80 ปี บรูซ ลี ซูเปอร์สตาร์กังฟูเจ้าของปรัชญาการต่อสู้ จงเป็นดั่งน้ำ
Faces

80 ปี บรูซ ลี ซูเปอร์สตาร์กังฟูเจ้าของปรัชญาการต่อสู้ จงเป็นดั่งน้ำ

Focus
  • 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1940 ตรงกับวันเกิดของ บรูซ ลี (ชื่อเต็ม Bruce Jun Fan Lee) ซูเปอร์สตาร์กังฟูเชื้อสายเอเชียคนแรกของโลก
  • ผลงานที่ทำให้บรูซ ลี กลายเป็นไอคอนแห่งภาพยนตร์แนวกังฟูหมัดมวยสไตล์ฮ่องกง ได้แก่ The Big Boss หรือ Tang shan da xiong ( ค.ศ.1971) อำนวยการสร้างโดย เรย์มอนด์ โชว์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์โกลเด้น ฮาร์เวสต์

ทราบหรือไม่ว่าที่มาของวาทะ “จงเป็นดั่งน้ำ” (Be Water) ที่ถูกยกมาเป็นเหมือนคำขวัญ และยุทธวิธีเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของประชาชนในฮ่องกงในช่วงปี 2019 รวมทั้งม็อบเยาวชนในไทยนั้นมีที่มาจาก บรูซ ลี ซูเปอร์สตาร์กังฟูเชื้อสายเอเชียคนแรกของโลก สะท้อนหลักคิดเชิงปรัชญาของศิลปะการต่อสู้ จีท คุน โด ( Jeet Kune Do )  ที่เน้น “อิสระ” มากกว่า “รูปแบบตายตัว” 

“จงเป็นดั่งน้ำ” ยุทธวิธีเคลื่อนไหวในรูปแบบไม่ยึดแกนนำและไม่มีรูปแบบการแสดงออกใดตายตัว เป็นยุทธวิธีที่ลื่นไหลและใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเริ่มจากม็อบคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ต่อด้วยม็อบนักเรียนและเยาวชนไทย ซึ่งวลี จงเป็นดั่งน้ำ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ไร้รูปแบบ โดยประโยค “จงเป็นดั่งน้ำ” นี้ บรูซ ลี เคยพูดไว้ในสารคดี Bruce Lee : A Warrior’s Journey ออกอากาศปี พ.ศ. 2543 ตัดมาจากประโยคเต็มว่า

 “จงเป็นดั่งน้ำ เพื่อนเอ๋ย ปล่อยใจให้ว่าง ไร้รูปแบบ ไร้รูปทรง เสมือนน้ำ คราวนี้พอคุณเทน้ำลงในถ้วย มันก็จะกลายเป็นถ้วย คุณเทน้ำลงไปในขวดมันก็จะกลายเป็นขวด คุณเทน้ำใส่ในกาน้ำมันก็จะกลายเป็นกาน้ำ พอถึงตอนนี้แล้วน้ำนั้นสามารถไหลได้ แล้วก็สามารถสร้างแรงกระทบได้ด้วย จงเป็นดั่งน้ำ เพื่อนเอ๋ย”

กำเนิดบรูซ ลี

บรูซ ลี (ชื่อเต็ม Bruce Jun Fan Lee) เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1940 ที่โรงพยาบาลไชนีสฮอสพิทัล ย่านไชนาทาวน์ เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ครอบครัวของเขาย้ายจากสหรัฐฯ กลับมาปักหลักที่ฮ่องกง ตอนที่เขาอายุเพียง 3 เดือน แต่แล้วเส้นทางการแสดงก็ได้นำให้เขากลับมาสู่อเมริกาอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1959 และบรูซ ลี ก็ได้กลายเป็นนักแสดงเชื้อสายเอเชียที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในฮอลลีวูดและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตั้งแต่กลางยุค 60 เป็นต้นมา

งานแสดงที่ถือว่าแจ้งเกิดของ บรูซ ลี มาจากซีรีส์ทางทีวีอเมริกาดัดแปลงจากการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่เรื่อง The Green Hornet และ Batman ออกฉายช่วงปี ค.ศ.1966-1967 ส่วนผลงานที่ทำให้บรูซ ลี กลายเป็นไอคอนแห่งภาพยนตร์แนวกังฟูหมัดมวยสไตล์ฮ่องกงได้แก่ The Big Boss หรือ Tang shan da xiong (ค.ศ.1971) อำนวยการสร้างโดย เรย์มอนด์ โชว์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ โกลเด้น ฮาร์เวสต์ (Golden Harvest)

ภาพยนตร์เรื่อง The Big Boss ถ่ายทำในประเทศไทย (ข้อมูลจาก imdb.com) ด้วยทุนสร้างจำกัด แต่เมื่อหนังออกฉายกลับกลายเป็นหนังฮิตทำรายได้อันดับหนึ่งในฮ่องกง และทำให้ทางผู้สร้างตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ในแนวเดียวกันออกมาต่อเนื่องทันที ในเรื่อง Jing Wu Men (ค.ศ.1972) โดยทั้งสองเรื่องส่งให้บรูซ ลี เป็นซูเปอร์สตาร์กังฟู ยุค 70 และปูทางให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของบรูซ ลี ชื่อเรื่อง The Way of The Dragon (Meng long guo jiang) มีความพิเศษตรงที่บรูซ ลี ทั้งเขียนบทเองและนำแสดงเอง ออกฉายในปี ค.ศ.1972  

นอกจากจะเป็นนักแสดงที่เด่นในเรื่องศิลปะการต่อสู้ บรูซ ลี ยังสร้างเกียรติประวัติเป็นนักแสดงอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้เป็น ดารานำ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด (ร่วมอำนวยการสร้างกับฮ่องกง) ในเรื่อง Enter the Dragon แต่ก็น่าเสียดายที่ Enter the Dragon กลายภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของบรูซ ลี ก่อนที่เขาเสียชีวิต ซึ่งหลังถ่ายทำ Enter the Dragon เสร็จสิ้นไม่นาน บรูซ ลี ก็ล้มป่วยกะทันหันและเสียชีวิตด้วยอาการแพ้ยาแก้ปวด ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1973 ที่เกาลูน เกาะฮ่องกง ขณะที่เขาอายุเพียง 32 ปี (อ้างอิงจาก bruceleefoundation.org/about-bruce-lee/

หลังจากที่บรูซ ลี เสียชีวิต ก็ได้มีภาพยนตร์เรื่อง Game of Death ออกฉายในปี ค.ศ. 1978 เป็นการนำภาพวีดีโอเก่าของบรูซ ลี จากการถ่ายทำภาพยนตร์ในช่วงปี ค.ศ.1972-1973 มาเรียบเรียงประกอบกับส่วนที่ถ่ายทำใหม่ในปี ค.ศ. 1978 ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่ได้พิสูจน์ความดังค้างฟ้าของซูเปอร์สตาร์หน้าเอเชียคนนี้

ปรัชญาชีวิตและการต่อสู้ จงเป็นดั่งน้ำ

นอกจากผลงานการแสดงและเอกลักษณ์ของลีลาการต่อสู้บนจอภาพยนตร์ ที่ทำให้ชาวโลกรู้จักเขาในฐานะซูเปอร์สตาร์กังฟูระดับโลกคนแรกแล้ว บรูซ ลี ยังมีวาทะเด็ดที่เขาเล่าถึงหลักคิดและปรัชญาอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปะการต่อสู้ซึ่งบรูซ ลี ได้ก่อตั้งศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า จีท คุนโด (Jeet Kune Do) ขึ้นมา ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ได้อิทธิพลทั้งจากมวยหวิงชุน (Wing Chun) ที่บรูซ ลี เรียนมาจากปรมาจารย์ยิปมันในฮ่องกงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ตอนที่เขาอายุได้ 13 ปี ผนวกเข้ากับการเต้นรำละตินจังหวะชะชาช่า ซึ่งบรูซ ลี เคยเป็นแชมป์ในการประกวดเต้นรำ สุดท้ายจีท คุนโด ยังได้ผสานกับปรัชญาตามความเชื่อลัทธิเต๋าอีกด้วย 

สำหรับวาทะคลาสสิก จงเป็นดั่งน้ำ ตัดทอนมาจากบทพูดของตัวละครที่ลีสอนมวยให้กับพระเอกในซีรีส์ทางโทรทัศน์ของอเมริกันเรื่อง Long Street แพร่ภาพในอเมริกาปี ค.ศ. 1971 และเขาได้ทวนบทพูดนี้อีกครั้ง ในการสัมภาษณ์รายการ The Pierre Berton Show แพร่ภาพปีเดียวกัน และได้มีการย้ำประโยคคลาสสิกนี้อีกครั้งในสารคดี Bruce Lee : A Warrior’s Journey 

ทั้งนี้นอกจากวาทะ “จงเป็นดั่งน้ำ” แล้ว ในรายการ The Pierre Berton Show บรูซ ลี ยังได้กล่าวถึงความยากของศิลปะการต่อสู้ไว้ว่า

“ที่สุดของศิลปะการต่อสู้ สำหรับผมคือ การแสดงตัวตนของเราออกมา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำยากมาก”

ตำนานที่ยังมีตัวตน

แม้บรูซ ลี ได้จากโลกไปแต่ปรัชญาการต่อสู้ของเขายังถูกยกมาพูดถึงอยู่ตลอด อีกทั้งสมาคมหอการค้าแห่งฮอลลีวูดยังได้ประทับชื่อบรูซ ลี บนถนนติดดาว Hollywood Walk of Fame  ส่วนในปี ค.ศ. 1999 นิตยสาร ไทม์ ได้ยกย่องให้ บรูซ ลี เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ในหมวด “ฮีโรและไอคอน”

ค.ศ. 2001 นิตยสารด้านภาพยนตร์ในอังกฤษ Premier Magazine ยกย่องให้บรูซ ลี เป็นบุคคลล่วงลับที่มีอิทธิพลสูงสุดต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์รองจาก วอลท์ ดิสนีย์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรดิสนีย์ และ สแตนลีย์ คูบริก นักสร้างภาพยนตร์ Space Odyssey

ค.ศ. 2005  รูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงของบรูซ ลี ถูกติดตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านการแบ่งแยกเชื้อชาติในเมือง Mostar ประเทศบอสเนีย และในวันถัดมาของปีเดียวกันรูปปั้นในแอ็คชั่นกังฟูของบรูซ ลี ก็เปิดตัวที่ Avenue of Star เกาะฮ่องกง และกลายเป็นสัญลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องมาเยี่ยมเยือน

ค.ศ. 2012 สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ สดุดี บรูซ ลี อย่างเป็นทางการ พร้อมเชิดชูคุณูปการของบรูซ ลีในฐานะครูผู้สอน และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิทธิพลเมือง และถือเป็นปูชนียบุคคลทางวัฒนธรรมของชาวอเมริกัน

ค.ศ. 2013 พิพิธภัณฑ์มรดกฮ่องกง (The Hong Kong Heritage Museum) จัดงานแสดงนิทรรศการชีวิตและงานของบรูซ ลี เป็นนิทรรศการชั่วคราวที่ยาวนานถึง 5 ปี ถือเป็นงานใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับบุคคลในแวดวงศิลปะการต่อสู้

ค.ศ. 2015 พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย บรรจุชื่อของบรูซ ลี ไว้ในหอเกียรติยศ พิพิธภัณฑ์แคลิฟอร์เนีย (California Museum’s Hall of Fame) เคียงคู่กับศิลปินที่ทรงอิทธิพลในแคลิฟอร์เนียคนอื่นๆ อย่าง Charles M. Schulz นักสร้างสรรค์การ์ตูนผู้ให้กำเนิด ชาร์ลี บราวน์ สนูปปี้ รวมทั้ง เดวิด ฮ็อคนีย์ ศิลปินพอร์ตเทรตร่วมสมัย

อ้างอิง

ภาพ : brucelee.com