10 เรื่องเบื้องหลังคอมิกส์สายพันธุ์ไทย ราช เลอสรวง ผู้สร้างสิงห์ดำและจอมขมังเวทย์
Faces

10 เรื่องเบื้องหลังคอมิกส์สายพันธุ์ไทย ราช เลอสรวง ผู้สร้างสิงห์ดำและจอมขมังเวทย์

Focus
  • ราช เลอสรวง เป็นนามปากกาของ นิวัฒน์ ธาราพรรค์ นักเขียนการ์ตูนหรือนิยายภาพไทย ในรูปแบบการ์ตูนเล่ม หรือ นิยายภาพ
  • สิงห์ดำ และ จอมขมังเวทย์ เป็นผลงานสร้างชื่อของเขา โดยตัวละครเอกมีลักษณะขบถนอกกรอบจากยุคสมัย

ราช เลอสรวง เป็นนามปากกาของ นิวัฒน์ ธาราพรรค์ นักเขียนการ์ตูน หรือ นิยายภาพรุ่นบุกเบิกของไทยในรูปแบบการ์ตูนเล่มหรือคอมิกส์ (comics) ที่มีผลงานเฉพาะตัวฝากไว้ในวงการการ์ตูนไทย อย่าง สิงห์ดำ และ จอมขมังเวทย์ ซึ่งเป็นการ์ตูนไทยแนวพระเอกผู้กล้าหาญ และตัวละครเอกมีลักษณะขบถนอกกรอบจากยุคสมัยในช่วง พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่คนไทยจะได้รู้จักคอมิกส์และเหล่าซูเปอร์ฮีโร่จากฝั่งตะวันตก รวมทั้ง มังงะจากญี่ปุ่น

ราช เลอสรวง

ตอนที่ผมเขียนนิยายภาพยุคแรกเมืองไทยยังไม่มีการ์ตูนจากต่างประเทศมากการ์ตูนญี่ปุ่นมีเรื่องเดียว หน้ากากเสือ และการ์ตูนสั้นของเด็กการ์ตูนฝรั่งก็ยังมาไม่ถึงไทยแบทแมนซูเปอร์แมนยังมาไม่ถึง

ต้นปี พ.ศ. 2564 ราช เลอสรวง ในวัย 80 ปี กลับมาแสดงผลงานอีกครั้ง กับผลงานที่อาจจะเป็นชุดสุดท้ายที่เขาได้รวบรวมกำลังกายกำลังใจตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการ การ์ตูนไทย ที่ โอลด์ทาวน์ แกลเลอรี เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งการจัดทำนิยายภาพ สิงห์ดำ ฉบับรวมเล่มพิเศษ ที่เตรียมวางแผงปลายเดือนเมษายน 2564 นี้

Sarakadee Lite มีเรื่องราวเบื้องหลังชีวิต วิธีคิด พร้อมที่มาของลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ และวิธีการสร้างเรื่องราวการ์ตูนเล่มสำหรับผู้ใหญ่ในแบบฉบับ “ราช เลอสรวง” นักเขียนคอมิกส์รุ่นแรก ๆ ของเมืองไทย

1. กำเนิด สิงห์ดำ และนามปากกา ราช เลอสรวง

ราช เลอสรวงเกิดวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ที่จังหวัดลำพูน เป็นลูกคนสุดท้องในครอบครัวพี่น้อง 8 คน พี่ชายของราชคนหนึ่งชื่อ ฉลอง ธาราพรรค์ ก็เป็นนักเขียนนิยายภาพไทยแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ อาทิ เรื่อง “เจ้าชายกาลี” “มณีโสภา” และพี่ชายคนนี้นี่เองที่เป็นคนช่วยสอนให้ราชหัดเขียนการ์ตูน

ที่บ้านแม่ผมชอบวาดรูปส่วนพ่อทำงานเป็นสมุห์บัญชีที่หน่วยงานราชการในจังหวัดและพ่อผมเป็นหนอนหนังสือผมมีพี่สาว 4 คนเราเป็นเด็กผู้ชายก็เล่นด้วยกันไม่ค่อยได้เราก็กลายเป็นหนอนหนังสือไปสมัยนั้นพ่อสั่งซื้อหนังสือจากกรุงเทพฯ เป็นหนังสือเล่มรายเดือนอย่างหนังสือชาวกรุงปิยมิตรมาอ่าน

การเติบโตในครอบครัวนักวาดทำให้นิวัฒน์ตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง เขตพระนคร ระหว่างที่เรียนเพาะช่างก็รับจ้างวาดภาพและเขียนการ์ตูนเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน และไม่นานก็มีผลงาน หักเขี้ยวเสือ เป็นงานเขียนการ์ตูนเล่มแรกของนิวัฒน์ ธาราพรรค์ ได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่พี่ชายเอาต้นฉบับส่งไปขายให้สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา ผลงานชิ้นต่อมานิยายภาพ สิงห์ดำ การ์ตูนแนวผจญภัยต่อสู้ ราคาเล่มละ 1 บาท ซึ่งสิงห์ดำเป็นการ์ตูนเล่มแรกที่นิวัฒน์ใช้นามปากกา ราช เลอสรวง ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ด้วยตัวละครและเรื่องราวที่ฉีกแนวจากเนื้อหาที่นิยมในยุคนั้นทำให้ สิงห์ดำ โดนใจคนอ่านการ์ตูนไทยอย่างรวดเร็ว ขายดีจนเป็นงานฮิตที่ต้องอ่าน ซึ่งเจ้าตัวย้อนอดีตถึงความสำเร็จนั้นว่า

ราช เลอสรวง

ผมคิดว่าคนคงชอบความเป็นผู้กล้าและก็เป็นตัวพระเอกที่ไว้ผมยาวกินเหล้าได้และการที่ผมเขียนเรื่องที่ได้อิทธิพลจากซามูไร (ญี่ปุ่น) บ้างอิทธิพลจากนิยายจีนบ้างคนคงชอบที่มันแปลกจากแนวเจ้าชายเจ้าหญิงที่มีอยู่ในตอนนั้น” 

ต่อเนื่องจากประสบความสำเร็จของสิงห์ดำ งานนิยายภาพลำดับอื่น ๆ ก็ตามมา รวมทั้ง จอมขมังเวทย์, ตลุยแหลก, สิงห์คำรน, หักด่านมฤตยู, สิงขรผู้ทรงพลัง, โซโร จากนั้นเขาได้ผันตัวไปเป็นบรรณาธิการนิตยสารหนังสือรายสัปดาห์กว่า 30 ปี และได้กลับมาจับพู่กันเล่าเรื่องตัวละครคลาสสิกของตัวเองอีกครั้งเมื่อวัย 70 ปี ใน สิงห์ดำ ฉบับปี 2557

2. “สิงห์ดำ” ตัวแทนชายชาตรีนักสู้ผู้กล้า

คาแรกเตอร์ คือสิ่งสำคัญในการสร้างการ์ตูนและ ราช เลอสรวง ก็ได้สร้างตัวละคร สิงห์ดำ ชายหนุ่มนักผจญภัย ด้วยลักษณะที่บ่งบอกความเป็น “ชายชาตรี” ที่ชัดเจนตั้งแต่ลายเส้น และโครงร่างที่บ่งบอกบุคลิกของนักสู้ผู้กล้า ซึ่งถือว่าฉีกแนวจากค่านิยมในยุคนั้นที่ตัวการ์ตูนเน้นลายเส้นอ่อนช้อยและบุคลิกแบบเจ้าชายเจ้าหญิงในจินตนาการ

โรงพิมพ์ถามว่าจะทำอะไรสมัยนั้นเขานิยมแนวเจ้าชายเจ้าหญิงแต่ผมอยากทำแหวกแนวอยากวาดนักสู้ผู้กล้าก็เลยได้ตัว (ละคร) สิงห์ดำราช เลอสรวงเล่าที่มาของ สิงห์ดำ ตัวละครที่โด่งดังที่สุดตัวหนึ่งของเขา

ราช เลอสรวง

ยุคแรกนิยายภาพสิงห์ดำตีพิมพ์เป็นตอน โดย 50 เล่มแรกเน้นเรื่องราวการผจญภัยของพระเอก ไม่มีนางเอกตัวหลัก ส่วนวิธีคิดพล็อตเรื่องนั้นนักเขียนจินตนาการจากบุคลิกของพระเอกและสร้างเรื่องราวผจญภัยขึ้นให้ตัวละคร

เนื้อเรื่องเราก็คิดจากตัวพระเอกให้ไปผจญภัยเจออะไรไปเรื่อยแรก ๆ ผมเขียนมา 50-60 เล่มมั้งมันจะเน้นพระเอกปราบอธรรมไม่ได้มีตัวนางเอกจริง ๆ จัง ๆ และก็เขียนต่อเรื่องมาเรื่อย ๆ เรื่องราวมันยังไม่จบนะตอนนี้ (ปี 2564) ก็ยังไม่มีตอนจบเนื้อเรื่องสิงห์ดำที่ผมกลับมาเขียนใหม่ตอนอายุ 70 ปีนี่ต่างกันกับที่เขียนสมัยแรกๆก็คือเป็นพระเอกคนเดิมแต่เป็นเหตุการณ์หนึ่งของพระเอกไม่ใช่เป็นผจญภัยเป็นตอน ๆ และก็ยังไม่ใช่ตอนจบของสิงห์ดำ

3. การ์ตูนไทยอิทธิพลจากฮอลลีวูดญี่ปุ่นและจีน

สำหรับตัวละคร สิงห์ดำ เป็นชายหนุ่มหน้าตาคมสันหล่อล่ำผมยาว มีลายเส้นของกล้ามเนื้อชัดเจน เปิดตัวด้วยลีลาการต่อสู้ผสมผสาน บุคลิกของตัวเองได้รับอิทธิพลมาจากนักสู้ในภาพยนตร์แนวคาวบอยของฮอลลีวูด ผสมผสานซามูไรญี่ปุ่น และการต่อสู้แบบกำลังภายในจีน การวางคาแรคเตอร์ของ สิงห์ดำ นั้นชัดเจนว่ามีความโดดเด่นต่างจากตัวละครในนิยายภาพยุคนั้นคือ ตัวเอกผมยาวแบบนายอำเภอเผ่าอาปาเช่ ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง

ราช เลอสรวง

ผมเจอรูปในเศษกระดาษเราก็ประทับใจพระเอกหนังคาวบอยที่เป็นนายอำเภอเผ่าอาปาเชไว้ผมยาวสมัยนั้นผมเป็นนักเรียนเพาะช่างก็ไว้ผมยาวผมก็เลยเขียนให้พระเอก (สิงห์ดำ) ไว้ผมยาวด้วยส่วนเสื้อนักรบโรมันไม่เห็นคอปกเสื้อก็เลยให้เอาผ้าพันคอมาปิดไว้ส่วนกางเกงรัดรูปก็ให้ใส่เข็มขัดหัวโตแบบคาวบอยเพราะผมชอบคาวบอยใส่บู๊ตและให้ส้นรองเท้าบู๊ตมีพู่มีหางสิงห์โตอยู่ข้างซ้าย

4. อาวุธของสิงห์ดำมาจากหนังสงครามของฮอลลีวูด

สำหรับ โล่ อาวุธประจำตัว สิงห์ดำ นั้น นักเขียนได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรื่อง The Longest Day นำแสดงโดย จอห์น เวย์น พระเอกชื่อดังแห่งยุค โดย The Longest Day เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์วันดีเดย์ (D-Day) ในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ในนามของฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส

ผมไปดูหนังเรื่อง The Longest Day ที่โรงหนังเฉลิมไทยราคาตั๋วตอนนั้นประมาณ 7 บาทมันมีไตเติลหนังคลับคล้าย ๆ เห็นมีหมวกเหล็กที่พระเอกใช้ป้องกันตัวผมก็เลยคิดว่าพระเอกของผมน่าจะใช้โล่มาป้องกันตัวเองเขาเล่าถึงแรงบันดาลใจจากฮอลลีวูดที่คลี่คลายออกมาเป็นคาแรกเตอร์ในสิงห์ดำ

ราช เลอสรวง

5.หัวใจของนิยายภาพคือความสมบูรณ์ในแต่ละฉาก

นอกจากจะสร้างตัวละครที่ฉีกแนวกระแสนิยมในยุคนั้นแล้ว วิธีการทำงานเขียนภาพของเขา ยังต่างจากนักเขียนนิยายภาพร่วมรุ่นคนอื่น ๆ โดยเขาเน้นเขียนให้จบสมบูรณ์ทีละภาพหรือทีละช่อง ตามวิธีการเล่าเรื่องของนิยายภาพที่ในแต่ละหน้าต้องตัดภาพแบ่งการเล่าเรื่องเป็นช่อง ๆ เริ่มจากการเขียนร่างด้วยดินสอ ลงสีด้วยพู่กันทีละภาพจนเสร็จสมบูรณ์ตามเนื้อเรื่องที่คิดไว้ ไม่ใช่การร่างรูปเป็นลายเส้นจนจบครบทุกช่องตามเนื้อเรื่องแล้วจึงมาลงสีทีหลัง

ผมจะเขียนภาพที่ละช่องให้เสร็จสมบูรณ์ไปเลยคิดเรื่องให้เข้ากับรูปแต่ละช่องที่เขียนแล้วก็คิดไปทีละช่อง ๆ ไม่เหมือนคนอื่น ๆ ที่จะเขียนร่างทั้งเรื่องและภาพจนจบแต่ผมจะร่างรูปไว้ทีละช่องลงสีให้เสร็จและเขียนไปเรื่อย ๆ เล่าเรื่องไป

6. เบื้องหลัง “จอมขมังเวทย์

เนื่องจากการเขียนนิยายภาพไม่เอื้อให้เขียนตัวละครเป็นกองทัพ ราช เลอสรวงจึงเขียนพระเอกขึ้นมาให้มีความเก่งกาจเท่าคนทั้งกองทัพ มีวิชาอาคมมากมายจนได้ฉายาเป็น จอมขมังเวทย์ ส่วนตัวละครนางเอกก็ให้เป็นหญิงสาวชาวพม่า

7. คู่แข่งคือแรงผลักดันในการสร้างงาน

ราช เลอสรวง เล่าถึงเบื้องหลังแรงผลักดันในการเขียนงานการ์ตูนของเขาในสมัยแรกว่ามาจากเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งเป็นทั้งแบบอย่างและคู่แข่งในวงการคอมิกส์ไทย

พี่ชายผมชื่อ ฉลอง ธาราพรรค์ เขาก็เป็นนักเขียนการ์ตูนมาก่อนก็ช่วยผมฝึกหัดเขียนการ์ตูนตอนเริ่มแรกตอนหลังผมผจญภัยเองผมก็เอา จุก เบี้ยวสกุล (จุลศักดิ์ อมรเวช เพื่อนร่วมรุ่นเพาะช่าง) นี่แหละเป็นแบบอย่างจุกเขามีอัจฉริยภาพทางพู่กันผมก็อยากเอาชนะเขาผมก็ฝึกใช้พู่กันและก็เอาเขาเป็นแบบอย่างในขณะเดียวกันผมก็เอาจุกนักเรียนรุ่นเดียวกันมาเป็นคู่แข่งในการทำงานซึ่งตอนนั้น จุก เบี้ยวสกุล เขาได้ค่าเรื่องตอนละ 800 บาทแล้วแต่ผมยังได้แค่ตอนละ 200 บาทซึ่งการวาดการ์ตูน 1 ตอนจะต้องเขียนประมาณ 32 หน้าอีกแรงผลักดันคือผมคิดไว้ว่าจะไม่ทำงานที่เป็นลูกน้องใครแล้ว (หัวเราะ) ก็เลยหันมาเขียนการ์ตูนนิยายภาพอย่างเดียว

ราช เลอสรวง

ราช เลอสรวง เล่าเพิ่มเติมถึงค่าตอบแทนงานเขียนการ์ตูนยุคแรกของเขาว่าเฉลี่ยอยู่ที่หน้าละ 52 บาท โดย 1 วันเขาสามารถเขียนได้ 1-2 หน้าครึ่ง ดังนั้นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพจึงมีรายได้ต่อเดือนมากกว่าเงินเดือนของข้าราชการชั้นตรี (จบใหม่) ซึ่งสมัยนั้นเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 800 บาท

8.ราช เลอสรวงกับเบื้องหลังภาพประกอบ “เพชรพระอุมา”

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเขาเคยวาดภาพปกหนังสือนิยาย “เพชรพระอุมา” ของ พนมเทียน เป็นช่วงสั้น ๆ เนื่องจากทางสำนักพิมพ์จ้างราช เลอสรวง เขียนภาพแทน สุรินทร์ ปิยานันท์ นักวาดภาพประกอบหลักของเพชรพระอุมา ซึ่งมีปัญหาสุขภาพ

การวาดภาพประกอบนิยายขายดีอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยแห่งยุคนั้นไม่ใช่ความสุข เพราะเขารู้สึกว่า ไม่ใช่งานถนัด

ผมไม่ชอบงานชุดนั้นเลยไม่ถูกใจเพราะไม่ดีเท่าที่คิดเพราะเราไม่ถนัดงานสีมันใช้สีโปสเตอร์ตอนแรกผมแอบอยากเขียน (ภาพ) แบบเปี๊ยกโปสเตอร์ (นักวาดภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เจ้าของตำนานภาพยนตร์วัยรุ่นไทยอย่างวัยระเริงและวัยอลวน) แต่ผมไม่รู้ทฤษฎีผมบอกเจ้าของโรงพิมพ์ให้ไปจ้างเปี๊ยกโปสเตอร์เถอะราช เลอสรวง บอกเหตุผลที่หยุดวาดภาพประกอบนิยายเพชรพระอุมา

9.ช่วงอายุ 30-60 ปีกับงานบรรณาธิการนิตยสาร “แปลก”

ตอนช่วงผมอายุ 30 กว่าตอนนั้นผมเลือก 2 อย่างในชีวิตคือผมชอบอ่านหนังสือและเชื่อว่าคนเป็นบรรณาธิการหนังสือควรจะเป็นนักอ่านมากกว่านักประพันธ์ผมก็เลยตัดสินใจไปทำหนังสือให้โรงพิมพ์แห่งหนึ่งแต่ผมทำอยู่เบื้องหลังคือให้ลูกชายเจ้าของโรงพิมพ์เป็นบรรณาธิการแต่เขาไม่ค่อยรู้เรื่องหนังสือผมชอบอ่านหนังสือก็ไปทำงานเบื้องหลังให้หนังสือชื่อหนุ่มสแควร์เป็นแนวหนังสือโป๊เปลือยแต่ผมไม่ได้ชอบเรื่องโป๊เปลือยนะผมชอบแนวสารคดี

นอกจากเขียนการ์ตูนแล้ว เขายังเคยเป็นบรรณาธิการคนแรกของนิตยสาร “แปลก” นิตยสารที่มีเนื้อหาเน้นแนวสารคดีแหวกกระแสนิยมซึ่งในช่วงนั้นตลาดนิตยสารออกไปในแนวโป๊เปลือย

ผมไม่ชอบแนวโป๊เปลือยเพราะผมชอบสารคดีผมยึดเนื้อหาหลักเป็นสารคดีเมืองไทยสมัยผมนี่เหมือนเขาจะไม่ยอมรับงานเขียนแนวสารคดีแต่ความจริงคนไทยขาดเรื่องแนวสารคดีผมก็เลยใช้โอกาสนั้นทำหนังสือสารคดีชื่อหัวนิตยสารแปลกให้โรงพิมพ์จินดาสาส์น”

ราช เลอสรวงเล่าเกร็ดเบื้องหลังวงการนิตยสารในอดีตว่าแนวโป๊เปลือยขายดี ทางสำนักพิมพ์จึงเน้นผลิตแนวนี้เพราะได้ยอดขายดีกว่า นอกจากนี้ยังมีนิตยสารเล่มอื่น ๆ ที่เขาเคยเป็นบรรณาธิการ รวมถึงนิตยสาร “เรื่องจริง” ออกเป็นรายสัปดาห์นิตยสาร “สะบัดช่อ” และนิตยสาร “สนามไก่ชน” ซึ่งเขาใช้นามปากกา “สังเวียน” เป็นบรรณาธิการ

10.การกลับมาเขียนการ์ตูนในวัย 70 ปีที่ต้องฝึกมือนาน 8 เดือน

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่านักเขียนการ์ตูนที่เขียนการ์ตูนมาทั้งชีวิตก็มีวันที่เลิกเขียนการ์ตูนได้เหมือนกัน และเมื่อเขาตัดสินใจเขียนการ์ตูนอีกครั้งในวัย 70 ปี ราช เลอสรวงต้องใช้เวลาฝึกฝนฝีมือนานถึง 8 เดือนเลยทีเดียว

ผมเลิกเขียนการ์ตูนไปนานกลับมาใหม่มือมันแข็งควบคุมพู่กันไม่ได้ผมต้องฝึกใหม่เริ่มต้นใหม่การกลับมานั่งเขียนการ์ตูนใหม่ในตอนนั้นเพราะ คุณโอม รัชเวทย์ อยากให้ผมเขียนซื้อดินสอพู่กันกระดาษมาฝึกเขียนใหม่ต้องฝึกนานถึง 8 เดือนจึงค่อยเขียนเดินเส้นได้สัก 60 เปอร์เซ็นต์ตอนนี้ผมอายุ 80 แล้วและตอนใหม่ ๆ ที่มาเริ่มเขียนตอนอายุ 70 มันก็สิบปีที่แล้วงานนี้ก็คงเป็นงานชุดสุดท้ายแล้วล่ะเพราะผมคงเขียนไม่ไหวแล้ว ราช เลอสรวงทิ้งท้าย

อ้างอิง

Fact File

  • คาแรกเตอร์ “สิงห์ดำ” ของราช เลอสรวง มีทั้งแฟนอาร์ต และฟิกเกอร์รูปปั้นทองเหลือง และรวมเล่มต้นฉบับเรื่อง สิงห์ดำ ตอนเก่า ๆ เตรียมวางแผงปลายเดือนเมษายน (2564)

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"