ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 9 มรดกแห่งพระอัจฉริยภาพ ในความทรงจำของปวงชน
Faces

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 9 มรดกแห่งพระอัจฉริยภาพ ในความทรงจำของปวงชน

Focus
  • 13 ตุลาคม 2559 ตรงกับวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรงกับพระชนมพรรษาปีที่ 89 เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ 70 พรรษา
  • 9 มรดกที่พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทยเหล่านี้ มาจากพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ อาทิ โครงการฝนหลวง แก้มลิง โครงการหลวง ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นต้น

การเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และเป็น ความโศกเศร้าแห่งศตวรรษของปวงชนชาวไทย  Sarakadee Lite จึงขอน้อมนำ 9 มรดกแห่งพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช … ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะประทับอยู่ในใจของเหล่าพสกนิกร

1. ฝนหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริเรื่องฝนหลวงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2498 ครั้งนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทางภาคอีสาน ทรงแหงนดูท้องฟ้าพบเมฆจำนวนมาก แต่พัดผ่านไปไม่ตกลงมาเป็นฝน จึงมีพระราชดำริเรื่องวิธีแก้ไขความแห้งแล้งในท้องถิ่นทุรกันดารว่า จะต้องหาวิธีทำให้เมฆตกลงมาเป็นฝน โดยในระยะเริ่มต้นฝนหลวงรู้จักในชื่อว่า ฝนเทียม นับเป็นวิชาการใหม่ซึ่งแม้ในต่างประเทศก็ยังมีข้อมูลน้อย 

หลังจากการทดลองทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสบทั้งอุปสรรคและความล้มเหลว ก็สามารถทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่เป้าหมายในเวลาที่ต้องการ โดยกรรมวิธีการทำฝนหลวงโดยทั่วไปมีสามขั้นตอน คือ ก่อกวนเลี้ยงให้อ้วน และ โจมตี เรียกว่าการโจมตีแบบ  Sandwich ซึ่งประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ปี 2516 ต่อมาในปี 2542 เกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรง พระองค์ พระราชทานเทคนิคการทำฝนหลวงแบบ Super Sandwich ที่พัฒนาประสิทธิภาพการทำฝนเทียมให้สูงขึ้นไปอีก พร้อมกับ “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ซึ่งสรุปเป็นแผนภาพการ์ตูนคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ประมวลความรู้ ทางวิชาการและขั้นตอนปฏิบัติการทำฝนหลวงไว้อย่างครบถ้วน ง่ายต่อการศึกษาและนำไปปฏิบัติภายในกระดาษ เพียงหน้าเดียวเท่านั้น   เทคโนโลยีฝนหลวงนับเป็นนวัตกรรมใหม่สุดของโลกซึ่งได้จดสิทธิบัตรในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน  ภายใต้ชื่อ Weather Modification by Royal Rainmaking Technology  

2. กังหันชัยพัฒนา

ปัญหาน้ำเน่าเสียตามแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคิดค้นประดิษฐ์กังหันน้ำ ชัยพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2531 เพื่อเป็นเครื่องมือบำบัดน้ำเสีย บนหลักคิดว่า ต้องผลิตได้เองในประเทศและราคาไม่แพง  พระองค์ทรงคิดรูปแบบของกังหันน้ำชัยพัฒนาโดยได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจาก “หลุก” เครื่องวิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน  กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย มีชื่อรุ่นว่า Model RX-2 สามารถเพิ่มออกซิเจนในน้ำได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ติดตั้งทดลองใช้ครั้งแรกที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และวัดบวรนิเวศวิหารในปี 2532 ทั้งนี้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 พระองค์ทรง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการ ประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ ประเภทเครื่องกลเติมอากาศที่ได้รับสิทธิบัตรเครื่องที่ 9 ของโลก และในปีต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์”

3. แก้มลิง

แก้มลิง เป็นชื่อโครงการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในเขตใกล้ชายฝั่งทะเล หัวใจในการทำงานคือการระบายน้ำที่ไหลบ่ามาปริมาณมาก ซึ่งไม่สามารถระบายลงทะเลทันไปเก็บในบ่อพักน้ำ รอจนปริมาณน้ำทะเลลดลง จึงค่อยระบายน้ำจากบ่อพักน้ำลงทะเลไป โดยแนวพระราชดำริเรื่องโครงการแก้มลิงนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานครั้งแรกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อปี 2538 ทรงตรัสว่า

“…ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม…การนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ เป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่ามขังบริเวณทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเจ้าพระยา…”

4. ทฤษฎีใหม่ 30 : 30 : 30 : 10

30 : 30 : 30 : 10 คือสูตรตัวเลขของ ทฤษฎีใหม่ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่เกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยมักใช้พื้นที่ทั้งหมดเพาะปลูกโดยไม่มีแหล่งน้ำสำรอง ทั้งนี้ 30 : 30 : 30 : 10 หมายถึง ขุดสระเก็บน้ำ ปลูกข้าว ปลูกพืชสวน อย่างละร้อยละ 30 ของพื้นที่ และแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย คอกเลี้ยงสัตว์ อีกร้อยละ 10 ของพื้นที่ ต่อเมื่อสามารถจัดสรรพื้นที่ทำกินตามทฤษฎีใหม่ในขั้นต้นได้แล้วจึงบูรณาการเข้าสู่ขั้นที่ 2 คือ การรวมพลังของชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ตั้งแต่การผลิต การตลาด ไปจนถึงการจัดการด้านสังคม พัฒนาชุมชน และเมื่อชุมชนเข้มแข็ง กลุ่มเกษตรกรจะสามารถติดต่อประสานความร่วมมือกับแหล่งทุน ธนาคาร บริษัทเอกชน เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ร่วมกัน

5. โครงการหลวง

โครงการหลวงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เมืองไทยมีปัญหาด้านความมั่นคงและการเมือง ความยากไร้ของหมู่บ้านในชนบท การก่อการร้ายและขบวนการค้ายาเสพติด รวมถึงการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ ขณะที่รัฐบาลพยายามดำเนินการปราบปรามโดยใช้กำลังตำรวจและทหาร แต่ผลกลับยิ่งสูญเสียประชาชนไปเป็นแนวร่วมให้กับฝ่ายตรงข้าม โครงการหลวงจึงมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาหลาย ๆ อย่าง 

โครงการหลวงมีจุดเริ่มต้นจากปี 2512 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปบ้านแม้วดอยปุย และทรงพบว่าชาวแม้วที่ปลูกฝิ่นยังสามารถปลูกท้อพื้นเมืองลูกเล็กขายได้ในราคาดีเท่ากัน เป้าหมายของโครงการหลวงอยู่ที่การพัฒนาอาชีพให้ชาวเขา เพื่อเลิกการปลูกฝิ่นและการทำอาชีพผิดกฎหมายอื่นๆ โดยช่วยเหลือและส่งเสริม การปลูกพืชหมุนเวียนที่มีราคาสูง เช่น กาแฟ ไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว ซึ่งโครงการต้องศึกษาวิจัยทั้งด้านการปลูกพืชในที่สูง  ชนิดของพืชที่เหมาะสม และการทำตลาด 

ด้วยพระบารมีจากการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนชาวเขาแต่ละเผ่าในเขตพื้นที่ต่างๆ โดยไม่ทรงย่อท้อ และทรงเข้าถึงชาวเขา โดยเสด็จฯ เยี่ยมถึงในบ้าน ทรงร่วมเสวยเหล้าและรับเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ ทำให้โครงการหลวงได้รับการยอมรับ ในระยะแรกเรียกว่า “โครงการชาวเขา” แต่เนื่องจากชาวเขาเรียกพระองค์ว่า “พ่อหลวง”  ต่อมาจึงเรียกชื่อโครงการว่า “โครงการหลวง” ปัจจุบันโครงการหลวงมีงานวิจัยด้านการเกษตรบนที่สูงกว่า 550โครงการ วิจัยพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ มากกว่า 50 ชนิด  โดยมีผลผลิตจัดจำหน่ายสู่ตลาดในชื่อทางการค้าว่า “ดอยคำ”

6. ปลูกป่า 3 อย่าง ให้เป็นประโยชน์ 4 อย่าง

การปลูกป่า 3 อย่าง เป็นพระราชดำริในการปลูกป่าสำหรับใช้ประโยชน์ต่างกัน 3 ประเภท คือการ ปลูกไม้ใช้สอยไม้กินได้ไม้เศรษฐกิจ ซึ่งให้ประโยชน์ตามการปลูกสามอย่าง และยังได้ประโยชน์อย่างที่ 4 เพิ่มขึ้นมาคือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องด้วยทรงตระหนักถึงความจำเป็นและความต้องการใช้ไม้ของประชาชน รวมทั้งความจำเป็นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้าใจความสัมพันธ์ของดิน น้ำ และป่า อย่างเป็น ระบบ  ทรงห่วงใยปัญหาดินเสื่อมโทรมและป่าไม้ลดจำนวนลงมาตลอด พระองค์มีพระราชดำริในเรื่องนี้หลายวิธี  ตั้งแต่การปล่อยให้ป่าฟื้นฟูขึ้นเองตามธรรมชาติ การปลูกต้นไม้ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าและช่วยรักษาดิน โดยปลูกทั้ง ไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มสูง ให้ร่มเงา และพืชคลุมดินเพื่อปกป้องความชื้นในดินซึ่งจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาดินเค็ม การปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมดั้งเดิม การปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนเพิ่มแร่ธาตุในดิน ฯลฯ โดยเฉพาะพระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าเรื่องการปลูก “หญ้าแฝก” เพื่อหยุดการพังทลายของดิน ช่วยให้ดินที่ เสื่อมโทรมกลับมีความชุ่มชื้นและเพิ่มจุลินทรีย์ ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้ปลูกพืชผลหรือปลูกต้นไม้ได้ใหม่ 

7. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2517 และมีพระราชดำรัสอธิบายความหมายในเชิงปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงมาเป็นลำดับ ดังพระราชดำรัสครั้งหนึ่งในปี 2551 ว่า

“…คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเรา ถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด -อันนี้ไม่ใช่ เศรษฐกิจ- มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไป เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…”

หลักคุณสมบัติของความพอเพียงมีสามข้อ คือ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีไม่น้อยไม่มากเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ก้าวกระโดดอย่างเสี่ยง ไม่ละโมบ ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้เหตุผลพิจารณาปัจจัยต่างๆ และ ผลลัพธ์ของการปฏิบัติอย่างรอบคอบ ให้เกิดความเหมาะสมกับ สภาพของแต่ละคน การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง ความไม่ ประมาท การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ในอนาคต มีการออม การกระจายความเสี่ยง และการร่วมมือ ช่วยเหลือแบ่งปันกัน ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืน พร้อมรับต่อการ เปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี

8. ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม

ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นมรดกแห่งพระอัจฉริยภาพที่ทรงเห็นปัญหาด้านการจราจร และการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย กับเขตอุตสาหกรรมย่านพระประแดง ปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมเสร็จสมบูรณ์ในปี 2549 ประกอบด้วยสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง ได้แก่ สะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 และถนนวงแหวนอ้อมเมือง ตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2538 ทั้งนี้พระองค์เคยทรงตรัสเกี่ยวกับปัญหาการจราจรที่ลดทอนคุณภาพชีวิตประชาชนไว้ว่า

“การที่จราจรคับคั่งนี้เป็นปัญหาที่ยุ่งยาก และขอพูด คือประชาชนเดือดร้อน ประชาชนจะไปทำงานทำการต้องเสียเวลาบนถนน ระหว่าง 2-10 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของคนด้อยลงไป”

9. พรปีใหม่

เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการดนตรี ทั้งเปียโน กีตาร์ และเครื่องเป่าแทบทุกชนิด รวมทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงไว้รวมทั้งสิ้น 48 เพลง โดยเพลงที่ประชาชนชาวไทยคุ้นเคยและได้ยินในทุกปีคือ “พรปีใหม่” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 พระราชทานเป็นดั่งพรปีใหม่แก่พสกนิกรในวันที่ 1 มกราคม 2495 และทรงให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับ ตุลาคม 2559

ภาพเปิดเรื่อง : ประเวช ตันตราภิรมย์