วาระ ทะเลสาบน้ำตา ในบทสนทนาของ วีรพร นิติประภา
Faces

วาระ ทะเลสาบน้ำตา ในบทสนทนาของ วีรพร นิติประภา

Focus
  • ทะเลสาบน้ำตาผลงานนวนิยายลำดับที่ 3 ของวีรพร นิติประภานักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงานซีไรต์ 2 สมัย จาก ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา
  • นวนิยายของวีรพรมีจุดเด่นในการมุ่งพินิจชีวิตและใช้เทคนิคด้านภาษาการจัดเรียงคำให้ออกเสียงสอดคล้องชนิดที่ว่าเป็นนวนิยายที่หากอ่านออกเสียงจะมีจังหวะที่น่าสนใจราวกับทำนองของการจัดเรียงคำในบทกวี

ทะเลสาบน้ำตา คือ นวนิยายเล่มใหม่ล่าสุดของ วีรพร นิติประภา นักเขียนพอปสตาร์แห่งยุค เจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 สมัยติดจาก ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา แน่นอนว่าการกลับมาของ วีรพร นิติประภา พร้อมกับนวนิยายลำดับที่ 3 ย่อมเป็นที่จับตามองของทั้งนักอ่านและหลาย ๆ วงการ ถึงมุมมองต่อสังคม และโลกที่นักเขียนชื่อ วีรพร นิติประภา มักหยิบจับมาใส่ในถ้อยคำอยู่เสมอ

ทะเลสาบน้ำตา

ในโอกาสที่นวนิยายเล่มใหม่ของนักเขียนพอปสตาร์แห่งยุคออกจำหน่าย Sarakadee Lite จึงชวนเธอมาสนทนากันถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ใน ทะเลสาบน้ำตา ซึ่ง วีรพร นิติประภา ให้คำจำกัดความว่าคือวรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป

ทะเลสาบน้ำตา

“ทะเลสาบน้ำตา” ต่างจากเรื่องก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง
ภาษา ในเรื่องนี้มีการใช้ภาษาต่างจากเรื่องก่อน ๆ เป็นกราฟิกมากขึ้น ใช้ความลุ่มลึกน้อยลง เพราะตั้งใจไว้ว่าเป็นงานสำหรับเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปการใช้คำจึงง่ายลงไป และคิดว่าคุมคำเก่งขึ้นด้วยเลยไม่จำเป็นต้องใช้คำเยอะเหมือนก่อน เช่น การที่จะทำให้รู้สึกสะเทือนใจ เขียนแรกๆต้องใช้คำและประโยคเยอะเพื่อให้คนอ่านสะเทือนใจตอนนี้คุมคำได้มากขึ้นและเล่มนี้เป็นเรื่องเด็กก็ทำให้เขียนคำอธิบายน้อยสิ่งต่างๆน้อยลงก็คำน้อยลงไปอีก

โจทย์ของทะเลสาบน้ำตาคืออะไร
เป็นคนที่เวลาคิดโจทย์ทำงานจะคิดให้ยากตลอดเวลา ถ้าเรารู้ว่าเราจะทำอะไรอย่างไรหรือรู้วิธีมันก็ไม่สนุกแล้ว ในทีแรกนวนิยายเล่มนี้คิดไว้ว่าจะทำอะไรง่าย ๆ เหมือนพักผ่อน แต่ไป ๆ มา ๆ เราอยากทำอะไรที่เราไม่สามารถ เช่น การอยู่ในโลกแฟนตาซี คิดถึงว่าเด็กเล็กเห็นอะไร เขาโตในโลกแบบไหน เมื่อเขาโตในโลกอีกแบบเขาจะอยู่อย่างไรและเราจะคุยกับเขาอย่างไรเช่น เรื่องนี้พูดเรื่อง Post-Truth อย่างเวลามีคนพูดถึงรถชนกันเราอาจจะคิดว่ามีรถชนกันเปรี้ยง แต่เด็กที่โตมากับ Fast8 ก็อาจเห็นเป็นรถชนกันพลิกขวับ ๆ ในหัว ทั้งที่จริง ๆ มันก็แค่รถชนกัน ดังนั้นในการทำงานนี้เราสื่อสารกับเด็กเราก็ต้องมี Super Vision อะไรสักอย่างที่ไม่ใช่การเล่าแบบปกติ และเป็นสิ่งที่นิยายเรื่องนี้พูดด้วยว่าอะไรจริง ไม่จริง หรือ จริงของตัวละครแต่ก็ไม่จริงของคนอ่าน หรือ อะไรจริง อะไรฝัน

ถ้าถามว่ายากไหม อาจมีความยากอยู่เพราะไม่มั่นใจบางอย่างเช่นเรื่องเด็กหรือการใช้สัตว์เลี้ยง เวลาเขียนจะคิดว่าเวิร์กไหม น่ารักไปไหม หนังสือเด็กในไทยบางครั้งก็หายาก คนเขียนไม่เยอะ เด็กไม่อ่านเพราะหนังสือสำหรับเด็กก็ถูกเขียนขึ้นมาไม่เยอะเหมือนกัน เอาเข้าจริงเวลาเด็กอ่านงานนี้ก็อาจไม่ได้รู้เรื่องPost-Truth ก็ได้เขาอาจสนุกไปกับโลกแฟนตาซีก็ได้เพราะนวนิยายมีหลายเลเยอร์เวลาโตมาหน่อยอ่านอีกรอบก็อาจจะเห็นอะไรต่างไปอีก เช่น เห็นเรื่องครอบครัวว่ามันอาจมีหลายรูปแบบ

ทะเลสาบน้ำตา

มีอะไรในทะเลสาบแห่งน้ำตา
ในชีวิตจริงความสัมพันธ์ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยชื่อ บางทีเลือกพ่อเลือกแม่ไม่ได้ก็ช่างมัน ไปหามิตรภาพใหม่ ๆ หาชีวิตใหม่ๆอย่างที่คุณอยากได้ สิ่งนี้ได้มาจากการทำคลาสสอนเขียนแล้วพบว่าส่วนใหญ่เด็กหรือวัยรุ่นมีปัญหาเดียวกันคือ “พ่อแม่อักเสบ” ไม่รับฟังไม่ได้ดังใจหลายคนมากที่ “พัง” จากพ่อแม่ที่เรียกร้องมากเกินไป พอเรามีโอกาสสักครั้งหนึ่งเราจึงอยากบอกว่าเราสามารถมีมิตรภาพได้หลายแบบ หลายสายพันธุ์ หลายความสัมพันธ์มาก พ่อแม่ที่เห็นตามละครโทรทัศน์มักจะมีพ่อใจดี แม่สวย ทุกคนสงบไม่เป็นโรคประสาท แต่ในความเป็นจริงเราเห็นว่าเราเป็นคนชั้นกลางที่มีครอบครัวโรคประสาท พ่อก็บ้าไปทาง แม่ก็ไปทาง ลูกก็ไปทาง เรามักจะเขียนถึงสิ่งที่เรารู้จักนั้นก็คือคนชั้นกลางนี้แหละ

ในความเป็นเด็กสิ่งที่ยากที่สุดคือ ผู้ใหญ่ เด็กโตมาในโลกที่ดีไซน์สำหรับโลกของผู้ใหญ่แล้วเช่น ขึ้นรถไฟฟ้าก็โหนไม่ถึง ช้อนคันใหญ่ แก้วตกแตกได้ พอแตกแม่ด่าอีก ผิดอีก ผู้ใหญ่พูดคำหยาบได้แต่เด็กพูดไม่ได้ เป็นโลกของผู้ใหญ่ที่มองเด็กเป็นคนไม่เท่ากัน ผู้ใหญ่พูดคำหยาบเป็นไฟแต่ทำไมเด็กถูกห้ามหมดเลย ผู้ใหญ่ทำสีผมเด็กก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นการมองว่ามีการประพฤติแบบผู้ใหญ่กับการประพฤติของเด็กเป็นอีกแบบ จริงๆเด็กก็เป็นคนแบบเรานี้แหละแต่กลับไปถูกตัดสินว่ามีเด็กดีเด็กไม่ดี อันนี้พูดถึงเด็กเลยนะ เด็ก12-13 ปี เราพบว่าเด็กวัยนี้มีปัญหาชีวิตเยอะมาก

ทะเลสาบน้ำตา

ถ้าเด็กเอาเม็ดลำไยไปวางใกล้หมาแล้วเรียกแม่มาดูและบอกแม่ว่า แม่ ๆ หมาลูกตาหลุดแล้ว มึงโดนตีแน่นอนทั้งที่เรื่องนี้เป็นส่วนของอารมณ์ขันและความคิดสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต อีกอย่างในเมืองที่แออัดก็มีส่วนเช่น ลูกคุณจะไปปาไอศกรีมใส่โต๊ะข้าง ๆ ไม่ได้ ทำนั่นทำนี่ไม่ได้ เมืองมันไม่ได้ออกแบบมาให้เด็ก ไหนจะที่ทางก็ไม่มี หนังสือดี ๆ สำหรับเด็กบางทีก็ไม่มี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแปล เราพบว่าเด็กต้องการหนังสือดี ๆ เพื่อโตไปเป็นนักอ่านที่เข้มแข็ง หนังสือเรียนบางครั้งก็น่าเบื่อแล้วเอาสิ่งนี้ไปตัดสินเด็กว่าเรียนเก่งไม่เก่งแต่ไม่ตั้งคำถามว่าหนังสือเรียนมันเขียนดีไหม มันดีพอไหม

ทะเลสาบน้ำตา

อย่างเรามีวิชาภาษาไทยซึ่งก็อ่านแต่วรรณคดีหลวง ไม่ใช่ของชาวบ้านเพราะเรื่องชาวบ้านก็ต้องมีเรื่องหยาบโลนเป็นเรื่องธรรมดา แต่กลายเป็นว่ามันถูกห้ามอ่านห้ามเรียน เรื่องพวกนี้ก็เป็นความกระแดะของชนชั้นกลางที่อยากจะไปเป็นชนชั้นสูง ทั้งที่ชาวบ้านตกเย็นกินเหล้าก็คุยเรื่องหยาบ ๆ เป็นปกติ

วรรณคดีมีความสโลว์โมชันสูงมากเช่นกว่าพระรามจะเดินเป็นหน้ากระดาษ เดินเรื่องช้าเพราะชนชั้นสูงไม่รีบไง เดี๋ยวเร็วไปลุกลี้ลุกลนเหมือนไพร่ บทอัศจรรย์ก็ต้องพูดอีกแบบต้องให้มันอ่านไม่รู้เรื่อง การเดินเรื่องช้าบางทีก็ทำให้เด็กรู้สึกน่าเบื่อ

วีรพร นิติประภา

จริงไหมที่ว่าวรรณกรรมไทยร่วมสมัยอ่านยาก
เพราะวรรณกรรมไทยมักถูกบอกว่าอย่ายากเกินไป อย่าเศร้าเกินไป ถ้าสังเกตงานเราเศร้าก็เศร้าเช็ด และคิดว่าอ่านยากระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่การทำเรื่องง่ายเป็นเรื่องยากและไม่ชอบการทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายเพราะความยากมันหมายถึงทำให้คุณต้องหยุดคิด แล้วบางครั้งคนอ่านอยากเห็นเส้นเรื่องเดี่ยวแบบหนังไทยที่เส้นเรื่องเดี่ยวที่มีพระเอกไปไหนกล้องก็ตาม มีนางเอก มีตัวร้าย อยู่ในเส้นเรื่องเดียวกันไม่มีเลเยอร์ แต่ชีวิตจริงมันสะท้อนไปมาหลายเลเยอร์ซ้อนทับไปมากว่าจะเข้าใจชีวิตจริงมันยากกว่านั้นมันซับซ้อนกว่านั้นซึ่งบางครั้งในชั้นวรรณคดีก็ไม่มีสอนเรื่องเลเยอร์ทางวรรณกรรมพวกนี้ แต่บางครั้งมันก็ไม่เกี่ยวกับตัววรรณคดีเสมอไปมันเกี่ยวกับความล้าหลังและการไม่สังคายนาบางเรื่องที่โบราณ สอนกันมาตั้งแต่ปีสองพันห้าร้อย และบางค่านิยมที่สอนเด็กมันไม่กินใจแล้วในยุคสมัยนี้

กินใจไม่ใช่คำที่สวยงาม แต่มันคือสิ่งที่เข้าไปอยู่ในใจ ไม่ใช่บอกว่าให้เป็นนั่นเป็นนี่ทั้งที่เด็กก็ไม่รู้ว่ากูจะไปเป็นอย่างนั้นทำไม ชีวิตมันมีเลเยอร์ที่ต้องคิดเยอะ อย่างขึ้นรถไฟฟ้าแต่ละสถานียังประตูเปิดซ้ายเปิดขวาลงขบวนมาต้องลงบันไดที่ซับซ้อนของสถานีฝั่งโน้นฝั่งนี้อีก เห็นไหมชีวิตแค่นี้มันก็ซับซ้อนนะแล้วจะมาหาเส้นเรื่องเดี่ยว

วีรพร นิติประภา

ในเมื่อโลกนี้มันซับซ้อน เราควรจะอยู่กับความซับซ้อนนี้อย่างไร
ตอนนี้โลกเหมือน ๆ กันหมด ใครออกอะไรใหม่โลกพร้อมจะมีสิ่งเดียวกันผลิตกันออกมา ความคิดสร้างสรรค์จึงสำคัญ และต้องชอบคิด รักที่จะคิด แต่โลกนี้บางทีก็ชอบมีคนมาบอกว่าไม่ต้องคิด คิดทำไม

เราว่าเราโชคดีอยู่อย่างคือเราไม่จบปริญญาตรี วิธีการฟันฝ่าชีวิตของเราเลยต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาตลอดไม่มีความคิดที่เป็นรูปแบบสำเร็จ ต้องน็อกความคิดของตัวเองไปเรื่อย ๆ และหาความเป็นไปได้ของสิ่งต่าง ๆ ได้ยินมาจากคุณโตมรนี้แหละคำว่า “Make Possible” คือน็อกไอเดียไปเรื่อย ๆ อะไรเป็นไปได้บ้าง เพราะถ้าไม่คิด หรือคิดแค่เดิม ๆ ความคิดของคุณจะหมดไปเพราะคุณจะขาดความเชื่อมโยงที่จะไปสู่ความคิดใหม่ ๆ อย่างCrossword(ปริศนาอักษรไขว้) หมากรุก หมากฮอต ดูไม่ฮิตในไทยมากนักนะ เหมือนเด็ก ๆ เราไม่ถูกฝึกให้ต้องคิด แค่จะอ่านการ์ตูนยังถูกตั้งคำถาม อ่านทำไมเสียเวลา เล่นเกมทำไมไร้สาระ ทั้งที่เวลาจะยิงเอเลียนในเกมจริง ๆ เราคิดหนักเหมือนกันนะ แถมในบางเวลาคนรอบตัวยังจะมาถามอีกว่าทำไมคิดมาก ปวดหัว เป็นคนซีเรียส พวกนี้ประหลาดมากเพราะเราถูกฝึกและบอกมาให้ไม่ต้องคิดอยู่ตลอด

ทำไมตัวละครในโลกนิยายของวีรพรมักจะเศร้า
คิดว่านี่คือลักษณะที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทย มนุษย์เราชอบโอบกอดความเศร้า ชอบนางเอกเศร้า ๆ โดยที่โดนตัวร้ายตบตลอดเวลาทั้งที่เรื่องจริง ๆ มันไม่มีอะไร ละครหลังข่าวอะไรพวกนี้มันล้าหลังเหมือนตอนที่เราเด็ก ๆ นางเอกท้น…ทน ตัวร้ายก็ร้าย…ร้าย พระเอกแม่งก็หูเบาใครบอกอะไรก็เชื่อ ปัญหาคือมันซ้ำซากถ้าดูมันทุกเย็นจบเรื่องเดิมเรื่องใหม่ก็แบบนี้เปลี่ยนคนแสดงเปลี่ยนสถานที่ สิ่งพวกนี้สร้างรูปแบบสังคมอยู่ตลอดเวลามันสร้างระบบขึ้นมาดื่มกินกันทุกเย็น

วีรพร นิติประภา

เชื่อใน Soft Power ไหม
ไม่ใช่แค่เชื่อ แต่มันมีอยู่จริงเลย Soft Power ในละครไทยนี้อย่างกับเวทมนตร์ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้เราเลือกดูNetflixเราเลือกรายการดูเองได้ไม่อยู่ภายใต้สี่ห้าช่องที่มีแค่นั้น เราเลือกได้แม้แต่จะไม่ดูโฆษณา เด็กดู Netflix และใช้โซเชียลมีเดียทุกวันต่างจากคนรุ่นก่อนเขาอยู่นอกอำนาจ Soft Power แบบเก่า อำนาจเดิมที่มีอยู่ในสื่อครั้งนี้ก็สูญเสียการควบคุมสังคมไป ไม่ได้นั่งดูละครเย็นแบบคนสมัยก่อนเช้ามาเลยแฮมทาโร่ได้ไง

วีรพร นิติประภา

ขอหนึ่งประโยคที่วีรพรคิดว่าสำคัญต่อเด็กและคนรุ่นต่อไป โดยสามารถรักษาประโยคนี้ไว้ได้ตลอดกาล
คนทุกคนมีแสงสว่างในตัวเองไม่มีคนที่อ่อนด้อยหรือไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองซึ่งข้อผิดพลาดใหญ่คือคนส่วนมากไม่รู้เรื่องนี้ คุณจะเป็นอะไรก็ได้ แชมป์หมากเก็บ แชมป์การนอนหรือสามารถถุยน้ำลายได้ไกล2เมตร คุณสามารถจะเป็นอะไรก็ได้เพราะ…คนทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง

Fact File:
ทะเลสาบน้ำตา
เขียนโดย วีรพร  นิติประภา
สำนักพิมพ์ ARTYHOUSE
ราคา 359 บาท

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ : โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ โทร. 02-687-9000 www.facebook.com/TheOkuraPrestigeBangkok


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว