10 ไฮไลต์ สาส์นสมเด็จ นิทรรศการจากนายช่างสยาม และ บิดาประวัติศาสตร์ไทย
Arts & Culture

10 ไฮไลต์ สาส์นสมเด็จ นิทรรศการจากนายช่างสยาม และ บิดาประวัติศาสตร์ไทย

Focus
  • ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ นิทรรศการจัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับ 2 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังงานด้านประวัติศาสตร์ในเมืองไทย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”  ผู้วางรากฐานด้านการศึกษาประวัติศาสตร์
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้รับเชิดชูว่าเป็น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” เป็น สมเด็จครู ผู้วางรากฐานของการศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมของไทย

ศิลปวิทยาการจาก สาส์นสมเด็จ นิทรรศการใหม่ล่าสุด และเป็นนิทรรศการที่พิเศษสุดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประจำปี 2563 เลยก็ว่าได้ เพราะนี่เป็นนิทรรศการจัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับ 2 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังงานด้านประวัติศาสตร์ในเมืองไทย นั่นก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้รับเชิดชูว่าเป็น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” เป็น สมเด็จครู ของงานช่างและศิลปะ ทั้งสองพระองค์เป็นปราชญ์ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะวัฒนธรรมของไทย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 และในปีต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเช่นกัน

ในอดีตที่ผ่านมาทั้งสองพระองค์มักมีจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายพระหัตถ์โต้ตอบกันในช่วงระหว่าง พ.ศ.2457-พ.ศ.2486 เกี่ยวกับพระวิจารณ์และถ้อยอรรถาธิบายในเรื่องศาสตร์และศิลป์หลายแขนงของไทย ในเวลาต่อมาทายาทของสองพระองค์จึงได้ส่งมอบจดหมายดังกล่าวให้กับกรมศิลปากรเพื่อเก็บรวบรวมและอนุรักษ์เอกสารสำคัญเหล่านี้ไว้เป็นสมบัติของชาติ

กรมศิลปากรได้นำจดหมายโต้ตอบบางฉบับของสองสมเด็จ ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวารสารศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2486 ชื่อบทความ สาส์นสมเด็จ จากนั้นจึงอนุญาตให้เอกชนจัดพิมพ์เป็นหนังสือ สาส์นสมเด็จ เพื่อสะท้อนเรื่องราวที่ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัย รวมทั้งเป็นเกร็ดความรู้ในด้านต่าง ๆ  ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑ์ วรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรี และนาฏศิลป์

เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ.2563 กรมศิลปากรจึงได้ประมวลและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงผลงานของทั้งสองพระองค์ที่ปรากฏในหนังสือ สาสน์สมเด็จ มานำเสนอในรูปแบบนิทรรศการ ศิลปวิทยาการจาก สาส์นสมเด็จ โดยคัดเลือกโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสำคัญกว่า 300 รายการ และสื่อมัลติมีเดียมาจัดแสดงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม -19 พฤศจิกายน 2563 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Sarakadee Lite ขอหยิบ 10 ชิ้นไฮไลต์ของโบราณวัตถุที่จัดแสดงในนิทรรศการ ศิลปวิทยาการจาก สาส์นสมเด็จ มาให้ชมกัน

พระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย” และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ปั้นหุ่นต้นแบบพระรูปของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เมื่อ พ.ศ.2466 และเก็บรักษาไว้ที่ตำหนักปลายเนินซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จครู จนต่อมาใน พ.ศ.2549 กรมศิลปากรจึงได้ขออนุญาตหล่อพระรูปจากหุ่นต้นแบบนั้น และนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

พระรูปนี้มีความสำคัญ เพราะในอดีตคนไทยไม่นิยมสร้างรูปเหมือนบุคคลที่ยังมีชีวิตเพราะเชื่อว่าจะทำให้อายุสั้น แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นพระราชวงศ์องค์แรกที่ยอมรับแนวคิดแบบตะวันตก และยินดีให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นหุ่นพระองค์เป็นต้นแบบ นับเป็นจุดเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างงานประติมากรรมรูปเหมือนบุคคลจริงของสังคมไทย ทำให้เกิดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูป พระรูปอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

โต๊ะทรงพระอักษร

โต๊ะสำหรับทรงพระอักษรของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดแสดงพร้อมเครื่องเขียนและของใช้ส่วนพระองค์ และที่สำคัญบนโต๊ะยังมีร่างจดหมายฉบับสุดท้ายที่ทรงเขียนถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และปฏิทินที่ระบุหน้าสุดท้ายที่ทรงใช้คือวันที่ 29 พฤศจิกายน 2486 ก่อนจะสิ้นพระชนม์ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486

ลับแลอิเหนา

ลับแล คือเครื่องกั้นใช้สำหรับบังสายตา กั้นห้อง แบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ลับแลบานนี้มีความพิเศษ 2 ประการคือ การตกแต่งด้วยการเขียนลายกำมะลอ ซึ่งนอกจากจะปิดทองคำเปลวแล้ว ยังมีการผสมสีฝุ่นกับน้ำรัก ระบายให้มีสีสันบนพื้นผิวด้วย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสันนิษฐานว่าวิธีการเขียนลายแบบนี้ได้มาจากช่างจีนที่อยู่ในประเทศไทย และช่างไทยได้นำมาดัดแปลงเขียนลงบนตู้พระธรรม หีบพระธรรมต่าง ๆ ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือ เรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นเรื่องอิเหนา มิใช่เรื่องรามเกียรติ์ ชาดกหรือพุทธประวัติตามที่ได้เห็นในงานจิตรกรรมทั่วไป

สมุดภาพตำรารำ รัชกาลที่ 1                

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำ“ตำราภาพรำ” โดยรวบรวมท่าฟ้อนรำที่สืบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา 36 ท่า ให้จิตรกรเขียนภาพลงบนสมุดไทยขาว นับเป็นตำราท่ารำเก่าแก่ที่ใช้เป็นต้นแบบของการแสดงนาฏศิลป์ของไทย

ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรียบเรียงข้อมูลหนังสือ “ตำราฟ้อนรำ” ขึ้นใหม่ให้มีความสมบูรณ์ โดยใช้สมุดภาพตำรารำ รัชกาลที่ 1 ฉบับนี้เป็นต้นแบบ

ศิลาจารึกวัดพระงาม

ศิลาจารึกจากเนินสถูปวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ถูกขุดพบเมื่อพ.ศ. 2562 จารึกหลักนี้จารด้วยอักษรตัวอักษรแบบปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างงดงาม เนื้อความกล่าวถึงการสรรเสริญ พระราชา เมืองทวารวดี และการอุทิศสิ่งของถวายเทพเจ้า ในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าจารึกหลักนี้เป็นอีกหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการมีอยู่ของ “ทวารวดี” เมืองในยุคสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย เมื่อกว่า1,500 ปีมาแล้ว

สาส์นสมเด็จ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นสัญลักษณ์ของปัญญาและโพธิญาณตามคติพุทธศาสนามหายานพระองค์จะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นสังสารวัฏก่อนแล้วจึงจะเสด็จสู่นิพพานเป็นองค์สุดท้าย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้ขณะเสด็จตรวจราชการทางภาคใต้บริเวณวัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน แม้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้จะชำรุดแต่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศ

สาส์นสมเด็จ

ตู้พระธรรมลายรดน้ำบานกระจก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กระแสวัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตู้กระจกแบบใหม่และการเข้ามาของสมุดฝรั่งมีมากขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ จึงทรงรวมรวมตู้พระธรรมโบราณจากวัดต่าง ๆ มาเก็บไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร และทรงดัดแปลงฝาหลังตู้ซึ่งไม่มีลวดลายประดับเป็นบานกระจก สำหรับใส่หนังสือเพื่อไม่ให้ลายทองด้านหน้าลบเลือนจากการเปิดปิดตู้

สาส์นสมเด็จ

ต้นฉบับภาพร่างพัดบรมราชาภิเษก 2468

ภาพเขียนสีน้ำบนกระดาษเป็นต้นแบบสำหรับปักพัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พ.ศ.2468 ฝีพระหัตถ์การออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังจะเห็นได้จากตราประจำพระองค์ “น ในดวงใจ”ที่ทรงซ่อนไว้ในชิ้นงาน ซึ่งในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีศิลปินไทยที่ซ่อนชื่อตัวเองไว้ในชิ้นงาน

คำว่า “เดชน์” ในพระบรมนามาภิไธย “ประชาธิปกศักดิเดชน์” แปลว่า “ลูกศร” รูปพระแสงศร 3 องค์ หมายถึง ราชศาสตราวุธของพระราม ได้แก่ พระแสงพรหมมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาด และพระแสงอัคนีวาต

สาส์นสมเด็จ

ตุ่มสุโขทัย

ตุ่มสุโขทัย เป็นชื่อที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้เรียกตุ่มขนาดใหญ่ ไม่มีน้ำเคลือบ ซึ่งขุดพบจากเตาบ้านเกาะน้อย จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันพบว่าตุ่มขนาดใหญ่แบบเดียวกับกันนี้มีแหล่งผลิตอยู่ที่เตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ด้วย แตกต่างกันตรงที่ตุ่มแบบหลังจะเคลือบสีน้ำตาล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุไว้ในจดหมายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2478  ว่าในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร มี “ตุ่มสุโขทัย” อยู่หลายใบ

สาส์นสมเด็จ

โครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์

แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอีกแหล่งโบราณคดีสำคัญมีอายุราว 3,500-5,000 ปีมาแล้ว โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดี บ้านเก่า แห่งนี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีมีมนุษย์อยู่อาศัยมาเมื่อหลายพันปีก่อนแล้ว ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกให้เห็นภาวะพยาธิวิทยาหรือโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ โดยสังเกตจากสภาพฟันผุ สึกกร่อน ที่อาจเกิดจากการกินของเปรี้ยวหรือการฝนขัดฟัน และกะโหลกศีรษะที่หนาผิดปกติซึ่งแสดงถึงภาวะโรคโลหิตจาง เป็นต้น

Fact File

  • ศิลปวิทยาการจาก สาส์นสมเด็จ จัดแสดงที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • นิทรรศการ ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม -19 พฤศจิกายน 2563

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ