แรงบันดาลใจกว่าจะเป็น BOB the Nice Guy คาแรกเตอร์ที่บุกคาเฟ่ทั่วกรุงมาแล้ว 99 แห่ง
Faces

แรงบันดาลใจกว่าจะเป็น BOB the Nice Guy คาแรกเตอร์ที่บุกคาเฟ่ทั่วกรุงมาแล้ว 99 แห่ง

Focus
  • BOB the Nice Guy คาแรกเตอร์อ้วนกลมสีขาวที่ประดับตกแต่งอยู่ตามคาเฟ่ 99 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เป็นผลงานออกแบบโดย แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล เพื่อให้ศิลปะเป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัวและเชื่อมผู้คนกับสถานที่
  • เทศกาล BOB Cafe Invader Festival 2022 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ Lido Connect เนื่องในวาระที่ BOB เดินทางสำรวจคาเฟ่ทั่วกรุงเทพฯ มาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี

หากคุณเป็นสายคาเฟ่ฮอปปิงอาจจะคุ้นเคยกับคาแรกเตอร์ BOB the Nice Guy ที่ประดับตกแต่งอยู่ตามคาเฟ่ 99 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เจ้ามวลก้อนสีขาวซึ่งมีรูปทรงเป็นลายเส้นสีดำยึกยือ ตาเล็กๆ 2 จุดและรอยยิ้มแบบกวนๆเกิดจากการออกแบบของศิลปินไทยรุ่นใหม่ แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล ผู้ซึ่งอยากทำให้ศิลปะเป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัวแต่ในขณะเดียวกันก็แฝงความหมายลึกซึ้ง

BOB the Nice Guy

“BOB คืองานอาร์ตชิ้นหนึ่งที่คนดูจะตีความอะไรก็ได้ แพรวไม่อยากเรียกว่าเป็นคาแรกเตอร์เพราะสิ่งที่สื่อออกมาไม่ใช่อารมณ์แต่เป็นเรื่องราวต่อสิ่งสิ่งหนึ่งและสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ไหนที่ BOB ไปแสดงว่าที่นั่นน่าสนใจเพราะ BOB เป็นการคอลลาบอเรชัน (Collaboration) กับคาเฟ่แต่ละแห่งเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและแพสชัน (Passion) ของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่เขาทุ่มสุดตัวเพื่อตั้งใจทำในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ตัวเองเชื่อ” แพรวกล่าวถึงการพา BOB ออกมาโลดแล่นตามคาเฟ่ต่างๆนับตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2564

BOB the Nice Guy

เนื่องในวาระที่ BOB the Nice Guy เดินทางสำรวจคาเฟ่ทั่วกรุงเทพฯมาเป็นเวลากว่า 1 ปี เทศกาล BOB Cafe Invader Festival 2022 จึงได้จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “coffee, art, full of passion” ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ Lido Connect สยามสแควร์ โดยเป็นการรวมพอปอัปคาเฟ่ 15 ร้านในกรุงเทพฯ ที่ BOB ได้ไปปรากฎตัวมาแล้วและอีก 15 แห่งในต่างจังหวัดซึ่งอยู่ในลิสต์ของโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ แต่ละร้านจะนำเสนอ 1 เมนูที่เป็นซิกเนเจอร์และสามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและการก่อกำเนิดร้าน นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ BOB the Nice Guy พร้อมสินค้าแบบลิมิเต็ดเอดิชันและ Coffee and Art Talk ซึ่งแขกรับเชิญในแวดวงกาแฟและศิลปะจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแชร์มุมมองต่างๆ

BOB the Nice Guy
แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล กับตุ๊กตา BOB

“แพรวอยากให้คนได้รู้จักร้านเล็กๆ เหล่านี้และความตั้งใจของพวกเขา บางคนเริ่มทำร้านตั้งแต่พื้นที่แถวนั้นยังไม่มีอะไรเลยจนกระทั่งกระแสคาเฟ่เริ่มเติบโต แพรวจึงชื่นชมพวกเขามากๆ ถ้าทุกคนตั้งใจทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อประเทศเราต้องมีความสร้างสรรค์ขึ้นมากๆแน่นอน” แพรวซึ่งเรียนจบด้านไฟน์อาร์ตจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้

BOB the Nice Guy
BOB the Nice Guy

จุดกำเนิดของ BOB เริ่มใน พ.ศ.2562 เมื่อครั้งที่แพรวกำลังออกแบบเว็บไซต์ของตัวเองและรู้สึกว่ารูปแบบของ UI (User Interface) ดูโล่งเกินไปจึงลากลายเส้นด้วยมือเติมเข้าไปจึงเป็นลายที่ไม่ได้เรียบเนี้ยบ จากนั้นเติมตาและเติมรอยยิ้มจนกลายเป็นเจ้าก้อนสีขาวที่หน้าตาดูป่วนๆจึงตั้งชื่อให้ดูย้อนแย้งกันนิดๆว่า BOB the Nice Guy เธอได้วาด BOB ในอีกหลายๆท่าทางและพัฒนาเป็นสติกเกอร์สำหรับแอปพลิเคชัน Line โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 7 เวอร์ชันและอีก 2 เวอร์ชันเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลี

บอลลูน BOB ในเทศกาล Bangkok Design Week 2021

BOB ปรากฏต่อสาธารณชนในรูปแบบงานศิลปะครั้งแรกในเทศกาล Bangkok Design Week 2021 โดยทำเป็นบอลลูนขนาดความสูง 4 เมตรและจัดแสดงบนชั้นดาดฟ้าของอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก

“แพรวอยากให้คนรู้จัก BOB มากขึ้น อยากให้เข้าใจว่าจริงๆศิลปะนี่สนุกนะ ศิลปะคือสิ่งที่ช่วยพัฒนาจิตใจและสร้างอิมแพ็กได้ เราก็เลยอยากพา BOB ไปปรากฏตัวตามแกลเลอรีต่างๆ แต่ก็จะจำกัดคนเฉพาะกลุ่มเกินไป จึงมาคิดว่าไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันเขาชอบไปไหนกันนะ คำตอบก็คือคาเฟ่ เราเลยพา BOB เข้าไปอยู่ในที่ที่คนชอบไปเพื่อให้รู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัวโดยเริ่มจากคาเฟ่ที่เรารู้จักและเห็นความตั้งใจของเจ้าร้านในการทำสิ่งที่เขาชอบ”

พลอยยังได้ โอม-อัครภณ ภานุวงศ์กุล มาเป็นโปรดิวเซอร์ในการช่วยนำพา BOB ไปปรากฏตัวตามที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทำเป็นรูปแบบสติกเกอร์ที่สีไม่จางง่าย ลอกออกได้และมีขนาดความสูงประมาณ 1.5 เมตร เพื่อใช้ประดับตกแต่งบนผนังร้าน เคาน์เตอร์บาร์ และกระจกหน้าร้านหรือบางร้านเราจะเจอ BOB ในรูปแบบตุ๊กตาตัวใหญ่

“เราจะคุยกับเจ้าของร้านก่อนเช่นว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร แพสชันในการทำงานคืออะไร บรรยากาศของสถานที่เป็นอย่างไร จากนั้นเราก็ออกแบบ BOB ให้เหมาะสมกับสถานที่และสร้างสตอรี่ให้คนเกิดคำถามว่าตัวนี้คือตัวอะไร ทำไมถึงอยู่ตรงนี้และทำท่าทางแบบนี้ เพราะบางครั้งคนมาคาเฟ่แล้วถ่ายรูปจนลืมสนใจความเป็นมาของสถานที่ BOB จึงอยากทำหน้าที่เชื่อมต่อผู้คนกับสถานที่มากขึ้นและให้เกิดบทสนทนา เช่น ร้าน Brooke มีรูปหนึ่งที่ BOB ถือดินสอเพราะเจ้าของจบทางด้านสถาปัตย์ และร้าน Koble เป็นรูป BOB กำลังรดน้ำต้นไม้เพราะในร้านเขาปลูกต้นไม้เยอะมาก ขณะนี้เรากำลังทำแผนที่เพื่อให้คนสามารถตามรอย BOB คาเฟ่ฮอบปิงด้วย”

“ไซซ์ใหญ่สุดของ BOB ที่เคยทำคือสูงถึง 5 เมตรสำหรับร้าน Wetter Coffeeโดยเป็นรูปทรงเหมือนตัว Tetris และเมื่อ BOB เริ่มบุกไปหลายแห่งมากขึ้นก็เริ่มมีเจ้าของร้านคาเฟ่หลายที่ส่งข้อความมาที่ IG: bob_theniceguy เพราะอยากให้ BOB ไปอยู่ที่นั่นบ้างจึงทำให้ BOB เติบโตและปรากฏในคาเฟ่ 99 แห่งทั่วกรุงเทพฯ โดยทางเจ้าของร้านสนับสนุนค่าวัสดุ เช่น สติกเกอร์ขนาดประมาณ 1.5-2 เมตร ก็ตกราคาประมาณ 7,000 บาทเพราะเราเลือกใช้สติกเกอร์คุณภาพดี คาเฟ่ในต่างจังหวัดมีติดต่อเข้ามาหลายแห่งทำให้เรามีโปรเจกต์ที่จะไปบุกคาเฟ่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศปลายปีนี้รวมไปถึงต่างประเทศด้วย”

โปรเจกต์ BOB ยังไม่หยุดแค่นี้เพราะปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 จะมีนิทรรศการ BOB the Nice Guy แบบเต็มรูปแบบที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคภาพเขียน ภาพพิมพ์ ดิจิทัลอาร์ต และบอลลูนที่ Red.cose Gallery ย่านเอกมัย นอกจากนี้แพรวยังได้ปรับปรุงอาคารพาณิชย์ของครอบครัวบริเวณแยกหลักสี่ให้เป็นโครงการชื่อ A Small Project โดยชั้นล่างจะเปิดเป็นแกลเลอรีจัดแสดงนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนของศิลปินต่างๆ และบริเวณชั้น 2 เป็นคาเฟ่ชื่อ A Small Cup Project ซึ่งโอมผู้เป็นโปรดิวเซอร์ของโปรเจกต์ BOB เป็นผู้คัดสรรเมล็ดกาแฟจากที่ต่างๆ ทั่วโลกและควบตำแหน่งบาริสตาด้วย โครงการมีกำหนดจะเปิดตัวราวต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565

โอม-อัครภณ ภานุวงศ์กุล

“จริงๆ แล้วผมอยากเปิดคาเฟ่ตั้งแต่แพรวเริ่มทำ BOB แรกๆ แต่เพิ่งจะมาเริ่มลงตัวในช่วงนี้ ที่ A Small Cup Project เราอยากให้เป็นที่ที่คนมาเจอกาแฟแก้วเปลี่ยนโลก คือกาแฟแบบที่ใช่สำหรับเขา ผมแพลนไว้ว่าแต่ละสัปดาห์จะมีกาแฟใหม่ๆ 6 ตัวผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเรื่อยๆ และมีเมนูใหม่ๆ เช่น Coffee Highball ที่ใช้กาแฟผสมกับมิกเซอร์ดีๆ” โอมกล่าว

ผลงานชื่อ Silk ในเทศกาล Awakening Bangkok

นอกจากโปรเจกต์ BOB แล้ว แพรวยังทำงานศิลปะแนวทดลองที่เธอเรียกว่า Progressive Art ซึ่งสายชื่นชอบศิลปะอาจจะเคยเห็นงานดิจิทัลอาร์ตและไลท์ติ้งของเธอที่ชื่อว่า Silk (ทอ) ที่เคยจัดแสดงบริเวณชั้น 2 ของ Patina Cafe ย่านตลาดน้อยในเทศกาล Awakening Bangkok เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 สำหรับผลงานชิ้นนี้แพรวได้สร้างฉากที่เป็นฉากกั้นห้อง 3 บานพับและขึงเส้นไหมในแนวตั้งและแนวนอนคล้ายกับการทอผ้าด้วยกี่ที่มีทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน จากนั้นฉายลวดลาย Digital Weaving หรือการถักทอผ่านโปรแกรมดิจิทัลลงบนฉากเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของงานช่างฝีมือไทยผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่

ส่วนผลงานล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 คือการฉาย Projection Mapping ในวิหารของวัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดร้างในย่านฝั่งธน ให้เป็นดินแดนที่เรียกว่า “ชมพูทวีป” ตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาซึ่งสอดคล้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏอยู่ภายในวิหารแต่ได้รับการตีความใหม่และเล่าใหม่ผ่านศิลปะร่วมสมัย

Fact File

  • เทศกาล BOB Cafe Invader Festival 2022 จัดระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่ Lido Connect สยามสแควร์
  • ติดตามความเคลื่อนไหวของ BOB ได้ที่ IG: bob_theniceguy 
  • ติดตามผลงานแนว Progressive Art ได้ที่ IG: asitnahc

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"