เปียบุ๊คส์ : ร้านหนังสืออิสระขนาดหนึ่งคูหา ที่อยู่คู่ถนนดินสอมากว่า 30 ปี
Brand Story

เปียบุ๊คส์ : ร้านหนังสืออิสระขนาดหนึ่งคูหา ที่อยู่คู่ถนนดินสอมากว่า 30 ปี

Focus
  • เปียบุ๊คส์ ได้รับรางวัล “ร้านหนังสืออิสระดีเด่น” ประจำปี พ.ศ. 2564 จากโครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ
  • เปียบุ๊คส์ ร้านหนังสือเก่าแก่บนถนนดินสอ ก่อตั้งโดย ศรีนวล แซ่โค้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2531

“ความอดทนต้องมาเป็นหนึ่ง ใจต้องรักด้วยนะ ถามว่ามันคุ้มไหม…ไม่คุ้มหรอก แต่เราก็ไม่อยากให้หนังสือมันหายไปจากแผง เราคิดว่าเราจะสู้ไปด้วยกันจนถึงสุดท้าย”

ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าเป็น คนทำร้านหนังสือมันเจ็บปวด เพราะแม้จะรักในอาชีพนี้ขนาดไหน รักในบรรยากาศของการเห็นคนเดินเข้าร้านหนังสือ รักในกลิ่นของกระดาษและเสียงสนทนาในร้านหนังสือ แต่สุดท้ายความอดทนและสายป่านก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่คนทำร้านหนังสือจะขาดไปเสียไม่ได้ เช่นเดียวกับ อ้อย-ศรีนวล แซ่โค้ว เจ้าของร้านหนังสือเก่าแก่บนถนนดินสอที่ชื่อ เปียบุ๊คส์ ซึ่งเปิดบริการมาตั้งแต่ พ.ศ.2531

เปียบุ๊คส์

กว่า 34 ปีที่เปิดร้านหนังสือ แน่นอนว่าเธอเป็นคนที่รักหนังสือ ทุกวันเธอยังคงตื่นเช้าเพื่อออกไปรับหนังสือพิมพ์เตรียมจัดร้านตั้งแต่ตี 4 แต่เธอย้ำกับเราตลอดการสนทนาว่า ธุรกิจร้านหนังสือในเมืองไทยมันเป็นเบี้ยหัวแตก ร้านหนังสือมันไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรในทันที เมื่อสั่งหนังสือมาลอตหนึ่งก็ต้องทิ้งระยะเวลาขายไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน ในขณะที่อีกมือก็มีรายจ่ายเป็นค่ามัดจำหนังสือ ซึ่งถ้าต้องมีค่าเช่าร้าน ค่าลูกจ้างเพิ่มเติมเข้ามาก็อาจจะทำให้ไม่รู้สึกสนุกกับกิจการนี้ก็เป็นได้

“เราก็ใช้ความอดทน คิดว่าตราบที่โรงพิมพ์ยังป้อนหนังสือให้ ร้านเล็กๆ อย่างเราก็น่าจะอยู่ได้ โชคดีที่ว่าเราไม่มีค่าเช่า ไม่มีลูกจ้าง เพราะทำเองทุกอย่าง ถือว่าช่วยได้มาก ติบลบไหมก็มี แต่ก็ยังพออยู่ได้”

เปียบุ๊คส์

ย้อนประวัติศาสตร์ร้าน เปียบุ๊คส์ กันสักนิด ก่อนที่จะมาเป็นร้านหนังสือ ห้องแถวขนาด 1 คูหาแห่งนี้คือร้านขายตลับเทปและซีดีซึ่งเปิดมาตั้งแต่ พ.ศ.2523 ต่อมาเมื่อเทป ซีดี เริ่มถูกลดความนิยมลงจึงเปลี่ยนมาเป็นร้านหนังสือ โดยใช้ชื่อ เปีย ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเทปแต่ดั้งเดิม

“พี่เปียมีบุญคุณกับเรา เราทำร้านเทปซีดีอยู่กับเขา พอเขาเลิกกิจการเราก็เข้ามาสานต่อ ตอนนั้นร้านเทปอยู่ฝั่งตรงข้าม พอทำร้านหนังสือก็ย้ายมาอยู่ตรงนี้ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นยุคที่หนังสือขายดีมาก ร้านเราก็มีตั้งแต่หนังสือการ์ตูน นิตยสาร ประวัติศาสตร์ เรื่องเจ้านายในรั้ววัง ถัดจากเราไปก็คือร้านหนังสือริมขอบฟ้าซึ่งก็จะเป็นแนวประวัติศาสตร์ โบราณคดี ส่วนเราก็จะขายหนังสือที่ร้านเขาไม่มี กลุ่มลูกค้าก็จะต่างกันไป”

เปียบุ๊คส์

แม้ว่าเปียบุ๊คส์จะมีขนาดร้านแค่ 1 คูหา แต่อัดแน่นด้วยหนังสือที่หลากหลาย หน้าร้านคือแผงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ซึ่งในยามที่คนยุคดิจิทัลเลือกอ่านข่าวจากโลกโซเชียล หลายร้านเลิกบอกรับหนังสือพิมพ์ แต่ตลอดชั่วโมงเศษที่สัมภาษณ์เรากลับพบลูกค้าประจำเปียบุ๊คส์เดินเข้ามาซื้อหนังสือพิมพ์อยู่ไม่ขาด และหลายคนยังใช้บัตรสวัสดิการต่างๆ ของรัฐเป็นส่วนลดในการซื้อหนังสือพิมพ์อีกด้วย

“หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่เราต้องซื้อขาด บางวันก็เหลือ ขายไม่หมด แต่ระยะหลังนี่เราพบว่ามีลูกค้าที่อ่านหนังสือพิมพ์กันมากขึ้น บางวันสั่งมาร้อยฉบับก็ขายหมด”

นอกจากความอดทน ใจรัก และระบบการเงินที่ต้องวางแผนอย่างรัดกุมแล้ว การอ่านใจคนอ่านหนังสือให้ขาดก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะตัดสินได้ว่าหนังสือลอตนี้จะขายขาดทุน เท่าทุน หรือกำไร

“พี่อาจจะไม่ได้อ่านหนังสือทุกเล่มที่ขาย แต่ด้วยความที่เราขายมานานก็จะเริ่มรู้แล้วว่าปกไหนที่จะขายดี การเมือง ประวัติศาสตร์ อันนี้ขายได้เรื่อยๆ หรืออย่างนิตยสารก็พอจะรู้แล้วว่าปกดาราคนนี้ต้องสั่งมาเยอะสั่งล่วงหน้าได้ ปกแบบนี้สั่งมาน้อยหน่อย แต่ถ้าเราไม่คาดการณ์สั่งล่วงหน้า คิดว่าถ้าปกนี้ขายดีแล้วค่อยสั่งใหม่ ก็อาจจะไม่มีของให้เราเลยก็ได้”

และแม้เปียบุ๊คส์จะสั่งสมประสบการณ์การขายหนังสือมากว่า 30 ปี และคิดว่าร้านของเธอน่าจะพออยู่รอดต่อไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พี่อ้อยของลูกค้าอยากส่งเสียงไปถึงโรงพิมพ์ และสำนักพิมพ์ก็คือเรื่องเงินมัดจำหนังสือ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของร้านหนังสืออิสระเล็กๆ เช่นนี้

“สำหรับร้านหนังสือขนาดใหญ่อาจจะไม่ใช่ปัญหา สำหรับโรงพิมพ์ หรือสำนักพิมพ์เองอาจจะมองว่าเงินมัดจำเพียงสองถึงสามหมื่นอาจจะไม่มากนัก แต่สำหรับการอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก การเพิ่มความหลากหลายให้หนังสือในร้านคือสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดลูกค้า อย่างที่นี่เราได้ลูกค้าจากคนที่มากินข้าวแถวนี้เยอะ นักเรียน ข้าราชการ พระสงฆ์ก็มี ดังนั้นเราจึงควรจะต้องเพิ่มความหลากหลายให้หนังสือในร้าน แต่ถ้าเราอยากได้หนังสือหลากหลายนั่นหมายความว่าเราต้องสั่งหนังสือจากหลายสำนักพิมพ์ แต่ละสำนักพิมพ์ถ้าเก็บค่ามัดจำก็จะตกอยู่ที่สำนักพิมพ์ละ 2-3 หมื่นบาท ถ้า 5 สำนักพิมพ์ก็แสนหนึ่งแล้ว ก็จะมีบางสำนักพิมพ์ที่ส่งหนังสือให้กันมานาน เชื่อใจเรา เขาก็ไม่เก็บค่ามัดจำเพราะรู้ว่าเราไม่โกงเขาแน่นอน ซึ่งถ้าลดค่ามัดจำลงได้ก็จะทำให้ร้านหนังสือเล็กๆ อย่างนี้พออยู่ได้”

จะเห็นได้ว่ากิจการร้านหนังสือไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งเมื่อถามต่อถึงความสุขที่พี่อ้อยได้จากร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ พี่อ้อยบอกด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มกับเราว่า

“ความสุขในการทำร้านหนังสือนะหรอ…สีสันหนังสือทำให้มองแล้วเพลิน มันได้จับ ได้พลิกอ่าน มันรู้สึกดีกว่าไปอ่านในแท็บเล็ต บางทีเราเหนื่อยๆ ก็นั่งมองหนังสือ เออหนังสือปกนี้กว่าจะทำออกมามันทำยากนะ กว่าจะเป็นรูปเป็นเล่มแบบนี้มันต้องใช้หลายขั้นตอน…ความสุขของคนทำร้านหนังสือก็มีเท่านี้แหละ”

Fact File

เปียบุ๊คส์ : ถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร.086-312-3035 facebook.com/เปียบุ๊คส์


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม