ย้อนตำนาน แม่นาก จากเรื่องเล่าชาววัง สู่ปริศนากระโหลกหน้าผากที่หายไป
Faces

ย้อนตำนาน แม่นาก จากเรื่องเล่าชาววัง สู่ปริศนากระโหลกหน้าผากที่หายไป

Focus
  • โศกนาฏกรรมความรักเริ่มต้นระหว่างที่พ่อมากกำลังออกรบ แม่นากก็ได้มาตายจากระหว่างการคลอดลูก กลายเป็น “ผีตายท้องกลม” ที่ยังคงวนเวียนมาเฝ้ารอพ่อมากที่ริมท่าน้ำในทุกพลบค่ำ
  • สันนิษฐานว่าผีนางนากถูกเล่ากันในหมู่ชาวบ้านตั้งสมัยรัชกาลที่ 4

ย้อนตำนานประวัติศาสตร์ แม่นาก หนึ่งในผีที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดของไทย  บ้างก็ว่ามาจากตำนาน บ้างก็ว่ามีเค้าโครงจริง และบ้างก็ว่าเป็นเรื่องเล่าที่ถูกเล่าขานต่อๆ กันมา ซึ่งสันนิษฐานว่าผีนางนากถูกเล่ากันในหมู่ชาวบ้านตั้งสมัยรัชกาลที่ 4  โดยเนื้อเรื่องในแต่ละยุคสมัยมีจุดที่เหมือนกันคือ ความผูกพันระหว่าง นางนาก สาวชาวบ้านแห่งท้องทุ่งพระโขนง กับ พ่อมาก ชายสยามที่ต้องไปเป็นทหารรับใช้ชาติ และต้องปล่อยให้นากเมียรักที่กำลังตั้งท้องต้องอยู่เรือนเพียงลำพัง โศกนาฏกรรมความรักเริ่มต้นระหว่างที่พ่อมากกำลังออกรบ แม่นาก ก็ได้มาตายจากระหว่างการคลอดลูก กลายเป็น “ผีตายท้องกลม” ที่ยังคงวนเวียนมาเฝ้ารอพ่อมากที่ริมท่าน้ำในทุกพลบค่ำ ชาวท้องทุ่งพระโขนงต่างเล่าลือของความดุ ความเฮี้ยนของนางนาก ต่อเมื่อพ่อมากกลับมา เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับ แม่นาก และลูกน้อยอยู่นานโดยไม่รู้ว่าตนอยู่ร่วมเรือนเดียวกับผี

แม่นาก
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

เรื่องราวของแม่นากโยงไปถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5 และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ตั้งแต่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 และในตำนานก็กล่าวถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่าเป็นผู้ที่เข้ามาโปรดและปราบนางนาก รวมทั้งเป็นผู้เจาะกระโหลกหน้าผากของนางนากเพื่อเปิดทางให้วิญญาณได้เดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่ ซึ่งกระโหลกนางนากชิ้นนั้นยังคงเป็นปริศนาว่ามีจริงหรือไม่

ในหนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เรียบเรียง โดย มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) ได้เล่าเรื่องแม่นากพระโขนงไว้ว่า ลือกันว่าปิศาจนางนากหลังจากตายก็มาช่วยผัววิดน้ำเข้านาจนทำให้ชายผู้ผัวมีเมียใหม่ไม่ได้ อีกทั้งผู้คนก็ไม่สามารถเดินเรือในคลองพระโขนง แม้แต่พระสงฆ์ในวัดพระโขนงยังโดนหลอก แค่ได้เสียงก๊อกแก๊กก็เหมาว่าเป็นผีนางนากไปหมด

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รู้เรื่องจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ พระโขนง พอค่ำลงท่านก็ไปนั่งอยู่ปากหลุมแล้วเรียกนางนากขึ้นมาสนทนา พูดจาตกลงกันจนท้ายที่สุดท่านได้เจาะเอากระดูกหน้าผากนางนากมาด้วย แม้การกะเทาะเอากะโหลกหน้าผากศพฟังดูน่าสยองขวัญ แต่ตามคตินิยมของพราหมณ์ในยุคนั้นถือเป็นการเปิดทางให้วิญญาณที่ตายผิดธรรมชาติได้ไปเกิดในภพภูมิใหม่ ท่านได้นำกระดูกแผ่นนั้นมาขัดจนเป็นมัน ลงอักขระยันต์แล้วเจาะเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ครั้นท่านชราภาพก็ได้มอบปั้นเหน่ง กระดูกหน้าผากนางนากไว้กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ และตกทอดมาถึงพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ต่อมาเชื่อกันว่ากระดูกหน้าผากนางนากได้ตกมาอยู่กับพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ได้บันทึกไว้ว่าหากเรื่องนี้เป็นจริง เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ น่าจะทรงได้กะโหลกแม่นากมาจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ) เพราะช่วงนั้นพระองค์ทรงทำงานที่กรมทหารเรือ และทรงเป็นครูสอนที่โรงเรียนนายเรือซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดระฆังฯ แต่ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐาน ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด

ครั้งหนึ่งหม่อมเจ้าหญิงดวงทิพย์โชติแจ้งหล้า อาภากร และ ม.ร.ว.ทิพภากร อาภากร (ธิดาของพลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพลอาภากร) ยืนยันว่า กระดูกหน้าผากนางนากนี้ได้เคยเก็บอยู่ที่วังของท่านมาเป็นเวลานานต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ได้มาขอเพื่อทำพิธีบวงสรวงเมื่อคราวสร้างภาพยนตร์เรื่องแม่นากพระโขนง จากนั้นก็ไม่ได้รับกลับคืนมาอีก

แม่นาก

เรืองราวของ นางนาก แห่งท้องทุ่งพระโขนง ยังถูกสร้างต่อเนื่องทั้งในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ไทย และละครเวที  ต่อจากเรื่อง นางนาก ก็มีเรื่อง แม่นาคพระโขนง ออกมาเป็นภาพยนตร์อีกหลายเวอร์ชั่นรวมทั้งละครเวที แถมเรื่องของนางนากยังถูกสร้างในฉบับเปลี่ยนแกนของเรื่องจากแม่นากไปเป็น “พ่อมาก” ในภาพยนตร์เรื่อง  “พี่มาก…พระโขนง”  ออกฉาย พ.ศ. 2556 กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกุล และทุบสถิติภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง ด้วยรายได้เฉพาะช่วงเข้าฉายโรงภาพยนตร์ทะลุ  1 พันล้านบาท เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวของไทย ประชา สุวีรานนท์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เคยให้เหตุผลถึงความคลาสสิกของนางนากไว้ว่า “แม่นากคือผีที่ทุกคนรัก แม่นากคือผีที่ทุกคนกลัว”


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite