ก้าวแรกของค่ายเพลง YES i AM มุ่งหน้าปั้น Music NFT พร้อมเดินสู่โลก Metaverse
Brand Story

ก้าวแรกของค่ายเพลง YES i AM มุ่งหน้าปั้น Music NFT พร้อมเดินสู่โลก Metaverse

Focus
  • ปี 2022 ค่ายเพลง YES i AM รีแบรนด์ใหม่ภายใต้คอนเซปต์ Metaverse are Changing Music เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับ Music NFT พร้อมผลักดันศิลปินและค่ายก้าวเข้าสู่โลก NFT และ Metaverse
  • Yes i AM อยู่ภายใต้การดูแลของ แมว-จิรศักดิ์ ในฐานะ Executive Producer ซึ่งมองว่า NFT และเมตาเวิร์สไม่ใช่แค่เทรนด์แต่ยังมีช่องว่างที่สามารถทำอะไรได้อีกเยอะมาก

“Metaverse are Changing Music” คือแนวคิดที่ประกาศพร้อมการรีแบรนด์ของค่ายเพลง YES i AM ภายใต้บริษัท Brite Panther Entertainment ซึ่งอยู่ในการดูแลของ แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม ในฐานะ Executive Producer และเอาเข้าจริงประโยคนี้ก็ค่อนข้างบอกเล่าให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ได้อย่างดี เพราะเป็นยุคที่โลกออนไลน์และเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากต่อทุกวงการ โดยเฉพาะตั้งแต่การเข้ามาของยุคโควิด-19 ที่เหมือนเป็นอีกแรงเร่งสำคัญให้ผู้คนจากทั่วโลกต่างเดินหน้าเข้าหาโลกออนไลน์ ซึ่งหากพูดถึงวงการสร้างสรรค์ก็ยิ่งเห็นชัดจากกระแสความร้อนแรงของสินทรัพย์ดิจิทัล ต่อด้วยข่าวคราวของวงการเมตาเวิร์สที่พัฒนาขึ้นทุกวัน

YES i AM
แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม
Executive Producer ค่ายเพลง

แต่ถึงอย่างนั้นแล้ว ก่อนหน้านี้เราอาจจะยังนึกภาพไม่ชัดเจนกันว่าการรีแบรนด์ของค่ายเพลงโดยมี NFT และเมตาเวิร์สเข้ามาเป็นส่วนสำคัญจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน จะมีอะไรให้เราได้ติดตามและ Music NFT ที่ว่าจะเป็นแค่เทรนด์หรือเปล่า เรามาฟังคำตอบจาก แมว จิรศักดิ์ ที่จะมาเล่าถึงยุคใหม่ของ YES i AM กัน

มองเห็นศักยภาพของ NFT และ เมตาเวิร์ส ที่จะเข้ามาส่งเสริมงานดนตรีอย่างไร

โลกวันนี้มันเป็นยุคดิจิทัล แม้กระทั่งการเงินก็มีดิจิทัลเคอร์เรนซี (Digital Currency) ที่ซื้อขายกันเป็นเหรียญ ไม่แน่ในวันข้างหน้าค่ายเราอาจจะต้องมีเงินสกุลเหรียญของเราเอง ตอนนี้มีหลายเจ้าทำเหรียญของตัวเองแล้ว แม้กระทั่งร้านค้าที่เป็นระบบของโลตัส เขาก็แจก NFT ให้ลูกค้า นั่นแสดงว่าตลาดหรือกลุ่มเป้าหมาย คนเริ่มเล่น NFT กันเยอะมากขึ้นแล้ว แต่ว่าก็ยังต้องใช้เวลาสักพักเพราะเหตุผลหนึ่งคือคนไม่แน่ใจว่า NFT จะอยู่นานหรือเปล่า จะเป็นกระแสแค่แป๊บเดียวไหม 

ผมบอกเลยว่าดิจิทัลเคอร์เรนซีอยู่นานแน่นอน แต่จะนานแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของตลาดในแต่ละช่วงเวลา ดิจิทัลอาร์ตถึงจุดหนึ่งมันก็จะนิ่ง คือธรรมชาติของการเจริญเติบโตมันเป็นแบบนี้ มันจะขึ้นไปแล้วมันก็จะนิ่ง มันจะพักตัว ปรับตัวแล้วมันก็จะขยับขึ้นไป นี่คือธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจ ธรรมชาติของเสียงที่เป็นคลื่นก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ทุกอย่างเป็นแบบนี้หมดเลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าเดี๋ยวมันจะแผ่ว มันแผ่วอยู่แล้ว แต่มันแผ่วเพื่อที่จะปรับตัว 

YES i AM

ยังมีช่องว่างที่สามารถทำอะไรได้อีกเยอะมาก โดยเฉพาะ Music NFT บ้านเราแทบจะยังไม่กระดิกเลย ทั้ง ๆ ที่ต่างประเทศเขาไปกันเยอะแล้ว ประเทศไทยผมมองว่าปลายปีนี้ถ้ายังไม่มีค่ายใหญ่ทำงาน Music NFT ออกมา ปีหน้าจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ทำจะฝ่อแล้ว เท่าที่ผมเห็นมาตอนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นตัวบุคคลที่ทำมากกว่า อีกอย่างคือบางทีคนไทยหลาย ๆ คนยังเข้าไม่ถึง สมมติพ่อค้าแม่ค้าจะเข้าถึงตรงนั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก เราต้องทำอะไรที่เขาเข้าถึงมันง่ายที่สุดไม่ต้องไปซื้อเหรียญหรือเล่นบิตคอยน์ ใช้เงินบาทธรรมดาได้ไหม หรือไม่ต้องเงินบาทก็ได้แต่มีระบบซัปพอร์ตให้เขาเข้าถึง เราก็เลยต้องเริ่มเขียน Souce Code พัฒนาโปรแกรมเอง แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น สิ่งแรกที่เราทำได้ก่อนคืองาน NFT 

บทบาทของค่ายเพลงในยุคนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน

เอาจริง ๆ ทุกวันนี้บทบาทของค่ายเพลงน้อยลงนะ เพราะทุกคนทำเองหมดแล้ว เขาโตใน TikTok ได้สบายบทบาทของ YES i AM ผมมองว่าเราไม่ต้องเป็นค่ายเพลงก็ได้ เราเป็นพี่เลี้ยง ถ้าคุณดังหรือเก่งอยู่แล้ว ทำผลงานได้อยู่แล้วก็ทำไป แต่ส่วนที่คุณไม่มีคืออะไร เช่น คอนเน็กชันหรือเรื่องการดูแลสิทธิ์ สมมติคุณอยากจะไปออกงานไหนหรือให้เราดูแลเรื่องการตลาด เราจะช่วยเสริมเรื่องที่เขาขาดมากกว่า

เทคโนโลยีและโลกดิจิทัลขับเคลื่อนวงการเพลงอย่างไร 

จริง ๆ มันขับเคลื่อนทุกอย่างเลยนะ อยู่ที่ว่าแต่ละส่วนจะตอบสนองกับมันอย่างไร สำหรับผมโลกดิจิทัลขับเคลื่อนเพลงอยู่บนสตรีมมิ่ง สิ่งที่ Brite Panther ค่ายใหญ่ของ YES i AM กำลังจะทำคือ Listen to Earn เป็นการฟังเพลงแล้วได้เงิน 

เรามาคิดว่ายอดวิวต่าง ๆ ศิลปินหรือค่ายจะได้เงินใช่ไหม แต่คนที่ฟังเพลงเราหรือเอาไปเปิดข้างนอก เขาต้องจ่ายเงินให้เรา เขาไม่ได้อะไรเลยนะ ถ้าเราจะสร้างแรงจูงใจให้เขาเปิดเพลงเราเยอะ ๆ เราก็ต้องทำให้เขาได้เงินด้วย สมมติฟังเพลงของผมบ่อย ๆ ยอดวิวที่ฟังขึ้นไป 2,000 กว่าวิวเฉพาะในแอ็กเคานต์เดียว มันสามารถตียอดวิวตรงนี้เป็นสิทธิประโยชน์หรือ Token ได้ไหม เวลาเราซื้อสติกเกอร์ไลน์ก็ต้องเอาเงินสดซื้อ Token แล้วเอาไปซื้อสติกเกอร์ มันคล้ายกันเลย สมมติในแพลตฟอร์มของ YES i AM จะมีแทร็กของศิลปินว่าเราฟังกี่วิวแล้ว จำนวนนั้นเรามาตีเป็น Token ได้ไหม แล้ว Token นั้นจะนำไปซื้ออะไรในงานของ YES i Am ได้บ้าง ทำให้เขาได้สิทธิตรงนี้ด้วย หรือแม้กระทั่งเอาไปเป็นส่วนลดในการเข้าชมคอนเสิร์ตก็ตาม ตอนนี้เรากำลังทำอยู่ และมันจะไม่ใช่เฉพาะแพลตฟอร์มที่เราทำคนเดียว ค่ายอื่นก็สามารถมาใช้บริการเราได้ เหมือนสตรีมมิ่งเลยแต่สะสมแต้มกันไป แล้วนำไป Earn บางอย่าง ผมว่ามันต้องกระจายสิทธิประโยชน์ออกไปถึงกลุ่มผู้ฟังด้วย เหมือนกับการขายของที่คิดจะขายอย่างเดียวโดยที่ไม่ซื้อเลย แล้วตลาดจะอยู่อย่างไร เราเป็นผู้ผลิตก็ควรมีส่วนช่วยผู้บริโภคให้เขาได้อะไรด้วยนอกจากความเอนเตอร์เทน

YES i AM

การปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอาร์ตของค่ายจะมีออกมาในรูปแบบไหนบ้าง

ผมอยากให้บริษัทเริ่มทำงาน NFT เริ่มต้นจากงานดิจิทัลอาร์ตก่อน ศิลปินในค่ายหลายคนชอบวาดรูป ตัวผมเองก็ชอบวาดรูปแล้วพอเป็นงานดิจิทัลมันสามารถทำอะไรได้เยอะมาก เมื่อมาบวกกับ Music NFT จะยิ่งทำอะไรได้สนุกสนานขึ้นอีก แต่ตอนนี้เรายังมีข้อจำกัดในการอัปโหลด เช่น บางแพลตฟอร์มอัปโหลดได้แค่ 100 MB สมมติเราจะอัปไฟล์เป็นมิวสิกวิดีโอมันจะเกินความจุนั้นไปแล้ว เลยทำได้สั้น ๆ แค่ 1-2 นาทีหรือเฉพาะไฟล์ที่เล็ก ๆ เช่นใน Opensea ของไทยอย่าง Bitkub, JNFT เราสังเกตว่าส่วนใหญ่จะมีแค่งานภาพนิ่ง หรืองานภาพดุ๊กดิ๊กอย่างไฟล์ GIF ถ้าเป็นไฟล์ MP4 จะยังน้อยอยู่ เราเลยคิดว่าต้องพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อซัปพอร์ตว่าทำอย่างไรเราจะลงมิวสิกวิดีโอหรือ Short Film ให้สามารถดูได้ ไม่ใช่แค่การซื้องานภาพอาร์ตอย่างเดียว แต่ได้มิวสิกวิดีโอสั้น ๆ ไปดูด้วย 

งานของ YES i AM ที่จะมุ่งเน้นมาทางนี้ยังเป็นเหมือนจุดเริ่มต้น สิ่งที่เราคิดกันคืออะไรที่จะเป็นตัวเสริม ทำให้งาน NFT ของค่ายและศิลปินน่าสนใจขึ้น และบังเอิญว่าองค์ประกอบของค่ายที่มีอยู่ 4 ส่วนคือ Artist Management การดูแลศิลปิน ส่วนนี้เราก็จะดูแลทั้งหมดไม่ว่าจะงาน NFT งานแสดงหรืออินฟลูเอนเซอร์ของเขา ส่วน Music Production คือการรับผลิตงานให้องค์กรหรือศิลปินไม่ว่าจะในค่ายหรือนอกค่ายก็ตาม ส่วน Event และ Showbiz อย่างคอนเสิร์ตหรืองานเทศกาลต่าง ๆ ก็สามารถเชื่อมเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ถือ NFT ของเราได้ บนเวทีอาจจะมีการขายงาน NFT ก็ได้ คือทุกอย่างมันสวิตช์กันได้หมดเลย ไม่ว่าจะซื้อ NFT แล้วได้เข้าร่วม Showbiz ก็ตาม และอีกส่วนที่เราทำคือ Publishing ดูแลสิทธิ์ของเพลง ไม่ว่าจะการจัดจำหน่าย การนำเพลงไปใช้ เราดูแลสิทธิ์ให้ทั้งในค่ายและนอกค่าย เช่น ศิลปินเพลงอินดี้ที่ไม่รู้ว่าต้องดูแลสิทธิ์ผลงานตัวเองอย่างไร อันนี้คือส่วนหลักที่เราดูแล แต่สำหรับ NFT และเมตาเวิร์สจะเป็นเรื่องของรายละเอียดกิจกรรมในค่ายที่เรากำลังให้ความสำคัญและกำลังมุ่งไป เพราะตอนนี้เป็นสังคมยุคดิจิทัลแล้ว 

ปัจจัยอะไรที่จะทำให้งาน NFT หรือ Music NFT สามารถเติบโตและได้รับความสนใจได้

Utility หรือสิทธิประโยชน์ ไม่ว่า NFT ประเภทไหนก็ตามสิทธิประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญ​ คนซื้อต้องรู้ว่าซื้อไปแล้วได้อะไร งานอาร์ตมันมีคุณค่าของมันอยู่แล้ว แต่ตัวที่จะทำให้เกิดมูลค่าคืออะไร อย่างเช่นเขาซื้อไปแล้วราคามีขึ้นมีลงนะ อีกแบบหนึ่งคือเรากำหนดไว้ในข้อตกลง เช่น ใครซื้องานนี้ไปได้สิทธิในการซื้อสินค้าพิเศษของเราก่อนใครอื่น ได้สิทธิในการใช้ส่วนลด 50% หรือได้ของที่ระลึกเป็น Give Away เหล่านี้คือสิทธิประโยชน์ จุดนี้ก็จะลิงก์ไปถึงเมตาเวิร์สได้ด้วย เช่น ใครถือ NFT ของผมจะได้สิทธิในการเข้าชมเมตาเวิร์ส Meet and Greet 50 ท่านแรก เป็นสิทธิประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการซื้อ หรืออย่างครีเอเตอร์ต่างประเทศเช่นBored Ape Yacht Club เขาให้สิทธิคนซื้อเอางานไปทำการพาณิชย์ ทำซ้ำ ดัดแปลงเป็นของตัวเองได้ ปรากฏว่ามีคนไทยคนหนึ่งซื้อตัวนี้แล้วเอามาทำเป็น Ape Kids Club เป็นลิงเด็กขึ้นมา ขายดีมากเลย บางคนอาจจะให้สิทธิเป็นส่วนลดในการใช้บริการอื่น ๆ ก็ได้ สิทธิประโยชน์เลยเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำ NFT 

พี่แมวเองก็ทำงาน NFT ของตัวเองด้วยใช่ไหม 

ใช่ครับ ทำมาได้ 3-4 เดือนแล้ว ที่ผมทำเพราะอยากรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร การอ่านหรือฟังมันเป็นความรู้แค่เบื้องต้น ความรู้ที่แท้คือความรู้จากการทำ ผมอยากรู้ว่าปัญหาคืออะไร วาดแบบไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก คอมมูนิตี้เขาคืออะไร เขาซื้อหรือไม่ซื้องานเราเพราะอะไรเลยลงไปเจอเองเลย 

ผมใช้คาแรกเตอร์ใน NFT เป็นแพะสำหรับการเริ่มต้น ผมชอบคำว่า Goat มาจาก Greatest of All Time แล้วแพะก็เป็นสัญลักษณ์ของชาวร็อกด้วย ตอนแรกใช้ชื่อ Goat Republic คือประเทศแพะ ตอนนี้เปลี่ยนเป็น Goat Father แล้ว ล้อคำกันกับ God Father 

ปกติวาดรูปอยู่แล้วหรือเปล่า

จริง ๆ ผมวาดรูปอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก แต่พอมาเจอดิจิทัลอาร์ตก็มาหัดทำ Photoshop ใหม่ เพิ่งมาหัดได้ 4-5 เดือน วาดพอได้แล้วก็ลุยเลย ทำไปด้วยพัฒนาไปด้วย เราได้เรียนรู้องค์ประกอบของมันจนสรุปออกมาได้ว่า หนึ่ง ต้องมีสกิลนะ ผมเรียกรวมว่าเป็น Productivity ความสามารถด้านการผลิต สกิลและกำลังผลิต เพราะบางทีเราอาจจะต้องจ้างทีมหากเราทำงานจริงจังกรณีที่วาดคนเดียวไม่ไหว สองมี Creativity ความคิดสร้างสรรค์​ บางทีเขาอาจจะวาดรูปลายเส้นง่าย ๆ เลย แต่มันมีแนวคิดอะไรอยู่ในนั้นมากพอให้คนซื้องานของเรา และ Utility สร้างสรรค์แล้วต้องมีประโยชน์ เขามาลงทุนกับเรา เขาต้องรู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไร และที่ขาดไม่ได้เลยคือ Community สังคมที่จะต้องแบ่งปันแนวคิดหรือเรียกว่าเป็นเซิร์ฟเวอร์ของเรา แฟนคลับหรือคนที่จะมาซื้องานเราเขาจะเข้ามาดูงาน ดูเส้นทางการทำงานของเราได้ 

สำหรับคนทั่วไป จะสามารถเข้าใจ NFT หรือ Music NFT ได้อย่างไรบ้าง

ส่วนหนึ่งที่ YES i AM ทำก็คือการทำเวิร์กชอป เร็ว ๆ นี้น่าจะมีเวิร์กชอปที่จะพูดเรื่อง Music NFT ด้วย เราต้องสร้างความเข้าใจให้เขาเข้าใจว่าจุดสำคัญของ NFT คืออะไร บางทีมุมมองทางศิลปะเราวัดกันไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี อันนี้เป็นอีกอย่างที่ต้องใช้เวลาแต่การเข้าใจ ในเบื้องต้นเราสามารถที่จะสร้างการรับรู้ได้ ตอนนี้เรายังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่คิดว่าช่วงปลายปีนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว

สรุปได้ว่าปลายปีนี้ส่วนของพี่แมวและค่าย YES i AM โฉมใหม่ในยุคดิจิทัลเราจะได้เห็นอะไรกันบ้าง 

มีงานแฟนมีตของผมที่กำลังทดลองระบบ เรายังอยู่ในช่วงที่ลองนู่นลองนี่กันอยู่ ปลายปีนี้แหละที่จะเริ่มเผยแพร่ออกไปแล้ว ระบบที่ลองคือผมอยากทำเป็นอวาตาร์ที่คนสามารถจับมือแล้วรู้สึกได้ สมมติมีคนยื่นมือมา ผมยื่นมือไปแล้วจับจะรู้สึกว่าจับมือ แตะมือกันได้ (หัวเราะ) ทำได้นะครับ คนไทยเดี๋ยวนี้เก่งมากนะ ถ้ามีแว่น VR ด้วยสบายเลย เหมือนได้เข้าไปอยู่ในเวทีคอนเสิร์ตจริง ๆ มีเพื่อนยืนอยู่ข้าง ๆ พูดคุยกันได้ 

ส่วนของค่าย ช่วงปลายปีนี้จะเริ่มเห็นงานที่เป็นดิจิทัลอาร์ตเสริมเข้ามา อาจจะเป็นลักษณะที่ง่าย ๆ ก่อนเช่น การ์ดหรือกาชาปองที่เป็นการ์ดสุ่มขึ้นมาได้เป็นกิฟต์เซตของศิลปิน หรือได้ร่วมคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม แต่ปีหน้าจะเห็นผลงานของศิลปินที่วาดรูปได้เริ่มออกมาอาละวาดแล้ว เพราะเราได้ EAST NFT มาเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"