5 เรื่องเบื้องหลัง งานดีไซน์แห่งชัยชนะ โอลิมปิก 2020
Lite

5 เรื่องเบื้องหลัง งานดีไซน์แห่งชัยชนะ โอลิมปิก 2020

Focus
  • เหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงจำนวนกว่า 5,000 เหรียญในการแข่งขันครั้งนี้ทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่รวบรวมจาก 1,621 ชุมชน
  • ดอกไม้ที่ถูกใช้ทั้งในโอลิมปิกและพาราลิมปิก เลือกใช้ดอกไม้เพียง3 ชนิดสื่อถึงความหวังและการฟื้นฟูจากพื้นที่ภัยพิบัติสึนามิ

นอกจากการพัฒนาสังคมสีเขียวอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Be better, together – for the planet and the people” แล้ว ประเทศญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน โอลิมปิก ครั้งที่ 32 Olympic Games Tokyo 2020 ณ กรุงโตเกียว ยังใส่ใจในรายละเอียดงานดีไซน์ที่น้อยแต่มาก เก็บทุกรายละเอียดที่พวกเขาต้องการสื่อสารกับชาวโลกมาไว้ในทุกองค์ประกอบของ โอลิมปิก ไม่เว้นแม้แต่ งานดีไซน์แห่งชัยชนะ ที่ชาวโลกจะได้เห็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างที่นักกีฬาผู้ชนะการแข่งขันขึ้นมารับเหรียญรางวัล แต่เพียงชั่วเวลาร้องเพลงชาติจบ เจ้าภาพญี่ปุ่นจัดเต็มด้วยรายละเอียด ดังตอนหนึ่งในวิดีโอที่ถูกโปรโมตออกมาถึงแนวความคิดในการดีไซน์ทุกองค์ประกอบแห่งการฉลองชัยไว้ว่า

“เพราะนักกีฬาทุกคนล้วนต้องผ่านความยากลำบาก บนเวทีแห่งนี้จึงเป็นการให้เกียรติเส้นทางความเหนื่อยยากของนักกีฬาแต่ละคน”

Sarakadee Lite ขอเปิดเบื้องหลังองค์ประกอบในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองชัยชนะ ซึ่งทางเจ้าภาพญี่ปุ่นได้ออกแบบไว้อย่างประณีตและสร้างสรรค์

โอลิมปิก 2020

“ชุดเชิญรางวัล” เทคนิคตัดเย็บชุดกิโมโนโบราณ

“ดีไซน์ใหม่สำหรับชุดพิธีการ” คือจุดเริ่มต้นไอเดียในการออกแบบ “ชุดยูนิฟอร์มเชิญรางวัล” อีกองค์ประกอบสำคัญที่จะถูกถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกซ้ำ ๆ ในทุกวัน ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรก Tokyo 1964 และโอลิมปิกฤดูหนาว 1998(XVIII Olympic Winter Games) จัดขึ้นที่เมืองนางาโนะ ชุดกิโมโนแบบดั้งเดิมถูกนำมาใช้เป็นยูนิฟอร์มสำหรับผู้เชิญเหรียญรางวัล แน่นอนว่าครั้งนั้นญี่ปุ่นต้องการให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิม ส่วนใน Tokyo 2020 นั้น ยามากูชิ โซได (Yamaguchi Sodai)ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังยังคงเลือกที่จะใส่เอกลักษณ์ด้านสิ่งทอที่เป็นรากเหง้าอันแข็งแรงของญี่ปุ่นลงไป ทว่าก็ไม่ลืมผสานนวัตกรรมสมัยใหม่พร้อมย้ำว่า

โอลิมปิก 2020

“ผมเคารพในธรรมเนียมดั้งเดิม แต่ผมก็คิดว่าความพยายามอุ้มชูธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ ดังนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะใช้ความท้าทายใหม่ในการสนับสนุนกิโมโนและธรรมเนียมการแต่งกายแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น”

ผลลัพธ์จึงเป็นการตัดทอนนำองค์ประกอบที่สำคัญของชุดกิโมโนดั้งเดิมมาปรับโฉมใหม่ คงไว้เพียงเทคนิคการใส่ชุดแบบเลเยอร์ (Kasane)เทคนิคการพับทบผ้า (Ori)เทคนิคการผูก (Musubi)และเทคนิคการย้อมสี(Some) มาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกเย็นสบายในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับกิโมโนแบบดั้งเดิมที่มีถึง12ชั้นทั้งยังเน้นความใส่สบาย ให้ดูเป็นธรรมชาติแต่ก็ยังคงความเป็นทางการอยู่ สิ่งหนึ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นคือการที่ผู้เชิญรางวัลสวมใส่รองเท้าแตะ(sandal)แบบตะวันตกแทนที่จะใส่รองเท้าไม้แบบญี่ปุ่นดั้งเดิมซึ่งเดินค่อนข้างยาก

โอลิมปิก 2020
ยามากูชิ โซได (Yamaguchi Sodai) ดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง

สำหรับ ยามากูชิ โซไดเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่น่าสนใจมาก ความหลงใหลในกิโมโนของเขามาจากครอบครัว คุณยายของเขาเป็นช่างตัดเย็บกิโมโน ส่วนคุณตาอยู่ในอุตสาหกรรมผ้าไหม เขาจึงเติบโตมาพร้อมกับซึมซับเทคนิคการตัดเย็บแบบโบราณ และรู้ลึกไปถึงสิ่งทอประเภทต่าง ๆ รวมถึงการย้อมสี โดยชุดเชิญรางวัลครั้งนี้ใช้สีครามธรรมชาติที่ย้อมไล่เฉดถึง 6 เฉดสี ที่สำคัญทุกขั้นตอนเลือกใช้กระบวนการสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และเรื่องเล็กน้อยที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ ผู้เชิญรางวัลสามารถเลือกได้เองว่าจะสวมกางเกงหรือชุดเดรสกระโปรงยาว ถือเป็นการปลดล็อกด้านวัฒนธรรมการแต่งกายในชุดพิธีการที่มักมีภาพลักษณ์ว่า “ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง” รวมถึงเป็นการปลดล็อกความเข้าใจของคนทั่วโลกที่มองว่าความเป็นทางการ ความเป็นเจ้าพิธีการของญี่ปุ่นต้องเป็นแบบดั้งเดิมเท่านั้น

“ช่อดอกไม้” ใช้ดอกไม้จากพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ

ถ้ายังจำกันได้ในโอลิมปิก 2016ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิลมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการมอบเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะด้วยการมอบของที่ระลึกสัญลักษณ์ Rio2016 แทนการมอบช่อดอกไม้ตามธรรมเนียมโอลิมปิกนิยมที่ผ่าน ๆ มา ทว่าในโอลิมปิก Tokyo 2020ครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนกลับมามอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีอีกครั้ง แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าประเทศเจ้าภาพเป็นญี่ปุ่น ช่อดอกไม้ที่สร้างสรรค์ขึ้นจึงซ่อนความหมายที่ไม่ธรรมดา

เริ่มจากการใส่มาสคอต มิไรโทวะ(Miraitowa) สำหรับโอลิมปิก และ โซเมตี้ (Someity) สำหรับพาราลิมปิก ไว้ด้านหน้าของช่อดอกไม้ แบ่งเป็น3 สี คือ ทองเงินทองแดงตามอันดับของเหรียญรางวัลถัดมาคือแหล่งที่มาของดอกไม้ซึ่งปลูกในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อค.ศ. 2011 การนำดอกไม้จากพื้นที่ประสบภัยมาใช้ย้ำถึงการที่ภาครัฐ คนญี่ปุ่น และคนทั่วโลกไม่เคยทอดทิ้งพวกเขา

ช่อดอกไม้ที่ถูกใช้ทั้งในโอลิมปิกและพาราลิมปิก ออกแบบโดย Nippon Flower Councilมีขนาดกว้าง 17 เซนติเมตร สูง 28 เซนติเมตรนำมาใช้ทั้งหมด 5,000 ช่อ เลือกใช้ดอกไม้เพียง3 ชนิดสื่อถึงความหวังและการฟื้นฟูได้แก่ ดอกทานตะวันจากจังหวัดมิยากิดอกโซโลมอนส์ซีลส์ (Solomon’s seals)จากจังหวัดฟุกุชิมะ และดอกหรีดเขา(Gentians)จากจังหวัดอิวาเตะ รวมทั้งใบไม้ตกแต่งจากโตเกียว

ในส่วนของจังหวัดฟุกุชิมะนั้นเป็นพื้นที่สำคัญทางการเกษตร และพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ หลังเหตุการณ์สงบลงทางจังหวัดได้จัดตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรขึ้นมา และปลูกดอกไม้เพื่อหวังฟื้นฟูภาคการเกษตรของเมือง ด้านอิวาเตะเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องดอกหรีดสีออกน้ำเงิน โดยดอกหรีดกว่าครึ่งในร้านดอกไม้ของญี่ปุ่นก็มาจากเมืองนี้ และอีกใจความสำคัญคือเป็นสีที่ตรงกับสัญลักษณ์โอลิมปิกของโตเกียว

ด้านความหมายของดอกทานตะวันแห่งจังหวัดมิยากิไม่ได้หมายถึง “ความหวัง” ตามความหมายสากลเพียงเท่านั้น แต่ยังมาจากเหตุการณ์จริงหลังสึนามิ ครั้งนั้นมีหลายครอบครัวที่ต้องสูญเสียลูกและเด็ก ๆ ไปจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่ม พ่อแม่ผู้ปกครองจึงช่วยกันปลูกดอกทานตะวันเป็นทุ่งขนาดใหญ่ไว้บนเนินเขา หวังให้สีเหลืองของดอกทานตะวันเป็นเครื่องเตือนใจให้เด็ก ๆ ในชุมชน หากเกิดคลื่นยักษ์ขึ้นเมื่อไรให้เด็ก ๆ มองหาสัญลักษณ์สีเหลืองบนเนินเขาและใช้ที่นี่เป็นที่หลบภัย ในทุกปีบนยอดเขาแห่งเมืองมิยากิจะปกคลุมไปด้วยสีเหลืองของทานตะวันที่ตั้งใจปลูกขึ้นมาใหม่ เพื่อระลึกถึงเด็ก ๆ และคนที่จากไปในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ด้วย

“ซาโตะ นาโอกิ” (Sato Naoki) นักแต่งเพลงชื่อดังชาวญี่ปุ่น

“ดนตรีประกอบ” สร้างสรรค์โดยนักดนตรี 256 คน

เสียงดนตรีแห่งชัยชนะคืออีกองค์ประกอบสำคัญที่จะสื่อสารให้ผู้ชมทั่วโลกได้เห็นถึง “เส้นทางความสำเร็จ” ของนักกีฬา แต่ละคนต้องผ่านอุปสรรค การฝึกซ้อมที่แสนยากลำบาก ผ่านความพ่ายแพ้มาไม่รู้กี่ครั้งกว่าจะมาถึงปลายทาง

การประพันธ์ดนตรีสำหรับเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนี้นำโดย “ซาโตะ นาโอกิ” (Sato Naoki) นักแต่งเพลงชื่อดังชาวญี่ปุ่นผู้อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบแอนิเมชัน และภาพยนตร์ในตำนานหลายเรื่อง อาทิ ซามูไร พเนจร (RurouniKenshin) โดราเอมอน ตอน Stand by Me Doraemon และสำหรับการมาแต่งดนตรีเฉลิมฉลองชัยชนะคือประสบการณ์ใหม่ โดยโจทย์ยากที่สุดของเขาคือการทำให้นักกีฬาที่ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม เข้าใจในความหมายของดนตรีตรงกัน นั่นจึงทำให้ ซาโตะ นาโอกิ ไม่ได้ยัดเยียดอัตลักษณ์เครื่องดนตรีของญี่ปุ่นลงไป แต่เขากลับต้องการความเป็นภาษาสากลให้มากที่สุด

สำหรับเสียงดนตรีแห่งชัยชนะมีความยาว 4 นาที 10 วินาที เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักดนตรีออร์เคสตราในสตูดิโอชั้นนำของญี่ปุ่นถึง 144 คนและมีนักร้องประสานเสียง 112 คน รวมทั้งหมด 256 คน

“แท่นรับรางวัล” จากขยะพลาสติก 24.5 ตัน

24.5 ตัน คือปริมาณขวดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกของสินค้าอุปโภคที่ใช้แล้วซึ่งประชาชน ร้านค้า โรงเรียน องค์กรต่าง ๆ และบริษัท P&G ได้ให้การสนับสนุนในการเก็บรวบรวมในระยะเวลา 9 เดือนเพื่อนำมารีไซเคิลทำเป็นวัสดุสำหรับสร้างแท่นรับรางวัล โตโกโละ อาซาโอะ (Tokolo Asao) ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์โอลิมปิก 2020 ซึ่งเป็นรูปทรงสิบสองเหลี่ยมต่อกันเป็นฟอร์มวงกลม เป็นผู้ออกแบบแท่นรับรางวัลครั้งนี้ด้วยโดยได้อิงกับรูปแบบตราสัญลักษณ์ โอลิมปิก 2020 คือการเชื่อมโยงกันของทรงลูกบาศก์ที่แฝงความหมายถึงความสามัคคี แท่นรับรางวัลจึงเกิดจากการนำลูกบาศก์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลหลายลูกมาเรียงต่อกันโดยแต่ละลูกรับน้ำหนักได้ 1.5 กิโลกรัม

“เหรียญรางวัล” จากขยะอิเล็กทรอนิกส์

เหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงจำนวนกว่า 5,000 เหรียญในการแข่งขันครั้งนี้ทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่รวบรวมจาก 1,621 ชุมชนหรือคิดเป็น 90% ของชุมชนทั้งหมดของญี่ปุ่นได้เกือบ 79,000 ตัน และโทรศัพท์มือถือเก่าจำนวน 6.21 ล้านเครื่องจากร้าน NTT Docomo ทั่วประเทศ โดยใช้เวลารวบรวมกว่า 2 ปี ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เมื่อนำมารีไซเคิลได้ทองราว 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม

เครดิตภาพ : ©Tokyo 2020


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์