อาเบะโนมิกส์ มรดกทางเศรษฐกิจของ ชินโซ อาเบะ ที่หวังพลิกฟื้นญี่ปุ่นในยุคทศวรรษที่สูญหาย
Faces

อาเบะโนมิกส์ มรดกทางเศรษฐกิจของ ชินโซ อาเบะ ที่หวังพลิกฟื้นญี่ปุ่นในยุคทศวรรษที่สูญหาย

Focus
  • อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) เป็นการผสมระหว่างคำว่า Abe อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 57 ของประเทศญี่ปุ่น กับคำว่า Economics หมายถึง นโยบายทางเศรษฐกิจที่ได้รับการผลักดันและดำเนินการในรัฐบาลสมัยที่ 2 ของ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe)
  • นโยบายอาเบะโนมิกส์เปิดขึ้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หากเอ่ยถึงชื่อของ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 57 ของประเทศญี่ปุ่น และหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) นอกจากแนวทางการบริหารสายกลางค่อนไปทางขวา ที่พยายามผลักดันให้ประเทศมีกองทัพ แทนที่จะเป็นกองกำลังป้องกันตนเองในปัจจุบันแล้ว อีกหนึ่งผลงานที่ทำให้อาเบะเป็นที่จดจำมากที่สุด ถึงขึ้นระดับตำนานก็คือนโยบายเศรษฐกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศที่เรียกว่า อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) โดยบรรดานักเศรษฐศาสต์และผู้เชี่ยวชาญสายเศรษฐกิจทั่วโลกต่างยอมรับว่า อาเบะโนมิกส์คือมรดกทางเศรษฐกิจที่ทำให้อดีตผู้นำประเทศญี่ปุ่นรายนี้เป็นที่จดจำมากที่สุด

อาเบะโนมิกส์

อาเบะโนมิกส์คืออะไร

นิยามที่กระชับและเข้าใจได้ง่ายที่สุด อาเบะโนมิกส์ คือแผนกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของแดนปลาดิบ หลังจากที่เผชิญกับภาวะซบเซา (Stagflation) บวกกับภาวะเงินฝืด (Deflation) มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ อันเป็นผลกระทบจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์แตกในช่วงรอยต่อปลาย 1980s ต้นยุค 1990s

ทั้งนี้ ต้องย้อนความเล็กน้อยก่อนว่า อาเบะนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย สมัยแรกคือตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.2006 ถึงกันยายน ค.ศ.2007 ก่อนได้รับการเลือกตั้งให้กลับมานั่งในตำแหน่งผู้นำประเทศอีกครั้งในสมัยที่ 2เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2012 ถึงกันยายนค.ศ.2020 (การดำรงตำแหน่ง 2 สมัยทำให้เจ้าตัวกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รับใช้ประเทศยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น) และยุทธศาสตร์อาเบะโนมิกส์ของอาเบะนั้นก็เกิดขึ้นในยุคที่เจ้าตัวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเป็นสมัยที่ 2

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า นโยบายอาเบะโนมิกส์ที่เจ้าตัวปราศรัยหาเสียงไว้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้อาเบะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 และทำให้อาเบะกลับมายืนบนเวทีการเมืองได้อย่างสง่างามโดยในช่วงที่อาเบะเข้ารับตำแหน่งนั้น เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นอยู่ในยุค “ทศวรรษที่สูญหาย” (the Lost Decade) คือจากเดิมที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองเฟื่องฟูแบบขีดสุด กลับดิ่งหนักสู่ภาวะซบเซารุนแรงและยาวนานจนไร้วี่แววฟื้นคืน เรียกได้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในสภาพที่ไม่ได้สวยงามสักเท่าไรนัก กล่าวคือ แม้จะได้ชื่อว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กลับเติบโตแบบติดลบ การส่งออกลดลงฮวบฮาบจนเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่สภาพสังคมของญี่ปุ่นก็ประสบกับภาวะการเกิดต่ำและเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบที่ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกเผชิญมาก่อน

อาเบะ ผู้รับสืบทอดมรดกที่ไม่พึงประสงค์ที่รัฐบาลแต่ละรุ่นพยายามแก้ปัญหาแต่ไม่ค่อยเห็นผลจึงมาพร้อมกับ อาเบะโนมิกส์ โดยมุ่งใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งเพิ่มการใช้จ่ายในส่วนของภาครัฐ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการส่งออก และเพิ่มอัตราการจ้างงาน สำหรับเป้าหมายของอาเบะโนมิกส์ก็คือการเพิ่มความต้องการ (Demand) ภายในประเทศเพื่อให้ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบปรับขึ้นมาอยู่ที่เป้าหมายที่ 2% ให้ได้ และทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

อาเบะโนมิกส์

ผลลัพธ์ของอาเบะโนมิกส์คืออะไร

ผลลัพธ์ที่เห็นได้ในทันทีหลังใช้อาเบะโนมิกส์ก็คือความคึกคักในตลาดการเงินของประเทศ โดยการอัดฉีดเงินเข้าระบบขนานใหญ่ ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก สร้างความได้เปรียบในภาคการส่งออก ขณะที่ดัชนี TOPIX ในตลาดหุ้นพุ่งขึ้นถึง 22%

ขณะเดียวกัน ตัวเลข GDPญี่ปุ่นแสดงสัญญาณขยายตัวคิดเป็นมูลค่าถึง 48.4 ล้านล้านเยน อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 4.4 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะมีการจ้างงานผู้หญิง ผู้สูงวัย และแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้านกำไรก่อนหักภาษีของบริษัทเพิ่มขึ้น 42.1พันล้านเยน โดยมีอัตราการว่างงานลดลง 2.4% ซึ่งต่ำกว่าเป้า 3% ที่วางไว้ และต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จสำคัญของชินโซ อาเบะ

ผู้เชี่่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งหลายอธิบายว่า นโยบายของอาเบะประกอบด้วยลูกธนู 3 ดอก ธนูดอกแรกคือ การพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบเพื่อดันให้เงินเฟ้อแตะระดับเป้าหมายธนูดอกที่สอง คือการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นGDP และธนูดอกที่สาม คือการออกกฎหมายและการปฏิรูปของรัฐบาลเพื่อทำให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นสามารถแข่งขันได้มากขึ้น เรียกว่าธนูทั้ง 3 ดอกนั้นครอบคลุมทั้งการเงิน การคลัง และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ

อุตการ์ช ซินฮา (Utkarsh Sinha) กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการลงทุน Bexley Advisors กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจภายใต้อาเบะโนมิกส์ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในเวลานั้นสามารถฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาอันสั้น มีตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้นและการว่างงานลดลง

อาเบะโนมิกส์ประสบความสำเร็จหรือไม่

แม้ว่าจะมีรายงานตัวเลขและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่คึกคักมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างยอมรับว่า นโยบายอาเบะโนมิกส์ของอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะประสบความสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้กลับมาผงาดได้ดังเดิมอีกครั้ง โดยในช่วงที่อาเบะดำรงตำแหน่ง คือระหว่างค.ศ. 2015-2017 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตในการเชิงบวก 8 ไตรมาสติดต่อกัน ทำสถิติเติบโตยาวนานที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และผลงานของคู่แข่งรายอื่นๆ การเติบโตของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วยนโยบายอาเบะโนมิกส์ยังไม่ค่อยน่าประทับใจมากนัก คายะ เคอิจิ (Kaya Keiichi)นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ในช่วงระยะเวลาเกือบ 8 ปีของอาเบะในฐานะนายกรัฐมนตรี (ยกเว้นค.ศ.2020 เมื่อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ) การเติบโตของGDP ญี่ปุ่นที่แท้จริงเฉลี่ยเพียง 0.9% เท่านั้น ดังนั้น เป้าหมายอันทะเยอทะยานของอาเบะในการเพิ่ม GDP ให้ได้ 600 ล้านล้านเยนภายในค.ศ.2020 จึงไม่เคยเกิดขึ้นจริงและยังไม่บรรลุผลจนถึงทุกวันนี้ แถมอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของค่าแรงยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ผลกำไรทางเศรษฐกิจลดลง

ขณะที่ มินจูกัง (Min Joo Kang) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเกาหลีใต้และญี่ปุ่นของ ING ระบุว่า แม้นโยบายของรัฐบาลจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการปฏิรูปและสร้างสรรค์นวัตกรรมจากทุกภาคส่วนในตลาดได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานอย่างแท้จริงและเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ความพยายามในการพึ่งพาตนเองในหมู่ครัวเรือนและภาคธุรกิจก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะฉะนั้น ลำพังการกระตุ้นจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ การพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่แท้จริงจึงมีจำกัด และความสำเร็จของอาเบะโนมิกส์จึงมีเพียงครึ่งเดียวในการปกป้องเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากการตกต่ำอย่างรุนแรง

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่า ในขณะที่ โยชิฮิเดะ ซูงะ (Yoshihide Suga) นายกรัฐมนตรีที่รับไม้ต่อจากอาเบะจะดำเนินตามแผนอาเบะโนมิกส์ อย่างจริงจัง แต่ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ผู้นำญี่ปุ่นคนปัจจุบันกลับพยายามถอยจากจากกลยุทธ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า อาเบะโนมิกส์ เป็น “ระบบทุนนิยมใหม่” ที่ทำให้ปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับจนทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เจฟฟรีย์ ฮัลลีย์ (Jeffrey Halley) นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ OANDA ชี้ว่า อาเบะโนมิกส์ได้สร้าง “ผลลัพธ์ที่แตกต่างหลากหลาย”ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ หนี้รัฐบาลพอกพูนแบบทวีคูณ และอุปสรรคทางการค้าและการกำกับดูแลกิจการของญี่ปุ่นยังคงซับซ้อนและยุ่งยากสำหรับธุรกิจและคู่ค้าเหมือนเช่นกัน โดยฮัลลีย์มองว่า การขาดความคืบหน้าตามแผนอาเบะโนมิกส์ ที่วางไว้เป็นผลจากการที่อาเบะไม่สามารถเอาชนะผลประโยชน์ภายในรัฐบาลที่ทำให้การดำเนินการตามลูกศร 3 ดอก ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

กระนั้นในท้ายที่สุดแล้วก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า อาเบะโนมิกส์ ของ ชินโซ อาเบะ ได้กลายเป็นคำศัพท์สำหรับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ที่เขย่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้มีการเติบโตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศ และทำให้อาเบะเป็นที่จดจำบนเวทีเศรษฐกิจโลกตราบนานเท่านาน แม้ ชินโซ อาเบะ จะถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 67 ปี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

Fact File

  • ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe)อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 57 ของประเทศญี่ปุ่น และหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 67 ปี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 จากเหตุการณ์ถูกลอบยิงขณะขึ้นปราศรัยในเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น

อ้างอิง


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน