พวงสร้อย อักษรสว่าง : ศิลปะคือหนึ่งเสียงก้องของความรู้สึก
Faces

พวงสร้อย อักษรสว่าง : ศิลปะคือหนึ่งเสียงก้องของความรู้สึก

Focus
  • พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง นครสวรรค์รวมทั้งเจ้าของผลงานหนังสือ My Best Friend is Me และ THERE ปัจจุบันเธอมีผลงานวิดีโอออนไลน์และMV ออกมาให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง
  • นครสวรรค์ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของพวงสร้อย ซึ่งเดินทางไปคว้ารางวัล Taipei Golden Horse Film Festival และไปฉายในอีกหลายเทศกาลภาพยนตร์โลก

ชื่อของ พวงสร้อย อักษรสว่าง ใกล้ชิดกับผู้ที่ชื่นชอบเสพงานสร้างสรรค์ขึ้นทุกที เธอเป็นนักเขียนที่มีผลงานทั้งเรื่องแต่งและบทความเชิงสารคดีอย่างเล่มที่ได้รับเสียงตอบรับดีจนพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อเร็วๆนี้ My Best Friend is Me รวมทั้งผลงานเรื่องแต่งหนึ่งในโปรเจกต์รวมเรื่องสั้นต่างพื้นที่ในหนังสือเล่มเล็กอย่าง THERE อันเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ที่ส่งให้ชื่อของเธอคุ้นหู ส่วนงานของเธอก็เริ่มคุ้นตา โดยเฉพาะ นคร-สวรรค์ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่อบอวลด้วยเอกลักษณ์การเล่าเรื่องจากความทรงจำของพวงสร้อย ครั้งนี้เราจึงได้โอกาสมาร่วมพูดคุยกับเธอถึงทัศนคติการทำงานศิลปะและมุมมองความคิดต่อชีวิตทั่วไปของ พวงสร้อย อักษรสว่าง

 พวงสร้อย อักษรสว่าง

ชีวิตหลังจากจบโปรเจกต์นคร-สวรรค์

ตอนนี้ก็ทำงานวิดีโอออนไลน์อยู่ และก็ MV ส่วนโปรเจกต์ส่วนตัวซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาบท ภาพยนตร์เราอาจใช้เวลาอีก แต่ถ้าเร็ว ๆ นี้มีงานที่เราร่วมเขียนบทคือ One for the Road ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ 

แนวทางของภาพยนตร์เรื่องที่สอง

ชื่อเรื่องว่า I Open a Curtain to See a Dead Bird เป็นเรื่องที่เริ่มจากวันหนึ่งเราเปิดหน้าต่างที่บ้านแล้วเจอนกตายอยู่ที่ระเบียงบ้าน แต่เราตัดสินใจจะไม่ทำอะไรไม่จัดการไม่ได้เคลียร์กับนกตายตัวนั้นเวลาเราเปิดม่านมองไปที่ระเบียงเลยจะเห็นนกตายตัวนั้นและเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่วันหนึ่งอยู่ๆมันก็หายไปเราว่ามันเหมือนกับการเมือง สภาพสังคมตอนนี้ที่เรื่องเรื่องหนึ่งปรากฏให้เห็นแล้วก็หายไปเช่นในเฟซบุ๊กวันหนึ่งก็จะมีฟีดที่มาแล้วก็จะหายไป ในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเล่าเรื่องตัวละคร 3 ชุดที่ได้เห็นนกตายอยู่ที่ระเบียง

I Open a Curtain to See a Dead Bird ต่างกับ นคร-สวรรค์ อย่างไร

ต่างจากนคร-สวรรค์ที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องภายในตัวเรา ถ้านคร-สวรรค์เป็นตัวเรา 70% เรื่องนี้อาจเป็นตัวเรา30% แต่เรื่องนี้เล่าผ่านเหตุการณ์ที่้เกิดขึ้นมากกว่า

สำหรับพวงสร้อยที่ทำงานหลายอย่างเคยนิยามตัวเองไหม

เราไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นใครเพราะการนิยามส่วนมากเป็นเรื่องของคนอื่นนิยามตัวเรา แต่เราไม่ได้เป็นหนึ่งคำ การทำงานเราเป็นกระบวนการไม่ว่าจะทำหนังหรือการคุยกับคนก็ถือว่าเป็นกระบวนการทางศิลปะทั้งหมดเป็น Process ระหว่างทาง อย่างตอนนี้อาจคิดเริ่มแรกเป็นภาพยนตร์แต่พอทำไปผ่านกระบวนการอาจเป็นงานวิดีโอหรืออย่างอื่นต่อไปได้ในตอนจบ

 พวงสร้อย อักษรสว่าง

งานหลายชิ้นของพวงสร้อยมักเกี่ยวกับชีวิตแล้วตอนนี้พอใจกับชีวิตหรือยัง

พอใจแต่ไม่ทุกวัน ชีวิตที่เราเป็นอยู่เราก็พอใจและยินดีถึงแม้ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเป็นคนดังหรืออะไร เราก็พอใจกับสิ่งที่ทำมาตลอด เราพอใจเอฟเฟกต์ของสิ่งที่ทำแต่ไม่พอใจกับสิ่งรอบๆตัว เช่น ถ้าการเมืองดีสิ่งรอบตัวก็จะเอื้อโอกาสให้คนและสังคมมากกว่านี้ เราก็มีโอกาสทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับแต่การอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในสมัยก่อนหน้านี้ก็ทำให้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือ ภาพยนตร์ รถไฟฟ้า ก่อนคนอื่น เราเพิ่งรู้สึกกับสิ่งนี้ว่ามันน่าจะทำให้ชีวิตของแต่ละคนดีขึ้นกว่านี้ได้อีก ไม่ใช่ว่าใครเข้าถึงก่อนใครมีโอกาสก็ได้ไปก่อนซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนี้

 พวงสร้อย อักษรสว่าง

ศิลปะสัมพันธ์กับชีวิตพวงสร้อยอย่างไร

ศิลปะหรือการทำงานไม่ว่าอะไรก็สัมพันธ์กับชีวิตอยู่แล้ว สำหรับเราสัมพันธ์เพราะตื่นมาก็คิด กินข้าวก็คิด มันอยู่ในเลือด

ศิลปะมีผลกับสังคมขนาดไหน

เราก็เสียงหนึ่ง ทุกอาชีพสำคัญหมดเราก็เป็นหนึ่งเสียงถึงไม่ดังแต่ถ้างานของเราได้สะท้อนผ่านอาจจะ 50 สายตาแล้วมีคนบอกต่ออีกสัก 20 คนแล้วก็อาจมีคนเห็นด้วยกับเรา หรือไม่เห็นด้วยกับเราแต่งานศิลปะก็อาจสามารถเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติบางส่วนผ่านการบอกต่อไปถึงกันได้ เรามองว่าเราไม่ได้ทำงานแบบรักษาคนป่วยแต่เป็นการสร้างโมเมนต์บางอย่างให้เข้าใจความรู้สึก

 พวงสร้อย อักษรสว่าง

ทำไมถึงเห็นเรื่องส่วนตัวของพวงสร้อยเจืออยู่ในงาน

เราว่ามันมาจากสิ่งที่อยู่ข้างใน สภาพแวดล้อม ความคิดของตัวเอง แล้วเอาออกมาเป็นงานโดยที่เจือสีบ้างเท่าไรก็แล้วแต่ว่าจะทำให้มันเป็นเรื่องแต่งขนาดไหน จริงบ้างไม่จริงบ้างแล้วแต่ที่จะเล่าในตอนนั้น

มีนักสร้างภาพยนตร์ที่ชอบไหม

Chantal Akerman, Agnès Varda, Céline Sciamma ทั้ง 3 คนนี้ทำงานเป็นภาษาที่เราอยากอ่าน อ่านเพลินและลิงก์กับชีวิตเรา

ฝากถึงนักสร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่หน่อย

ก็ต้องทำอะ (หัวเราะ) ต้องทำและเล่า เราว่ายุคไหนก็ต้องทำ ส่วนจะทำแบบไหนก็แล้วแต่เลย 

ขอบคุณสถานที่ 

Ca’ Del Sol :  ซอยปรีดีพนมยงค์ 20 ถนนสุขุมวิท 71 กรุงเทพฯ โทร. 063-474-9497 facebook.com/cadelsolbangkok และ https://cadelsol.art/ 


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"