ตามรอย 10 สถานที่สำคัญในทีเซอร์ โอลิมปิก ปารีส 2024 แบบช็อตต่อช็อต
Lite

ตามรอย 10 สถานที่สำคัญในทีเซอร์ โอลิมปิก ปารีส 2024 แบบช็อตต่อช็อต

Focus
  • ทีเซอร์เปิดตัวการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 หรือที่เรียกว่า ปารีส 2024 (Paris 2024) ของเมืองหลวงแห่งประเทศฝรั่งเศสนำเสนอสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และการกีฬาสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน
  • การปั่นจักรยาน BMX บนหลังคาอาคารสำคัญในปารีสที่ปรากฏในทีเซอร์ เช่น Grand Palais และ L’Opera Garnier นอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวแล้ว หลังคาเหล่านี้ยังสะท้อนเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ชาวปารีเซียงภาคภูมิใจและพยายามผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม

ในทีเซอร์เปิดตัวการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 หรือที่เรียกว่า ปารีส 2024 (Paris 2024) ภาพของเมืองหลวงแห่งประเทศฝรั่งเศสถูกฉายไปทั่วโลกในช่วงพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.2021 ได้ สร้างเสียงฮือฮาให้ผู้ชมไม่น้อย กับการนำเสนอสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และการกีฬาสมัยใหม่ซึ่งเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และนับเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

เพลงชาติฝรั่งเศส La Marseillaise ได้รับการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่และบรรเลงโดยวงออร์เคสตราแห่งชาติพร้อมกับฉายภาพภายในคอนเสิร์ตฮอลล์ เมซง เดอ ลา คราดิโอ (Maison de la Radio)ในขณะที่นักดนตรีหญิงโชว์เป่าฟลุตเดี่ยวบนหลังคาของสตาดเดอฟร็องส์ (Stade de France) ที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับพิธีเปิดและปิดโอลิมปิก ปารีส 2024 รวมทั้งการแข่งขันกรีฑาและรักบี้ รวมไปถึงนักดนตรีกำลังเล่น Marimba (คล้ายระนาด) ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และวงเครื่องสายบรรเลงเพลงบริเวณสวนสาธารณะ สะแกวร์ ดู แวร์ กาล็องต์ (Square du Vert-Galant)

ปารีส 2024

จากนั้นตัดภาพมาที่นักกีฬาจักรยาน BMX หญิงระดับแชมป์เปียน เอสเตล มาฌาล (Estelle Majal) ที่ปั่นจักรยานบนหลังคาอาคารสำคัญในปารีส เช่น กร็องปาแล (Grand Palais) ซึ่งจะใช้เป็นสนามแข่งขันเทควันโดและฟันดาบ โรงละคร โล เปคร่า การ์นิเย่ (L’Opera Garnier) และพิพิธภัณฑ์มิวเซ่ย์ ดอร์กเซย์ (Musée d’Orsay) เพื่อฉายภาพมุมสูงของมหานครพร้อมกับบทเพลงชื่อ Prologue ประพันธ์โดยนักดนตรีชื่อดัง Woodkid

Sarakadee Lite จึงขอเปิดทัวร์เที่ยวทิพย์ พาไปตามรอย 10 สถานที่ที่ปรากฏในทีเซอร์และความสำคัญของแต่ละแห่งเพื่อปักหมุดเตรียมชมโอลิมปิกในอีก 3 ปีข้างหน้าซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ค.ศ. 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ปารีส 2024

01 Les toits de Paris 

หลังคาสังกะสี เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของปารีส

การนำเสนอภาพจากบนหลังคาของสถานที่ต่าง ๆ นั้น ไม่ได้เพียงแค่ถ่ายทอดความสวยงามของเมืองและสถาปัตยกรรมจากภาพมุมสูงเท่านั้น แต่หลังคาของอาคารในกรุงปารีสมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมและทางเทศบาลนครปารีสพยายามผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ความเป็นมาของหลังคาแห่งความภาคภูมิใจของชาวปารีเซียงที่เรียกว่า เลส์ ตัวส์ เดอ ปาครี (Les toits de Paris) เริ่มขึ้นเมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 19 ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoléon III) ผู้ต้องการสร้างปารีสให้เป็นเมืองที่สวยที่สุดในยุโรปจึงได้ให้มีการปรับปรุงและสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ โดยมี บารง โอสมานน์ (Baron Haussmann/Georges Eugène Haussmann) เป็นผู้รับผิดชอบในการวางผังเมืองและสร้างเมืองใหม่ เช่น มีการสร้างและขยายถนน ปรับตัวเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพิ่มเติมพื้นที่สีเขียวให้ปารีส และช่วงนี้นี่เองที่มีอาคารที่เรียกว่า สไตล์โอสมานน์ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดทั่วเมือง

สำหรับหลังคาของอาคารหรือตึกส่วนใหญ่ โอสมานน์เลือกใช้แผ่นสังกะสีเป็นวัสดุหลักเพราะมีน้ำหนักเบาและสะดวกต่อการติดตั้งและปรับปรุง แผ่นสังกะสียังเป็นวัสดุที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นจึงใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “ปารีสสมัยใหม่” ตามแบบฉบับของโอสมานน์ ด้วยคุณสมบัติของสังกะสีที่มีน้ำหนักเบาช่วยให้สถาปนิกไม่จำเป็นต้องสร้างคานจำนวนมากเพื่อรองรับหลังคาทำให้เกิดพื้นที่ใช้สอยของอาคารมากขึ้นนี่จึงเป็นที่มาของการสร้างห้องเล็ก ๆ ใต้หลังคาที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า ช้อมป์ เดอ บอนน์ (chambres de bonnes) ส่วนสีที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของหลังคาแห่งปารีสคือสีเทา เนื่องจากเป็นการผสมผสานของสีเทาสว่างของสังกะสีกับสีเทาเข้มของกระดานชนวนนั่นเอง

เมื่อปี ค.ศ.2014 เทศบาลนครปารีสและชาวปารีเซียงได้พร้อมใจกันเสนอต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อให้ภูมิปัญญาของช่างมุงหลังคาด้วยสังกะสีนี้เป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมแต่ยังไม่ได้รับเลือก หลังจากนั้นมีการเสนอใหม่อีกครั้งใน ค.ศ.2020 และยังไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดิม อย่างไรก็ตามชาวปารีเซียงยังไม่ถอดใจและจะยื่นใหม่อีกครั้งใน ค.ศ.2022

พิกัด: บริเวณหลังคาของตึกและอาคารส่วนใหญ่ในกรุงปารีส

ปารีส 2024

02 L’Opera Garnier 

สถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3

L’Opera Garnier (โล เปคร่า การ์นิเย่) เป็นโรงละครแห่งชาติของฝรั่งเศส สถานที่ยอดนิยมสำหรับการแสดงโอเปรา อาคารนี้สร้างเมื่อ ค.ศ.1862 ในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoléon III) และเป็นผลงานการออกแบบของ ชาร์ลส์ การ์นิเย่ (Charles Garnier) ในสไตล์ที่เรียกว่าแบบนโปเลียนที่ 3 ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์นีโอบาโรก (Néo-Baroque) กับสไตลส์โบซาร์ (Beaux-Arts) แต่เพราะด้วยสงครามและการล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สองทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้าและลากยาวต่อเนื่อง จนเมื่อค.ศ. 1875 จึงได้มีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่โดยประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในสมัยนั้นคือ จอมพล มัค มาฮง (Le maréchal de Mac-Mahon) ในขณะที่การ์นิเย่ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารได้เข้ามาชมการแสดงในวันนั้นด้วย ทว่าเขาต้องซื้อบัตรที่นั่งชั้นสองด้วยตัวเอง

พิกัด: Place de l’Opéra 75009 Paris

การเดินทาง: Métroสาย 3,7 และ 8 สถานี Opéra หรือ RER A สถานี Auber

ปารีส 2024

03 Le Grand Palais 

โดมกระจกอลังการ สถานที่ประจำจัดแฟชั่นโชว์ของ Chanel

Le Grand Palais (เลอ กร็อง ปาแล) เป็นหนึ่งในอาคารที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับการจัดงานเวิลด์เอกซ์โปเมื่อ ค.ศ.1900 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้นสยามได้นำสินค้ามาร่วมจัดแสดงภายใต้บรรยากาศของการจัดพาวิลเลียนแบบศาลาไทยด้วย ส่วนในโอลิมปิก ปารีส 2024 สถานที่นี้จะใช้เป็นสนามแข่งขันเทควันโดและฟันดาบ

ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมคือหลังคารูปโดมกระจก โครงสร้างหลักประกอบด้วย หิน เหล็ก และแก้ว ในปีค.ศ. 2000 Le Grand Palais ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส พื้นที่การใช้สอยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นเหมือนวิหารลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวถึง 240 เมตร ใช้สำหรับจัดงานสำคัญระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ การแข่งม้า งานแสดงมหกรรมสินค้า และแฟชั่นโชว์ (โดยเฉพาะแบรนด์ Chanel) ส่วนที่ 2 เป็นแกลเลอรีใช้สำหรับแสดงนิทรรศการศิลปะของจิตรกรชื่อดัง อาทิ ปิกัสโซ่ (Picasso) ฮอปเปอร์ (Hopper) โกแก็ง (Gauguin) และ โลเทร็ก (Lautrec) เป็นต้น และส่วนสุดท้ายใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ผ่านนิทรรศการและงานศิลปะที่จัดแสดงถาวร

พิกัด: 3 Avenue du Général Eisenhower 75008 Paris 

การเดินทาง: Métro 1 และ 13สถานี Champs-Élysées – Clemenceau

ปารีส 2024

04 Palais-Royal 

อดีตแมนชันของขุนนางชั้นสูงและที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ.1624 คาร์ดินัลริเชลิเยอ (Cardinal de Richelieu) หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 (Louis XIII) ซื้อโอเต็ล เดอ ครอมบุยเย่ต์ (Hôtel de Rambouillet) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์เพื่อจะนำมาปรับปรุงให้เป็นแมนชั่นหรูส่วนตัวโดยมอบหมายให้ ฌาค เลอแมร์คซิเย่ร์ (Jacques Lemercier) เป็นผู้ออกแบบปรับปรุง

ต่อมา คาร์ดินัลริเชลิเยอ มีความประสงค์จะให้แมนชันของเขาเป็นที่ประทับของกษัตริย์ฝรั่งเศส ตั้งแต่ ค.ศ. 1643 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระเยาว์อยู่ และพระมารดา คือ พระนางอานน์ โดทริช (Anne d’Autriche) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยจึงได้ประทับอยู่บริเวณปีกด้านทิศตะวันตกของที่นี่ จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1661 จึงได้ย้ายไปประทับที่พระราชวังลูฟวร์ก่อนที่จะย้ายไปประทับถาวรที่พระราชวังแวร์ซายในปี ค.ศ. 1677

ปัจจุบัน Palais-Royal (ปาเล่ส์ ครัวยัล) เป็นแหล่งรวมร้านค้า แกลเลอรี ร้านอาหารและคาเฟ่ อีกทั้งยังมีสวนที่ร่มรื่นเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ปิกนิกของชาวปารีเซียงโดยเฉพาะในวันที่อากาศดี ที่นี่เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป

พิกัด: Place Colette 75001 Paris ใกล้พิพิธภัณฑ์ลูฟร์

การเดินทาง: Métro 1 และ 7 สถานี PalaisRoyal – Musée du Louvre 

ปารีส 2024

05 Musée d’Orsay 

จากพระราชวังสู่สถานีรถไฟและพิพิธภัณฑ์อิมเพรสชันนิสต์

Musée d’Orsay (มิวเซ่ย์ ดอร์กเซย์) เดิมเป็นพระราชวังของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoléon Bonaparte) และพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นภายใต้การควบคุมของฌาค ชาร์ลส์ โบน์นาร์ด (Jacques-Charles Bonnard) เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) ภายในบริเวณพระราชวังยังเป็นสถานที่ตั้งของสภาที่ปรึกษาแห่งชาติและสำนักงานบัญชีและทรัพย์สินแห่งชาติ ต่อมาในช่วงสงครามคอมมูนปารีสในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 19 พระราชวังเกิดไฟไหม้และถูกทำลายในปีค.ศ.1871

ในช่วงปีค.ศ.1898-1900 บริษัทเดินรถรางปาครี-ออร์คเลองส์ (La Compagnie du chemin de fer de Paris à Orléans) ได้ปรับปรุงพระราชวังเดิมให้เป็นสถานีรถไฟเพื่อใช้เดินทางไป-กลับระหว่างเมืองปารีสกับเมืองออร์เลอ็องเพื่อรองรับการจัดงานเวิล์ดเอกซ์โปในปีค.ศ.1900 ต่อมาในสมัยของประธานาธิบดี วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง (Valéry Giscard d’Estaing) ได้ให้ วิคตอร์ ลาครูส์ (Victor Laloux) เป็นผู้ออกแบบปรับปรุงสถานีรถไฟแห่งนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ (L’artimpressionniste) ส่วนนาฬิกาที่ปรากฏในทีเซอร์นั้นตั้งอยู่ชั้นบนสุดของอาคาร

พิกัด: 1 rue de la Légion d’Honneur75007 Paris 

การเดินทาง: Métro 12 สถานี Solférino หรือ RER C สถานี Musée d’Orsay

06 Le Panthéon

สถานที่เก็บศพของผู้ทำคุณประโยชน์ต่อชาติ

Le Panthéon (เลอ ปองเตอง) เป็นวิหารแห่งชาติของฝรั่งเศสที่สร้างในสไตล์นีโอคลาสสิกและออกแบบโดย ฌาค แฌร์คแมงต์ ซุฟโฟลต์ (Jacques-Germain Soufflot) เพื่อตอบโจทย์แนวคิดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ต้องการเชิดชูราชวงศ์ในฐานะแซ็งต์ เฌินวิแยร์ฟ (Saint-Geneviève) หรือนักบุญผู้ปกป้องคุ้มครองปารีส 

ต่อมาในปีค.ศ. 1791 หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่แห่งนี้กลายเป็นสถานที่สำหรับเก็บศพของรัฐบุรุษหรือผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาติ อาทิ นักคิด นักเขียน นักการเมือง นักการทหาร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บริเวณห้องใต้ดินของวิหารนี้มีศพของบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น โวลแตร์(Voltaire) ฌ็อง ฌาค ครุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau) เอมิล โซล่า (Émile Zola) อะเล็กซร็องด์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) วิคตอร์ ฮูโก้ (Victor Hugo) ปิแอร์ มาครี กูครี่ (Pierre et Marie Curie) และล่าสุดคือ ซิมอน เวยล์ (Simone Veil)

พิกัด: Place de Pathéon75005 Paris 

การเดินทาง: RER B สถานี Luxembourg 

ปารีส 2024

07 L’Arc de Triomphe de l’étoile

ประตูชัยและวงเวียนปราบเซียนของผู้ขับขี่

L’Arc de Triomphe de l’étoile (อาร์ก เดอ ทรียงฟ์ เดอ เลตวล) เป็นประตูชัยรูปโค้งที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoléon Bonaparte) ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะของทหารฝรั่งเศสในยุทธการเอาสเทอร์ลิทซ์ (La bataille d’Austerlitz) โดยพระองค์ได้มอบหมายให้ ฌ็อง ฟรองซัวร์ แตแครส ชาลแกร็ง (Jean-François-Thérèse Chalgrin) และ ฌ็อง อาร์คโนล์ เครย์มงด์ (Jean-Arnaud Reymond) เป็นสถาปนิกร่วมกันออกแบบในปี ค.ศ. 1806 แต่ทั้งสองคนมีความเห็นไม่ลงรอยกันในที่สุดจึงเหลือเพียง ฌ็อง ฟรองซัวร์ แตแครส ชาลแกร็ง ได้สานต่อโครงการนี้จนเสร็จสิ้น ประตูชัยนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประตูชัยแบบโรมันของจักรพรรดิติตุส (Titus) และเปิดอย่างเป็นทางการในสมัยของพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป (Louis-Philippe) ในปีค.ศ.1836

ประตูชัยมีความสูง 50 เมตร ยาว 45 เมตร และกว้าง 22 เมตร เป็นสถานที่ฝังศพของทหารนิรนามในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทุก ๆ วันเปลวไฟที่แสดงความระลึกถึงต่อทหารในสงครามจะถูกจุดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ส่วนบนดาดฟ้าเปิดให้ผู้สนใจสามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์ของปารีสได้ซึ่งจะมองเห็นถนนสายใหญ่ที่เรียกว่า อะเวนู (Avenue) ถึง 12 สายมาบรรจบกันเป็นวงกลมที่บริเวณนี้ด้วย

ชาวปารีเซียงถือว่าวงเวียนแห่งนี้เป็นวงเวียนปราบเซียนสำหรับผู้ขับขี่ โดยมีคำกล่าวว่าใครก็ตามที่สามารถขับรถในวงเวียนนี้ได้อย่างปลอดภัยจะสามารถใช้ถนนได้ในทุกสายในปารีส เพราะที่นี่ไม่มีเส้นแบ่งเลนและถือเป็นวงเวียนแห่งการวัดใจและวัดดวงกันเลยทีเดียว

พิกัด: Place Charles de Gaulle 75008 Paris 

การเดินทาง: Métro 1,2 และ 6 หรือ RER A สถานี Charles de Gaulle – Étoile

08 La Victoire de Samothrace 

ประติมากรรมชิ้นเอกในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ 

La Victoire de Samothrace (ลา วิกตัวร์ เดอ ซาโมทราสซ์) เป็นรูปปั้นหินอ่อนของหญิงสาวกางปีกเหมือนจะล่องลอยไปในอากาศโดยไม่มีส่วนศีรษะ ค้นพบบริเวณเกาะซาโมเทรซ (Île de Samothrace) ในทะเลเอเฌ่ (La merÉgée) หรือทะเลอีเจียน (Aegean Sea) ในภาษาอังกฤษสันนิษฐานว่ารูปปั้นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นบรรณาการถวายแก่เทพเจ้าบนเกาะซาโมเทรซของประเทศกรีก มีอายุราว 190 ปีก่อนคริสตกาล

พิกัด: พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์บริเวณบันได ดาครู (Escalier Daru) ปีกเดอนง (Denon) ชั้น 1

การเดินทาง: Métro 1 และ 7 สถานี Palais-Royal – Musée du Louvre

09 Stade de France 

สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส

Stade de France (สตาดเดอฟร็องส์) สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1995เพื่อรองรับการแข่งขันFIFA World Cup และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1998 โดยประธานาธิบดี ฌาค ชีรัค (Jacques Chirac) ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับทีมชาติสเปน

สตาดเดอฟร็องส์เป็นสนามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงปารีส และสามารถจุผู้ชมได้ถึง 81,300 คน ด้านฝั่งอัฒจันทร์มีหลังคาคลุมแต่บริเวณกลางสนามแข่งขันเปิดโล่งถือเป็นสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยหรือคอนเทมโพรารี(Contemporary) ที่นี่ใช้เป็นสนามแข่งขันฟุตบอล รักบี้ และกรีฑา อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีด้วย

พิกัด: 93200 Seine Saint-Denis 

การเดินทาง: Métro 13 สถานี Seine Saint-Denis – Porte de Paris, Métro 14 สถานี Saint-Denis Pleyel, RER B สถานี La Pleine- Stade de France หรือ RER D สถานี La Pleine- Stade de France

10 Square du Vert-Galant 

พื้นที่สีเขียวดีเด่นทางนิเวศวิทยา

Square du Vert-Galant (สะแกวร์ ดู แวร์ กาล็องต์) สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระเจ้าเฮนรีที่ 4 (Henri IV) และเหล่าบรรดานางสนมของพระองค์ และได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่สีเขียวดีเด่นในเชิงนิเวศวิทยาเมื่อ ค.ศ. 2007 ที่นี่เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กที่มีต้นไม้และดอกไม้สวยงามแห่งหนึ่งของปารีสด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ตรงส่วนปลายสุดของเกาะซิเต ทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่โรแมนติกและเป็นที่นิยมของคู่รักที่นิยมมาเดินเล่นและพักผ่อนเพื่อชมความสวยงามของเมืองปารีสโดยเฉพาะทิวทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และโรงกษาปณ์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน

พิกัด: 15 Place du Pont Neuf 75001 Paris ส่วนปลายแหลมของเกาะซิเต (Île de la Cité) บริเวณสะพานปงเนิฟ (Pont Neuf) ด้านหลังรูปปั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 4

การเดินทาง: Métro 7 สถานี Pont Neuf

นอกจากสถานที่ทั้ง 10 แห่งข้างต้นแล้ว ยังมีแลนด์มาร์กของ ปารีส ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกปรากฏในทีเซอร์ คือ หอไอเฟล (Eiffel Tower) ซึ่งบริเวณสวนสาธารณะบริเวณฐานของหอไอเฟลที่เรียกว่า ช็องเดอมาร์ส (Champ de Mars) จะปรับเป็นสนามชั่วคราวสำหรับแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดในกีฬาโอลิมปิก รวมทั้งจัตุรัสคองคอร์ด ปลัสเดอลากงกอร์ด (Place de la Concorde) ที่มีจุดเด่นคือเสาหินแกรนิตสีชมพูทรงแหลมตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางจัตุรัสจะเป็นสนามสำหรับแข่งขันสเกตบอร์ด เบรกแดนซ์ จักรยาน BMX และบาสเกตบอล 3×3

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง