จากราตรีลี้ลับ สู่ทิวาอันเร้นลับยิ่งกว่าในนามของ รพินทรนาถ ฐากุร
Faces

จากราตรีลี้ลับ สู่ทิวาอันเร้นลับยิ่งกว่าในนามของ รพินทรนาถ ฐากุร

Focus
  • รพินทรนาถ ฐากุร เกิดในแคว้นเบงกอลประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2404 เขาเป็นนักคิด นักปรัชญา นักเขียน และเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล จากสาขาวรรณกรรม
  • เขาคือผู้ก่อตั้งโรงเรียนใต้ต้นไม้ที่ศานตินิเกตันในปัจจุบันใช้ชื่อว่า บถภาวนา (PathaBhavana) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และจักรวาล
  • รพินทรนาถ ฐากุรถือได้ว่าเป็นนักคิดที่ร่วมยุคและได้มีโอกาสในการสนทนากับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มากมายอาทิ คานธี, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และวิลเลียม โรเธนสไตน์

ความเพ้อฝันแห่งข้า คือ หิ่งห้อย

จุดสว่างทรงชีวิต

ระยิบในอนธการ

รพินทรนาถ ฐากุร มหากวีผู้ละจากราตรีลี้ลับและกำเนิดสู่แสงทิวาของแคว้นเบงกอลในตอนย่ำรุ่งของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2404ท่ามกลางครอบครัวที่อวลไปด้วยวัฒนธรรมอินเดียโบราณ และคำสอนบิดาผู้เป็นนักปฏิรูปศาสนาและสังคมชาวโลกรู้จัก รพินทรนาถ ในฐานะศิลปิน นักคิด นักปรัชญา และนักเขียนชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลซึ่งเป็นรางวัลโนเบลแรกของชาวเอเชีย

นอกจากจะเป็นมหากวี รพินทรนาถยังได้รับการยกย่องให้เป็น คุรุเทพ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน บถภาวนา (PathaBhavana) เพื่อผสานวัฒนธรรมอินเดียโบราณกับโลกฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน มากกว่านั้นเขายังเป็นนักคิดที่ศึกษาค้นคว้าและตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเชิงสังคม ชาตินิยม ศาสนา วิทยาศาสตร์ ปรัชญา รวมทั้งยังเคยร่วมสนทนากับนักคิดในยุคเดียวกันอย่าง คานธี และนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุค อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

รางวัลโนเบลแห่งโลกเอเชีย

หลังจากผลงานรวมบทกวี คีตาญชลี ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2456 รพินทรนาถก็ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ซึ่งนี่เป็นรางวัลโนเบลรางวัลแรกของฟากฝั่งเอเชีย แต่ความยิ่งใหญ่ของรางวัลไม่สำคัญเท่ากับทัศนคติที่มหากวีมีต่อรางวัลนี้

“ช่วยนำสถานที่ห่างไกลให้ชิดกันและเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นพี่น้องกัน”

ในปีเดียวกันกับที่รพินทรนาถได้รับรางวัลโนเบล งานของเขาก็ได้รับการแปลจากภาษาเบงกอลเป็นภาษาอังกฤษ เช่น จันทร์เสี้ยว คนสวน และ จิตรา ทั้งหมดนี้ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แมคมิลแลน, ลอนดอน ทำให้วรรณกรรมของฐากุรเป็นที่รู้จักในสากลมากขึ้น รวมทั้ง หิ่งห้อย ซึ่งแม้จะเป็นกวีที่ท่านจะเขียนขึ้นในวัยหนุ่ม แต่กลับถ่ายทอดความหมายแห่งชีวิตออกมาได้อย่างลึกซึ้ง

จากการเป็นที่รู้จักทั่วโลกทำให้รพินทรนาถได้มีโอกาสไปพบปะและบรรยายตามโอกาสต่างๆเขาเดินทางทั่วโลกมากกว่า 30 ประเทศ 5 ทวีปนอกจากงานด้านวรรณกรรมและบทเพลงแล้วเขาได้ใช้ชีวิตในช่วงท้ายในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจิตรกรรม นิทรรศการที่โดดเด่นของเขาจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2473 ณ หอศิลป์ปิกาล (Gallery Pigalle) กรุงลอนดอน เป็นนิทรรศการรวบรวมผลงานภาพมหาศาลกว่า 400 ภาพมาจัดแสดง และในปีเดียวกันนั้นงานศิลปะของมหากวีก็ออกเดินทางไปยังเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

โรงเรียนใต้ต้นไม้
รพินทรนาถเชื่อว่าเด็กมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในฐานะมนุษย์กับธรรมชาติ 3 ระดับ ระดับแรกเหมือนมนุษย์ทั่วไปที่ต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเพื่อดำรงชีวิต ระดับต่อมาคือ ต้องรวบรวมความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากฎของธรรมชาติ มองความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่แวดล้อมเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ ระดับสุดท้ายคือความรักอันเป็นข้อผูกพันมนุษย์เข้ากับธรรมชาติ เป็นการมองหลังจากที่เราเข้าใจความเชื่อมโยงแก่กันและกัน

รพินทรนาถให้ความสำคัญกับ ความรัก ในความหมายของความสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งต่างๆ เขาเชื่อว่าสิ่งนี้แหละที่จะทำให้มองเห็นกันและกัน ความรักจะเชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้เป็นการมองธรรมชาติในฐานะการหาประโยชน์เพื่อมนุษย์เพียงอย่างเดียว

ความเข้าใจ 3 ระดับนี้คือรากฐานในการสร้าง โรงเรียนศานตินิเกตัน หรือในปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า บถภาวนา ที่ก่อตั้งขึ้นในศานตินิเกตันอันเป็นบ้านเกิดของฐากุรในปี พ.ศ.2444 ริเริ่มจากการมีนักเขียนเพียง 5 คนและหนึ่งในนั้นคือลูกชายของเขานั่นเอง

โรงเรียนศานตินิเกตัน สร้างขึ้นในรูปแบบอาศรม นั่งเรียนกันใต้ต้นไม้ใกล้ชิดธรรมชาติตอบโจทย์แนวคิดของเขาที่เชื่อว่ามนุษย์กับธรรมชาตินั้นมีความสัมพันธ์โยงถึงกัน พร้อมกันนั้นก็มีการนำวัฒนธรรมอินเดียโบราณมาผสานเข้ากับความรู้ของโลกตะวันตก ซึ่งปัจจุบันมีนักคิด นักเขียนจากทั่วโลกที่เดินทางไปยังศานตินิเกตันเพื่อเรียนรู้แนวทางการศึกษาของท่าน หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ 

ชาติ ศาสนา มนุษย์

ธรรมะ
คือพระหัตถ์ขวาแห่งพระผู้เป็นเจ้า
กักขฬะ
ท่านว่าเป็นพระหัตถ์อีกข้างหนึ่ง

(หนังสือรวมบทกวี อิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน)

รพินทรนาถได้เคยแสดงทัศนะต่อศาสนาและความเชื่อของมนุษย์ไว้หลายครั้ง เขาเคยได้แสดงทัศนะในการไม่เห็นด้วยกับการนับถือรูปเคารพในฮินดูและเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดการเวียนว่ายตายเกิดหรือการอวตาร เขาเชื่อใน “ศาสนาของมนุษย์”

สพุชโกลี เซน ผู้สอนวิชาปรัชญาในสถาบันวิศวภารติ ศานตินิเกตัน เคยให้ข้อสรุปย่อถึงพันธกิจของ รพินทรนาถ ฐากุร ในด้านศาสนาไว้ว่า รพินทรนาถทำให้มนุษย์เป็นพระเจ้า และทำให้พระเจ้าเป็นมนุษย์

รพินทรนาถเริ่มต้นศึกษาหาความรู้เรื่องศาสนาปรัชญาในวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่เด็กเขาอ่าน ภควัทคีตา งานประพันธ์เชิงปรัชญาจากมหาภารตะ อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า ประเพณีของคริสต์ และซูฟีซึ่งเป็นหนึ่งในหลักปรัชญาเก่าแก่ของอิสลามพื้นเมือง

จากที่เขาได้ผ่านการศึกษาแนวคิดของความเชื่อลัทธิ ศาสนาหลายรูปแบบงานของรพินทรนาถจึงได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในมนุษย์เขาสนใจการศึกษาศาสนาไม่ใช่เพื่อเคารพบูชาแต่เพื่อทำความเข้าใจว่าความเชื่อในมนุษย์คนหนึ่งสร้างอะไรไว้ในวิธีคิดหรือทิ้งอะไรไว้ใจตัวตนของมนุษย์ผู้นั้นบ้าง แนวคิดที่เขาศึกษานี้ก็ยังได้ปรากฏในงานนวนิยาย โครา ซึ่งเล่าถึงสังคมที่เคร่งครัดในศาสนาพราหมณ์และฮินดูโดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครที่มีพัฒนาการจากผู้ยึดติดในคำสอนสู่การค้นหารากเหง้าว่าแท้จริงเขาไม่ใช่แม้กระทั่งคนในศาสนานี้ตั้งแต่กำเนิดและยังไม่ใช่คนในชาติพันธุ์นี้เต็มตัว

รพินทรนาถ ฐากุร

รพินทรนาถสนใจในรัฐชาติจนเขียนออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อตรงตัวว่า ชาตินิยม (Nationalism)ในเล่มนี้เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า ชาตินิยมและรัฐชาติเป็น “อสุรกายทางภูมิศาสตร์” แม้เขาเองเป็นผู้ที่เคยแต่งเพลงชาติไว้ทั้งของอินเดีย และบังกลาเทศ แต่เขาก็ไม่ได้ยึดติดในประเด็นชาตินิยม ทั้งยังเคยแสดงทัศนะต่อปัญหาของชาตินิยมในอินเดียไว้ว่า ปัญหาแท้จริงของอินเดียไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นปัญหาสังคม และไม่ใช่ภาวะที่เกิดเฉพาะประเทศอินเดียปัญหาสังคมมีในทุกประเทศ เขายังได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาติอีกว่าชาติไม่เพียงเป็นการยึดโยงทางภาษา ผลประโยชน์ วัตถุ พรมแดน ศาสนา ในแบบการศึกษาของตะวันตกในยุคนั้นเท่านั้น แต่ชาติยังเป็นโครงสร้างทางจิตใจ เขามองว่าภาคประชาชนที่แข็งแรงนั้นสำคัญ หากแข็งแรงแล้วจึงค่อย “รวมกันเข้า” ดังปรากฏในหนังสือ ชีวิต รพินทรนาถ ฐากุร ในวาระ 150 ปี ชาตกาล (แปลเป็นภาษาไทยโดย วิไล ตระกูลสิน และ เจริญเกียรติ ธนสุขถาวร) ว่า

“ความสมบูรณ์แบบของเอกภพไม่ได้ประกอบด้วยการยอมทำตามแต่มาจากการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

รพินทรนาถ ฐากุร

ทศวรรษสุดท้ายของชีวิต

นอกจากธรรมชาติแล้ว สิ่งที่มักปรากฏในงานของ รพินทรนาถ ฐากุร เสมอคือ ความรักหรือ เปรม ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆไว้ด้วยกัน เช่น ระหว่างปัจเจกบุคคลเข้ากับธรรมขาติและโลกมนุษย์ เขาเชื่อว่าเมื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ความรัก อันจะทำให้อัตตาของมนุษย์สิ้นไปกลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลกผูกพันซึ่งกันและกันเห็นอกเห็นใจกันดั่งอักษรธรรมดาที่รวมเป็นบทกวีที่สวยงามในหนังสือที่เรียบนิ่งสงบ และสันติ

รพินทรนาถได้ใช้ช่วงทศวรรษสุดท้ายของชีวิตขับเคลื่อนอุดมการณ์อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านสังคมเขาได้ร่วมชุมนุมประท้วงคัดค้านการยิงนักโทษในค่ายกักกันฮิชลี ในปี พ.ศ.2475 และในสองปีถัดมาเขาก็ดำเนินงานด้านการศึกษาโดยการเปิดหอประชุมจีนศึกษา หรือ จีนภาวนา ในละแวกโรงเรียนของเขา ณ ศานตินิเกตัน ซึ่งในขณะนั้นเขาเองเริ่มมีอาการป่วยหนัก

รพินทรนาถได้บรรยายครั้งสุดท้ายเรื่อง วิกฤตอารยธรรม ในปี พ.ศ.2484 ตรงกับช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองมาถึงจุดระอุ หลังจากการบรรยายครั้งสุดท้ายไม่กี่เดือน เขาก็ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 จากการป่วยสะสม

รพินทรนาถ ฐากุร ในวัย 80 ปีเสียชีวิต ณ คฤหาสต์ของเขา เมืองกัลกัตตา แต่การจากไปของเขาเป็นเพียงการละจากราตรีอันลี้ลับดั่งที่เขาเขียนไว้ในบทกวี หิ่งห้อย เท่านั้น จิตวิญญาณและอุดมการณ์ของเขายังอยู่ในผลงานศิลปะ บทกวี และการสร้างความรู้ทางปรัชญามากมายที่ไม่ได้ตายไปพร้อมกับตัวเขา

ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่เขาวางรากฐานไว้ยังคงเปิดสอน บรรดาหนังสือวรรณกรรมของเขาถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงในภาษาไทย กว่า 79 ปีที่เขาจากไป แต่งานวรรณกรรมปรัชญา ของรพินทรนาถยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักคิดร่วมสมัยในปัจจุบันมากมาย ดังที่เขาเองก็เคยกล่าวไว้ในหนังสือ Creative Unity (แปลเป็นภาษาไทยโดย วิไล ตระกูลสินและเจริญเกียรติ ธนสุขถาวร) ว่า

“ภูมิปัญญานี้มิได้มาจากข้อความของคัมภีร์หรือสัญลักษณ์ของพระเจ้า หรือการปฏิบัติศาสนกิจที่ได้รับการยอมรับตามกาลเวลา แต่จากเสียงของคนที่มีชีวิตและความรักที่หลั่งไหลมาจากหัวใจมนุษย์”

รพินทรนาถ ฐากุร

อ้างอิง

  • อิสรภาพแห่งความไร้ตัวตน (Stray Birds).รพินทรนาถ ฐากุรเขียน.รัฐพล เพชรบดี แปล.สำนักพิมพ์สมมติ.2562
  • หิ่งห้อย (FIREFLIES).รพินทรนาถ ฐากุรเขียน.ระวี ภาวิไล แปล.สำนักพิมพ์ภารตะ.2554
  • สาธนา (SADHANA:The Realisation of Life).รพินทรนาถ ฐากุรเขียน.ระวี ภาวิไล แปล.สำนักพิมพ์ภารตะ.2554
  • ชีวิต รพินทรนาถ ฐากุร ในวาระ 150 ปี ชาตกาล (India Perspectives Vol.24 No.2/2010).นวทีป สุรี บรรณาธิการ.วิไล ตระกูลสินและเจริญเกียรติ ธนสุขถาวร แปล.สำนักพิมพ์ภารตะ.2558

ภาพ: Encyclopaedia Britannica https://www.facebook.com/RabindraSangeet/


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน