-80 ทางนินเทนโดญี่ปุ่นจึงได้เร่งปรับปรุงเครื่องเล่นวิดีโอเกมแบบที่ให้สามารถเล่นได้ง่ายกว่าเกมตู้แบบเดิม พร้อมคิดสร้างสรรค์เกมใหม่ด้วยหวังจะพลิกตลาดเกมตู้ที่เริ่มซบเซา

มาริโอ
Donkey Kong

เริ่มแรกนินเทนโดได้พยายามซื้อลิขสิทธิ์เรื่องราวของ ป๊อปอาย กลาสีจอมพลัง มาสร้างเป็นวิดีโอเกมแต่ไม่สำเร็จ มิยาโมโตจึงพลิกสถานการณ์ด้วยการสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาในพล็อตเรื่องที่ใกล้เคียง และได้ออกมาเป็นเกมใหม่ในชื่อ  Donkey Kong ออกสู่ตลาดใน ค.ศ. 1981 กับโครงเรื่องของช่างไม้ สาวคนรัก และผู้ร้ายคือกอริลลายักษ์  โดยตัวละครช่างไม้ใช้ชื่อแรกเริ่มว่า มิสเตอร์วิดีโอ  ต่อมาเปลี่ยนเป็น จัมพ์แมน   และในที่สุดก็เปลี่ยนมาเป็นชื่อ มาริโอ ตั้งตาม มาริโอ ซีกาเล (Mario Segale) เจ้าของตึกชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีที่บริษัทนินเทนโดเช่าเป็นสำนักงานและโกดังในเมืองซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และนี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมตัวละครมาริโอที่คิดค้นด้วยคนญี่ปุ่นจึงมีเชื้อสายอิตาลี

มาริโอ

Mario Bros. ถือกำเนิดพร้อมการพลิกโฉมตลาดเกมตู้ 

ในปี ค.ศ. 1983 เกม Mario Bros.  ออกสู่ตลาดครั้งแรกพร้อมตัวละครหรือผู้เล่นหลักคือ มาริโอ และได้มีการเพิ่มตัวละครใหม่ ลุยจิ (Luigi) น้องชายฝาแฝดของมาริโอ ชื่อนี้เป็นชื่อที่ทางนินเทนโดอเมริกาตั้งให้และมีความพ้องเสียงกับคำว่า รุยจิ ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลว่า “คล้ายกัน”  ลุยจิจึงกลายเป็นคาแรคเตอร์และผู้เล่นคนที่สองในเกม Mario Bros. ที่เปิดตัวมาในรูปแบบวิดีโอเกมบนเครื่องเล่นเกมพกพารุ่น Game & Watch ของนินเทนโด เป็นจุดเริ่มของการขยายตลาดจากเกมตู้สู่วิดีโอเกมแบบพกพา

จากนั้นในปี 1985 เกม Super Mario Bros. ก็ออกสู่ตลาด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะทางบริษัทนินเทนโดได้ส่ง เครื่องเล่นเกมนินเทนโดหรือ NES (Nintendo Entertainment System) ออกสู่ตลาดทำให้เกม Super Mario Bros. สามารถเล่นบนเครื่อมแฟมิคอม หรือ เครื่องแฟมิลี่  (Family Computer) ที่สามารถเล่นหลายคนได้พร้อมกัน การมาของเกม Super Mario Bros. และ เครื่องเล่นเกม NES ของนินเทนโด ถูกยกให้เป็นผู้กอบกู้วงการวิดีโอเกมในอเมริกา หลังจากที่ตลาดวิดีโอเกมแบบเกมตู้เริ่มซบเซาลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ค.ศ. 1983

เกม Super Mario Bros. ฮิตติดตลาดยาวนาน พร้อมทั้งมีการพัฒนาเกมซีรีย์ที่ 2 และ 3 ออกมาในปี ค.ศ. 1986 และ 1988 และเป็นจุดเริ่มต้นโครงเรื่อง มาริโอกับลุยจิ สองพี่น้องกับการผจญภัยเพื่อช่วย เจ้าหญิงพีช (Princess Peach) แห่งอาณาจักร Mushroom Kingdom จากเงื้อมมือผู้ร้าย บาวเซอร์ (Bowser)  ซึ่งพล็อตนี้ได้ถูกนำเสนอในฉบับภาพยนตร์แอนิเมชันปี 2023 ด้วย

ทั้งนี้ในการพัฒนาเกม Super Mario Bros. ซีรีส์ต่างๆ ยังคงมี มิยาโมโต ทำหน้าที่ทั้งผู้อำนวยการผลิต และตำแหน่งนักออกแบบร่วมกับ Takashi Tezuka มีทั้งการต่อยอดขยายตัวละคร (ผู้เล่นในเกม) จากเกม Excitebike  และดึงเทคโนโลยีใหม่ในการไถจอเลื่อนขึ้นลงจากเกม Devil World  ที่ทั้งคู่ได้ร่วมกันออกแบบมาก่อนหน้านั้นมาใช้ รวมทั้งดึงองค์ประกอบจากเกม The Legend of Zelda,  Fire-Bars ที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงเดียวกันมาใส่ใน Super Mario Bros. ด้วยโดยเป้าหมายของเกม  Super Mario Bros.  คือ ให้มาริโอท่องไปในดินแดนต่างๆ ในหลากหลายธีม เป็นการผจญภัยในหลากหลายพื้นที่ ทั้งบนบก ทางอากาศ และทางน้ำ และถ้านับจากวันวางแผงครั้งแรก Super Mario Bros. ยังครองตำแหน่งวิดีโอเกมขายดีตลอดกาล ซึ่งผลลัพธ์มาจากการพัฒนาเกม ผู้เล่น (ตัวละคร) ที่สำคัญคือสามารถเล่นในเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ๆ ที่นินเทนโดพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง NES, Nintendo PlayChoice-10, เครื่องเล่น Wii, Wii U, เครื่องเล่น Nintendo 3DS Virtual Console และ Nintendo Switch

มาริโอ
จักรวาลมาริโอ

แนวคิดเบื้องหลังการออกแบบเกมมาริโอ

อย่างแรกสุดเลยนะ เกมมันต้องได้อารมณ์ของความสำเร็จในการทำอะไรสักอย่าง ต้องรู้สึกว่าได้ลงมือทำ แล้วได้ความพึงพอใจในการทำมันได้เสร็จสมบูรณ์”   

มิยาโมโต บอกข้อคิดสำคัญในการเริ่มต้นสร้างวิดีโอเกมของเขา และเมื่อย้อนไปดูเส้นทางการสร้างสรรค์เกมมาริโอยังพบความลับความสำเร็จอีกข้อของมิยาโมโตก็คือนี่ถือเป็นครั้งแรกๆในประวัติศาสตร์การสร้างวิดีโอเกมที่มีการออกแบบโครงเรื่องและตัวละครมาก่อนการออกแบบเทคโนโลยีซอฟต์แวร์เกม เหตุก็ด้วย มิยาโมโต มีพื้นฐานเป็นนักออกแบบและนักวาดภาพมังงะ นั่นจึงทำให้งานออกแบบวิดีโอเกมของเขาต่างออกไป โดยในเกม Donkey Kong ต้นทางเกมมาริโอนั้น มิยาโมโตได้วางโครงเรื่องวางตัวละครชัดเจนและมีสถานการณ์การผจญภัยเป็นเรื่องราวก่อนจะนำมาพัฒนาต่อเป็นวิดีโอเกม ผิดจากแบบแผนการผลิตวิดีโอเกมในยุคก่อนปี 1980 ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและเขียนโปรแกรมขึ้นมาก่อน มิยาโมโต ตั้งข้อสังเกตว่า ความแตกต่างของมาริโอก็เพราะตัวเขามีพื้นฐานมาจากการออกแบบมังงะไม่ได้เป็นวิศวกรออกแบบฮาร์ดแวร์ และคนสร้างสรรค์เกมรุ่นของเขายังถือเป็น “นักออกแบบเกม” รุ่นแรกที่ไม่ใช่สายเทคโนโลยีอย่างคนผลิตเกมรุ่นก่อน

มาริโอ
ตัวละครลุยจิ

ทั้งนี้มิยาโมโตได้เล่าที่มาของการเริ่มต้นเป็นนักออกแบบเกมของเขาไว้ในบทสัมภาษณ์เบื้องหลังภาพยนตร์แอนิเมชัน The Super Mario Bros. Movie ว่า 

“ผมอยากเป็นศิลปินมังงะ (นักวาดการ์ตูน) มาตั้งแต่เด็ก และความฝันเริ่มเป็นจริงเมื่อผมเข้าเรียนมัธยมปลาย ตอนนั้นผมเริ่มจินตนาการตัวละครและวาดเส้นเป็นเรื่องราวการ์ตูนของตัวเอง แต่มันเป็นวิดีโอเกมแทนที่จะออกมาเป็นการ์ตูนเล่ม ผมเชื่อว่าถ้าเกมแรกที่ผมทำมันไม่สนุก ตัวละครในเกมนั้นคงไม่เป็นที่จดจำหรอก แต่โชคดีที่ตัวละครในเกม Donkey Kong เกมแรกสุดที่ผมทำ มีคนจำนวนมากรู้จักมันจดจำมันได้ และเอื้อให้ผมได้สร้างสรรค์เกมออกมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายเรื่องนับจากนั้นมา”

ชิเกรุ มิยาโมโต  (ขวามือ) กับการเปิดมาริโอในรูปแบบธีมพาร์ค Super Nintendo World ในสวนสนุก Universal Studios Japan ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากเรื่องราวที่สนุก ตัวละครมีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำแล้ว อีกสิ่งที่โดดเด่นของเกมมาริโอ  คือการออกแบบเกมให้เล่นง่าย  ผู้เล่นแค่กดปุ่มไปทางขวาให้ตัวพระเอกเดินหน้า กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ที่สำคัญผู้เล่นสามารถเรียนรู้วิธีการเล่นในระหว่างที่เล่นเกมได้ทันทีโดยไม่ต้องนั่งอ่านคำอธิบายให้ยุ่งยาก ไม่ต้องเสียเวลาอ่านคู่มือหรือคำแนะนำก่อนเล่นเกม และหลังจากที่มาริโอข้ามอุปสรรคในแต่ละด่านได้ ตัวมาริโอก็จะแข็งแกร่งขึ้นพร้อมเผชิญอุปสรรคที่ท้าทายยิ่งขึ้น ทำให้คนเล่นเพลิดเพลิน และรู้สึกฮึกเหิม อยากที่จะพามาริโอไปช่วยเจ้าหญิงของพวกเขาให้ได้ และถ้าทำพลาดก็แค่เริ่มต้นใหม่ได้ไม่ยาก

“สำหรับคนเล่นเกมนี้ ตัวละคร (มาริโอ) ถือเป็นตัวตนอีกภาคหนึ่งของพวกเขาและมาริโอก็มีพัฒนาการควบคู่เทคโนโลยีดิจิทัลมาตลอด  ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมา ผมจะสร้างเกมมาริโอ้ใหม่ๆออกมาเสมอ มาริโอจึงกลายเป็นเป็นตัวละครที่มีความเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำใครเลย”

The Super Mario Bros. Movie
คาแรคเตอร์มาริโอที่กลายเป็นภาพจำของแฟนๆ ทั่วโลก

เบื้องหลัง หนวด หมวกแดง และชุดเอี้ยมช่างประปาของมาริโอ

หนวด หมวกแดงและชุดเอี้ยมช่างประปา สามสิ่งนี้คือภาพจำของแฟนๆ มาริโอ ซึ่งมิยาโมโตเล่าว่า เขาต้องการให้ตัวละครมีรูปร่างหน้าตาที่เหมือนคนมากกว่าตัวผู้เล่นในวิดีโอเกมรุ่นก่อน  แต่ภายใต้ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีภาพดิจิทัลสมัยก่อนที่จำกัดแค่ 16×16 pixelsผลลัพธ์คือทำให้ตัวละครมาริโอมีใบหน้า มีตา จมูก มีหนวดแต่ไม่มีริมฝีปาก สวมหมวก และชุดทำงานช่าง มิยาโมโตอธิบายไว้อย่างชัดเจนในทางเทคนิคว่า 

การวาดมาริโอมีหนวดแต่ไม่เห็นริมฝีปากเพื่อประหยัดค่าพิกเซลของภาพดิจิทัลที่เป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในเวลานั้น ทำให้หัวกับใบหน้าตัวละครต้องขนาดไม่เกิน 2 pixelsมาริโอจึงถูกออกแบบให้มีหน้าที่เห็นเส้นคางชัด  มีตา มีจมูกและมีหนวด ซึ่งเท่านี้ก็จะได้หน้าตาและลักษณะของตัวละครครบโดยหนวดนั้นถูกวาดแทนริมฝีปากเพราะประหยัดพิกเซลได้มากกว่าและเห็นเค้าโครงหน้าที่ชัดเจนเมื่อเป็นวิดีโอเกม

ส่วนหตุผลของการให้มาริโอ สวมหมวก แทนการวาดเส้นผม เพราะง่ายต่อการสร้างการเคลื่อนไหวสำหรับตัวละครในเกม และสุดท้ายเหตุผลของการออกแบบให้ มาริโอ สวมชุดทำงานช่างที่เป็นชุดเอี๊ยมเต็มตัว นอกจากจะกำหนดอาชีพให้ตัวละครแล้ว (เริ่มแรกเป็นช่างไม้ ต่อมาเป็นช่างประปา) อีกเหตุผลทางเทคนิคคือ การใส่ชุดเครื่องแบบทำงานช่างแบบเอี้ยมยังเป็นจุดแยกสีระหว่างส่วนร่างกายและส่วนแขนของมาริโอส่งผลให้เห็นการเคลื่อนไหวของตัวละครได้ชัด เพราะในเกมมาริโอจะต้องกระโดดโลดแล่นและขยับส่วนที่เป็นแขนเป็นหลัก  การแยกสีชุดกับสีร่างกายของตัวละครทำให้เห็นการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนและดูคล้ายคนมากขึ้น เช่นเดียวกับการให้มาริโอ สวม ถุงมือสีขาว เป็นจุดที่ทำให้เห็นว่าตัวละครเคลื่อนที่ได้ชัดขึ้นด้วย

The Super Mario Bros. Movie

The Super Mario Bros. Movie มาริโอในฉบับภาพยนตร์

จากวิดีโอเกม มาริโอได้ขยายจักรวาลสู่ฉบับภาพยนตร์ The Super Mario Bros. Movie เล่าเรื่องการผจญภัยของสองตัวละครหลัก มาริโอ กับ ลุยจิ สองพี่น้องช่างประปาที่มาจากครอบครัวเชื้อสายอิตาลี อาศัยอยู่แถบย่านบรูคลีน นิวยอร์ก โดยสถานการณ์ที่ทั้งสองต้องเจอเป็นประจำคือ การแก้ไขปัญหาท่อประปาของเมืองด้วยการมุดลงไปยังอุโมงค์ท่อใต้ดิน แต่ระหว่างทางลุยจิได้หายตัวไป ทำให้มาริโอต้องออกตามหาจนไปโผล่ที่อาณาจักรเห็ด (Mushroom Kingdom) ส่วนลุยจิไปโผล่ที่ Warp Zone และหลุดเข้าไปในดาร์คแลนด์ซึ่งปกครองโดย บาวเซอร์ ผู้ร้ายตัวฉกาจในโลกเกมมาริโอ 

The Super Mario Bros. Movie ได้มิยาโมโตผู้ให้กำเนิดมาริโอมานั่งแท่นผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์ และเขาได้เผยถึงที่มาของการสร้างมาริโอเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันครั้งแรกว่า 

The Super Mario Bros. Movie

“ทุกครั้งที่คุยกับผู้อำนวยการสร้างฮอลลีวูด พวกเขามักจะเริ่มคุยถึงทรัพย์สินทางปัญญาของนินเทนโดว่าจะเป็นหนังฮิตได้ยังไง แต่กับคริส (คริส เมเลดันดรี ซีอีโอของ Illumination) บทสนทนามันเป็นการแบ่งปันความคิดกันว่าเราจะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้บ้าง ผลลัพธ์คือ กระบวนการทำหนังมันใกล้เคียงกับวิธีการที่ผมพัฒนาเกมเลย และผมสะดวกใจมากๆ แน่นอนว่าในกระบวนการทำงานจริง มันต้องมีลองผิดลองถูก มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันเพื่อผลักดันงานให้เดินหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นคำถามว่า เราจะเล่าเรื่องราวของมาริโอแบบไหน แฟนเกมอยากเห็นฉากเรื่องราวแบบไหน และจากตัวละครจำนวนมากในเกมนี้ ตัวละครไหนจะได้อยู่ในเรื่องราวฉบับภาพยนตร์ เราคุยกับหลากหัวข้อมากๆ กว่าจะได้ภาพยนตร์เรื่องนี้มา”

The Super Mario Bros. Movie

สำหรับ ไมเคิล เยเลนิช (Michael Jelenic) และ อารอน ฮอร์วาธ (Aaron Horvath)  ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันกำกับภาพยนตร์ The Super Mario Bros. Movie ทั้งสองเป็นแฟนตัวยงของเกมมาริโอมาตั้งแต่เด็ก ระหว่างการทำงานเรื่องนี้ทำให้ทั้งคู่ได้กลับไปเล่นเกมมาริโอตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นอัพเดต Super Mario 3\D World เพื่อเป็นการทบทวน และยังได้ความรู้สึกที่ได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ซึ่งสิ่งสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้สำหรับสองผู้กำกับคือ  การถ่ายทอดประสบการณ์ความสนุกในวัยเด็กจากการเล่นเกมมาริโอออกมาในภาพยนตร์ การดีไซน์องค์ประกอบศิลป์ที่จะดึงองค์ประกอบหลักของงานทัศนศิลป์ในเกมมาริโอให้เหมาะสมกับสื่อภาพยนตร์แอนิเมชัน เน้นสีสันสดใส ทั้งงานภาพตัวละครและฉากหลังต่างๆ โดยยังรักษาเอกลักษณ์เดิมในเกม รวมถึงการดึงองค์ประกอบต่างๆ ในจักรวาลเกมของมาริโอและนินเทนโดขึ้นมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์

Fact File

  • ภาพยนตร์แอนิเมชัน The Super Mario Bros. Movie เปิดฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์พร้อมกันทั่วโลกในเดือนเมษายน 2023
  • The Super Mario Bros. Movie  เป็นการร่วมงานครั้งแรกของ บริษัท นินเทนโด ยักษ์ใหญ่ในวงการเกม และบริษัท  Illumination  สตูดิโอสร้างแอนิเมชันเจ้าของตำนานตัวการ์ตูน มิเนียนส์จอมป่วน
  • จักรวาลของมาริโอยังได้คลี่คลายเป็นธีมปาร์คโดยเป็นหนึ่งใน Super Nintendo World สวนสนุก Universal Studios Japan ประเทศญี่ปุ่น

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป