เบื้องหลังลายเส้นและแรงบันดาลใจของ อาวัฒน์ ตำนานนักเขียนการ์ตูนแห่งขายหัวเราะ
Faces

เบื้องหลังลายเส้นและแรงบันดาลใจของ อาวัฒน์ ตำนานนักเขียนการ์ตูนแห่งขายหัวเราะ

Focus
  • วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ หรือที่รู้จักในนามปากกา อาวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดราชบุรี เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นเสมียนโรงงานน้ำตาลไทย แต่ความชื่นชอบในการวาดรูปจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาฝึกฝนเขียนการ์ตูน
  • ผลงานสร้างชื่อของ อาวัฒน์ คือ นิตยสารการ์ตูน เบบี้ ใน พ.ศ.2504 จากนั้นใน พ.ศ. 2516 เริ่มเขียนการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก
  • อาวัฒน์ เสียชีวิตด้วยโรคชราในวัย 90 ปี เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565

วงการศิลปะและการ์ตูนไทยได้สูญเสียอัจฉริยบุคคลอีกหนึ่งท่านคือ วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ หรือที่รู้จักในนามปากกา อาวัฒน์ ผู้สร้างสรรค์ความฮาและหน้าปกให้แก่นิตยสาร ขายหัวเราะ มาเกือบครึ่งศตวรรษโดยมีคาแรกเตอร์สุดคลาสสิกด้วยลายเส้นที่เรียบง่าย เช่น สามีภรรยาคู่กัดอย่าง คุณโฉลง และ คุณเต๋ว คนติดเกาะ โจรมุมตึก และนักโทษในชุดลายขวาง

อาวัฒน์ เสียชีวิตด้วยโรคชราในวัย 90 ปี เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565 โดยอาวัฒน์เป็นหนึ่งในตำนานคอมิกส์สายพันธุ์ไทย ผู้บุกเบิกนิตยสารการ์ตูน ขายหัวเราะ ที่เน้นแนวแก๊กขำขันและมุมภาพง่ายๆ แบบ 3 ช่องจบ ร่วมกับเพื่อนนักเขียนการ์ตูนอย่าง อาจุ๋มจิ๋ม-จำนูญ เล็กสมทิศ หลังจากได้รับการทาบทามจาก วิธิต อุตสาหจิต ทายาทสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งเพิ่งเรียนจบด้านภาพยนตร์มาร่วมกันปั้นนิตยสารการ์ตูนแนวใหม่เมื่อ พ.ศ.2516

อาวัฒน์
ปกขายหัวเราะสร้างสรรค์โดย อาวัฒน์

ย้อนกลับไปบนเส้นทางสายการ์ตูน แม้ อาวัฒน์ จะเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นเสมียนโรงงานน้ำตาลไทยในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ความชื่นชอบในการวาดรูป และมีนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่าง ประยูร จรรยาวงษ์ ผู้ให้กำเนิดตัวการ์ตูน “ศุขเล็ก” และ พิมล กาฬสีห์ ผู้เขียนการ์ตูนชุด “ตุ๊กตา” เป็นแรงบันดาลใจทำให้เขาฝึกฝนการวาดด้วยตัวเองโดยนำผลงานของทั้งสองท่านมาศึกษาเป็นแม่แบบแล้วลองวาดตาม รวมถึงตามไปดูการทำงานและจดจำวิธีการทำงานของนักวาดมืออาชีพเขาเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งว่า

“ผมเรียนไม่จบเพราะตั้งใจมามุ่งมั่นเขียนการ์ตูน ดังนั้นผมจึงต้องมุ่งมั่นมากกว่าคนอื่น ทำให้มันถึงที่สุด เพราะผมได้เลือกมันแล้ว”

อาวัฒน์
การ์ตูนเบบี้ที่เป็นภาพจำของอาวัฒน์

จากนั้นอาวัฒน์ได้เริ่มงานเป็นผู้ช่วยช่างแรเงาภาพ และช่างเขียนภาพป้ายโฆษณาหนังที่โรงหนังเท็กซัส และเป็นช่างเขียนป้ายโฆษณาหนังโดยเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาจีนที่โรงหนังศรีราชวงศ์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2504 จึงได้ผันตัวมาเป็นนักเขียนอิสระที่ หนังสือพิมพ์ “สาส์นเสรี” หนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” และหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย”

ผลงานสร้างชื่อของเขาคือการก่อตั้ง นิตยสารการ์ตูน เบบี้ ใน พ.ศ.2504 โดยมุ่งเน้นให้เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวที่สนุกสนาน สอดแทรกสาระประโยชน์ คุณธรรมที่ดีงามไว้ภายในเล่ม เรียกว่าเด็กๆ สามารถอ่านได้โดยไม่มีพิษภัย เพราะเขาได้คัดกรองทั้งเนื้อหาและถ้อยคำในเรื่องอย่างพิถีพิถัน โดยมีทั้งการ์ตูนเรื่องสั้น เรื่องยาว การ์ตูนช่อง ที่ใช้ตัวละครเป็นเด็กๆ อีกทั้งยังมีนิยายภาพเรื่องยาวที่มีเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อยเป็นตัวเอก

เหตุผลที่เขาใช้ตัวการ์ตูนส่วนใหญ่เป็นเด็ก เพราะอยากให้ผู้อ่านตัวน้อยรู้สึกว่าตัวการ์ตูนเป็นเพื่อน นิตยสารการ์ตูน เบบี้ ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2533-2534 และ พ.ศ.2537 รวมทั้งได้รับรางวัลดีเด่นเพื่อเยาวชน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2536-2537 และ พ.ศ.2543

ขายหัวเราะ
ปกขายหัวเราะผลงานอาวัฒน์

“คำว่าการ์ตูนสำหรับผมหมายถึงเรื่องที่อ่านสนุกๆ ขำๆ คลายเครียดจากงานก็มาอ่านการ์ตูนที่ไม่มีเรื่องเซ็กซ์ เรื่องลามก ซึ่งในการทำงานของผมพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องพวกนี้ คือโป๊แต่สนุกน่ะมีแต่ผมเอาไปลงในขายหัวเราะซึ่งถือเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนในเบบี้ผมไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย แม้แต่คำว่า ‘เสือก’ หรือคำว่า ‘ไอ้’ ผมก็พยายามเลี่ยง เพราะอยากให้หนังสือของเราเข้าถึงโรงเรียน เข้าถึงบ้านได้” อาวัฒน์เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2533 ถึงมุมมองการ์ตูนเบบี้ที่สร้างชื่อให้เขา

อาวัฒน์เคยกล่าวถึงมุมมองในอาชีพนักเขียนการ์ตูนไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับอาชีพคนเขียนการ์ตูนนั้น อาวุธสำคัญคือไอเดียต้องทันสมัยและเฉียบคม ดังนั้นเขาจึงต้องติดตามข่าวสารและออกไปเปิดหูเปิดตาอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเด็กสมัยนี้พูดจากันอย่างไร หลังจากได้ไอเดียแล้ว อาวัฒน์ จะทำการร่างตัวหนังสือขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงลงมือร่างภาพ ตรวจทานความถูกต้อง และเริ่มลงเส้นจริงด้วยหมึกหากเป็นการ์ตูนขาวดำ แต่ถ้าเป็นการ์ตูนสีหรือภาพหน้าปกก็จะต้องลงสีอีกขั้นตอนหนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่ระบบบรรณาธิการ โรงพิมพ์และส่งไปถึงมือผู้อ่าน

ขายหัวเราะ
การ์ตูนอาวัฒน์ฉบับออนไลน์ (ภาพ : ขายหัวเราะ)

คาแรกเตอร์ในการ์ตูนของอาวัฒน์มักเกิดจากการจับรูปร่างลักษณะหน้าตาของคนใกล้ตัว เช่น คุณโฉลงสามีตัวสูงโย่งสวมแว่น และ คุณเเต๋ว ภรรยาร่างท้วมมีไฝ ปรับมาจากบุคลิกลักษณะของเพื่อน ส่วนตัวการ์ตูนที่เป็นเด็กส่วนมากเป็นลูกของเพื่อน ๆ เช่น หนูโหน่ง หนูปุ๊ หนูแป้น หนูแกละ หนูเปีย และ หนูเป้าโดยตัวการ์ตูนของอาวัฒน์นั้นมีมากถึง 15 คาแรกเตอร์

อาวัฒน์กล่าวว่าหน้าตาและท่าทางของตัวการ์ตูนต้องเขียนให้ดูขำ โดยเฉพาะเรื่องหน้าตาถือเป็นเรื่องสำคัญต้องมาเป็นอันดับแรก การเขียนให้เหมือนคนจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนอ่านขำเสมอไป แต่อิริยาบถของตัวการ์ตูนต้องเป็นแบบของการ์ตูนโดยเฉพาะ ในขั้นแรกอาจได้ท่าทางต้นแบบมาจากคนจริง แต่ก็ต้องผ่านการดัดแปลงให้เป็นท่าทางแบบการ์ตูน เช่น ท่ายืนตรงของตัวการ์ตูนที่มักยืนเท้าชิดและปลายเท้าทั้งสองชี้ไปคนละทิศในลักษณะทำมุมเป็นมุมฉาก หรือท่าเดินของการ์ตูนเขียนให้ดูว่าตั้งใจเดินมากเป็นพิเศษจนขาข้างหนึ่งตรงแหน็วไปข้างหลังและขาทั้งสองข้างกางเป็นเส้นตรงเส้นเดียวกับที่ตั้งฉากกับลำตัว หรือท่าตกใจที่สะดุ้งจนตัวลอยสูงจากพื้นอย่างเกินกว่าเหตุ

ภาพ : ขายหัวเราะ

อ้างอิง

 


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ