5 เบื้องหลังงานดีไชน์ เหรียญแห่งชัยชนะ Paris 2024 จากเหล็กหอไอเฟล สู่รูปทรงหกเหลี่ยมของฝรั่งเศส
Brand Story

5 เบื้องหลังงานดีไชน์ เหรียญแห่งชัยชนะ Paris 2024 จากเหล็กหอไอเฟล สู่รูปทรงหกเหลี่ยมของฝรั่งเศส

Focus
  • หอไอเฟล เป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับการออกแบบเหรียญรางวัลสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024
  • ชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลที่ถูกเก็บรักษาไว้เมื่อครั้งมีการบูรณะได้นำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญประดับอยู่ตรงกลางด้านหลังของเหรียญรางวัลทั้งสำหรับกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก
  • โชเมต์ (Chaumet) แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงของฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบเหรียญรางวัลที่ใช้เทคนิคแบบเดียวกับจิวเวลรี่หรู

เหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความสามารถและความสำเร็จของนักกีฬาแล้ว การออกแบบ เหรียญโอลิมปิก สำหรับเจ้าภาพจัดการแข่งขันในแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายในการใส่รายละเอียดทั้งรูปแบบของเหรียญ วัสดุที่ใช้ และขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่ง “งานดีไซน์แห่งชัยชนะ” ที่น่าจดจำทั้งสำหรับนักกีฬาและผู้ชมทั่วโลก

หากยังจำกันได้ในการแข่งขัน Olympic Games Tokyo 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การออกแบบเหรียญรางวัลในครั้งนั้นเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก เพราะเป็น “เหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” ทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่รวบรวมจากชุมชนต่างๆ ทั่วญี่ปุ่นกว่า 79,000 ตันและนำมารีไซเคิลจนได้ทองราว 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม มาผลิตเป็นเหรียญรางวัลกว่า 5,000 เหรียญ

 Paris 2024

สำหรับ โอลิมปิก ปารีส 2024 หรือ Paris 2024 ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 26 กรกฎาคม-11สิงหาคม 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เหรียญรางวัลในครั้งนี้ย่อมเป็นที่จับตามองในฐานะที่ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านดีไซน์และแฟชั่นของโลก ในครั้งนี้ผู้ออกแบบเหรียญรางวัลคือ โชเมต์ (Chaumet) แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงที่มีชื่อเสียงมายาวนานของฝรั่งเศส ปัจจุบันอยู่ในเครือ LVMH Group โดยความพิเศษสุดในการออกแบบเหรียญรางวัลคือการใช้เศษชิ้นส่วนเหล็กของ หอไอเฟล มาเป็นองค์ประกอบหลักผสานกับการสร้างสรรค์อย่างประณีตของช่างฝีมือจิวเวลรี่

Sarakadee Lite พาไปถอดรหัสห้าเรื่องเบื้องหลังงานดีไซน์เหรียญรางวัล Paris 2024 ที่สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นการก่อกำเนิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ความทันสมัยในปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ ตัวตนของฝรั่งเศส  

 Paris 2024

01 จากเหล็กพิเศษของ หอไอเฟลสู่เหรียญรางวัล Paris 2024

หอไอเฟล มีฉายาว่า La dame de fer หรือ สตรีเหล็ก เพราะเป็นหอคอยที่สร้างจากเหล็ก ออกแบบโดยวิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส กุสตาฟว์ ไอเฟล (Gustave Eiffel) สำหรับเป็นซุ้มทางเข้างานมหกรรมนานาชาติ (Exposition Universelle) ในปี ค.ศ. 1889 ณ กรุงปารีส และกลายมาเป็นแลนด์มาร์กของประเทศฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

เหล็กที่ใช้ในการสร้างเป็นเหล็กดัดชนิดพิเศษที่เรียกว่า “puddle iron ซึ่งในกระบวนการหล่อนั้นมีการกำจัดคาร์บอนส่วนเกินออกจนได้เหล็กบริสุทธิ์และมีความแข็งแกร่งคงทน เหล็กชนิดนี้ผลิตในโรงหลอมและเตาถลุงเหล็กที่เมืองปอมเปย์ในแคว้นลอแรนของฝรั่งเศส

 Paris 2024
ภาพ : ©Thomas Deschamps

จากนั้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โครงสร้างของหอไอเฟลได้มีการบูรณะปรับปรุงครั้งใหญ่ทำให้มีชิ้นส่วนเหล็กบางส่วนถูกถอดออกและถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และทาง Societe d’Exploitation de la Tour Eiffel (SETE) ซึ่งเป็นผู้ดูแลหอไอเฟลได้อนุญาตให้นำชิ้นส่วนเหล็กเหล่านั้นมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ประดับอยู่ ตรงกลาง ด้านหลังเหรียญรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 5,084 เหรียญ ทั้งสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 เพื่อสะท้อนถึงประวัติศาสตร์สำคัญของปารีสและเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้กับชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์

 Paris 2024

“หอไอเฟลเปรียบเสมือนลูกสาวของปารีสและเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับการจัดงานสำคัญๆ ระดับโลก ดังนั้นเหรียญรางวัลที่มีชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลจะเป็นของที่ระลึกที่น่าจดจำสำหรับเหล่านักกีฬา เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นการแสดงความเคารพแด่ ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง (Pierre de Coubertin: ผู้ก่อตั้งกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล) ในฐานะบุคคลร่วมสมัยกับ กุสตาฟว์ ไอเฟล และเป็นหนึ่งในคนกลุ่มสุดท้ายที่ได้เยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างของหอไอเฟลก่อนมีการเปิด” ฌ็อง-ฟร็องซัว มาร์แต็งส์ (Jean-François Martins) ประธาน ของ SETE กล่าว

 Paris 2024

02 จาก อะโครโพลิสแห่งเอเธนส์ 1896 ถึงหอไอเฟลแห่งปารีส 2024

เนื่องจากประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกมีความแตกต่างกัน ด้านหน้าของเหรียญรางวัลของการแข่งขันทั้งสองประเภทจึงได้รับการออกแบบให้ต่างกันด้วย สำหรับเหรียญของโอลิมปิกนั้น ด้านหน้าเป็น รูปเทพีไนกี้ (Nike) เทพีแห่งชัยชนะตามตำนานเทพปกรณัมโรมัน ฉากหลังของเทพีเป็นป้อมปราการ อะโครโพลิสแห่งเอเธนส์ (Acropolis of Athens) และ สนามกีฬาพานาธิเนอิก (Panathenaic Stadium) ซึ่งเป็นสนามกีฬารูปตัว U และเป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ อีกทั้งยังเป็นสนามกีฬาหลักของการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ที่จัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ใน ค.ศ.1896 นอกจากนี้ทางด้านขวาของฉากหลังยังมี หอไอเฟล เพื่อเชื่อมประวัติศาสตร์โอลิมปิกสมัยใหม่ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน

 Paris 2024
ภาพ : ©Thomas Deschamps

ส่วนเหรียญของพาราลิมปิกนั้น ด้านหน้าของเหรียญได้แรงบันดาลใจมาจาก มุมมองข้างใต้หอไอเฟล อีกทั้งบนเหรียญยังมีคำว่า “Paris” และ “2024” เป็นอักษรเบรลล์สากลสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นและยังเป็นการรำลึกถึง หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ชาวฝรั่งเศสผู้ประดิษฐ์อักษรเบรลล์ นอกจากนี้ตรงขอบของเหรียญยังปั๊มนูนด้วยสัญลักษณ์คือ ‘I’ สำหรับเหรียญทอง  ‘II’ สำหรับเหรียญเงิน และ ‘III’ สำหรับเหรียญทองแดง

 Paris 2024
ภาพ : ©Thomas Deschamps

03 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์กับการออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกโดยช่างจิวเวลรี่

“นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ช่างจิวเวลรี่ได้ออกแบบเหรียญรางวัล ทีมครีเอทิฟของ Maison Chaumet ร่วมกันสร้างสรรค์เหรียญรางวัลแต่ละเหรียญดั่งจิวเวลรี่เลอค่าและหวังว่านักกีฬาจะชื่นชมและยินดีเหมือนดั่งที่พวกเราภาคภูมิใจ” อ็องตวน อาร์โนลต์ (Antoine Arnault) ผู้บริหารฝ่าย Image & Environment ของ LVMH กล่าว

ภาพ : ©Thomas Deschamps

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกีฬา ศิลปวัฒนธรรม และมรดกทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส คณะกรรมการจัดงาน Paris 2024 จึงมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านจิวเวลรี่และเครื่องประดับชั้นสูงของแบรนด์ Chaumet เป็นผู้ออกแบบเหรียญรางวัลของโอลิมปิกและพาราลิมปิกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง Chaumet เป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1780 และปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของ LVMH Group โดยมีชื่อเสียงมายาวนานในการออกแบบเครื่องประดับชั้นสูงและมีเวิร์กช็อปอยู่ที่ ปลาส ว็องโดม (Place Vendôme) เหรียญรางวัลจึงเปรียบเสมือนเครื่องประดับหรูหราและได้รับการออกแบบภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ “รูปทรงหกเหลี่ยม” “เปล่งประกาย” และ “การประดับด้วยเทคนิคจิวเวลรี่”

04 หกเหลี่ยม เปล่งประกาย หรูหรา ดั่งเครื่องประดับชั้นสูง

หกเหลี่ยม คืออีกองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบเหรียญโอลิมปิก อย่างแรกคือการใช้เหล็กดั้งเดิมของหอไอเฟลมาตัดเป็น รูปทรงหกเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปทรงเรขาคณิตตามลักษณะรูปทรงของประเทศ ซึ่งฝรั่งเศสนอกจากจะได้รับฉายาว่า นครแห่งแสงไฟ (La Ville-lumière) แล้วก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ หกเหลี่ยม (L’Hexagone) นอกจากนี้บนเหล็กแต่ละชิ้นขนาด 18 กรัมในสีดั้งเดิมยังมีสัญลักษณ์โอลิมปิก Paris 2024 ปรากฏด้วย

รอบเหล็กไอเฟลทรงหกเหลี่ยมยังออกแบบให้มีลายเส้นที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบและไม่ได้ถูกแกะลงบนพื้นผิวของเหรียญ แต่นำมาประดับให้มีลักษณะเป็นสามมิติและรัศมีเปล่งประกายเพื่อสื่อถึงความสามารถของนักกีฬาที่ส่องแสงสู่สายตาของคนทั้งโลก

ภาพ : Cyril Masson

สำหรับชิ้นส่วนเหล็กไอเฟลทรงหกเหลี่ยมนำมาประกอบลงตรงกลางด้านหลังของเหรียญรางวัลด้วยเทคนิค claw setting ซึ่งนิยมใช้ในการสร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นสูง ทั้ง 6 มุมของเหล็กหอไอเฟลยึดติดด้วยกรงเล็บ (claw) ในลวดลายที่เรียกว่า คลู เดอ ปาครี (Clous de Paris) มีลักษณะเหมือนพีระมิดปลายแหลมและมี 3 สี คือ ทอง เงิน และทองแดง ตามชนิดของเหรียญรางวัล

คลู เดอ ปารี เป็นหนึ่งในลายแบบกิโยเช่ (Guilloche) ที่ต้องใช้ทักษะและความละเอียดขั้นสูงในการผลิตและเป็นลวดลายที่นิยมใช้สำหรับการออกแบบหน้าปัดหรือขอบเรือนของนาฬิกาแบรนด์หรูเพื่อความหรูหรา สวยงาม และลดความลื่นมือขณะหยิบเพื่อดูเวลา นอกจากนี้กรงเล็บในรูปแบบของลาย คลู เดอ ปาครี ยังเป็นสัญลักษณ์หมายถึงหมุดที่ใช้ยึดเหล็กของหอไอเฟลอีกด้วย

05 โอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ : ความเหมือนและแตกต่าง

การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก Paris 2024 จะถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันและใช้สนามแข่งขันเดียวกันซึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่งที่เป็นไอโคนิกของปารีสได้ปรับเปลี่ยนเป็นสนามกีฬาเฉพาะกิจ เช่น พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) จัตุรัสปลัส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) และ ช็อง เดอ มาร์ส (Champ de Mars) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะบริเวณฐานของหอไอเฟล

ทั้งนี้ด้านหลังของเหรียญรางวัลของทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกยังออกแบบเหมือนกันคือประดับด้วยชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟล ส่วนลวดลายของสายห้อยเหรียญรางวัลของโอลิมปิกและพาราลิมปิกได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงเหล็กดัดของหอไอเฟล แต่สีของสายมีความแตกต่างกัน คือ สีฟ้าเข้ม สำหรับโอลิมปิก และ สีแดงเข้ม สำหรับพาราลิมปิกซึ่งชวนให้นึกถึงสองเฉดสีแรกที่ใช้ทาหอไอเฟลคือสี Venice red และ red brown

เครดิตภาพ: ©Paris 2024

อ้างอิง: www.paris2024.org/en/


Author

เพชรดาว พัฒนบัณฑิต
ยังคงสนุกที่ได้เรียนรู้ ช่างภาพมือใหม่ที่อยากเดินทางเพื่อเล่าเรื่องราวผ่านการถ่ายภาพ และกำลังพัฒนาตนเองให้เป็นนักเขียนที่สร้างผลงานคุณภาพ
เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ