Curator 101 : พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ผู้หลงใหลในศิลปะร่วมสมัย
Faces

Curator 101 : พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ผู้หลงใหลในศิลปะร่วมสมัย

Focus
  • แม้เมืองไทยจะรู้จักอาชีพ ภัณฑารักษ์ หรือ คิวเรเตอร์ (Curator) มากขึ้น แต่สำหรับเส้นทางบนอาชีพภัณฑารักษ์ในประเทศไทยก็ยังถูกทำให้ดูลึกลับ เป็นที่รู้กันเฉพาะกลุ่มคน
  • พอใจ อัครธนกุล คือ ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านบริหารศิลปะและภัณฑารักษ์โดยตรง ปัจจุบันทำงานตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ตเบียนนาเล่ (BAB 2020)

แม้เมืองไทยจะรู้จักอาชีพ ภัณฑารักษ์ หรือ คิวเรเตอร์ (Curator) มากขึ้นทั้งภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์และภัณฑารักษ์ในอาร์ตแกลเลอรี แต่เอาเข้าจริงสำหรับเส้นทางบนอาชีพภัณฑารักษ์ในประเทศไทยก็ยังถูกทำให้ดูลึกลับ เป็นที่รู้กันเฉพาะกลุ่มคน ต้องเป็นคนที่สนใจศิลปะจริงๆ จึงจะรู้ว่าเส้นทางในอาชีพนี้ควรจะเริ่มและเดินอย่างไร เราแทบจะไม่รู้เลยว่าในบรรดามหาวิทยาลัยในประเทศไทยต้องเรียนสาขาไหนจึงจะจบไปเป็นภัณฑารักษ์ โดยเฉพาะภัณฑารักษ์สายศิลปะร่วมสมัยนั้นเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอาร์ตแกลเลอรีที่มีเพียงน้อยนิดในเมืองไทยจะเพียงพอต่อการรองรับอาชีพนี้

Sarakadee Lite ชวนพูดคุยกับ พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านบริหารศิลปะและภัณฑารักษ์โดยตรงพร้อมย้อนถึงช่วงเวลาของการเดินทางในสายอาชีพ ภัณฑารักษ์ ที่เข้าไปคลุกวงในอยู่กับงานศิลปะร่วมสมัย เส้นทางนี้มีอะไรให้ค้นหาและภัณฑารักษ์ต้องทำอะไรบ้าง

พอใจ อัครธนกุล

รักศิลปะ แต่ไม่ได้รักที่จะเป็นศิลปิน

“เราชอบประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นคนชอบดูงานศิลปะ มากกว่าจะเป็นศิลปินสร้างงานเอง”

หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยการเรียนรู้โลกศิลปะด้วยการทดลองทำงานหลากหลายประสบการณ์ที่เกี่ยวกับศิลปะทำให้พอใจรู้ตัวว่า เธอรักที่จะเสพมากกว่าเป็นคนสร้างงาน เธอจึงสนใจบทบาทหน้าที่ ‘ภัณฑารักษ์งานศิลปะ’ และเริ่มต้นทำงานช่วงสั้นๆในตำแหน่งผู้ประสานหอศิลป์และผู้ช่วยภัณฑารักษ์งานนิทรรศการแห่งหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok University Gallery หรือ BUG)ที่นั่นเธอได้ลองทำทุกอย่าง ทำให้เริ่มเข้าใจงาน ภัณฑารักษ์ และอยากศึกษาต่อให้ลึกซึ้งมากขึ้น

พอใจตัดสินใจไปศึกษาต่อ‘ภัณฑารักษ์เฉพาะทาง’ในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาหรือปริญญาโทเฉพาะด้านภัณฑารักษ์งานศิลปะและพิพิธภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี้ (MA, Visual Arts Administration, Non-profit andCuratorial Concentration, New York University) ซึ่งแบ่งเป็น 2 สายหลักๆ คือ หนึ่ง สายจัดการศิลปะที่เน้นแสวงหาผลกำไร เน้นความรู้ทักษะด้านบริหารจัดการแกลเลอรี ร้านประมูลงานศิลปะ และการหาทุนต่างๆและ สอง สายไม่เน้นแสวงหาผลกำไร ซึ่งตรงกับความสนใจของพอใจมากในแง่เนื้อหา

“เราสนใจโปรแกรมนี้เพราะหลักสูตรมันกว้าง เลือกเรียนหลักสูตรการจัดการในกลุ่มงานที่ไม่แสวงผลกำไร และเน้นเจาะจงด้านภัณฑารักษ์ ซึ่งก็จะได้ลงเรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเยอะๆ แต่หลักสูตรที่เรียนมันคือการจัดการศิลปะ การตลาด กฎหมาย บัญชีและการหาทุนอยู่ด้วย ซึ่งมันจำเป็นต้องมี แม้เราจะทำงานสายศิลปะที่ไม่เน้นแสวงผลกำไรก็ตาม”

พอใจ อัครธนกุล

ภัณฑารักษ์ ศาสตร์ที่ไม่มีขอบเขต

หลังจบเฉพาะทาง ภัณฑารักษ์ มาแล้วพอใจใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อที่นิวยอร์ก หนึ่งในเมืองใหญ่ของโลกศิลปะร่วมสมัย การได้ฝึกงานเห็นระบบงานในแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยอย่างพิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์ กุกเกนไฮม์ และ Sculpture Center และการได้ร่วมงานกับกลุ่มองค์กรสนับสนุนภัณฑารักษ์อิสระอย่าง ICI (Independent Curators International) ทำงานค้นคว้าข้อมูลและประสานงานข้อมูลจัดทำหนังสือที่เรียกว่า sourcebook สำหรับการแสดงศิลปะที่นิวยอร์กของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ศิลปินร่วมสมัยและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์ควบคู่ไปกับการทำงานในแกลเลอรีศิลปะขนาดเล็กย่านเชลซี เวสต์วิลเลจ ทำให้เธอได้สัมผัสแวดวงศิลปะร่วมสมัยที่คึกคักในนิวยอร์กแต่มีผลต่อการเดินทางของเธอ

“ภัณฑารักษ์เป็นศาสตร์ที่บอกได้ยากว่าขอบเขตงานมันอยู่ตรงไหน”

พอใจ อัครธนกุล

พอใจอธิบายถึงงานภัณฑารักษ์ยุคปัจจุบันซึ่งต้องใช้ทักษะที่มากกว่าศิลปะ โดยเฉพาะบทบาทของการเป็นภัณฑารักษ์อิสระ ในเมืองไทยที่ไม่ได้ขึ้นกับแกลเลอรีหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด ภัณฑารักษ์อิสระในเมืองไทยต้องทำงานแบบ ‘บริการครบจบที่คนคนเดียว’ ให้ได้หมายถึง นอกจากจะต้องพัฒนางานนิทรรศการควบคู่ไปกับศิลปินแล้วก็ยังต้องเป็นทั้งคนหาทุน ทำเนื้อหา เป็นนักเจรจา บวกกับการดูแลงานออกแบบ งานประชาสัมพันธ์ และงานผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ควบคู่ไปด้วย

“สิ่งที่สำคัญกับคิวเรเตอร์อย่างหนึ่งคือ การทำงานกับศิลปิน และต้องเป็นนักเจรจาในหลายด้าน เจรจากับผู้ร่วมงานในหลายแขนง และต้องมีความเข้าใจในศิลปินและงานศิลปะซึ่งอันนี้ก็ต้องลงลึกไปถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ และศาสตร์อื่นๆ ความเกี่ยวข้องของศิลปะกับบริบทรอบด้านถึงแม้ว่ามันจะมีดีเทลเล็กๆและภาษาของมันโดยเฉพาะ ที่บางทีทำให้ความรู้ด้านการจัดการเฉยๆอาจจะไม่สามารถ apply (ประยุกต์) ได้อย่างสิ้นเชิง มันก็ยังมีเรื่องของศาสตร์อื่นๆด้วย บางทีก็มีเรื่องของการหาทุนเป็นอีกทักษะที่ต้องเพิ่มมา ก็แล้วแต่งาน

“ตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะแม้เราจะทำงานในสายศิลปะที่ไม่เน้นการแสวงหาผลกำไร เราก็ยังต้องพึ่งตลาด โดยเฉพาะวงการศิลปะไทยเราไม่ได้อยู่ในระบบนิเวศด้านศิลปะที่ครบถ้วนนัก เราอยากเห็นวันที่ระบบนิเวศมันครบเต็มกว่านี้ เช่น เดี๋ยวนี้เราจะเห็นคอลเล็กเตอร์คนสะสมงานศิลปะรุ่นใหม่ๆ ที่มาสนใจงานศิลปะมากขึ้น ความสำคัญของการตลาดจะช่วยดึงคนเหล่านี้ให้อยู่ในวงการศิลปะ สนับสนุนศิลปะต่อไป”

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ตเบียนนาเล่ (BAB 2020) ซึ่งพอใจทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์

นอกจากทักษะและความเข้าใจเหล่านี้แล้ว ภัณฑารักษ์ 101 ฉบับพอใจยังต้องเรียนรู้ระบบวิธีของงานศิลปะด้วยโรงเรียนของประสบการณ์ อย่างเรื่อง ระบบการขนส่งขนย้ายงานศิลปะ การจัดการคอลเล็กชัน ระบบแกลเลอรีต่างๆ ที่ต่างกันออกไป ซึ่งพอใจย้ำว่า ‘เป็นเรื่องเฉพาะทางที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง’โดยเฉพาะในงานศิลปะร่วมสมัยที่เคลื่อนไหวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย วิธีการสร้างงานศิลปะร่วมสมัยจึงขยายรูปแบบขอบเขตการสร้างงานไปมากขึ้น และภารกิจของภัณฑารักษ์ก็เช่นกัน

ภัณฑารักษ์ยุคใหม่ อาจไม่จำกัดเฉพาะคนที่เรียนจบด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเท่านั้นจริงอยู่ที่มันจำเป็นต้องมีความรู้ด้านศิลปะอยู่แล้ว แต่พอใจเห็นว่าคนที่เขาจบทางด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา หรือด้านรัฐศาสตร์ เขาก็จะมีมุมมอง(ต่อการจัดงานศิลปะ)ที่กว้างขึ้น ได้มุมมองใหม่ๆมากขึ้นค่ะ มีรุ่นใหม่หลายคนที่เรียนมาทางสายปรัชญาหรือทฤษฎีการเมืองศิลปะร่วมสมัยมีเนื้อหาที่ลงลึกและหลากหลาย

ศิลปินรุ่นใหม่บางคนเขาเหมือนเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปินก็มีบางชิ้นงานเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาสังคม ซึ่งคนที่ไม่ได้จบศิลปะโดยตรง ก็อาจจะมีความเข้าใจและมุมมองต่องานเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องมีใบปริญญาภัณฑารักษ์ก็ได้ และคนดูก็อาจจะต้องการแปลความที่มากกว่าแค่ศิลปะต้องการการเชื่อมโยงศิลปะกับชีวิตหลายๆมุมโดยเฉพาะในยุคนี้”

ภัณฑารักษ์
เทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ตเบียนนาเล่ (BAB 2020) ซึ่งพอใจทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์

ภัณฑารักษ์ = ผู้พัฒนางานร่วมกับศิลปิน

ปัจจุบันพอใจทำงานตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ตเบียนนาเล่ (BAB 2020) ซึ่งเธอกล่าวว่าเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนประสบการณ์ด้านภัณฑารักษ์ ‘อย่างมหาศาล’โดยเฉพาะโอกาสในการเรียนรู้จากภัณฑารักษ์รุ่นใหญ่อย่าง ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ และได้เห็นวิธีการทำงานของศิลปินหลายๆ คน

อีกหนึ่งการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้านศิลปะของพอใจคือ การรวมตัวกับเพื่อนๆ สายศิลปะตั้งกลุ่ม เจริญคอนเทมโพรารี (Charoen Contemporaries) กลุ่มภัณฑารักษ์อิสระรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 จัดกิจกรรมด้านศิลปะและเคยมีผลงานนิทรรศการศิลปะ Post Scripts ที่อาคารไปรษณียาคาร เชิงสะพานพุทธ และนิทรรศการ Louie!: Attitude Against Failureที่ Cartel Artspace

ภัณฑารักษ์
นิทรรศการศิลปะ Post Scripts ที่อาคารไปรษณียาคาร ผลงานโดย ณัฐพล สวัสดี
(ภาพ: มิติ เรืองกฤตยา)

“เจริญคอนเทมโพรารี คือกลุ่มนักปฏิบัติการศิลปะ (art worker) ภัณฑารักษ์ (curator) และศิลปิน (artist) การตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา มีหลักในการทำงานของกลุ่มเป็นแบบแนวราบ ไม่มีลำดับขั้นตำแหน่งในองค์กรแบบแนวตั้ง คือเราพยายามจะให้การทำงาน(ของกลุ่มเจริญคอนเทมโพรารี)เป็นแบบเพื่อนๆมารวมตัวกันทำโปรเจกต์นิทรรศการแรกที่ทำคือตรงพื้นที่ของไปรษณียาคารที่เชิงสะพานพุทธฯเพื่อนๆ มาตะลุมบอนทำงาน

“ เช่น ช่วยหาทุน ในกลุ่มมีศิลปินก็เอางานมาแสดง โปรเจกต์ก็ขยายใหญ่ขึ้น บางคนเขาเป็นนักการศึกษา (educator) เขาก็ไปติดต่อกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้มาร่วมงาน บางคนเป็นสายหนัง(ภาพยนตร์)เขาก็จัดฉายหนัง เป็นงาน curated ภาพยนตร์ในพื้นที่ เป็นการค่อยๆต่อยอดกันไป ในทางปฏิบัติอาจจะวุ่นวายนิดหนึ่งเพราะเป็นงานแนวราบ ทุกคนเท่ากัน แต่มันมีฟรีสปิริต(เปิดกว้าง) เกิดการสร้างสรรค์งานแบบทุกคนมีส่วนร่วม อย่างมีคนชวนกลุ่มบางกอกสวิงแดนซ์ (Bangkok Swing Dance) มาจัดงานหน้าตึก มีคนมาแสดงงานฉายโปรเจกเตอร์บนตึกตอนกลางคืน อะไรแบบนั้น มันมีความบริสุทธิ์ของการสร้างสรรค์อยู่ตรงนั้น”

ภัณฑารักษ์
นิทรรศการศิลปะ Post Scripts ที่อาคารไปรษณียาคาร
ผลงาน Golden Hour, 2018 โดย ศรภัทร ภัทราคร

นอกจากความมุ่งมั่นในการเดินทางสาย ภัณฑารักษ์ มาร่วม 8 ปี อีกสิ่งที่น่าสนใจคือกระบวนการทำงานภัณฑารักษ์ของพอใจที่ไม่ใช่เพียงหยิบจับชิ้นงานของศิลปินมาแสดง แต่กระบวนการทำงานของพอใจคือการพัฒนางานศิลปะชิ้นนั้นๆ ไปพร้อมกับศิลปิน

“พอใจสนใจงานแบบนี้มากคือ ค่อยๆ ดีเวลลอปงาน ค่อยๆ รีเสิร์ช และคิดงานไปพร้อมกันกับศิลปิน แล้วมีงานสุดท้ายออกมาเป็นตัวงานที่เราได้ร่วมพัฒนากับเขาจริงๆ พอใจอาจจะยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มาก เราก็อยากทำงานแบบค่อยๆพัฒนางานกับศิลปินไป ซึ่งนี่คือจุดที่เราชอบมากในอาชีพภัณฑารักษ์”


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม