รัตน์ เปสตันยี แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ทำเพื่อหนังไทยที่เขารัก
Faces

รัตน์ เปสตันยี แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ทำเพื่อหนังไทยที่เขารัก

Focus
  • รัตน์ เปสตันยี คือตำนานของวงการภาพยนตร์ไทย นอกจากจะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ด้วยระบบฟิล์ม 35 มม.เป็นคนแรกของไทย เขายังเป็นเจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ
  • สันติ-วีณา ป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จไปทอดพระเนตรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์
  • รัตน์ เปสตันยี เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ทั้งยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยคนแรก ในปี พ.ศ.2502-2503

รัตน์ เปสตันยี (พ.ศ. 2451 – 2531) ชื่อนี้คือตำนานผู้บุกเบิกภาพยนตร์ไทย และเป็นผู้ยกระดับภาพยนตร์ไทยสู่สากล แม้แต่ลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เขายังทำหน้าที่เพื่อสิ่งที่เขารักนั่นคือการกล่าวปราศรัยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือภาพยนตร์ไทย ณ โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ

รัตน์ เปสตันยี คือตำนานของวงการภาพยนตร์ไทย เขาผู้นี้นอกจากจะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ด้วยระบบฟิล์ม 35 มม.เป็นคนแรกของไทยแล้ว ยังเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท หนุมานภาพยนตร์ และเป็นเจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2497 และภาพยนตร์ สันติ-วีณา ยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จไปทอดพระเนตรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์

รัตน์ เปสตันยี

เส้นทางสายภาพยนตร์ของวิศวกรผู้รักการทำหนัง

ย้อนกลับไปที่ประวัติของรัตน์ เปสตันยี เขาเป็นชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย ครอบครัวอพยพมาจากเตหะราน หรือเปอร์เซีย เพื่อมาค้าขายในประเทศสยาม เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ รัตน์ เปสตันยีได้ไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมที่ประเทศอินเดีย และอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ระหว่างที่เรียนอยู่นั้นเขาได้เริ่มสร้างผลงานถ่ายภาพยนตร์ และได้ใช้เวลาว่างฝึกฝนหาความรู้ความชำนาญในการถ่ายภาพ พร้อมส่งภาพเข้าประกวดจนได้รับรางวัลอยู่บ่อยๆ

ในปี พ.ศ. 2475 เขาก็ได้เริ่มส่งผลงานภาพยนตร์สั้นเข้าประกวดตามงานภาพยนตร์นานาชาติ และคว้ารางวัลแรกเมื่อปี พ.ศ. 2480 จากผลงานหนังสั้นเรื่อง “แตง” ซึ่งได้รับรางวัลอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก จากเทศกาลหนังกลาสโกลว์ ประเทศอังกฤษ และต่อมาใน พ.ศ.2482 หนังสั้นเรื่อง “เรือใบสีขาว” สามารถคว้ารางวัลที่นิวยอร์ก

ก่อนจะเริ่มอาชีพถ่ายทำภาพยนตร์ เขาทำงานประจำในบริษัทนายเลิศ และบริษัทดีทแฮล์ม มากว่า 10 ปี จากนั้นจึงได้เริ่มงานภาพยนตร์ในตำแหน่ง ผู้กำกับภาพ (Director of Photography) ให้กับภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ สร้างโดยบริษัท อัศวินภาพยนตร์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ต่อมาจึงได้ทำภาพยนตร์ขอเขาเองเรื่อง “ตุ๊กตาจ๋า” ถือเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของรัตน์ เปสตันยี ออกฉาย พ.ศ.2494  ซึ่งในเรื่องตุ๊กตาจ๋า เขาได้ควบตำแหน่งเขียนบทและกำกับภาพ

จากนั้นไม่นาน รัตน์ เปสตันยี ได้ก่อตั้งบริษัทหนุมานภาพยนตร์ มีโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐาน 35 มม. เป็นของตัวเอง และเป็นที่มาของการสร้างภาพยนตร์ด้วยระบบฟิล์ม 35 มม.เป็นคนแรกของไทย ได้แก่เรื่อง สันติ-วีณา และได้ส่งไปร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ ในปี พ.ศ 2495

ไม่เพียงเท่านั้นผลงานของ รัตน์ เปสตันยี ทุกเรื่อง นับจาก โรงแรมนรก (พ.ศ.2500) สวรรค์มืด (พ.ศ.2501) แพรดำ (พ.ศ.2504) ถูกยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ที่ยกระดับมาตรฐานภาพยนตร์ไทยให้เดินสู่สากล ทั้งในด้านงานสร้าง และวิธีการเล่าเรื่อง

สำหรับโรงแรมนรก เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกกำกับและเขียนบทโดย รัตน์ เปสตันยี ออกฉายในปี พ.ศ. 2500 เป็นเรื่องเดียวของ รัตน์ เปสตันยี ที่เป็นหนังขาวดำ ถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่ภาพยนตร์ไทยยังถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. จุดเด่นที่เรียกได้ว่าเป็นการปรับมาตรฐานของภาพยนตร์ไทยในเรื่องนี้ คือ ความแปลกใหม่ของ การวางโครงเรื่องที่ดำเนินไปได้ในฉากเดียว ( อ้างจากบทวิจารณ์ โดย ทิวลิป -กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน) ซึ่งไม่เคยมีภาพยนตร์ไทยเรื่องใดทำมาก่อน

ด้านการถ่ายภาพยนตร์ขาวดำเรื่องโรงแรมนรก เป็นผลงานการถ่ายภาพของ ประสาท สุขุม ตากล้องภาพยนต์คนแรกของไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมผู้ถ่ายภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยงานถ่ายภาพในโรงแรมนรก มีภาพระยะใกล้ หรือ โคลสอัพ ที่เน้นความงามทางสรีระและขับเสน่ห์ของดาราภาพยนตร์ สะท้อนสุนทรียะของภาพยนตร์ฮอลลีวูดยุคคลาสสิก ที่เน้นความสวยหล่อน่าเทิดทูน หรือที่เรียกว่าเป็น glamour shot (จากบทวิจารณ์โดย นายเฉลิมไทย นิตยสารสารคดี ตุลาคม 2538) โดยนักแสดงนำในเรื่องโรงแรมนรก ล้วนมีหน้าตาหล่อเหลาและบุคลิกที่จับภาพได้หล่อเหลา ซึ่งพระเอกของเรื่องคือ ชนะ ศรีอุบล ที่มีความหล่อแบบ มาร์ลอน แบรนโด ดาราฮอลลีวูดระดับตำนานยุค 50 ส่วนผู้ร้ายของเรื่อง ทัต เอกทัต

รัตน์ เปสตันยี

หอภาพยนตร์ได้สร้างหุ่นขี้ผึ้งจำลองของรัตน์ เปสตันยี

ผลงานชิ้นเอก “สันติ-วีณา”

ภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา สร้างในปี พ.ศ. 2497 เป็นผลงานชิ้นเอกเมื่อพูกถึง รัตน์ เปสตันยี สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้เขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ร่วมกับ โรเบิร์ต จี.นอร์ท อีกทั้งยังถ่ายภาพยนตร์และตัดต่อเอง ส่วนผู้กำกับภาพยนตร์คือ มารุต (ทวิ ณ บางช้าง) 

สันติ-วีณา เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกๆ ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. เทคโนโลยีใหม่ของยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เข้ามาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไทย ซึ่งฟิล์มสี 35 มม. มีราคาแพงกว่าและถ่ายทำยากกว่าฟิล์ม 16 มม. ที่เป็นมาตรฐานฟิล์มภาพยนตร์ในยุคนั้น

สันติ-วีณา เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์จากต่างประเทศ ในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 จัดที่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ 2497 และคว้ารางวัลสาขา ถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) นอกจากนี้ยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รางวัลจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา ประเภทรางวัลพิเศษ ในฐานะภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของเอเชียให้ชาวตะวันตกได้เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ฉากรำไทย ประเพณีลอยกระทง และวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในชนบทแห่งหนึ่งแถบภาคกลาง บทบาทของความเชื่อความศรัทธาต่อศาสนาพุทธในแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เชื่อในกฎแห่งกรรม และพิธีกรรมเพื่อการล้างบาป ปลดทุกข์

สำหรับสถานที่ถ่ายทำที่ตราตรึงใจในสันติ-วีณา เป็นการถ่ายทำจากสถานที่จริงที่ถ้ำเขาหลวง  บรรยากาศทุ่งนา และชีวิตแบบชาวนา ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี  เรียกว่า สันติ-วีณา เป็นทั้งความสำเร็จของงานศิลปะการถ่ายภาพยนตร์และการบันทึกวัฒนธรรม วิถีชีวิตในยุคสมัยหนึ่งของคนไทยเอาไว้ ผ่านเรื่องราวในภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความรักของสันติ หนุ่มตาบอด กับ วีณา สาวสวยรวยทรัพย์ในหมู่บ้าน ซึ่งสะท้อนค่านิยมสังคมไทยในยุคสมัยเก่า และสร้างอารมณ์สะเทือนใจจากโศกนาฎกรรมโรแมนติกที่เป็นสากล

หลังจากการส่งภาพยนตร์ สันติ-วีณา ไปฉายต่างประเทศ ปรากฏว่าฟิล์มภาพยนตร์ได้หายสาบสูญไป จนกระทั่งมีการค้นพบฟิล์มต้นฉบับอีกครั้งเมื่อปี.ศ. 2557 ที่สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (BFI) พบฟิล์มปริ้นท์ที่หอภาพยนตร์รัสเซีย และหอภาพยนตร์จีน ทางหอภาพยนตร์ไทยจึงได้ทำการบูรณะและอนุรักษ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ และได้จัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานานาชาติ เมืองคานส์ ในสายภาพยนตร์คลาสสิก ( Cannes Classics) เมื่อปี พ.ศ. 2559 

รัตน์ เปสตันยี
ภาพ :สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

รางวัลแด่ตำนานคนภาพยนตร์

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ยกให้ผลงานภาพยนตร์ “แพรดำ” ของรัตน์ เปสตันยี เป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าทะลายโจร”  ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับภาพยนตร์ไทยได้กลับมาสู่สายงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์อีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2544 ส่วนชื่อของรัตน์ เปสตันยี ก็ได้รับการตั้งให้เป็นชื่อรางวัลสำคัญในงานประกวดภาพยนตร์สั้นของคนไทย ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ที่จัดโดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วม กับ มูลนิธิหนังไทย

รางวัล รัตน์ เปสตันยี เป็นรางวัลใหญ่สุดในเทศกาลภาพยนตร์สั้น  สำหรับผลงานภาพยนตร์สั้น (ไม่เกิน 30 นาที) ของบุคคลทั่วไป โดยถือเป็นเวทีแสดงฝีมือของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยหลากหลายแนว เช่น ทรงยศ สุขมากอนันต์ ก็เคยคว้ารางวัลรัตน์ เปสตันยี และต่อมาเขาก็ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในระดับนานาชาติและมีผลงานในวงการศิลปะภาพยนตร์

ปัจจุบัน เทศกาลภาพยนตร์สั้น ยังได้เพิ่มสาขารางวัลรัตน์ เปสตันยี สำหรับภาพยนตร์สั้นอินเตอร์เนชันแนล มอบให้แก่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดบุคคลทั่วไปจากนานาชาติ  และช่วงเวลาการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์สั้น จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ในเดือนสิงหาคม แต่ปี 2563 นี้มีการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การจัดงาน เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 24 เลื่อนจากกำหนดเวลาเดิม โดยยังเปิดรับสมัครผลงานภาพยนตร์สั้น  และภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ จนถึง  31 สิงหาคม 2563 (ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง Facebook: ThaiShortFilmVideoFestival )

ปัจจุบันหอภาพยนตร์ได้สร้างหุ่นขี้ผึ้งจำลองของรัตน์ เปสตันยี และ ฉากจำลองโรงแรมสวรรค์  ตามแบบที่ปรากฎในภาพยนตร์เรื่อง โรงแรมนรก ตั้งแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ภายในอาณาเขต หอภาพยนตร์แห่งชาติ ที่ ถนนพุทธมณฑล สาย 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์

วาระสุดท้ายเพื่อลมหายใจของภาพยนตร์ไทย

รัตน์ เปสตันยีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2513 ในวันสุดท้ายของชีวิต เขาได้เข้าร่วมประชุมกับสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (กระทรวงพาณิชย์) ข้าราชการระดับสูง และบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์แนวหน้าของไทยในยุคนั้น อย่าง พระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล, หม่อมปริม บุนนาค, รุจน์ รณภพ, ดอกดิน กัญญามาลย์  และพันคำ

รัตน์ เปสตันยี  ในฐานะแกนนำผู้จัดตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวข้อเสนอในที่ประชุมเป็นคนสุดท้าย โดยมีเนื้อหาพูดถึงเส้นทางและอุปสรรคต่างๆ ในวงการภาพยนตร์ แต่หลังจากเริ่มต้นกล่าวได้เพียงไม่กี่ประโยคเขาก็เกิดอาการหัวใจวายกะทันหัน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในเวลาต่อมา และผลพวงจากการประชุมครั้งนั้น รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2513

วาทะของรัตน์ เปสตันยี ที่ฝากไว้ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่มีอุปสรรคมากมายแต่เขาก็ยังทำด้วยรักคือ 

“เรารักงานนี้ เราก็ทำ เราก็สู้ไป สมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา”

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป