T_047 บ้านข้าง ๆ กับสีของฟ้าที่เปลี่ยนไปและวัยที่เติบโตขึ้น
Faces

T_047 บ้านข้าง ๆ กับสีของฟ้าที่เปลี่ยนไปและวัยที่เติบโตขึ้น

Focus
  • ตูน-ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ ที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ T_047 หรือ บ้านข้าง ๆ แอคเคาต์อินสตาแกรมและแฟนเพจที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้าและความรู้สึกนึกคิดในแต่ละวัน
  • อีกบทบาทของตูนคือ นักร้อง นักแต่งเพลงของวง T_047 และ วง Yerm รวมทั้งการเป็นนักเขียนและเจ้าของ บ้านข้าง ๆ Cafe & Gallery
  • Hello Neighbors คือชื่ออัลบั้มที่ 2 ของวง T_047 ที่ค่อยๆ ประกอบร่างขึ้นมาในปีนี้และตูนกำลังจะมีหนังสือเล่มที่ 2 ชื่อ ขอให้ได้เจอ ท้องฟ้าในแบบที่เธอชอบ กับสำนักพิมพ์ Springbooks

8 ปีที่เก็บสะสมท้องฟ้า บ้านข้าง ๆ และถ่ายทอดความรู้สึกขนาดหนึ่งบรรทัดลงบนอินสตาแกรม T_047 (ทีศูนย์สี่เจ็ด) เป็นเวลานานพอที่ ตูน-ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ จะเป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะด้วยการได้เห็นเฉดสีท้องฟ้ามุมเดิมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน หรือแคปชันบันทึกความรู้สึกนึกคิดที่ตรงกับใจใครหลายคน

T_047

จากท้องฟ้าบ้านข้าง ๆ ในวันนั้นที่เป็นเสมือนไดอารีของเด็กมัธยมปลายคนหนึ่ง 4 ปีมานี้ก็ได้เริ่มขยับขยายกลายเป็นบทเพลง เป็นเวลาราว 1 ปีที่เรื่องราวเหล่านั้นได้บันทึกลงบนหนังสือเล่มแรก และยังเป็นเวลา 1 ปีที่ บ้านข้าง ๆ Cafe & Gallery เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้เพื่อนบ้านแวะเวียนมาดูท้องฟ้าและฟังเพลงด้วยกันกับเขา

ในโอกาสที่ T_047 กำลังทยอยปล่อยเพลงอัลบั้มใหม่ที่ชื่อ Hello Neighbors และ ขอให้ได้เจอ ฟ้าในแบบที่เธอชอบ คือชื่อหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาที่กำลังวางแผง Sarakadee Lite เลยขอไปเคาะประตูบ้านข้าง ๆ พูดคุยถึงสิ่งที่เขาคิดและทำอยู่กัน

ที่มาของอัลบั้ม Hello Neighbors

อัลบั้มแรกเราทำเป็นโฮมสตูดิโอ คือพยายามทำให้มันง่ายที่สุด อัดเพลงกันง่าย ๆ ในห้องนอน คนก็เหมือนให้สโคป T_047 ว่าเราเป็นวงโฟล์ก แต่อัลบั้มที่ 2 เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นโฟล์ก คือทุกเพลงที่เขียนมันถูกตั้งด้วยเมสเสจมาก่อน และเราก็พยายามหยิบจับอะไรที่ง่ายที่สุด มันเลยกลายเป็นกีตาร์ 1 หรือ 2 ตัวแค่นั้น

อัลบั้มที่ 2 เราแค่รู้สึกว่า จริง ๆ สิ่งที่ฉันเขียนมันเป็นอะไรก็ได้ มันถูกเล่าด้วยบริบทไหนก็ได้ จะเป็นร็อกหรือ R&B ก็ได้ เลยเริ่มคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราเอาเพลงที่เราเขียนไปฟีเจอริงกับเพื่อนของเราในแต่ละแนว ให้มันออกมาแตกต่างกันไปเลยทั้งอัลบั้ม เลยเป็นที่มาของชื่ออัลบั้มว่า Hello Neighbors คือไปฟีเจอริงกับคน 9 คน 9 แนวเพลง

T_047

แสดงว่า T_047 ไม่มีแนวเพลงที่ตายตัว

เราไม่ได้รู้สึกว่ามันจำเป็นเลยนะ เราจะเอาเรื่องแนวเพลง เรื่องดนตรีเป็นรอง สิ่งที่เราจะยึดไว้ที่สุดคือข้อความของเพลง ว่าเราได้อะไรจากธรรมชาติ สิ่งรอบตัวอะไรแบบนี้ เราเอามาเขียนแล้วมันทำให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไรมากกว่า แต่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นดนตรีแบบไหน

ทำไมต้องเป็นศิลปิน 9 คนนี้ที่อยู่ในอัลบั้ม

จะมีทั้งคนที่ หนึ่งเป็นเพื่อนสนิท สองคือวงที่เราอยากให้คนรู้จัก และสามคือวงที่เรานับถือมานานและอยากร่วมงานด้วยมาก ตั้งมาจากอันนี้ก่อนเลยแล้วเพลงค่อยมาทีหลัง เหมือนว่าเราอยากจะเล่าเรื่องอะไรบางอย่างกับคนคนนี้ จะเล่าอะไรดีนะ แต่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของอัลบั้มจะเป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว เราก็ทักไปบอกเลยว่าอยากทำเพลงด้วย คุณโอเคไหม แต่ผมเขียนเองนะ เขียนเสร็จก็เอาไปให้เขาฟัง ว่าเอาด้วยไหมอะไรแบบนี้

T_047
มิวสิกวิดีโอ ดาวดวงน้อย
T_047  (Feat. Ammy The Bottom Blues )

มีเพลงที่ช่วยกันเขียนไหม

มีเพลงเดียวคือ ดาวดวงน้อย แต่งกับแอมมี่ The Bottom Blues เพราะซี้กัน รู้จักกันมาก่อนที่จะทำอัลบั้มนี้ไม่เกิน 1 ปี แต่ด้วยความที่เป็นคนมีทัศนคติคล้ายกัน ใช้ชีวิตคล้าย ๆ กันก็เลยจะสนิทกันเร็ว เราก็บอกว่าพี่ควรมาอยู่ในอัลบั้มนี้ด้วยนะ เป็นเพลงเดียวในอัลบั้มเลยที่เขียนคู่กัน

เนื้อหาของอัลบั้มนี้ต่างจากอัลบั้มที่แล้วอย่างไร

มันวัดกันด้วยอายุมากกว่า ตอนที่เราทำอัลบั้มแรกมันแค่ช่วงปี 2 อายุ 19-20 ปี มันมีความโลกสวย มีด้านบวกประมาณหนึ่ง แต่อัลบั้มนี้ ด้วยอายุที่โตขึ้นมันก็เริ่มมีความคิดลบเข้ามา เราก็ใส่เข้าไปในเพลงด้วย เพราะฉะนั้นบางเพลงก็จะดาร์กไปเลย การเมืองก็จะมีนิดหนึ่ง เวลาเขียนเพลงจะไหลไปตามความรู้สึกตอนนั้น ไม่ใช่ว่าอัลบั้มแรกเรามีชื่อเสียงมาด้วยการเขียนแบบนี้ เราก็จะไม่ได้พยายามไปเขียนแบบนั้น เรียกว่าเคารพความรู้สึกในปัจจุบัน

ถือว่าจริงจังกับการทำงานเพลงมากขึ้นไหม

เพราะว่าเราไปรบกวนศิลปินท่านอื่นมาทำงานด้วย เลยรู้สึกว่าไม่อยากให้เสียของ เหมือนทำในโฮมสตูดิโอมันก็ได้คุณภาพประมาณหนึ่ง แต่เราก็อยากจะดันตัวเองขึ้นไปในอีกระดับของการทำดนตรีด้วย ก็เลยเข้าห้องอัดกัน แต่การเลือกห้องอัดก็สำคัญเพราะด้วยความที่เราโตมากับการทำเพลงแบบชิล ๆ ถ้ามันกลายเป็นกระบวนการจริงจังปุ๊บ ความสนุกมันจะหายไป เราเลยเลือกห้องอัดเพลงที่ซี้กัน ที่สามารถบ้าบอในนั้นได้ ฟีลก็จะเหมือนอยู่ในห้องเดิม แต่มีอุปกรณ์ที่ดีขึ้น

อัลบั้มนี้ดูมีลูกเล่นทางดนตรีเพิ่มขึ้น

ใช่ มันเกิดจากเวลาไปเล่นดนตรีสดด้วย มันต้องเอนเตอร์เทนคนประมาณหนึ่งถ้าเอนเตอร์เทนเขาไม่ได้ เมสเสจมันไปไม่ถึงเลย บางทีอาจจะต้องมีกลองเพื่อดึงเขาให้ไหลไปกับเรา ให้เขาได้ฟังสิ่งที่เราจะพูดด้วย

มิวสิกวิดีโอ Magic Hours – T_047 (Feat. Plastic Plastic)

จริงไหมที่บอกว่าปล่อยเพลงตามบรรยากาศในวันนั้น

มันเป็นเรื่องของอีโก้ตัวเอง อย่างสมมติวันนั้นมีเรื่องเศร้าในใจ เราก็จะรู้สึกว่าไม่อยากปล่อยเพลงนี้ ถ้ามีกระแสข่าว หรือเรื่องอะไรที่มาทำลายความรู้สึกของเพลงก็จะไม่อยากปล่อย บางเพลงอย่าง Magic Hours ที่แต่งตอนช่วงพระอาทิตย์ตก เราอยากให้คนได้ฟีลกับเพลงนี้มากที่สุด เพราะช่วงที่คนจะฟังเยอะสุดคือช่วงที่เพิ่งอัปโหลด เราก็ไปนั่งดูปฏิทินเวลาเลยว่าวันนี้กรุงเทพฯ พระอาทิตย์ตกกี่โมง แล้วเราจะปล่อยเพลงนี้ตอนนั้นเพื่อให้คนได้ฟีลเท่ากับที่เราเขียนที่สุด อย่างที่บอกว่าเรายึดเรื่องของเมสเสจเป็นหลัก เรารู้สึกอะไรตอนเขียน คนฟังต้องได้รับสิ่งนั้นอย่างดีที่สุด

คาดหวังอย่างไรกับอัลบัมนี้

จริง ๆ ทุกเพลงที่ปล่อยเราก็คาดหวังแหละว่าอยากให้มีคนฟังเยอะที่สุด เพราะเราจะมั่นใจว่าเพลงฉันมีประโยชน์ เพลงฉันไม่ได้ปล่อยเพื่อไปทำให้เธอร้องไห้มากกว่าเดิมหรือไปทำให้เธอคร่ำครวญมากกว่าเดิม ทุกเพลงที่ปล่อยมันเกิดจากความมั่นใจว่าจะทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งเห็นมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น ทำให้คนเห็นความงามของท้องฟ้ามากยิ่งขึ้น

อยากให้มันสร้างประโยชน์กับคนได้มากที่สุด เพราะเราเคยเจอข้อความหนึ่งใน YouTube มีคนเป็นโรคซึมเศร้าแล้วเขาฟังเพลงแล้วดีขึ้น หมอก็บอกว่าเขาดีขึ้น หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่าอันนี้คือรางวัลที่ดีที่สุดของคนที่ทำดนตรี เราเลยพยายามตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก แล้วพยายามยึดไว้ว่าเมสเสจของเพลงมันมีหน้าที่เพื่อรักษาคน

รู้สึกอย่างไรเวลามีคนบอกว่าเพลงของเราสามารถฮีลเขาได้

ก็ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ถ้าฟังแล้วไม่ฮีลเราก็ไม่ Success อย่างน้อยถ้าสิบล้านวิวขอสักล้านหนึ่งเหอะ ที่ชีวิตคุณดีขึ้นจากเพลงนี้

ยึดคอนเซ็ปต์เรื่องการฮีลมาตั้งแต่เริ่มแต่งเพลงเลยไหม

สีของฟ้าเพลงแรกของ T_047 มันเกิดจากการมองว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากการถ่ายท้องฟ้ามา 3-4 ปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของสีของฟ้าที่มันไม่ซ้ำเดิม เห็นการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกตัวเองที่ไม่เหมือนเดิม เราแค่อยากจะเล่าตรงนี้ออกไป คือเราไม่ได้พยายามว่าฉันจะต้องเป็นปรัชญา ต้องเข้าใจโลก แต่ด้วยธรรมชาติของเรามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ เป็นอีกมุมที่คิดว่าน่าจะดีต่อคนฟังมากกว่า

สีของฟ้าเป็นการบอกเล่าสิ่งที่เราทำอยู่ด้วยหรือเปล่า

ใช่ เหมือนเป็นคอนเซ็ปต์ที่เราทำมาตลอด แล้วทำให้คนเข้าใจได้ ตอนนั้นแค่อยากจะร้องบอกคนที่เขาติดตามเราในอินสตาแกรม ติดตามเพจเราว่ามันไม่ใช่แค่ถ่ายตึกอะไรทุกวันก็ไม่รู้ มันมีความรู้สึก มีคอนเซ็ปต์ที่เรารู้สึกว่าได้รับจากมัน แล้วเราอยากให้คนอื่นได้รับด้วย

เพลงแรกในชีวิตที่แต่งคือเพลงอะไร

ในชีวิตเราจะมีอีกวงหนึ่งคือวง Yerm เราเขียนเพลงกับ Yerm ก่อน แต่จำไม่ได้แล้วว่าเพลงไหนที่เขียนเป็นเพลงแรก สำหรับ Yerm สไตล์เพลงคือคิดอะไรก็จะพูดเลยไม่ต้องมาวิเคราะห์หรือหาทางออกกับมัน เพราะในพาร์ตหนึ่งของคนเรามันต้องมีพาร์ตที่อยากจะร้องไห้หรือตะโกนออกไป ซึ่งวง Yerm จะทำหน้าที่นั้น

จริง ๆ แล้วตูนเป็นสไตล์แบบ T_047 หรือ Yerm

เป็นทั้งหมดเลย เรารู้สึกว่าการเกิดของความรู้สึกหนึ่ง ความรู้สึกแรกทุกคนต้องมีความโกรธ มีความเสียใจซึ่งนั่นคือสิ่งที่ Yerm เป็น แต่พอเราอยู่กับความเสียใจนาน ๆ จนอยากจะหาทางออก T_047 ก็จะเป็นทางออกให้กับความรู้สึกต่าง ๆ ในชีวิต แต่บางความรู้สึกเราก็ไม่ได้อยากจะหลุดพ้นจากมันนะ อย่างการคิดถึงใคร ก็มีไว้ได้ไม่ต้องไปหาทางออก

T_047 กับ Yerm มีแนวเพลงที่ต่างกัน แล้วตูนเองชอบฟังเพลงแนวไหน

เราฟังเพลงเกาหลี เพลงไทยแทบไม่ได้ฟังเลย ถ้าให้ใส่หูฟังแล้วเดินออกไปจะเปิด TWICE Girls’ Generation ITZY ฟัง อันนี้คือความบันเทิงของเรา ฟังเพลงเกาหลีก็จะได้เรื่องของเมโลดี้ เมโลดี้เขาคราฟต์มาก ดีมาก มันเป็นความบันเทิงของเรา ซึ่งบางทีเราก็รับเมโลดี้มาจากตรงนี้เหมือนกัน

ที่เคยบอกว่าชอบท้องฟ้าช่วงใกล้กับกลางคืน ตอนที่เขียนเพลงเขียนตอนกลางคืนด้วยหรือเปล่า

เขียนตอนไหนก็ได้เลยที่มีฟีล อย่างว่าง ๆ หรือวันนี้เจอเรื่องนี้มา เก็บกดว่ะ กลับห้องไปก็เขียนเลย

เขียนเพลงแต่ละเพลงนานไหม

แล้วแต่เพลงเลย ถ้าเรื่องมันเยอะก็อาจจะใช้เวลาหน่อย เช่น แม่กำปอง จะนานในเรื่องของการสร้างมู้ด เพราะตั้งใจว่าจะพาคนไปที่นั่นจริง ๆ ถ้ามีท่อนไหนหลุดหรือมีประโยคไหนที่มันไม่ใช่ที่นั่น คนฟังอาจจะหลุดจากสถานที่นั้นไปเลย อย่างหลังคาก็จะเขียนเร็ว เพราะคอนเซ็ปต์มันค่อนข้างชัดอยู่แล้ว

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไรที่เข้ามาสะกิดเรา

ถ้าเป็นช่วงอัลบั้มแรกจะเป็นเรื่องความรักที่เราพยายามทำความเข้าใจมัน แต่อัลบั้มที่ 2 จะเป็นเรื่องของชีวิตกับความฝันมากขึ้น เป็นชีวิตจริงมากยิ่งขึ้น เขียนเพลงรักก็เขียนไม่ได้แล้ว มันไม่ได้มีความหลง ตอนนี้ทุกอย่างมันนิ่ง ไม่ได้ใฝ่หาขนาดนั้นเพราะเราก็มีแฟน มีชีวิตความรักที่ค่อนข้างมั่นคง

ชอบเพลงไหนของตัวเองเป็นพิเศษ

จริง ๆ ความชอบมันใกล้ ๆ กัน แต่เพลงที่ยังส่งเอฟเฟกต์ให้เราคือ เพลงหลังคา ที่ต่อให้ท้อก็สามารถฟังเพลงตัวเองเพื่อฮีลตัวเองได้ (หัวเราะ)

การเป็นศิลปินถือว่าเป็นความฝันไหม

เรียกว่าไม่มีทางเลือกดีกว่า เพราะเราไม่สามารถทำงานกับใครได้เลย ไม่สามารถทำงานโดยรับคำสั่งจากใครได้ ด้วยความที่เชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างมาก และค่อนข้างมีความคิดที่หลุดกรอบ พอทำงานที่มีเรื่อง Budget เรื่องลูกค้ามันจะมีกรอบว่าคุณต้องทำแบบนี้ จะมีความอึดอัดว่าเรื่องนี้ทำแบบนี้ไม่ได้ เราเคยไปทำงานเอเจนซีมา 2 เดือนก็ลาออกเลย

ทำไมถึงมั่นใจที่จะออกมาเป็นศิลปิน

โห ไม่มั่นใจเลย แต่แค่รู้สึกว่าฉันทำสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว เราไปอยู่เอเจนซีอันดับ 1 ของประเทศมาแล้ว ก็รู้สึกว่าฉันเป็นคนนั้นไม่ได้ ก็เลยโอเค ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ออกมาลุยเลย เอาเวลาทั้งหมดมาเขียนเพลงไปเลย เป็นอย่างไรค่อยว่ากัน

บ้านข้าง ๆ

ตอนนั้นเอาทุนมาจากไหน

ตอนนั้นเรามีฐานแฟนเพจอยู่ประมานหนึ่งแล้ว ก็มีการขายถุงผ้า ขายของต่าง ๆ พอได้มาก็ทำเพลง ทำเอ็มวีมาเรื่อย ๆ แล้วก็จะมีงานของ Cat Radio ที่เราจะได้ก้อนใหญ่มาบ้าง พอให้เปิดร้านนี้ได้

มีวิธีจัดการกับความคาดหวังในฐานะศิลปินอย่างไร

เราไม่รับเลย แค่ หลังคา เพลงแรกของอัลบั้ม 2 ที่ออกไป ก็แหกความคาดหวังหมดแล้ว มันแทบจะเป็นกลิ่นเพื่อชีวิตด้วยซ้ำ มันไม่ได้ฟังง่ายหรือแม้กระทั่งความคาดหวังว่าเราจะเป็นคนอย่างไร เราจะไม่รับเลย ไม่เอาคำว่าไอดอลหรืออะไรเลย เพราะเรารู้ว่าเราเป็นไม่ได้

ณัฐธีร์มีไอดอลไหม

ถ้าไอดอลเลยมีพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก ถ้าเป็นเรื่องงานก็จะมีพี่วิศุทธิ์ พรนิมิตร เวลาจะเอาใครเป็นไอดอลเราจะตามแนวคิดเขามากกว่า แต่แนวทางการใช้ชีวิตเราไม่มีไอดอล

เริ่มเขียนหนังสือได้อย่างไร

สำนักพิมพ์ Springbooks ทักมาชวนเลย ก่อนหน้านั้นไม่ได้คิดเพราะเล่าเรื่องยาว ๆ ไม่ได้ อย่างแคปชันมันจะสั้น เขียนเรื่องยาว ๆ เราจะไม่ค่อยมั่นใจ แต่เรารู้สึกว่าหนังสือเราต้องไม่เป็นโฟโต้บุ๊กที่มีแค่รูปกับแคปชัน ต้องมีอะไรที่มากขึ้น เราจะเอาแคปชันที่เคยลงมาย่อยให้ฟังว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้นถึงเป็นแคปชันอันนี้มา

หนังสือ “ขอให้ได้เจอ ฟ้าในแบบที่เธอชอบ” เป็นแบบนั้นไหม

ขั้นตอนเหมือนกัน แต่จะมีการทดลองบางอย่าง เราจะเอาแคปชันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วจนถึงมีนาคมปีนี้ เพื่อให้ดูว่าหนึ่งปีที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ความคิดเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างปี เราโตขึ้นไหม

หน้าปกหนังสือมีคำว่า From March to March มีนาคมเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร

ชื่อหนังสือมันจะสวยมาก ถ้าเป็นเดือนมีนาคม คือชอบคำว่ามีนาคมอยู่แล้ว จริง ๆ เริ่มเดือนไหนก็ได้ แค่ชอบคำว่ามีนาคม 

1 ปี From March to March มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เห็นชัดที่สุด

มันเห็นความปลงของตัวเอง จากที่เคยหมกมุ่นเรื่องนู้นเรื่องนี้ ไม่ได้เชิงทำความเข้าใจกับมันด้วย แต่แค่รู้ว่าบางอย่างมันต้องปล่อยจริง ๆ แล้วก็อยู่กับมันในแบบไหน รับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

เอาความช่างเปรียบเปรยมาจากไหน

ไม่รู้เลย อาจจะไม่ชอบอะไรที่มันพูดตรงเกินไปโดยที่ไม่มีวาทศิลป์ แล้วก็อาจจะชินกับคนรอบตัวที่บางทีพยายามพูดอะไรตรง ๆ แล้วเข้าใจกันยากเลยพยายามเปรียบเทียบกับอะไรที่ง่ายที่สุด

เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งท้องฟ้าและแคปชันของเราจะแทนความรู้สึกคนได้

ไม่เรียกว่าแทนหรอก มีบางจุดที่เชื่อมโยงกันมากกว่า เช่นเรื่องที่เราเขียนเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเป๊ะ แต่เขาเข้าใจไปอีกแบบจากประสบการณ์ของเขาเอง ซึ่งประสบการณ์ของเรามันต่างกันอยู่แล้ว สิ่งที่เราเขียนเราไม่รู้หรอกว่าเรื่องของคุณเป็นอย่างไร แต่เรื่องของเราเป็นแบบนี้ เกิดจากเหตุการณ์นี้ ถึงมีข้อความนี้เกิดขึ้น

คิดว่าเจอตัวเองเร็วไหม

ไม่ได้ไปตั้งใจหามากกว่า หรือคนเราอาจจะไม่ต้องหาตัวเองเพราะนี่คือสิ่งที่เราเป็น เราไม่ต้องรู้ว่าเราชอบอะไร แต่วันนี้เราอยากทำอะไรมากกว่า หลายคนจะเครียดเรื่องนี้ ไม่ได้ไม่รู้หรอก เรารู้ แต่สิ่งที่ชอบอาจจะไม่มั่นใจว่ามันจะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้ เลยไม่มั่นใจว่าควรชอบหรือเปล่า

บางคนชอบดูซีรีส์เกาหลี ก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่เป็นอาชีพ เลยไม่มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ชอบหรือเปล่า ทั้งที่จริง ๆ อาจจะเป็นคนรีวิวซีรีส์ เขียนเบื้องหลังซีรีส์ก็ได้ แค่เราอาจจะติดกับคณะในมหาวิทยาลัย เพราะมันไม่ได้มีคณะซีรีส์ศาสตร์ ซึ่งคนทุกคนไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ไม่ได้ออกแบบมาให้เก่งวิทย์หรือคณิต คนไม่ได้เก่งอะไรอย่างเราแต่แค่รู้ว่าสื่อสารได้ มันก็จะมีช่องทางของมัน เรารู้สึกว่าคนจะพยายามยึดกับอะไรที่เป็นอาชีพได้ แล้วต้องไปทางนั้น เลยอาจจะไม่กล้า

อิทธิพลอะไรที่ทำให้ตูนมีทั้งความเป็นวัยรุ่นและด้านที่นิ่งอยู่ด้วยกัน

คนรอบตัวเลย ด้วยความที่ทำงานกับคนที่อายุเยอะ เราหาฟังเพลงตั้งแต่เด็กด้วย ฟังเพลงที่รู้สึกมีประโยชน์ ฟังพี่ชม ชุมเกษียร ลองไปไล่ฟังดู ปรัชญาชีวิตจะอยู่ในเพลงของพี่ชม เช่นเพลงเหนือลม ที่จะเล่าว่าเมื่อก่อนโลกนี้ไม่มีอะไรเลย ทำไมจู่ ๆ คนอยู่สูงต่ำขึ้นมาได้ ใครมันสร้างกฎ เราจะเห็นมุมนั้น อย่างอีกวงที่ชอบคือ YENA เพราะทุกเพลงมันเห็นมุมมอง อย่างเพลงกรุงเทพ ‘กรุงเทพ 14 กุมภา มนุษย์จัดว่ามันเป็นวันวาเลนไทน์ แล้ววาเลนไทน์ของเด็กขายดอกกุหลาบนั้นตรงกับวันที่เท่าไร’ จะเห็นถึงเรื่องชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ มันก็หล่อหลอมมาเองด้วยความบังเอิญด้วยมั้ง บังเอิญที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้ตรงนี้ เราก็ค่อย ๆ อยากรู้ขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่วัดความสำเร็จสำหรับตูนคืออะไร

ถ้าสมมติมีคนถามว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า ใช่ ประสบความสำเร็จแล้ว อยู่ที่ว่าความสำเร็จคืออะไร คือชื่อเสียงหรือยอดวิวหรือเปล่า เราไม่ได้ตั้งตรงนั้น เรามองไปที่ปลายทางว่าสุดท้ายชีวิตเราต้องการอะไร เราต้องการตื่นมาแล้วหายใจ มีความสุข เรายิ้ม เราหัวเราะ ใช้ชีวิตได้ ไม่ทุกข์ มีความสุขในทุกชั่วขณะ อันนี้คือความสำเร็จของเราที่เราจะตัดเรื่องภายนอกออกไปเลย หรือชีวิตนิ่ง ๆ ก็ได้ อยู่ร้านกาแฟ ไม่ได้ต้องไปกินอะไรแพงมาก คือแต่ละคนก็ตีความความสำเร็จและความสุขต่างกัน

มีความกดดันไหมว่าต้องประสบความสำเร็จตอนอายุเท่านี้

ไม่มีเลย การถ่ายรูปบ้านไม่ใช่งาน แต่เราถ่ายเพราะเราแฮปปี้ การทำเพลงก็ทำเพราะเราแฮปปี้ ไม่ว่าคนฟังจะน้อยลงหรืออะไรก็ตาม อะไรที่ทุกวันนี้พอหาเงินได้ ยิ่งเรารับเงินเขามายิ่งไม่ควรไปหักหลังเขาเลย ทุกวันนี้ที่เขาซื้อรูปเพราะเขาศรัทธาในสิ่งที่เราตั้งมั่น มันถึงมาช้า เพราะว่าเราถ่ายมา 8 ปีแล้วนะกว่าจะถึงตรงนี้ ซึ่งมันเป็นระยะเวลาที่นาน เราก็แค่ยึดตรงนี้ต่อไป เขากำลังให้เงินเรา ให้เรามีชีวิตเพื่อที่จะต่อยอดเป็นสิ่งเหล่านี้แล้วส่งกลับไปหาเขา โดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงแก่นสารหรือสร้างขึ้นมา

มีอะไรที่อยากทำอีกไหม

จะไม่ค่อยคิดว่าอยากจะทำอะไร มันอยู่ที่โอกาสด้วยหรือพรุ่งนี้ตื่นมาแล้วรู้สึกอยากทำสเก็ตบอร์ด ก็จะหาข้อมูลเลย สมมติคิดเล่น ๆ ว่าอยากทำสเก็ตบอร์ดที่เป็นรูปบ้านข้าง ๆ ที่มีก้อนเมฆ แล้วคอนเซ็ปต์คือเหยียบเมฆทะยานฟ้า ก็จะไปหาว่าใครวาดสเก็ตบอร์ดให้ได้บ้าง หรือว่าเราไปฟังเพลง ดูหนัง เดินข้างนอกแล้วเห็นอะไร อยากเอามาทำก็จะทำ ด้วยความที่งานมันไม่ได้ตายตัว จะเป็นอะไรก็ได้

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม