6 เพลงเพื่อชีวิต ฉบับนิวเจน ที่ยังคงส่งเสียงสะท้อนสังคมไทย
Lite

6 เพลงเพื่อชีวิต ฉบับนิวเจน ที่ยังคงส่งเสียงสะท้อนสังคมไทย

Focus
  • เพลงเพื่อชีวิตนั้นแทบจะเป็นแนวเพลงเดียวที่ไม่ได้แบ่งด้วยเสียงดนตรี จังหวะ หรือวิธีการตามหลักตัวโน้ตเหมือนแนวเพลงอื่น ๆ แต่การจะแบ่งว่าเพลงนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิตหรือไม่ ดูจากเนื้อหาของเพลงเป็นส่วนใหญ่
  • ในอดีตเพลงเพื่อชีวิตมักอยู่คู่กับเวทีเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่วันนี้ที่ดนตรีมีความหลากหลายขึ้น เพลงเพื่อชีวิตแบบเดิมจึงถูกแทนที่ด้วยฮิปฮ็อปและเพลงเพื่อชีวิต ฉบับนิวเจน

ท่ามกลางบรรยากาศม็อบการเมือง การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างของม็อบในสมัยใหม่คือ “เสียงเพลง” ที่ใช้ในการบิวต์อารมณ์ สร้างความบันเทิงแก่ผู้ชุมนุม และสื่อสารสะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งปัญหาของสังคมที่กำลังเกิดขึ้น โดยพื้นที่ทางดนตรีในม็อบยุคก่อนคือ เพลงเพื่อชีวิต ที่เล่นกันด้วยเครื่องดนตรีสด (เเนวเพลงเพื่อชีวิตแบบเดิมก็ยังมีอยู่ในม็อบ เพียงแต่พื้นที่น้อยลง)

ส่วนปัจจุบันแนวเพลงกลางม็อบมีความหลากหลาย ที่เห็นได้ชัดคือการเปิดพื้นที่ให้แนวเพลงฮิปฮอป ซึ่งตอนนี้ได้กลายมาเป็นแนวเพลงกระแสหลักทั้งในและนอกเวทีการเมือง แต่หากจะบอกว่ารากของฮิปฮอปคือ เพลงเพื่อชีวิต ก็ต้องบอกว่ามันเป็นแบบนั้นเลย

ด้วยแนวเพลงปัจจุบันที่มีความหลากหลายมากขึ้นจากสมัยก่อน จึงทำให้เกิดการตีความ “เสียง” ของเพลงเพื่อชีวิตแตกต่างกันออกไป การแบ่งแนวเพลงเพื่อชีวิตนั้นน่าสนใจมาก เพราะแทบจะเป็นแนวเพลงเดียวที่ไม่ได้แบ่งด้วยเสียงดนตรี จังหวะ หรือวิธีการตามหลักตัวโน้ตเหมือนแนวเพลงอื่น ๆ แต่การจะแบ่งว่าเพลงนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิตหรือไม่ ดูจากเนื้อหาของเพลงเป็นส่วนใหญ่

ที่ผ่านมาเนื้อหาหลักๆ ของเพลงเพื่อชีวิตในไทยจะพูดถึงการเมือง สังคม ที่เห็นชัดเจนคือเรื่องของชนชั้นและอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพผู้ใช้แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งผู้แต่งมักเก็บรายละเอียดของอาชีพนั้น ๆ มาเป็นเนื้อหาเพลง เช่นเรื่องราวชนชั้นล่างที่ถูกเอาเปรียบ จากนั้นนำมาเล่าแบบคำร้องง่ายๆ แต่กินใจ ชี้ถึงปัญหา บ้างก็ส่งต่อกำลังใจ ซึ่งนั่นทำให้ เพลงเพื่อชีวิต เข้าถึงใจคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้ดี

ภาพ : ไททศมิตร

การรวมวงของดนตรีเพื่อชีวิตแบบไทย (ผู้เขียนขอใช้คำว่าการรวมวงแบบคลาสสิก) จะเป็นรูปแบบกีตาร์ เบส กลอง บางวงอาจมีกีตาร์สองคนทำหน้าที่โซโล บ้างอาจมีมือคีย์บอร์ด และเครื่องดนตรีไทย จะสังเกตได้ว่าการรวมวงของดนตรีเพื่อชีวิตแบบไทย เป็นการรวมวงโดยยึดเครื่องดนตรีที่มีอยู่ทั่วไปเป็นหลัก เน้นเครื่องดนตรีที่ไม่ว่าจะชนชั้นไหนก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่วนจังหวะของเพลงก็ใช้พื้นฐานจากเพลงร็อก สามช่า ลูกทุ่ง บางวงก็เป็นเร็กเก ละติน หรือ ไซคีเดลิก ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละวง

จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องยากขึ้นที่จะกำหนดว่าเพลงไหนคือเพลงเพื่อชีวิตและไม่เพื่อชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ฟัง ส่วนตัวผู้เขียนแม้ไม่ได้เป็นแฟนคลับเพลงแนวนี้ชนิดเหนียวแน่น แต่ก็มีโอกาสได้ติดตามและตั้งข้อสังเกตถึงแนวเพลงเพื่อชีวิตในไทยอยู่บ้าง จึงขอแชร์ เพลงเพื่อชีวิต ฉบับนิวเจน ที่น่าสนใจและควรหามาฟัง

บางวงเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากๆ อยู่แล้ว แต่มีพัฒนาการทางดนตรีและเพลงที่ไม่ใช่เพลงฮิตแต่น่าติดตาม บางวงผู้เขียนก็เพิ่งจะรู้จักแต่ฟังปุ๊บก็สามารถอินได้กับเรื่องราว เช่นเดียวกับ 6 วงดนตรีเพื่อชีวิตรูปแบบวงคลาสสิก ที่ผู้เขียนยกมา เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเข้าถึงได้ และทำให้นึกถึงวงเก่า ๆ รุ่นใหญ่ของไทยที่ผ่านมาง่ายขึ้น

ไททศมิตร

บังขายถั่ว, ไททศมิตร

หากคุณเป็นแฟน คาราบาว หรือ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ วงเจนใหม่อย่าง ไททศมิตร เรียกได้ว่าเป็นวงรุ่นหลานที่แทบจะถอดรูปแบบการทำเพลงของวงดนตรีเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่มาเลย และวงพวกเขายังประสบความสำเร็จมาก ๆ ในตลาดเพลงปัจจุบัน หากคุณอยากเริ่มฟังเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ วงนี้เป็นวงที่ผมขอแนะนำเป็นวงแรก ๆ โดยเฉพาะ เพลงบังขายถั่ว เป็นเพลงที่น่าสนใจมากครับ มีการใช้จังหวะละตินกับซัลซาผสมกับร็อก จังหวะคล้ายเพลงเก่าๆ ของคาราบาวมีท่อนโซโลกีตาร์ครบถ้วนตามที่วงเพื่อชีวิตแบบคลาสสิกเป็น เนื้อหาเพลงพูดถึง “บัง” ที่มีอาชีพขายถั่วไปเจอเรื่องราวต่าง ๆ บังขายถั่วจึงเป็นเพลงที่ฟังเพลินๆ ก็สนุกฟังเอาเนื้อหาก็น่าสนใจไม่น้อย

กระดังงาเกรียมไฟ, ไววิทย์

กระดังงาเกรียมไฟ คือ เพลงนางงามตู้กระจก ของยุคปัจจุบัน เพลงใส่จังหวะง่าย ๆ ด้วยกีตาร์ เบส กลอง ด้านเนื้อหาพูดถึงอาชีพโสเภณีที่ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยก็ยังคงเป็นพื้นที่สีเทาในสังคมไทยอยู่ดี ผมเพิ่งรู้จัก ไววิทย์ ได้ไม่นานที่ชอบคือน้ำเสียงที่นุ่ม คำร้องจริงใจ ฟังแล้วทำให้นึกถึง น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ แม้กระดังงาเกรียมไฟกับเพลงนางงามตู้กระจกจะเป็นเพลงที่ห่างกัน 20 กว่าปี แต่เนื้อหาของเพลงก็ยังสะท้อนสังคมว่าหลาย ๆ เรื่อง หลายๆ ปัญหาของของประเทศไทยยังไม่ได้ถูกแก้ไขและวนกลับมาเป็นลูปแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เพลงเพื่อชีวิต

โถขี้, Yena

Yena คือวงดนตรีสามชิ้น ประกอบด้วย กีตาร์ เบส กลอง ที่ผมและหลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยมากที่สุด โดย Yena ทำวงกันมานานมาก ๆ เติบโตจากวงดนตรีที่ไม่ได้มีชื่อเสียงจนกลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับเพลงที่ผมชอบมากที่สุดของพวกเขาคือ โถขี้ อย่างแรกที่ผมชอบคือคำว่า ขี้ เพราะสำหรับผม ขี้ เป็นคำที่เอามาใช้ในการแต่งเพลงยากยิ่ง ถ้าต้องการให้มันไพเราะจะยิ่งยากมากขึ้นเนื้อหาของเพลงนี้พูดถึง โถขี้ ที่ไม่ว่าชนชั้นไหนในสังคมจะต้องใช้ Yena ยังมีเพลงที่น่าสนใจอีกเพลงคือ แกงไตปลา เนื้อหาพูดถึงทหารแนวหน้าที่ใช้ชีวิตแบบเสี่ยงตาย Yena ยังคงทำผลงานอยู่เรื่อย ๆ และเป็นวงแสดงสดได้ดีมากๆ

เพลงเพื่อชีวิต

ไฮโล, The front row

The front row เป็นวงดนตรีที่เรียกว่าอินดี้จริง ๆ ในช่วงปี ค.ศ. 2014-2018 เขาออกอัลบั้มทุกปี ช่วงแรกหากต้องการฟังเพลงของพวกเขาผู้ฟังจะต้องซื้อแผ่นซีดีเท่านั้น (ปัจจุบันเพลงของพวกเขาหาฟังง่ายขึ้นจากระบบสตีมมิ่ง) การออกแบบปกทั้ง 5 อัลบั้มจะมีความคล้ายกันเป็นคอนเซ็ปต์ที่เท่มาก สำหรับเพลง“ไฮโล” เป็นเพลงที่พูดถึงชีวิตที่มีขึ้นมีลง จากจุดสูงสุดลงมาสู่จุดต่ำสุดได้เสมอ เป็นการเปรียบชีวิตกับการเล่นไฮโลนั่นเอง ด้านแนวเพลงก็ผสมความเป็นฟังก์และป๊อปมีจังหวะที่สนุกสนานเมโลดี้ร้องติดหูมากแม้ทางวงไม่ออกตัวว่าเป็นวงเพื่อชีวิตแต่หลายบทเพลงของพวกเขาก็พูดถึงชีวิตและสังคมหากอยากรู้จังวงนี้ผมขอแนะนำเพลงนี้ครับ

เพลงเพื่อชีวิต

ดวงใจ, สวนไดโนเสาร์

สวนไดโนเสาร์ เป็นวงจากภูเก็ต วงนี้สารภาพเลยว่าผมไม่รู้จักมาก่อนเลย จนมารู้จักจากการนั่งไล่ฟังเพลงไปเรื่อย ๆ สะดุดกับเสียงร้องมาก ๆ เนื้อหาเพลงที่พูดถึงความรักจริง ๆ เพลงดวงใจนี้เป็นดนตรีโฟล์กมากกว่าที่จะเป็นเพลงเพื่อชีวิตแต่บางทีก็แยกออกยากมาก ๆ ผมนึกถึงเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร อาจเพราะเพลงนี้มีความลอย ๆ ฟังแล้วอยากอยู่ในที่ธรรมชาติผมเกือบจะไม่แนะนำวงนี้เพราะเพลงนั้นดูชิวสบายกว่าเพลงจากวงอื่นๆมากแต่ผมว่าเพลงดวงใจเป็นเพลงที่ผมข้ามไม่ได้จริง ๆ

ฤดูฝัน, Abandoned House

ผมชอบวง Abandined House มากและการจับเขามารวมกับวงอื่นในลิสต์นี้อาจดูแปลก แต่ผมคิดว่าวงนี้น่าสนใจมาก ๆ ตรงที่เป็นวงดนตรีสองชิ้นครับ เครื่องดนตรีหลักคือกีตาร์กับกลอง ซึ่งการรวมวงแบบนี้ไม่ค่อยมีในบ้านเรา แต่วงนี้มีเอกลักษณ์มากทั้งเสียงร้องที่เท่มาก ๆ ที่ทำให้นึกถึง พี่โจ้ วง Pause หรือว่าจะเป็นกลองที่ถูกดีไซน์การตีให้เข้ากับเพลง คล้ายจะเป็นการเล่นเพอร์คัสชันมากกว่า ทำให้เพลงมี space ไม่แน่นเกินไปและยังดูร่วมสมัยเนื้อหาพูดถึงความฝันและการเดินทางที่เนื้อหาสังคมอาจไม่หนักหน่วง แต่เป็นวงที่น่าจับตามองมากๆ ครับ

ทั้งนี้สำหรับสามวงท้าย ถ้าพูดเฉพาะเสียงดนตรีอาจแตกต่างจากวงเพื่อชีวิตแบบคลาสสิก ทั้งจังหวะและการใช้เครื่องดนตรี แต่เหตุผลที่ผมอยากแนะนำเพราะเนื้อหาเพลง และการทำเพลงของพวกเขามีความน่าสนใจ

ทั้งนี้ผมเชื่อว่าในประเทศไทยยังมีวงดนตรีอีกมากมายที่ทำเพลงในแนวทางเพลงเพื่อชีวิตในรูปแบบต่างๆ ผมเพียงยกมาแค่วงที่ผมคิดว่าอยากแนะนำให้กับผู้อ่านที่ไม่ได้คุ้นเคยแนวนี้เหมือนกับผมได้เริ่มฟังและสนับสนุนผลงานของพวกเขา

บางวงในนี้อาจมีชื่อเสียงอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่ว่าคุณรู้จักวงไหนไม่ว่าเก่าหรือใหม่ผมอยากให้ผู้อ่านลองติดตามฟังเพลงอื่น ๆ ของพวกเขานอกจากเพลงฮิตหรือเพลงที่เป็นที่รู้จัก เพราะศิลปินแต่ละคนจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเพลงที่ต่างออกไปมันอาจจะทำให้ผู้ฟังรับรู้ถึงตัวตนของพวกเขามากยิ่งขึ้นก็ได้

ภาพเปิด : #juthecrew www.facebook.com/taitosmithband/


Author

BAANKJORK (แบงคยอร์ก)
ไม่ได้เป็นญาติกับ Bjork แต่เป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงสมัครเล่นใช้อาชีพดีไซเนอร์ และนักชงกาแฟเป็นช่องทางหารายได้ มีงานเพลงเป็นของตัวเอง ชอบพูดคุยแนะนำวงดนตรีและดนตรีฉันมิตร