วันเกิดของมาร์กซ์ และ วันตายของจิตร ประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่เคยคลี่คลาย
Faces

วันเกิดของมาร์กซ์ และ วันตายของจิตร ประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่เคยคลี่คลาย

Focus
  • วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2361 เป็นวันเกิดของ คาร์ล มาร์กซ์ และวันเดียวกัน เดือนเดียวกันนี้ในปี พ.ศ.2509 เป็นวันมรณกรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์
  • คาร์ล มาร์กซ์ เป็นนักเขียนนักปรัชญาที่วิพากษ์การขูดรีดแรงงานของกลุ่มทุนพร้อมทั้งอธิบายถึงการมองโครงสร้างประวัติศาสตร์ผ่านระบบเศรษฐกิจ
  • จิตร ภูมิศักดิ์ นักเขียนผู้มีผลงานวิพากษ์ระบบศักดินา กล้าตั้งคำถามกับชนชั้นสูงพร้อมทั้งยังเป็นนักต่อสู้ที่ยืนหยัดในการอยู่ฝั่งตรงข้ามกับความเหลื่อมล้ำและอำนาจเผด็จการ

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2361 เป็นวันเกิดของ คาร์ล มาร์กซ์ และวันเดียวกัน เดือนเดียวกันนี้ในปี พ.ศ.2509 เป็นวันมรณกรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์

ทำไมเราถึงควรย้อนอ่านเรื่องราวของ จิตร ภูมิศักดิ์ และ คาร์ล มาร์กซ์ เพียงเพราะวันนี้ครบรอบวันตายของหนึ่งคนและเป็นวันเกิดของอีกคนหรือ ตอบอย่างสั้นคือ เรื่องราวความเหลื่อมล้ำที่ทั้งสองเคยกล่าวไว้ไม่ได้จบอยู่เพียงแค่ในหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันสังคมของชนชั้น ความเหลื่อมล้ำยังไม่บรรเทาความรุนแรงลงแม้แต่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ภาพความเหลื่อมล้ำยิ่งชัดเจน ระหว่างคนรวยที่สามารถหยุดอยู่บ้านได้สบายๆ ในช่วงสองเดือน และคนจนที่แทบไม่เหลือเงินจะกินหากเขาต้องหยุดงานอยู่บ้านนานสองเดือน ภาพระหว่างบางคนที่ยอมเสี่ยงติดโรคยืนต่อแถวเป็นชั่วโมงเพื่อรอข้าวเพียงกล่องเดียว ในขณะที่บางคนมีกำลังเงินในการสั่งอาหารส่งตรงถึงที่อยู่อาศัยในห้องแอร์เย็นเฉียบ

รวยกระจุกจนกระจาย ปัญหาใหญ่ที่ไม่เคยหายไปจากประวัติศาสตร์

ความเหลื่อมล้ำคือปัญหาใหญ่ของศตวรรษที่ 21 “รวยกระจุกจนกระจาย” เป็นคำสะท้อนใจที่ถูกพูดกันอย่างแพร่หลาย ทศวรรษยิ่งในปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยชัดเจนขึ้น โควิด-19 ส่งผลกระทบครั้งใหญ่กับชนชั้นล่างโดยเฉพาะกลุ่มหาเช้ากินค่ำที่การหยุดอยู่บ้านเท่ากับการขาดแคลนรายได้ต่อวันจนอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังทับด้วยปัญหาการฆ่าตัวตายที่ทะยานขึ้นหลังการประกาศปิดเมือง ซึ่งจากสถิติที่ “โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” (ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว.) จัดทำโดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน พ.ศ. 2563 พบว่ามีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นทั้งหมด 38 กรณี หลายกรณีปรากฏเหตุผลว่าเกิดจากการล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพทางนโยบายเงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาลไทย

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เคยมีการพูดถึงอย่างจริงจังหลายเวที เช่น ในงานประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พ.ศ.2558 องค์กรรณรงค์ต่อต้านความยากจน หรือ OXFAM (Oxfam International) ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความเหลื่อมล้ำครั้งยิ่งใหญ่ โลกกำลังก้าวเท้าเข้าสู่ภาวะช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ห่างไกลระหว่างผู้มีอันจะกินกับคนยากจน โดยคนยากจนในระดับอดอยากจะทะยานสูงขึ้นถึงสัดส่วน 1:9 ของประชากรโดยประชาชนมากกว่า 1 พันล้านคนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าวันละ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ (39.40 บาท) และOXFAMยังชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันความเหลื่อมล้ำขยายจนเหล่ามหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งเพียง 1% ถือครองทรัพยากรเกินครึ่งโลก

หากหันกลับมามองไทย The Credit Suisse Global Wealth Report 2016 ระบุว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก มีคนเพียง 1% เท่านั้นที่ถือครองทรัพย์สินรวม 58% ของประเทศ และในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำนี้ยังคงขยายอย่างต่อเนื่องโดยปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าคนไทยจำนวนมากราว 77 ล้านบัญชี หรือ 88% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด มีเงินฝากในบัญชีต่ำกว่า 50,000 บาท ขณะเดียวกันที่บัญชียอดเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท มีเพียง 9 แสนกว่าบัญชีหรือ 1%ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมดของประเทศ นั่นยิ่งตอกย้ำว่าในขณะนี้ไทยกำลังอยู่ในปัญหาความเหลื่อมล้ำขั้นรุนแรงไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

จิตร ภูมิศักดิ์

ทำความเข้าใจสังคมเหลื่อมล้ำจากประวัติศาสตร์ศักดินา
หากพูดถึงความเหลื่อมล้ำในไทย แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ จิตร ภูมิศักดิ์ กลับขึ้นมาในความคิดในฐานะที่จิตรเป็นนักเขียนผู้กล้าท้าอำนาจรัฐเผด็จการกล้าที่จะตั้งคำถามกับอำนาจของชนชั้นสูง กล้าที่จะตีแผ่ความเหลื่อมล้ำที่กดขี่ประชาชนมาตลอด

ด้วยความกล้าหาญในการวิพากษ์นี้เองทำให้งานเขียนของจิตรเคยเป็น “หนังสือต้องห้าม” จนรัฐในสมัยนั้นสั่งเก็บแต่เมื่อเวลาผ่านไปหนังสือเล่มเดียวกันนั้นกลับมาเป็น 1ใน 100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่านและควรกลับมาอ่านอย่างยิ่งสำหรับวันเวลานี้ วันที่ไทยกำลังมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นแผ่กว้าง วันที่สถิติฆ่าตัวตายจากปัญหาความยากจนทบทวีขึ้นทุกวัน

โฉมหน้าศักดินาไทย หนังสือเล่มสำคัญอีกเล่มของจิตร ภูมิศักดิ์ที่จะพาคนไทยเข้าใจระบบชนชั้นผ่านประวัติศาสตร์ที่สร้างความไม่เท่าเทียมขึ้นมา ประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมืออธิบายว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาจนแต่ถูกทำให้จนผ่านกลไกต่างๆของผู้มีอำนาจทางสังคมจิตรให้ความสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างที่เขากล่าวไว้ในเล่มโฉมหน้าศักดินาไทยว่า

“การศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นหัวใจแห่งการศึกษาความเป็นมาของสังคม เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขสู่การปฏิบัติอันถูกต้อง ศักดินาตระหนักในความจริงข้อนี้ดี จึงได้เข้าถือบังเหียนการศึกษาประวัติศาสตร์ไว้ในกำมือ เพื่อให้วิชานี้เป็นประโยชน์แก่ชนชั้นตน”

“ศักดินา” จิตรได้ให้ความหมายไว้จากรูปคำว่า อำนาจในการครอบครองที่นา หรือ อำนาจในการครอบครองปัจจัยสำคัญในการทำไร่ทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนยุคนั้น และความหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่ในเล่มโฉมหน้าศักดินาไทยแปลคำว่า ที่ดิน ต่อโดยมีความหมายถึง ปัจจัยแห่งการผลิตซึ่งเป็นสังคมก่อนทุนนิยมที่มาพร้อมกับวิทยาการเครื่องจักร ศักดินาเป็นต้นแบบของการเจริญเติบโตทางชนชั้นของเจ้าของที่ เจ้าของทรัพยากร

จิตรได้เทียบให้เห็นภาพต่อมาถึงความเชื่อมโยงว่าหากเทียบกับระบบทุนนิยมผู้มีที่ดินมากก็เทียบได้กับนายทุนที่มีทรัพยากรต่างๆมาก และเสวยสุขกับความร่ำรวยบนแรงงานของผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินและเนื่องจากระบบศักดินาที่วิวัฒนาการต่อมาจากระบบทาส จิตรจึงเทียบเคียงระหว่างชาวนาที่ต้องเช่านาและปันผลให้กับเหล่าเจ้านายกับคนงานที่ขายแรงงานส่วนหนึ่งจึงได้รับค่าแรงประทังชีวิตอย่างหาเช้ากินค่ำวันต่อวันอย่างที่ทำงานรับใช้กลไกนายทุน

จิตรได้ชี้ว่าความมั่งคั่งที่มาพร้อมกับอำนาจในการกดขี่เกิดจากการที่ระบบได้ให้อำนาจสำหรับผู้ที่มีเครื่องมือและปัจจัยการผลิตของนายทุนซึ่งเทียบได้กับ การค้าผูกขาดของพวกเจ้าขุนมูลนายในระบบศักดินา โฉมหน้าศักดินาไทยนี้เป็นคู่มือสำคัญที่จิตรเขียนให้เห็นความสัมพันธ์ของชนชั้นทางประวัติศาสตร์โดยการเอาศักดินาในอดีตมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันว่าช่องว่างนี้ถ่างออกด้วยองค์ประกอบและเครื่องมือของชนชั้นอภิสิทธิ์รวมถึงเรื่องเหล่านี้ผ่านการพัฒนาทางประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง

คาร์ล มาร์กซ์

แถลงการณ์ของความเท่าเทียมฉบับคาร์ล มาร์กซ์
วิธีการคิดและมองเรื่องโครงสร้างกับการกดขี่ประชาชนของจิตรได้พ้องกับความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ อย่างสอดคล้องกัน มาร์กซ์เป็นหนึ่งในนักคิดนักปรัชญาคนสำคัญที่สร้างสกุลความคิด Marxism อันเป็นหลักการพื้นฐานที่นำมาสู่การพัฒนามุมมองมิติทางสังคม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ อย่างแพร่หลาย โดยแนวคิดหนึ่งที่เป็นสมบัติของมาร์กซ์นั้นคือ วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) เป็นทฤษฎีแนวคิดที่ว่าด้วยการมองว่า วัตถุหรือเศรษฐกิจ เป็นตัวกำหนดของสิ่งที่เรียกว่า โครงสร้างส่วนบน อันเป็นกลไกของชนชั้นปกครองในแต่ละด้านเช่น การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม ไปถึงการสร้างจิตสำนึกของคน และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ได้ให้ความสำคัญของการมองสังคมมนุษย์ผ่านประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งทางชนชั้น ระหว่างชนชั้นผู้มีอำนาจกับผู้ไร้อำนาจ ในการครอบครองปัจจัยการผลิต

มาร์กซ์ได้เคยวิพากษ์ทุนนิยมไว้ถึงความเลวร้ายว่า ระบบทุนนิยมต้องพึ่งพาการทำงานของแรงงานจำนวนมากแต่ในกลไกก็พบว่ามีปัญหาในการกดขี่และขูดรีดแรงงานอย่างมากด้วยการที่นายทุนสะสมและขยายความมั่งคั่งไว้ในมือตนเอง ในขณะที่นายทุนกำลังได้รับ กำไร จากมูลค่าส่วนเกินที่หักลบทุนและการเอาเปรียบแรงงาน ระบบทุนนิยมจึงทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องทำงานหนักซ้ำซากได้ผลตอบแทนต่ำทำงานไว้เพียงเพื่อเลี้ยงปากท้องเพื่อมาทำงานต่อ ระบบนี้จึงเป็นต้นตอของความไม่มั่นคงและเป็นที่มาของความทุกข์ยากที่เพิ่มมากขึ้นมาร์กซ์เห็นว่าระบบนี้กำลังสร้างความขัดแย้งทางชนชั้นสังคมมนุษย์ต้องการการเปลี่ยนแปลงปลดแอกประชาชนผู้ขายแรงงานให้เป็นคนที่เข้าถึงทรัพยากรได้เท่าเทียมมากขึ้น

จากแนวคิดที่ว่านี้จึงได้เกิดงานเขียนชิ้นสำคัญ “Communist Manifesto”ในปี ค.ศ.1847 เขียนโดยมาร์กซ์ในวัย 30 ปี ร่วมกับ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (Friedrich Engels)นักสังคมนิยมเพื่อนสนิทของเขา ขณะที่พวกเขาได้เข้าร่วมกับสันนิบาตคอมมิวนิสต์ หนังสือเล่มบางขนาดเล็กนี้ได้บรรจุภาษาทรงพลัง ทั้งวิเคราะห์ปัญหาของทุนนิยมพร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขเพื่อสนับสนุนให้คนเท่าเทียมกันอันเป็นอุดมคติของคอมมิวนิสต์

ชาวคอมมิวนิสต์รังเกียจการปิดบังทัศนะและเป้าหมายของพวกเขา ชาวคอมมิวนิสต์ประกาศอย่างเปิดเผยว่าเป้าหมายของพวกเขาคือ การใช้กำลังล้มเงื่อนไขทางสังคมทุกอย่างที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ปล่อยให้ชนชั้นผู้ปกครองหวาดกลัวตัวสั่น ต่อการปฏิวัติของชาวคอมมิวนิสต์ ชนชั้นคนงานผู้ไร้ทุน ไม่มีอะไรจะสูญเสียนอกจากโซ่ตรวนที่ล่ามพวกเขาอยู่ แต่พวกเขามีโลกทั้งโลกที่จะต้องเอาชนะ คนงานจากทุกแผ่นดินจงสามัคคีกันขึ้นมาต่อสู้!”

คาร์ล มาร์กซ์ ได้กลายเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดสำหรับผู้ที่มีอุดมคติอยากเห็นสังคมที่เท่าเทียม และ จิตรก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้นจากการที่เขาได้แปลหนังสือ Karl Marx Short Biography งานชีวิตประวัติของมาร์กซ์เป็นภาษาไทย (พ.ศ.2518) ทำให้คนไทยในสมัยนั้นรู้จักมาร์กซ์มากขึ้น

หากมองว่า จิตร และ มาร์กซ์ เชื่อมโยงกันอย่างไรได้บ้าง หนึ่งในนั้นคือการที่ทั้งคู่อยากมองเห็นโลกอุดมคติที่คนเท่าเทียมกัน ไม่นับรวมวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2361 เป็นวันเกิดของคาร์ล มาร์กซ์ และวันเดียวกัน เดือนเดียวกันในประเทศไทยห่างกันออกไป 148 ปี ชายชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ในวัย 36 ปี ได้สิ้นชีวิตจากกระสุนสังหารของกำนันแหลม ตรงกับสมัยของจอมเผด็จการ “สฤษดิ์/ถนอม/ประภาส”

ผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ งานและความคิดของจิตรยังคงข้ามเวลาและสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จากหนังสือต้องห้าม ก็กลายเป็นหนังสือที่ถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง จนถึงปัจจุบันเรื่องความเหลื่อมล้ำที่จิตรและมาร์กซ์เคยกล่าวถึงก็ยังคงดำรงอยู่และทำให้วันที่ 5 พฤษภาคม อันเป็นวันเกิดของมาร์กซ์ และวันตายของจิตรและ ยังคงถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือจนกว่าความเหลื่อมล้ำนี้จะหมดไป

อ้างอิง


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน