5 มังงะญี่ปุ่น ส่งต่อแรงบันดาลใจจาก โอลิมปิก 1964 – โตเกียว 2020
Lite

5 มังงะญี่ปุ่น ส่งต่อแรงบันดาลใจจาก โอลิมปิก 1964 – โตเกียว 2020

Focus
  • Attack No. 1 ยอดหญิงสิงห์วอลเลย์ สร้างขึ้นในวาระเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่จากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกของทีมวอลเลย์บอลหญิง ใน โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก
  • Haikyuu!!  ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เป็นมังงะอีกเรื่องที่สร้างจากแรงบันดาลใจในเกมกีฬาวอลเลย์บอล และผู้เขียนได้ปิดฉากเรื่องราวของฮินาตะ โชโย และทีมวอลเลย์บอลของเขา โดยอิงเหตุการณ์จริงในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020

มังงะญีุ่ปุ่น หรือ การ์ตูนญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในอำนาจทางวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นได้สำเร็จหลังจากที่ประเทศต้องตกอยู่ในอาการบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากจุดเริ่ม มังงะญี่ปุ่น ที่เป็นเพียงการ์ตูนช่อง มีลักษณะการเล่าเรื่องเป็นช่องๆ ใส่เนื้อเรื่องต่อเนื่องเป็นตอน ตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์หรือรายเดือน ก็ขยายมาเป็นการรวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์การ์ตูนฉายเป็นตอนทางโทรทัศน์ (แอนิเมะซีรีส์) และเป็นภาพยนตร์แอนิเมะฉบับยาวฉายในโรงภาพยนตร์ รวมถึงขยายจากการ์ตูนมาเป็นดรามาซีรีส์ทางโทรทัศน์ และภาพยนตร์บันเทิงฉบับคนแสดง นับแต่นั้น การ์ตูนญี่ปุ่น หรือ มังงะญี่ปุ่น ก็ได้กลายเป็นสินค้าหลักในวัฒนธรรมพอปฝั่งญี่ปุ่นตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา 

มังงะญี่ปุ่น
Yawara! ยาวาระ สาวน้อยนักยูโด

หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1964 มังงะเนื้อหาแนวกีฬาก็กลายเป็นกระแสและได้รับความนิยมจนไม่ได้เป็นเพียงซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในเชิงเศรษฐกิจ แต่มังงะแนวกีฬายังเป็นพลังสำคัญในการบ่มเพาะนักกีฬารุ่นใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจของนักกีฬาญี่ปุ่นในรุ่นต่อ ๆ มา

ไม่ว่าจะเป็น Attack No. 1 (ยอดหญิงสิงห์วอลเลย์) สร้างเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในจากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกของทีมวอลเลย์บอลหญิงของญี่ปุ่นในโตเกียวโอลิมปิก ปี 1964 ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การกีฬาของญี่ปุ่นผงาดในเวทีโลกเรื่อยมาจนถึงมังงะและซีรีส์ Yawara (ยาวาระ สาวน้อยนักยูโด) ที่สร้างออกมาปูกระแสการแข่งขันโอลิมปิกปี 2008 ที่บาร์เซโลนา ไปจนถึงมังงะเกี่ยวกับกีฬายอดนิยมตลอดกาลอย่าง Captain Tsubasa (กัปตันซึบาสะเจ้าหนูสิงห์นักเตะ)

Created with GIMP

Sarakadee Lite ขอส่งต่อเช็กลิสต์ 5 การ์ตูนญี่ปุ่น ในตำนานที่สร้างจากแรงบันดาลใจในเกมกีฬาโอลิมปิก และกลับกัน มังงะญี่ปุ่น เหล่านี้ก็เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างนักกีฬาระดับชาติของญี่ปุ่นอีกด้วย

มังงะญี่ปุ่น

“Attack No. 1” ยอดหญิงสิงห์วอลเลย์

ผู้แต่ง : ชิกาโกะ อุราโนะ (Chikako Urano)

ประเภทกีฬา : วอลเลย์บอลหญิง

ปีที่เผยแพร่ : ค.ศ. 1968

เรื่องย่อ 

อายุฮาระ โคซึเอะ นักเรียนชั้นมัธยมปลายผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติ และเป้าหมายของเธอสูงสุดอยู่ที่การร่วมชิงชัยในกีฬาโอลิมปิก แต่เส้นทางนั้นไม่ง่ายเธอต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก และยังต้องรับมือกับอุปสรรคในชีวิตประจำวันในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง

แรงบันดาลใจจาก “โอลิมปิก”

Attack No. 1 สร้างขึ้นในวาระเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่จากการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกของทีมวอลเลย์บอลหญิง ใน โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ทั้งยังสร้างประวัติศาสตร์การกีฬาของญี่ปุ่นให้ผงาดในเวทีโลก ทั้งในมุมของศักยภาพด้านการกีฬา และศักยภาพในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับโลก แม้ประเทศจะย่อยยับจากสงครามเมื่อ 20 ปีก่อนก็ตาม แต่ก็สามารถนำทีมวอลเลย์บอลหญิงพิชิตชัยเหนือคู่แข่งจากสหภาพโซเวียต (รัสเซีย ตอนที่ยังไม่แยกประเทศ) โปแลนด์ โรมาเนีย และเกาหลีใต้

การ์ตูนญี่ปุ่น

สำหรับทีมวอลเลย์บอลหญิงชุดโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 เริ่มจากทีมระดับบริษัทของ บริษัทสิ่งทอนิฉิโบะ เมืองไคซุกะ (Kaizuka) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โอซากา ความน่าทึ่งคือนี่เป็นการสร้างทีมวอลเลย์บอลที่ดึงเอานักกีฬาแววดีเข้ามาเป็นพนักงานบริษัทและปั้นทีมวอลเลย์บอลลงแข่งระดับชาติจนถึงระดับนานาชาติ

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา ทีมบริษัทจากบริษัทสิ่งทอชนะรวด 22 เกม ตลอดทัวร์นาเมนต์ที่ไปแข่งในยุโรปตะวันออกที่ขึ้นชื่อว่าคับคั่งไปด้วยทีมวอลเลย์บอลหญิงที่แกร่งที่สุดของโลกในยุคนั้น (นำโดยทีมสหภาพโซเวียต) ซึ่งทีมวอลเลย์สาวสิ่งทอก็สามารถคว้าแชมป์โลกที่กรุงมอสโกเมืองหลวงรัสเซีย เมื่อ ค.ศ. 1962 ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์สร้างชาติญี่ปุ่นให้ผงาดในโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 อีกครั้ง เมื่อทีมหญิงโรงงานทอผ้าได้กลายมาเป็นตัวหลักของทีมชาติญี่ปุ่นภายใต้การคุมทีมของโค้ช ไดมัตสุ ฮิโรบูมิ (Daimatsu Hirobumi) ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการซ้อมสายโหด จนในที่สุดสามารถคว้าเหรียญทองในนัดชิงชนะเลิศมาจากลูกตบสาวทีมสหภาพโซเวียตได้ โดยมีชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ รวมทั้งเจ้าหญิงมิซาโกะ (ปัจจุบันคือ จักรพรรดินีมิซาโกะ) เป็นสักขีพยานในสนามโอลิมปิก กรุงโตเกียว 

การ์ตูนญี่ปุ่น

ความเข้มข้นของเหตุการณ์จริงบนเส้นทางโอลิมปิกทำให้มังงะ Attack No. 1 มีการอิงต้นฉบับจากนักกีฬาโอลิมปิกตัวจริง และกลับกันนักกีฬาโอลิมปิกตัวจริงรุ่นต่อ ๆ มาก็มีตัวการ์ตูนมังงะจาก Attack No. 1 เป็นแรงบันดาลใจเช่นกัน รวมถึง โมโตโกะ โอบายาชิ (Motoko Obayashi) นักวอลเลย์บอลระดับซูเปอร์สตาร์ของทีมชาติญี่ปุ่น ชุดลงชิงชัยในโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 จัดที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา (Atlanta Games) ก็ได้แรงบันดาลใจจากมังงะ Attack No. 1ในปีนั้นโอบายาชิทำทรงผมม้ารวบตึงเหมือนอายูฮาระ โคซึเอะ นางเอก Attack No.1 ในการลงแข่งขันโอลิมปิกที่แอตแลนต้าด้วย 

สารคดี The Witches of the Orient

มังงะและซีรีส์

นอกจากทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นจะสร้างประวัติศาสตร์ในวงการกีฬาแล้ว มังงะเรื่องแรกที่เกี่ยวกับวอลเลย์บอลหญิงอย่าง Attack No. 1 ก็สร้างประวัติศาสตร์ในวงการมังงะ เริ่มจากการเป็นมังงะแนวการ์ตูนตาหวานหรือ โชโจมังงะ เริ่มตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ทางนิตยสาร Weekly Margaret ในญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.1968 หรือ 4 ปีหลังจากทีมวอลเลย์บอลหญิงของญี่ปุ่นสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งแรก 

ต่อด้วยแอนิเมะซีรีส์ Attack No. 1 จากมังงะลายเส้นดัดแปลงเป็นการ์ตูนเป็นตอน ๆ ที่เรียกว่าแอนิเมะซีรีส์ออกฉายทางโทรทัศน์ ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1969 ส่วนภาพยนตร์แอนิเมะสำหรับฉายโรงภาพยนตร์ สร้างโดยบริษัท โตโฮ ออกฉาย 4 เรื่อง ระหว่าง ค.ศ.1970-1971 ถัดมาคือดรามาซีรีส์ คนแสดงจริง นำแสดงโดยดาราสาวที่โด่งดังแห่งยุคอย่าง อูเอโตะ อายะ และ โคซึเอะ อายุฮาราออกฉายทางสถานีโทรทัศน์อาซาฮีเมื่อ ค.ศ.2005 

ไม่เพียงเท่านั้น Attack No. 1 ยังมีเวอร์ชันละครเวทีแสดงโดยกลุ่มศิลปินไอดอลหญิง Angerme จัดแสดงที่โรงละคร Zenrosai Hall / Space Zeroในกรุงโตเกียวเมื่อ ค.ศ.2018 เรื่องราวเน้นชีวิตในช่วงวัยมัธยมของนักวอลเลย์บอลหญิง และที่เรียกเสียงฮือฮาคือ Attack No. 1 ได้ต่อยอดมาสู่ภาพยนตร์สารคดีเมื่อ ค.ศ.2021 เรื่อง The Witches of the Orient ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนมังงะ Attack No. 1 รวมทั้งทีมวอลเลย์บอลหญิงแชมป์โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพโดยนำเรื่องราวกว่าจะถึงเส้นชัยของทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นในโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 มาเล่าผ่านฟุตเทจ การสร้างฉากจำลองแบบคนแสดงและมีแอนิเมชั่นประกอบ โดย Julien Faraut ออกฉายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 เป็นสารคดีความยาว 100 นาที  ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนมังงะ Attack No. 1 ของ ชิกาโกะ อุราโนะ เช่นกัน

สำหรับชื่อเรื่อง The Witches of the Orient หรือแม่มดแห่งตะวันออก มาจากฉายา “The Oriental Witches” ที่สื่อญี่ปุ่นตั้งให้ทีมวอลเลย์บอลหญิง ที่เริ่มจากทีมระดับบริษัทของบริษัทโรงงานทอผ้านิฉิโบะ ที่เมืองไคซุกะใกล้โอซากา จนกลายเป็นทีมชาติคว้าแชมป์โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 (รับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ : www.modernfilms.com/witchesoftheorient/hyperjapan)

อ้างอิง

มังงะญี่ปุ่น

“Haikyuu!!” ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน

ผู้แต่ง : ฮารุอิจิ ฟุรุดาเตะ (Furudate Haruichi)

ประเภทกีฬา : วอลเลย์บอล

ปีที่เผยแพร่ : ค.ศ. 2012 -ปัจจุบัน

เรื่องย่อ

เรื่องราวของ ฮินาตะ โชโย (Hinata Shoyo) หนุ่มน้อยร่างเล็กสูงเพียง 5 ฟุต 3 นิ้ว แต่มีความฝันที่จะเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล เขาเริ่มเล่นวอลเลย์บอลหลังจากได้ดูทีมสมอลล์ไจแอนท์แห่งโรงเรียนมัธยมปลายคาราสึโนะ หลังจากนั้น ฮินาตะได้ทุ่มเทกับการเล่นวอลเลย์บอลจนเขาสามารถพาทีมโรงเรียนยูคิงาโอกะเข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลเป็นครั้งแรก และครั้งสุดท้ายสำหรับเขาในสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ทีมโรงเรียนยูคิงาโอกะของฮินาตะนั้นต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับให้แก่ทีมของโรงเรียนคิตางาวะ ไดอิจิ ที่มีผู้เล่นอย่าง คาเงยามะ โทบิโอะ (Kageyama Tobio) นักวอลเลย์บอลอัจฉริยะ ฉายา ราชาแห่งสนาม ร่วมอยู่ในทีมนั้นด้วย แม้การแข่งขันจะสิ้นสุดลงแล้วแต่สำหรับตัวฮินาตะนั้นเขากลับมีความมุ่งมั่นว่าสักวันเขาจะเอาชนะคาเงยามะให้ได้ เมื่อเข้ามัธยมศึกษาตอนปลาย ฮินาตะได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนคาราสึโนะ พร้อมกับสมัครเข้าชมรมวอลเลย์บอล และพบว่า คาเงยามะก็อยู่ชมรมวอลเลย์บอลที่นี่ด้วยเหมือนกัน

มังงะญี่ปุ่น

แรงบันดาลใจจาก “โอลิมปิก”

ปลายทางความสำเร็จของการเป็นนักกีฬาของตัวละครเอกคือการเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ในฉบับมังงะ Haikyuu!! ตอนสุดท้าย (ตอนที่ 402) ชื่อตอน Challengers ตีพิมพ์ทางนิตยสาร Weekly Shonen Jump (ลงต่อเนื่องมา 8 ปี) ฉบับเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 ผู้เขียนได้ปิดฉากเรื่องราวของฮินาตะ โชโย และทีมวอลเลย์บอลของเขา โดยเนื้อเรื่องมีเหตุการณ์จริงในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทั้งการแข่งขันของทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นที่ลงแข่งกับทีมชาติเซอร์เบีย และทีมวอลเลย์บอลชายลงแข่งกับทีมชาติอาร์เจนตินา โดยมีฮินาตะ โชโย พระเอกของเรื่องเป็นหนึ่งในผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่นชุดสู้ศึกโอลิมปิก (ตอนจบของมังงะที่มีฉากไปโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 นี้ มีฉบับแปลภาษาอังกฤษให้อ่านออนไลน์ ที่ลิงก์ : haikyuu.org/manga/haikyuu/chapter-402/)

การ์ตูนญี่ปุ่น

มังงะและซีรีส์ 

Haikyuu!! ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ทางนิตยสาร Weekly Shonen Jump เริ่มเมื่อ กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 และตอนจบ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 และฉบับรวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กทั้งหมด 45 เล่ม และทำสถิติยอดขายถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 แล้วกว่า 50 ล้านเล่ม โดยในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ฮารูอิจิ ฟุรุดาเตะ ผู้สร้างสรรค์ต้นเรื่อง ได้เขียนเรื่องและวาด Haikyuu!! ตอนพิเศษ ตีพิมพ์เป็นฉบับดิจิทัลทางแอปพลิเคชัน Shueisha’s Shonen JUMP+ ในญี่ปุ่น 

จากมังงะ Haikyuu!! ได้ต่อยอดสู่แอนิเมะ และซีรีส์ สร้างโดยบริษัทโปรดักชันไอจี (Productions I.G) มีทั้งหมด 4 ซีซัน ซีซันละ 25 ตอน โดยซีซันแรกเริ่มฉายเมื่อ ค.ศ.2014 ต่อเนื่องด้วยซีซันที่ 2 ค.ศ.2015 ซีซันที่ 3 เมื่อ ค.ศ. 2016 และซีซัน 4 แบ่งฉายเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 13 ตอน เริ่มมกราคม ค.ศ. 2020 และช่วงที่สอง 12 ตอนออกฉายครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 

ส่วนภาพยนตร์แอนิเมะ Haikyuu!! the Movie ฉบับเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว มีทั้งหมด 4 ภาค เริ่มออกฉายครั้งแรกค.ศ.2015 และปัจจุบันมีให้ชมทาง Netflix Thailand และในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 จากมังงะยังได้ต่อยอดไปสู่งานแสดงศิลปะ “Haikyuu!!” Original Art Exhibition จัดแสดงงานต้นฉบับภาพวาดมังงะที่แกลเลอรี TFU Gallery Mini Mori ที่เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ

อ้างอิง

การ์ตูนญี่ปุ่น

Yawara! ยาวาระ สาวน้อยนักยูโด

ผู้แต่ง : นาโอกิ อุราซาว่า (Naoki Urasawa) 

ปีที่เผยแพร่ : ค.ศ. 1986-1993 

ประเภทกีฬา : ยูโด

เรื่องย่อ

อิโนะคุมะ ยาวาระ เด็กสาวผู้มีพรสวรรค์ในการเล่นยูโด เธอเป็นหลานสาวของจิโกโร่ แชมป์ยูโดแห่งชาติ 5 สมัยซ้อน โดยคุณปู่จิโกโร่มุ่งมั่นปั้นหลานสาวให้เป็นนักยูโดระดับชาติ และมีเป้าหมายอยู่ที่เหรียญทองโอลิมปิกแม้ว่าสาวน้อยยาวาระจะเริ่มต้นอย่างฝืนใจ ไม่ได้มีความมุ่งหมายใหญ่โต แต่การเคี่ยวเข็ญของคุณปู่โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเธอสามารถคว้าชัยชนะระดับชาติได้แล้ว คุณปู่จะยอมให้เธอใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดาอย่างเด็กสาวทั่วไป แต่หลังจากขึ้นถึงระดับชาติ ชีวิตของสาวน้อยยาวาระก็ไม่มีความธรรมดาอีกต่อไป

การ์ตูนญี่ปุ่น

แรงบันดาลใจจาก “โอลิมปิก”

การสร้างตัวละคร ยาวาระ ในมังงะ Yawara! ยาวาระ สาวน้อยนักยูโดอิงต้นแบบจากนักยูโดสาวทีมชาติญี่ปุ่นตัวจริง ชื่อ คาโอริ ยามากูชิ (Kaori Yamaguchi) ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าตำแหน่งแชมป์กีฬาระดับโลก 2 ปีซ้อน (ค.ศ. 1986-1987) ก่อนที่กีฬายูโด ประเภทนักกีฬาหญิง จะถูกบรรจุเข้าในการแข่งขันโอลิมปิกเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1988 จัดที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้แม้ว่ายามากูชิจะคว้าเพียงเหรียญเงินจาก โอลิมปิกฤดูร้อน 1988 แต่เธอก็ยังเป็นความหวังของชาวญี่ปุ่นในโอลิมปิกครั้งถัดมาที่บาร์เซโลนา ปี 1992 และช่วงโหมโรงสู่โอลิมปิกฤดูร้อน 1992 ทางฝั่ง มังงะญี่ปุ่น ก็ได้เขียนเรื่องราว สาวน้อยยาวาระ ที่อยู่ในกระบวนการฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อมุ่งเป้าคว้าเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬายูโดหญิงสำหรับญี่ปุ่นที่โอลิมปิก 1992 ให้ได้

แอนิเมะซีรีส์ Yawara! ออกฉายเป็นตอน ๆ ทางสถานี Yomiuri TV ได้เริ่มตั้งแต่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1989 ถึง 21 กันยายน ค.ศ. 1992 จำนวน 124 ตอน แต่ละตอนจะจบลงด้วยการนับถอยหลังวันที่เหลือในการเริ่มต้นของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1992

มังงะ Yawara! ไม่ได้จบแค่ความสนุกของการ์ตูนแต่ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่สร้างนักกีฬาระดับชาติ เช่น เรียวโกะ ทามุระ (Ryoko Tamura) สาวน้อยนักยูโดวัย 16 ปี ที่สูงเพียง 4 ฟุต 9 นิ้วหนึ่งในตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่นลงแข่งขันในโอลิมปิกฤดูร้อน 1992 ที่บาร์เซโลนา เรียวโกะ ทามุระ ได้รับฉายาว่า “ยาวาระจัง” เพราะเรียวโกะทำผมและผูกโบเหมือนนางเอกในมังงะ Yawara! สาวน้อยเรียวโกะคว้าเหรียญทองยูโดจากโอลิมปิกถึง 2 เหรียญ และเป็นแชมป์ในรายการแข่งขันยูโดระดับโลกอีกถึง 7 รายการ ทำให้เธอกลายเป็นไอดอลและทำให้กีฬายูโดกลายเป็นความฝันของเด็กสาวในญี่ปุ่นยุค 90

มังงะและซีรีส์

การ์ตูนญี่ปุ่น ในตำนาน Yawara! สร้างสรรค์โดย นาโอกิ อูราซาวะ (Naoki Urasawa) ผู้ถือเป็นศิลปินผู้สร้างมังงะกีฬาสำหรับกลุ่มคนอ่านผู้หญิงรุ่นบุกเบิก โดยเริ่มตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ค.ศ.1986 จนถึงค.ศ.1993 ส่วนฉบับภาษาไทยมีจำนวน 29 เล่มจบ ตีพิมพ์ตุลาคม ค.ศ. 2001 – กรกฎาคม ค.ศ. 2010โดย สำนักพิมพ์ เนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์นอกจากนั้นยังต่อยอดไปสู่ภาพยนตร์คนแสดงจริง สร้างโดยบริษัทโตโฮ ออกฉายเมื่อค.ศ.1989นำแสดงโดย ยูอิ อาซากะ (YuiAsaka) และที่จะขาดไม่ได้คือแอนิเมะซีรีส์ทางโทรทัศน์ทั้งหมด 124 ตอนแพร่ภาพในญี่ปุ่นช่วง 16 ตุลาคม ค.ศ. 1989 – 21 กันยายน ค.ศ. 1992

อ้างอิง

Captain Tsubasa กัปตันซึบาสะ เจ้าหนูสิงห์นักเตะ

ผู้แต่ง : โยอิจิ ทากาฮาชิ (Yoichi Takahashi)

ปีที่เผยแพร่ : ค.ศ.1981 -ปัจจุบัน

ประเภทกีฬา : ฟุตบอล 

เรื่องย่อ 

เด็กชายชาวญี่ปุ่นผู้มีพรสวรรค์ ฝันจะเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก และมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ เรื่องราวของซึบาสะตั้งแต่เรียนชั้นประถมจนกระทั่งเขากลายเป็นนักเตะอัจฉริยะที่เป็นตัวหลักในทีมชาติญี่ปุ่นในการชิงชัยถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกและเส้นทางการเป็นนักเตะอาชีพของเขาในระดับโลก 

มังงะและซีรีส์ 

ต้นฉบับมังงะ ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนเดียวจบเมื่อ ค.ศ.1980 ก่อนจะเริ่มเรื่องราวลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร Weekly Shonen Jump ช่วง ค.ศ.1981-1988 เป็นเรื่องราวชีวิตของซึบาสะในภาคแรก และปัจจุบันมีทั้งหมด 7 ภาค ถูกสร้างเป็นแอนิเมะซีรีส์ครั้งแรก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โตเกียวระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1983 – มีนาคม ค.ศ. 1986 มีทั้งหมด 128 ตอน และถูกนำมาฉายในไทยทางช่อง 5 ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ.2530) ในชื่อไทย “กัปตันซึบาสะเจ้าหนูสิงห์นักเตะ”

Captain Tsubasa – 2020 Tokyo Olympics Special Episode

แรงบันดาลใจจาก “โอลิมปิก”

แม้กีฬาฟุตบอลจะไม่ใช่กีฬาเด่นในโอลิมปิก แต่กัปตันซึบาสะเป็นมังงะและแอนิเมะซีรีส์เกี่ยวกับกีฬา ติดอันดับยอดนิยมมาตลอดตั้งแต่แรกเริ่มเผยแพร่เมื่อ ค.ศ.1981 เป็นต้นมาไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันการ์ตูนเล่มหรือแอนิเมะซีรีส์ ซึ่งในอย่างหลังถูกนำมารีรันและมีตอนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยมาพ้องกับสถานการณ์วงการกีฬาของญี่ปุ่น

ค.ศ. 2002 เมื่อญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกร่วมกับเกาหลีใต้ความฝันของนักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นที่ไปถึงเหรียญทองโอลิมปิกในบ้านของตัวเอง ก็ถูกปลุกขวัญด้วยเรื่องราวของกัปตันซึบาสะในแอนิเมะซีรีส์ชุด Captain Tsubasa: Road to Dream หรือ Captain Tsubasa: Road to 2002 สร้างโดย Group TAC ออกอากาศในญี่ปุ่นช่วง 7 ตุลาคม ค.ศ.2001 – 6 ตุลาคม ค.ศ. 2002 เรื่องราวในแอนิเมะซีรีส์ชุดนี้เล่าถึงซึบาสะเตรียมเซ็นสัญญาไปค้าแข้งที่สเปน ตามคำแนะนำของโรแบร์โต้ และเขาก็ตัดสินใจเลือกเซ็นสัญญากับทีมบาร์เซโลนา ซึ่งซึบาสะเข้าสู่ทีมสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปได้หลังจากเขาผ่านการทดสอบกับกองหลังตัวแกร่งของสโมสรได้ เส้นทางของซึบาสะกับบาร์เซโลนาต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับซูเปอร์สตาร์ของทีม และได้ลงสนามในนัดตัดสินแชมป์ลาลิกากับสโมสรเรอัลมาดริดแม้ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2002 ญี่ปุ่นไม่ได้ไปถึงแชมป์ฟุตบอลโลก แต่มังงะและแอนิเมะซีรีส์ซึบาสะยังครองใจทุกคน 

มังงะญี่ปุ่น

ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 มังงะซีรีส์พิเศษว่าด้วยซึบาสะพาทีมชาติญี่ปุ่นลงแข่งโอลิมปิกที่มาดริด ในชื่อตอน Captain Tsubasa: Rising Sun เริ่มตอนแรกในนิตยสาร Grand Jump ของสำนักพิมพ์ Shueisha ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ. 2014 ซึ่งตีพิมพ์รวมเล่มได้ 9 เล่ม เรื่องราวว่าถึงซึบาสะกลับมาพร้อมทัพนักเตะที่ออกค้าแข้งในต่างแดน เพื่อนำทีมชาติญี่ปุ่นลงแข่งโอลิมปิกที่มาดริด (เรื่องแต่ง) แต่ซึบาสะกับพวกพ้องซึ่งมีปัญหาบาดเจ็บจากการกรำศึกในลีกอาชีพที่ยุโรปมาตลอดปี จะพาญี่ปุ่นไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่

ค.ศ.2021 เมื่อญี่ปุ่นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ตัวละครซึบาสะยังได้ทำหน้าที่ทูตทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับบรรดาตัวละครจากการสร้างสรรค์ของศิลปิน มังงะญี่ปุ่น อีกหลายตัวที่กลายเป็นขวัญใจของคนทั่วโลก พร้อมกันนี้ยังได้มีแอนิเมะตอนพิเศษสำหรับโอลิมปิก ร่วมต้อนรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน2020 ชื่อตอน Captain Tsubasa – 2020 Tokyo Olympics Special Episode (ลิงก์ชม www.dailymotion.com/video/x7u7h2u) พร้อมด้วยวิดีโอเกมชุดล่าสุดต้อนรับโอลิมปิก ในชื่อเกม Captain Tsubasa: Rise of New Champions ที่มีทั้งฉบับออฟไลน์ และเกมออนไลน์ในทุกอุปกรณ์ทั้ง PlayStation 4, Nintendo Switchและ เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโครงเรื่องของเกม Captain Tsubasa: Rise of New Champions อิงจากแอนิเมะซีรีส์ที่ออกอากาศในช่วงค.ศ.2018 (ตรงกับปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ)

มังงะญี่ปุ่น

กัปตันซึบาสะไม่ได้โด่งดังแค่ในญี่ปุ่น ทว่ายังฮิตไปทั่วโลกโดยเฉพาะในละตินอเมริกาในชื่อเรื่อง Súpercampeones และชื่อตัวละครซึบาสะเปลี่ยนเป็น โอลิเวอร์ อะตอม แต่เรื่องราวทั้งหมดยังคงเดิมตามต้นฉบับ มังงะญี่ปุ่น ซึ่งโยอิจิทากาฮาชิผู้แต่งได้แรงบันดาลใจมาจากฟุตบอลโลกปี 1978 ที่อาร์เจนตินาเป็นเจ้าภาพในยุคนั้นฟุตบอลไม่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมากนัก

ความฮิตของมังงะตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์เมื่อค.ศ.1981 ด้วยการทำให้เห็นภาพการแข่งขันฟุตบอลอย่างละเอียด ลีลาและเทคนิคการเตะที่เหนือจริงแต่สร้างแรงบันดาลใจที่นักเตะรุ่นเยาว์อยากเติบโตไปสร้างปาฏิหาริย์เช่นนั้นในสนามแข่งจริง กัปตันซึบาสะกลายเป็นไอดอลของเด็กชายที่ฝันอยากเป็นนักเตะหรือหลงใหลในเกมฟุตบอลพร้อมกับสัญลักษณ์เสื้อทีมหมายเลข 10 ตามตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวสร้างเกมในสนามและเป็นหัวใจของการรุกในทีมฟุตบอลและโด่งดังขึ้นไปอีกเมื่อนักเตะฟุตบอลอาชีพโลกจากลาตินอเมริกาอย่าง ลิโอเนล เมสซิ (Lionel Messi) นักเตะอาร์เจนตินา ยกให้กัปตันซึบาสะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของการเป็นนักเตะของเขา 

อ้างอิง

การ์ตูนญี่ปุ่น

Moero Attack ยอดหญิงชิงโอลิมปิก

ปีที่เผยแพร่ : ค.ศ. 1979-1980

ประเภทกีฬา : วอลเลย์บอล

เรื่องย่อ 

จุง โคชิกะ สาวน้อยวัย 14 ปี ผู้มีแววนักกีฬาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อที่เป็นเกษตรกรบนเกาะฮอกไกโด จึงผลักดันให้เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายที่โตเกียว เธอได้เข้าร่วมทีมวอลเลย์บอลของโรงเรียน ภายใต้การคุมทีมของโค้ชไดสุเกะ คุณพ่อของจุงสร้างเงื่อนไขให้ลูกสาวเติมเต็มความฝันของแม่ที่เคยเป็นอดีตมือตบของทีมโรงเรียนแห่งนี้และมีความฝันที่จะไปถึงระดับชาติ แต่บาดเจ็บสาหัสจนต้องทิ้งความฝันนั้นไป เหตุการณ์นั้นเกิดก่อนโตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อค.ศ.1964 เพียง 2 ปีจุง โคชิกะ จึงทำหน้าที่เติมฝันไปถึงโอลิมปิกครั้งต่อไปในนามทีมชาติญี่ปุ่นให้ได้และไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคอย่างน้อย จุงก็จะปลุกปลอบกำลังใจด้วยการชูสองนิ้วเป็นรูปตัววีพร้อมกับคำพูดว่า สู้ตายค่ะ ซึ่งว่ากันว่าเป็นที่มาของท่ายอดฮิตของสาวญี่ปุ่นที่ชูสองนิ้วพร้อมรอยยิ้มน่ารัก

แรงบันดาลใจจาก “โอลิมปิก”

กระแสฮิตของวอลเลย์บอลในญี่ปุ่น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังชัยชนะของทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นใน โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ที่จัดขึ้นที่ญี่ปุ่น และเหรียญทองโอลิมปิก 1976 ที่แคนาดาส่วน Moero Attack เป็นดรามาซีรีส์คนแสดงจริง ออกอากาศสถานีโทรทัศน์อาซาฮี ระหว่างวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1979 -11 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 เป็นกระแสโหมโรงลุ้นทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น ไปชิงเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อน 1980 ซึ่งสหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ 

เรื่องราวการเดินทางสู่ชัยชนะของนักวอลเลย์บอลหญิงกลายเป็นต้นแบบแห่งสปิริตการมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะของหญิงสาวในสังคมญี่ปุ่น และผลักดันให้การ์ตูนเจาะกลุ่มนักอ่านผู้หญิงเติบโตจากแฟนตาซี โรแมนติกเพ้อฝัน มาสู่แนวการกีฬาที่ยังผสมผสานความโรแมนติกและตลกไว้ได้อย่างลงตัว 

มังงะญี่ปุ่น

ตำนานการฝึกซ้อมและการเตรียมทีมจากทีมระดับบริษัทโรงงานทอผ้ามาสู่ทีมแชมป์โอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ยังเป็นพื้นหลังของเรื่องราวใน มังงะ ที่เน้นตัวละครเอกจากเด็กหญิงต่างจังหวัด (มาจากฮอกไกโด) ที่กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวหลักของทีม เส้นทางชีวิตที่ไม่ง่าย ทั้งปัญหาส่วนตัวและการต้องยืนหยัดกับทีม อดทนกับการฝึกซ้อมอย่างหนักและการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นสปิริตการสร้างชาติญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการคว้าชัยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

ซีรีส์ฮิตถล่มทลายไปทั้งเอเชีย รวมทั้งมาฉายในไทยเมื่อ ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) ทางช่อง 5 แต่ทีมชาติญี่ปุ่นไม่ได้ไปป้องกันแชมป์ที่มอสโก เนื่องจากเจ้าภาพสหภาพโซเวียตถูกนานาชาติคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่มอสโก ปี 1980 ด้วยเหตุที่โซเวียตยกทัพไปบุกอัฟกานิสถานก่อนหน้านั้น

มังงะและซีรีส์

ในช่วงดรามาซีรีส์ออกอากาศ Moero Attack เริ่มมีฉบับ การ์ตูนญี่ปุ่น ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายเดือน TV Land ของสำนักพิมพ์ Kodansha ไปพร้อม ๆ กันในช่วง ค.ศ.1979-1980 ส่วนดรามาซีรีส์ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์อาซาฮี เมื่อ ค.ศ.1979-1980 และเรตติ้งฮิตถล่มทลายในญี่ปุ่น มีทั้งหมด 71 ตอน

Moero Attack เข้าฉายทางสถานีโทรทัศน์ในไทย เมื่อ ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) ใช้ชื่อ “ยอดหญิงชิงโอลิมปิก” ได้รับความนิยม ทั้งเกมวอลเลย์บอลและเทคนิคการเล่นลูกเสิร์ฟและลูกตบท่าพลิกแพลงต่าง ๆ รวมถึงท่าลูกตบสลาตัน และท่าชูสองนิ้วสู้ตายนะคะ ของสาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นภาพจำจากละครฮิตเรื่องนี้ ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “สตรีเหล็ก” ฉบับปี พ.ศ.2543 เกี่ยวกับทีมวอลเลย์บอลมีชื่อตัวละคร จุง โคชิกะ อยู่ด้วย

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป