นัส-พิชฐญาณ์ นักออกแบบที่เปลี่ยนรากครอบครัวไทยจีนเป็นงานดีไซน์ซิกเนเจอร์
Faces

นัส-พิชฐญาณ์ นักออกแบบที่เปลี่ยนรากครอบครัวไทยจีนเป็นงานดีไซน์ซิกเนเจอร์

Focus
  • ผลงานของ นัส-พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล มักผสมผสานลวดลายแบบไทยและจีนด้วยลายเส้นที่อ่อนช้อยเต็มไปด้วยรายละเอียดสืบเนื่องจากการเติบโตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่เคร่งครัด
  • นัสเป็นศิลปินที่โดดเด่นในการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาผสมผสานกับลายเส้นวาดมือให้ประสบการณ์การชมที่แปลกใหม่
  • เธอยังเป็นเจ้าของแบรนด์กระเป๋าแฟชั่นชื่อ DayDream และแบรนด์วอลล์เพเปอร์และของแต่งบ้านชื่อ Apercu

“ที่บ้านเป็นครอบครัวคนจีนที่ค่อนข้างเคร่งครัดและเราได้รับการสั่งสอนว่าถ้าเรียนดีก็จะได้ทำงานดีและประสบความสำเร็จ จากนั้นจะมีครอบครัวดีและมีความสุข ในวัยเด็กต้องเรียนพิเศษทั้งเลข เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ กว่าจะได้กลับบ้านก็ 3 ทุ่มทุกวันเพราะแม่อยากให้เป็นหมอ เราเป็นเด็กเรียนดีอยู่สายวิทย์ห้องคิงและได้รับรางวัลมากมาย แต่เราก็มาถามตัวเองว่านี่เป็นชีวิตที่เราอยากจะเป็นจริงๆ หรือ”

นัส-พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล นักออกแบบและนักวาดภาพประกอบในนาม Pichaya O กล่าวถึงความคาดหวังของครอบครัวที่ส่งแรงกดดันมาสู่ตัวเธอ

แต่ในที่สุดเธอขอเลือกทางเดินตัวเองและยอมขัดใจกับที่บ้านเพื่อเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาทักษะการวาดรูปซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก วันนี้นัสได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสิ่งที่เธอเลือกคือความสุขและสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งจากการสร้างแบรนด์กระเป๋าชื่อ DayDream และแบรนด์วอลล์เพเปอร์และของแต่งบ้านชื่อ Apercu โดยลายวอลล์เพเปอร์ที่เธอออกแบบเคยได้รับรางวัล DEmark (Design Excellence Award) 2021 จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และได้นำไปจัดแสดงที่งาน Milan Design Week 2022 ประเทศอิตาลี

นัส-พิชฐญาณ์
นัส-พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล (ภาพ : ชัชวาล จักษุวงค์)

“นัสชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก คือวาดรูปนกได้ก่อนเขียน ก ไก่ และ ข ไข่ ได้เสียอีก ในรูปที่วาดมักจะมีรายละเอียดและลวดลายเต็มไปหมดเพราะถ้าวาดอะไรที่เป็น abstract หรือ pop มากๆ ที่บ้านจะไม่เข้าใจและไม่ยอมรับเพราะคิดว่าง่ายใครๆ ก็วาดได้ แต่ถ้าวาดอะไรที่ละเอียดประณีตบรรจงและอ่อนช้อยเขาถึงจะชมว่าสวยทำให้งานของเรามีรายละเอียดค่อนข้างมาก อีกทั้งก่อนทำงานนัสจะทำรีเสิร์ชก่อนทุกครั้งเพราะเชื่อว่าจะช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เราอาจจะเจอสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เอามาบิดใหม่ให้น่าสนใจได้ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้มาจากการเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่อาจารย์สอนเสมอว่าในการออกแบบเราต้องทำรีเสิร์ชเยอะๆ” นัสในวัย 33 ปีกล่าวถึงรูปแบบการทำงาน

นัส-พิชฐญาณ์
นัส-พิชฐญาณ์ กับการร่วมงานกับแบรนด์จิม ทอมป์สัน (ภาพ : ชัชวาล จักษุวงค์)

นอกจากนี้เธอยังได้ร่วมงานออกแบบกับแบรนด์ชั้นนำมากมาย อาทิ Dolce & Gabbana, Prada, Apple, Samsung, Line,Central World และเป็นศิลปินในโครงการศิลปินพำนักปี 2019 (Artist in Residence) ของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ อีกทั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2023 นัสยังได้ร่วมงานกับแบรนด์จิม ทอมป์สัน เปิดตัวคอลเลกชันเครื่องแต่งกาย Jim Thompson X Pichaya Osothcharoenpol ที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมประเพณีของจีนเพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่ปีเถาะโดยใช้ลวดลายกระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุขและความอดทนพร้อมลายดอกไม้และพฤกษาที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล

“ธุรกิจของที่บ้านเป็นแบบกงสีและค่อนข้างหัวโบราณ แม่มักขีดเส้นให้เราเดินตามแต่เราก็มีคำถามตลอดว่าเราเกิดมาทำไมและชีวิตเราจะเป็นแบบไหน นัสเป็นคนอินโทรเวิร์ท (introvert) และเป็นหนอนหนังสือ จนวันหนึ่งได้อ่านหนังสือของ อัล กอร์ (Al Gore) เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโลกแล้วชอบมากและจุดประกายทำให้อยากเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการนำพลังงานทดแทนมาใช้”

ด้วยเหตุนี้ทำให้นัสตัดสินใจไม่เลือกเรียนแพทย์ตามความต้องการของครอบครัวเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่เรียนต่อด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ Raffles International College และผลงานทีซิสจบการศึกษาคือการออกแบบเตาชีวมวลชื่อว่า เตาวายุบุตร เพื่อลดการใช้เตาถ่านและถ่านไม้ในครัวเรือนโดยการนำขยะจากภาคการเกษตร เช่น เปลือกลำไยและเปลือกแมคาเดเมียมาบดและอบแห้งทำเป็นก้อนเชื้อเพลิง ส่วนเตามีลักษณะเหมือนเตาแก๊สพร้อมสวิตช์ปรับระดับความร้อนได้แต่เป็นเตาที่จะเปลี่ยนควันจากก้อนเชื้อเพลิงเป็นพลังงานแก๊ส

“เมื่อ 15 ปีที่แล้วตอนออกแบบเตานี้ จากการศึกษาพบว่า 70% ของประชากรนิยมใช้เตาถ่านและก่อให้เกิดควัน อีกทั้งมีของเสียจากภาคการเกษตรเยอะและรัฐบาลใช้งบจำนวนมากในการกำจัดของเสียจึงสนใจศึกษาเรื่องพลังงานชีวมวลและออกแบบเตาชีวมวลสำหรับใช้ในครัวเรือนที่ใช้ก้อนชีวมวลลักษณะเหมือนถ่านไม้โดยควันที่อัดแน่นในเตาจะเปลี่ยนเป็นแก๊ส แต่ข้อเสียคือกลิ่นอาหารจะไม่หอมควันเหมือนเตาถ่าน”

นัส-พิชฐญาณ์
Whimsy Bag จากแบรนด์ DayDream

หลังจบการศึกษา นัสได้ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์แฟชั่น Disaya อยู่ 10 เดือน จากนั้นจึงสร้างแบรนด์กระเป๋าของตัวเองชื่อ DayDream เมื่อปี ค.ศ. 2017 และทำงานออกแบบภาพประกอบ เธอยังจบปริญญาโทด้านนวัตกรรมการบริการ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ในการออกแบบผลิตภัณฑ์เราก็ต้องหาวัสดุใหม่ๆ ตลอดเวลาจนมาเจอหนัง PVC ที่สามารถเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิของร่างกายจึงนำมาออกแบบเป็นกระเป๋าชื่อ Whimsy Bag ถ้าเราแตะตรงหนังรูปหัวใจที่ติดตรงกลางของกระเป๋าทำให้คาดเดาอารมณ์ขณะนั้นๆ ได้ เช่นถ้าหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวหมายถึงอารมณ์ดี หรือน้ำเงินเข้มแสดงว่าเริ่มเครียดแล้ว”

จากการเติบโตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน นัสมักหยิบ elements ของลวดลายแบบจีนจากสิ่งของที่เธอเห็นในบ้านตั้งแต่เด็กไม่ว่าจะเป็นผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ และผ้าปูที่นอนมาถ่ายทอดในงานออกแบบจนกลายเป็นลายซิกเนเจอร์ที่มีส่วนผสมแบบไทยและจีนและมีรายละเอียดสอดแทรกมากมาย เธอได้ออกแบบลายสัตว์มงคลทั้ง 5 ตามความเชื่อแบบจีนประกอบด้วย นกกระเรียน ลิง ปลา กวาง และผีเสื้อและลายดอกเบญจมาศเพื่อประดับตกแต่งภายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์เซ็นทรัลภูเก็ต และเซ็นทรัลไอซิตีประเทศมาเลเซีย ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2020

นัส-พิชฐญาณ์
การร่วมงานกับแบรนด์จิม ทอมป์สัน (ภาพ : ชัชวาล จักษุวงค์)

ส่วนการร่วมงานกับแบรนด์จิม ทอมป์สันสำหรับคอลเลกชันตรุษจีนปี 2023 นัสได้ออกแบบลวดลายที่ประกอบด้วยดอกเหมย ดอกไม้ประจำชาติของประเทศจีนที่เป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและแข็งแกร่งเพราะสามารถเบ่งบานได้แม้ท่ามกลางหิมะ และสอดแทรกด้วยลายกระต่ายสัญลักษณ์นักษัตรประจำปี2023 รวมไปถึงลายผีเสื้อแสดงถึงความงดงามและอุดมสมบูรณ์สำหรับไอเท็มของผู้หญิง เช่น เสื้อคอจีนแขนกุด เดรสยาวและเดรสสั้น เสื้อเบลาส์และกางเกง ส่วนลายพรรณไม้รูปต้นสนและต้นทับทิมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์เป็นลายพิมพ์สำหรับไอเท็มของผู้ชาย เช่น เสื้อเชิ้ตแขนสั้นและแขนยาว และกางเกงขาสั้น คู่สีที่ใช้สำหรับคอลเลกชันผู้หญิงคือสีแดงและฟ้าส่วนของผู้ชายเป็นโทนเหลืองและฟ้าจากการศึกษาว่าเป็นสีมงคลตามโหราศาสตร์จีน

“แบรนด์จิม ทอมป์สันมีประวัติยาวนานและลายผ้าล้วนสะท้อนวัฒนธรรมของทางเอเชีย นัสจึงวาดลายเส้นที่ให้เอฟเฟกซ์เหมือนกับภาพที่เกิดจากเทคนิค engraving (การพิมพ์โดยการแกะสลักบนแผ่นโลหะ) เพื่อให้ความรู้สึกคลาสสิกคล้ายกับภาพประกอบในหนังสือสมัยก่อน ส่วนการลงสีเป็นดิจิทัลเพนต์เพื่อผสมความร่วมสมัยและต้องการให้เข้าถึงง่าย นัสโตมากับหนังสือประวัติศาสตร์และวรรณกรรมที่ภาพประกอบส่วนใหญ่สร้างสรรค์จากเทคนิค engraving เช่น หนังสือเรื่อง Alice in Wonderland ภาพแบบ engraving ไม่ได้มีการลงสีแต่เห็นแล้วชอบตั้งแต่เด็กจึงลองนำมาลดทอนเป็นลายเส้นของตัวเอง”

ผลงานในโครงการ Artist in Residence ของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ

นัสยังเป็นศิลปินที่โดดเด่นในการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาผสมผสานกับลายเส้นวาดมือให้ประสบการณ์การชมที่แปลกใหม่ ผลงานชิ้นเด่นคือผนังสตูดิโอที่เธอออกแบบระหว่างพำนักในโครงการ Artist in Residence ของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชบพิธฯ และวัดมกุฏกษัตริยาราม รวมไปถึงเครื่องแขวนจากวัดโสมนัสฯ โดยเธอนำลายมาลดทอนเพื่อให้งานดูร่วมสมัยยิ่งขึ้นและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมด้วยการใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วลวดลายบางส่วนจะออกมาโลดแล่นเหนือภาพ นอกจากนี้เธอยังออกแบบกล่องขนมไหว้พระจันทร์ให้กับห้องอาหารจีนของโรงแรมโดยเมื่อใช้สมาร์ตโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดที่กล่องแล้วจะมีภาพกระต่ายวิ่งออกมาจากดวงจันทร์และภาพเทพธิดาแห่งดวงจันทร์นามว่าฉางเอ๋อลงมาบนโลกซึ่งตามตำนานเล่าว่าเรื่องราวของเธอเป็นส่วนหนึ่งของการกำเนิดเทศกาลไหว้พระจันทร์

วอลล์เพเปอร์ลาย Cassette Memory จากแบรนด์ Apercu

ผลงานออกแบบลายวอลล์เพเปอร์หลายชิ้นสำหรับแบรนด์ Apercu ของตัวเองที่ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2021ยังมีการนำเทคโนโลยี AR มาเพิ่มความน่าสนใจทั้งในรูปแบบภาพและเสียง เช่น ลายชื่อ Cassette Memory เป็นภาพลายเส้นสีดำรูปเทปแคสเซ็ตเรียงรายหลายตลับและแต่ละตลับจะมีชื่อศิลปินระดับตำนาน เช่น Carpenters, Bob Marley, Eagle, Nirvana, Carole King, Oasis และ David Bowie และด้วยเทคโนโลยี AR เมื่อเราสแกนไปที่ตลับเทปของแต่ละศิลปินจะได้รับชมคลิปวิดีโอเพลงความยาวไม่เกิน 15 วินาที

“ในช่วงโควิด คนแต่งบ้านเยอะขึ้นเราจึงอยากทำลายวอลล์เพเปอร์ที่สนุกและย้อนรอยความทรงจำแนว nostalgia แต่ใครที่สนใจอยากทำ playlist ของตัวเองลงเป็นลายวอลล์เพเปอร์เราก็ทำให้ได้ นอกจากนี้ยังมีลายวอลล์เพเปอร์สำหรับเด็กชื่อ Lost & Found เป็นลายรูปสัตว์และพรรณพืชที่สูญพันธุ์และใกล้สูญพันธุ์โดยเราจะให้แว่นสามมิติไปด้วยทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุก”

วอลล์เพเปอร์ลาย Panthera Pradus จากแบรนด์ Apercu

ส่วนลายที่ได้รับรางวัล Demark ปี 2021 ชื่อ Panthera Pradus คือรูปเสือดาวสายพันธุ์ต่างๆที่อาศัยในป่าของประเทศอินเดีย อินโดนีเซียและทางเหนือของจีนเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าจำนวนของเสือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า นอกจากนี้ผลงานออกแบบหมอนอิงลายเสือซึ่งข้างในบรรจุถุงหอมจากหินภูเขาไฟธรรมชาติของแบรนด์ Erb ยังได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เป็นหนึ่งในตัวแทนนักออกแบบไทยนำผลงานไปร่วมจัดแสดงในงาน Maison & Objet ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 2021

“ส่วนตัวเป็นคนชอบงานภาพพิมพ์และวอลล์เพเปอร์เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยน mood & tone ของบ้านได้และทนกว่าการทาสี วัสดุเป็น PVC ที่ย่อยสลายได้ กันลามไฟและมีอายุการใช้งานเกิน 15 ปี นอกจากนี้ยังช่วยลดอุณหภูมิห้อง กันน้ำ กันเชื้อราและเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย”

คอลเลกชัน Love Peace สำหรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ

นัสยังร่วมทำงานในโปรเจกต์การกุศลหลายแห่งโดยการออกแบบลายสำหรับนำไปพิมพ์ลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นโครงการ Art for Cancer by Ireal และโครงการArt For The Future ขององค์การยูนิเซฟ และเมื่อปี 2022 เธอได้ออกแบบของที่ระลึกคอลเลกชัน Love Peace ให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ เช่น กระเป๋าแบบต่างๆ ผ้าพันคอ และเสื้อยืด เพื่อให้กำลังใจกับทุกคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากให้ผ่านพ้นไปให้ได้ดั่งแมวเก้าชีวิตพร้อมเทคโนโลยี AR ที่เมื่อสแกนแล้วจะเห็นแมวออกมาวิ่งเล่นอยู่ในสวนดอกไม้

ลายเสื้อยืดสำหรับโครงการช่วยเหลือสัตว์

“เมื่อปี 2017 หมาที่นัสเลี้ยงไว้ตายจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มทำงานการกุศลโดยออกแบบลายเสื้อยืดลายน้องหมาและรายได้นำไปมอบให้โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ก่อนหน้านี้เวลาเราเรียนดีและได้รับรางวัลก็แค่ดีใจแต่ไม่เคยรู้สึกอิ่มเอิบใจเท่าครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เรานับถือตัวเองว่างานของเราสามารถช่วยคนอื่นได้จึงตั้งปณิธานว่าทุกปีเราต้องแบ่งเวลามาทำการกุศลไม่ใช่แค่ทำงานคอมเมอร์เชียล เพื่อให้จิตวิญญาณเราเติมเต็มและภูมิใจในตัวเอง”

สำหรับโปรเจกต์อื่นของปี 2023 นัสกล่าวว่าเธอจะร่วมทำงานการกุศลกับมูลนิธิรามาธิบดีฯอีก และหาเวลาสงบให้กับตัวเองมากขึ้น

“ปีนี้ตั้งใจว่าจะเข้าวัดและศึกษาธรรมะมากขึ้นและใช้เวลาเพื่อพักพูดคุยกับตัวเอง ส่วนในการทำงานจะขยายโพรดักไลน์ของแบรนด์ Apercu เช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง และปลายปีวางแผนไว้ว่าจะจัดนิทรรศการเดี่ยวผลงานของตัวเอง”

Fact File

ติดตามผลงานของ นัส-พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล ได้ที่ IG: @nussdaydream


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ