10 สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ที่ยังคงทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางของคนทั่วโลก
Lite

10 สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ที่ยังคงทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางของคนทั่วโลก

Focus
  • ในขณะที่สถานีรถไฟหัวลำโพงกำลังจะปิดตำนาน 105 ปี สถานีรถไฟเก่าแก่หลายแห่งทั่วโลกยังคงได้รับการอนุรักษ์เพื่อคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์พร้อมทั้งปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่
  • สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ในหลายประเทศยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมการเดินทางของคนทั่วโลก เช่น สถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ ค.ศ.1837 จนถึงปัจจุบัน

รถไฟไม่ได้เชื่อมโยงแค่เมืองหรือผู้คน แต่รถไฟ โดยเฉพาะตัวอาคาร สถานีรถไฟ ยังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับ 10 สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ของโลกที่ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมการเดินทางของคนทั่วโลกและบอกเล่าประวัติศาสตร์จากอดีตสู่ปัจจุบันไปพร้อมกัน

ไม่ว่าจะเป็น สถานีรถไฟ ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ค.ศ.1837 จนถึงปัจจุบัน สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่สร้างในช่วงยุคอาณานิคมและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก สถานีรถไฟในเมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกสที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องเขียนลายอันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบโปรตุเกส สถานีรถไฟแห่งแรกที่สร้างในช่วงสมัยจักรวรรดิรัสเซียในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและสวยงามจนกลายเป็นโลเกชันของภาพยนตร์หลายเรื่อง และสถานีรถไฟในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีที่เป็นต้นแบบของสถานีรถไฟหัวลำโพง

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

01 Chhatrapati Shivaji Terminus, มุมไบ ประเทศอินเดีย

สถานีปลายทางฉัตรปตีศิวาจี (Chhatrapati Shivaji Terminus) หรือชื่อเดิมว่า สถานีวิกตอเรีย (Victoria Terminus) ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกใน ค.ศ.2004 ให้เป็นแหล่งมรดกโลกด้วยคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างแนวยุคฟื้นฟูโกธิค (Gothic Revival Architecture) ซึ่งเป็นที่นิยมในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 กับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของอินเดีย

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

อาคารออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษเฟรเดริก วิลเลียม สตีเวนส์ (Frederick William Stevens) ในช่วงยุคอาณานิคมและเริ่มก่อสร้างเมื่อ ค.ศ.1878 โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 10 ปี แล้วเสร็จใน ค.ศ.1887 ตรงกับพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระนางเจ้าวิกตอเรีย สถานีจึงมีชื่อเดิมว่าสถานีวิกตอเรียเพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาสนี้และเป็นอาคารที่ใช้งบการก่อสร้างสูงที่สุดในเมืองมุมไบในขณะนั้น (หรือชื่อเดิมว่า บอมเบย์) คือ 260,000 ปอนด์ จนกระทั่ง ค.ศ.1966 ได้มีการเปลี่ยนชื่อสถานีเป็น ฉัตรปตีศิวาจี เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ ฉัตรปตี ศิวาจีราเช โภสเล จักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิมราฐา ผู้นำการต่อต้านจักรวรรดิโมกุล

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

มุมไบเป็นเมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระและเป็นเมืองท่าสำคัญของทะเลอาหรับ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมบันเทิงของอินเดีย สถานีแห่งนี้จึงมีผู้ใช้บริการมากถึงวันละกว่า 3 ล้านคน สถาปัตยกรรมของ สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ แห่งนี้ยังคงความดั้งเดิมไว้ได้มากที่สุด ทั้งโครงสร้างหลักที่สร้างด้วยหินทรายและหินปูนขาวเป็นอาคารรูปตัว C โดยมีโดมตรงกลางและขยายเป็นอาคารด้านปีกซ้ายและขวาซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่ใกล้เคียงกับรูปแบบการก่อสร้างพระราชวังของอินเดีย ในขณะที่อาคารทรงหอคอยและยอดแหลมได้รับอิทธิพลจากปราสาทและวิหารแบบยุโรป รายละเอียดที่โดดเด่นยังประกอบด้วยช่องโค้งยอดแหลมที่เรียกว่า Pointed Arch ลวดลายปูนปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ บริเวณฟาซาด (Façade) ลวดลายไม้แกะสลักบริเวณหน้าต่างและประตู และหัวเสา 2 ต้นบริเวณประตูทางเข้าหลักซึ่งมีรูปปั้นรูปสิงโตประดับอยู่เสาหนึ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรในขณะที่อีกเสาหนึ่งเป็นรูปปั้นรูปเสือซึ่งหมายถึงประเทศอินเดีย

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

02 Saint-Lazare Station, ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สถานีรถไฟแซงต์-ลาซาร์ เป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศฝรั่งเศสโดยสร้างขึ้นใน ค.ศ.1837 เพื่อเป็นประตูเชื่อมการเดินทางระหว่างปารีสกับหัวเมืองทางทิศตะวันตก คือ เมืองแซงต์ แฌร์แม็ง-ออง-เล (Saint Germain-en-Laye) เมื่อแรกสร้างถูกเรียกว่า embarcadère de l’ouest (ออมบาค์กาแดร์ เดอ ลูแอสต์) ซึ่งตัวอาคารหลักเป็นอาคารไม้และตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าปลาส เดอ เลอคร็อป (Place de l’Europe)

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

ต่อมาในช่วง ค.ศ.1842-1853 สถาปนิก อัลเฟร็ด อาร์คม็องด์ (Alfred Armand) และ วิศวกร เออแฌน ฟราชาต์ (Eugène Flachat) ได้ร่วมกันออกแบบและก่อสร้างอาคารหลังใหม่โดยขยายตัวสถานีออกไปทางทิศใต้จนถึงบริเวณถนนแซ็งต์-ลาซาร์ (rue Saint-Lazare) ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของ สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ แห่งนี้ ลักษณะของตัวอาคารที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลงานการออกแบบต่อมาของสถาปนิก จุสต์ ลิชช์ (Juste Lisch) โดยเฉพาะตัวซุ้มด้านหน้าของ สถานีรถไฟ ที่ออกแบบในสไตลส์คลาสสิกในช่วงที่มีการปรับปรุงและขยายสถานีระหว่าง ค.ศ.1885-1887

สถานีแซงต์-ลาซาร์ ยังคงเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบันนี้และเป็นสถานีที่มีผู้มาใช้บริการมากเป็นอันดับสองของฝรั่งเศสคือประมาณวันละ 450,000 คน รองจากสถานี การ์ ดู นอรด์ (Gare du Nord) โดยสถานีแซงต์-ลาซาร์ให้บริการเดินรถจากปารีสไปยังเมืองทางแคว้นนอร์ม็องดี (La Normandie) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และปารีสกับชานเมืองทางทิศตะวันตก ภายในบริเวณสถานีนอกจากจะให้บริการเดินรถไฟไปตามเมืองใหญ่ต่างๆแล้วยังเป็นสถานีรถไฟใต้ดินทั้งเมโทรและรถไฟ RER ที่วิ่งระหว่างปารีสกับชานเมืองและเป็นแหล่งชอปปิงอีกด้วย

สถานีรถไฟ

03 Sao Bento Station, ปอร์โต ประเทศโปรตุเกส

สมกับเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในการผลิต กระเบื้องอะซูเลฮู (Azulejo) หรือกระเบื้องเขียนลายที่นิยมนำไปตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ เช่น โบสถ์ วิหาร อาคารสำนักงาน บ้านเรือน และร้านอาหาร จนกลายเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของประเทศโปรตุเกส สถานีรถไฟเซา เบนโต (Sao Bento) ในเมืองปอร์โต (Porto) จึงประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องอะซูเลฮูจำนวนกว่า 20,000 ชิ้นและทำให้สถานีนี้เป็นหนึ่งในเช็กลิสต์ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือน

สถานีรถไฟ

อาคารของ สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) ออกแบบโดยสถาปนิกชาวโปรตุเกส โคเซ มาร์เกซ ดา ซิลวา (José Marques da Silva) และเริ่มก่อสร้างเมื่อ ค.ศ.1904 และเปิดให้บริการใน ค.ศ.1916 ส่วนการตกแต่งด้วยกระเบื้องอะซูเลฮูเป็นผลงานของศิลปิน จอร์จ โคลาโก (Jorge Colaço) ที่ใช้เวลาร่วม 11 ปีกว่าจะแล้วเสร็จโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การสู้รบของอัศวินและกษัตริย์ในสงครามต่าง ๆ วิถีชีวิตผู้คน และวิวัฒนาการของการรถไฟ

สถานีรถไฟ

นอกจากจะมีชื่อเสียงเรื่องกระเบื้องอะซูเลฮู ปอร์โตยังเป็นเมืองท่าเก่าแก่ของยุโรปและในเขตย่านเก่าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อ ค.ศ.1996 อีกทั้งเมืองนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดพอร์ตไวน์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและชื่อปอร์โต มาจากคำว่า Port ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ท่าเรือ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองท่าแห่งนี้ในการส่งออกไวน์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17

สถานีรถไฟ

04 Tokyo Station, โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

สถานีรถไฟโตเกียว ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็น สถานีรถไฟ ที่มีพื้นที่กว้างขวางถึง 182,000 ตารางเมตรและมีจำนวนรถไฟระหว่างเมืองเข้า-ออกคับคั่งมากที่สุดของประเทศคือราว 4,000 เที่ยวต่อวัน และมีผู้โดยสารใช้บริการมากถึงวันละเกือบ 500,000 คน อาคารที่โดดเด่นคืออาคารอิฐแดงสไตล์ตะวันตกฝั่งมารุโนะอุจิ (Marunouchi) ซึ่งมีอาคารหลักตรงกลางและปีกซ้ายขวาเป็นอาคารหลังคาทรงโดมโดยได้ปิดเพื่อบูรณะปรับปรุงเป็นเวลานานถึง 5 ปีตั้งแต่ ค.ศ.2007-2012 และลานกว้างด้านหน้าอาคารยังได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์และเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างสมบูรณ์เมื่อปลายปี ค.ศ.2017

สถานีรถไฟ

แผนการสร้างสถานีรถไฟใจกลางกรุงโตเกียวเริ่มเมื่อ ค.ศ.1889 ในช่วงเวลาเดียวกับที่ทางการกรุงโตเกียวมีโครงการที่จะสร้างทางรถไฟยกระดับเพื่อวิ่งระหว่างสถานีชิมบาชิ (Shimbashi) กับอุเอโนะ (Ueno) โดยทีมวิศวกรชาวเยอรมันชุดเดียวกันคือ ฟรันทซ์ บัลท์เซอร์ (Franz Baltzer) และ แฮร์มัน รุมชอทเทิล (Hermann Rumshöttel) ส่วนการออกแบบเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.1903 โดยสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น คิงโกะ ทัตสึโนะ (KingoTatsuno) ผู้ออกแบบสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นและเป็นผู้บุกเบิกงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในญี่ปุ่น โดยออกแบบสถานีให้เป็นอาคาร 3 ชั้นและมีความสูง 335 เมตร ด้วยโครงสร้างเหล็กและอิฐซึ่งคาดว่ามีก้อนอิฐแดงที่ใช้ตกแต่งด้านนอกของอาคารมากกว่า 900,000 ก้อน สถานีเริ่มดำเนินการก่อสร้างใน ค.ศ.1908 หลังจากโครงการต้องหยุดชะงักในช่วงสงครามกับรัสเซียและเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1914

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ แห่งนี้รอดพ้นจากความเสียหายในช่วงเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในภูมิภาคคันโตเมื่อ ค.ศ.1923 และกลายเป็นแลนด์มาร์กของเมืองมาเป็นเวลา 31 ปี จนกระทั่งเสียหายอย่างหนักจากการถูกโจมตีทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1945 จากนั้นได้มีการซ่อมแซมและปรับปรุงใน ค.ศ.1947 จนสามารถเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงโทไกโดชินคันเซ็นสายแรกที่วิ่งระหว่างกรุงโตเกียวกับโอซาก้าเมื่อ ค.ศ.1964 นอกจากนี้สถานีโตเกียวยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสมบัติล้ำค่าทางวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ.2003

05 Vitebsky Station, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย

สถานีวีเต็บสกี ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกที่สร้างเมื่อ ค.ศ.1837 ช่วงสมัยจักรวรรดิรัสเซียเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกับพระราชวังซาร์สกอย เซโล (Tsarskoe Selo) โดยแรกเริ่มเป็นอาคารโครงสร้างไม้ ขบวนรถจักรไอน้ำขบวนแรกออกจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปยังสถานีพระราชวังเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1837 โดยการควบคุมของวิศวกรและศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยี ฟรานซ์ แอนตัน ริตเทอร์ ฟอน เกิรสต์เนอร์ (Franz Anton Ritter von Gerstner) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างสถานีแห่งนี้ด้วย

ต่อมาอาคารไม้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารหิน 2 ชั้นซึ่งออกแบบโดยสถาปนิก คอนสแตนติน ธน (Konstantin Ton) จนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สถานีไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นได้จึงต้องสร้างอาคารหลังใหม่ใน ค.ศ.1902 เป็นสไตล์อาร์ตนูโว (Art Nouveau) และออกแบบโดยสถาปนิก Stanislav Brzhozovskiy โดยมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่สูงกว่า 20 เมตรและโดดเด่นด้วยบันไดหินอ่อนประดับด้วยทองแดง

ส่วนชานชาลาและหลังคาที่เป็นโครงสร้างเหล็กก็สวยงามไม่แพ้กันและได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวอย่างของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเลิศทั้งทางด้านวิศวกรรมและสุนทรียศาสตร์ ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามของสถานี Vitebsky ทำให้ที่นี่เป็นโลเกชันสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น The Fall of the Roman Empire, Anna Karenina, Station for Two, และ The State Counsellor

06 London Paddington Station, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สถานีลอนดอน แพดดิงตัน ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นสถานีปลายทางของเส้นทางสายตะวันตกโดยแรกเริ่มเป็นสถานีแบบชั่วคราวของบริษัทรถไฟ Great Western Railway (GWR) ซึ่งเปิดให้บริการเดินรถครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1838 จนเมื่อการเดินทางเริ่มคับคั่งในช่วง ค.ศ.1851 ทางบริษัทจึงมีโครงการสร้างสถานีถาวรซึ่งออกแบบโดยวิศวกร อิซัมบาร์ด คิงดอม บรูเนล (Isambard Kingdom Brunel) ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็นหนึ่งในอัจฉริยะในประวัติศาสตร์ด้านวิศวกรรมของประเทศอังกฤษ

บรูเนลได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากอาคารคริสตัลพาเลซ (The Crystal Palace) ที่ใช้ในการจัดงานเอ็กซ์โปใน ค.ศ.1851 ที่สวนสาธารณะไฮด์พาร์ก (Hyde Park) ในลอนดอนซึ่งเป็นอาคารโครงสร้างเหล็กและกระจกที่ออกแบบโดยสถาปนิก โจเซฟ แพกซ์ตัน (Joseph Paxton) โดยบรูเนลได้ใช้เหล็กดัดและกระจกในการก่อสร้างหลังคาของชานชาลาสถานีลอนดอน แพดดิงตัน และสถาปนิก แมทธิว ดิกบี้ ไวแอ็ตต์ (Matthew Digby Wyatt) เป็นผู้ออกแบบลวดลายของเหล็กที่ใช้ประดับตกแต่งและรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม

สถานีลอนดอน แพดดิงตัน ได้รับการบูรณะและปรับปรุงครั้งใหญ่ในช่วง ค.ศ.1913-1916 โดยการเพิ่มจำนวนชานชาลาแต่ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้มากที่สุด จนกระทั่งค.ศ.1990 มีการปรับปรุงอีกครั้งและได้มีการใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตทดแทนวัสดุดั้งเดิมของการสร้างหลังคา สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ แห่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเดินรถไฟใต้ดินลอนดอน หรือ London Underground ซึ่งเป็นระบบรถไฟใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเนื่องจากเส้นทางสายแรกที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ.1863 เป็นเส้นทางระหว่างสถานีแพดดิงตัน กับ สถานีฟาร์ริงตัน

ชื่อแพดดิงตันยังเป็นที่รู้จักในนามของหมีน้อยขนสีน้ำตาลสวมหมวกแดงและเสื้อโค้ตสีน้ำเงิน ผู้รักการกินเบคอนเป็นอาหารเช้า จากหนังสือประกอบภาพสำหรับเด็กเรื่อง A Bear Called Paddington โดย ไมเคิล บอนด์ (Michael Bond) ซึ่งขายได้มากกว่า 35 ล้านเล่มทั่วโลกและแปลมากกว่า 40 ภาษารวมทั้งภาษาไทย

ต้นกำเนิดที่แท้จริงของหมีแพดดิงตัน เริ่มเมื่อปี ค.ศ. 1956 จากตุ๊กตาหมีขนฟูตัวสุดท้ายที่เหลือบนชั้นวางสินค้าของร้าน Selfridge ในกรุงลอนดอนและไมเคิล บอนด์ ซึ่งเป็นตากล้องสถานีโทรทัศน์ BBC ในขณะนั้นตัดสินใจซื้อมาเป็นของขวัญคริสต์มาสให้ภรรยาและตั้งชื่อตุ๊กตาหมีตัวนั้นว่า แพดดิงตัน ตามชื่อสถานีรถไฟที่อยู่ใกล้บ้านของพวกเขา หลังจากนั้นไมเคิล บอนด์ จึงได้เริ่มเขียนเรื่องราวของหมีน้อยที่ต้องพลัดถิ่นมาจากป่าแอมะซอน ประเทศเปรูหลังเกิดไฟไหม้ป่า และพลัดหลงข้ามทวีปมาผจญภัยในเมืองหลวงของประเทศอังกฤษ

07 Antwerp Central Station, แอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม

ในปี ค.ศ.2009 นิตยสาร Newsweek จัดอันดับให้สถานีรถไฟกลางของเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียมเป็นสถานีที่สวยที่สุดในโลกลำดับที่ 4 สถานีนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ ค.ศ.1895 และแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ.1905 เพื่อทดแทนสถานีรถไฟปลายทางเดิมที่ก่อสร้างด้วยไม้ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ ค.ศ.1834 ในเส้นทางระหว่างเมืองบรัสเซลส์-เมืองเมเคอเลิน-เมืองแอนต์เวิร์ป ตามรับสั่งของกษัตริย์ลิโอโปลด์ที่ 2 (King Leopold II) เพื่อให้เป็นสถานที่โอ่อ่าและหรูหราบ่งบอกถึงความร่ำรวยทางศิลปะของเบลเยียม

สถานีรถไฟ

สถาปนิกชาวเบลเยียม หลุยส์ เดลาเซนเซรี (Louis Delacenserie) เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบอาคารใหม่หลังคาทรงโดมที่สร้างด้วยหินและโถงกลางที่รองรับผู้โดยสารซึ่งสวยงามจนสะกดสายตานักเดินทางทั่วโลก ส่วนหลังคาเหล็กและกระจกของชานชาลาที่ยาวถึง 185 เมตรและสูง 44 เมตร เป็นผลงานของวิศวกร คลีเมนต์ ฟาน โบเกิร์ต (Clement van Bogaert) และในช่วงระหว่าง ค.ศ.2000-2009 ทางสถานีได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ โดยมีการสร้างรางรถไฟในชั้นใต้ดินเพิ่มขึ้นและสร้างอุโมงค์ ทำให้ตั้งแต่ ค.ศ.2007 สถานีแอนต์เวิร์ปไม่ได้เป็นสถานีปลายทางเหมือนในอดีตที่เมื่อรถไฟถึงที่นี่แล้วต้องหันหัวกลับ

สถานีรถไฟ

08 Nyugati Station, บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

นูกาติ (Nyugati) เป็นสถานีรถไฟสายตะวันตกและเป็น 1 ใน3 สถานีสำคัญของเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี โดยมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นคืออาคารโครงสร้างเหล็กและกระจกออกแบบโดยสถาปนิกชาวออสเตรีย ออกัสต์ เดอ เซอเรส (August de Serres) และก่อสร้างโดยบริษัท Gustave Eiffel เมื่อค.ศ.1877 ก่อนที่บริษัทของวิศวกรชื่อดังชาวฝรั่งเศส กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) จะสร้างงานมาสเตอร์พีซที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกคือหอไอเฟล ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในอีก 12 ปีต่อมา

โถงรับรองผู้โดยสารของสถานีครอบคลุมพื้นที่ 6,153 ตารางเมตรโดยมีความยาว 146 เมตร สูง 25 เมตร และฟาซาดทำจากกระจก ด้านข้างของอาคารสถานีทั้งซ้ายและขวาเป็นอาคารทรงหอคอยและมีหลังคาทรงโดมตรงกลางซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยนั้น นอกจากนี้ในบริเวณสถานีทางด้านทิศใต้ยังเป็นที่ตั้งของร้านแมคโดนัลด์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสาขาที่สวยที่สุดในโลก

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2021 ทางการรถไฟของฮังการีได้เปิดให้บริษัทนานาชาติส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการปรับปรุงและพัฒนาสถานีรถไฟนูกาติและพื้นที่โดยรอบโดยมี 36 บริษัทส่งผลงานเข้าประกวด และเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2021 ได้ประกาศรายชื่อ 12 บริษัทที่เข้ารอบสุดท้ายซึ่งประกอบด้วยบริษัทชื่อดัง อาทิ Kengo Kuma & Associates + M-Teampannon, Zaha Hadid Architects, Grimshaw Architects และ Foster + Partners โดยมีโจทย์ในการออกแบบ เช่น ดีไซน์สถานีใต้ดินใหม่และโถงชานชาลา ปรับปรุงโถงพักคอยและรับผู้โดยสารเดิมให้มีการใช้งานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้คาดหมายว่าจะมีการประกาศชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดในเดือนเมษายน ค.ศ.2022 และเริ่มดำเนินโครงการได้ใน ค.ศ.2025

สถานีรถไฟ

09 Metz-Ville Station, เมตซ์ ประเทศฝรั่งเศส

ใน ค.ศ.2021 สถานีรถไฟเมตซ์-วิลล์ในเมืองเมตซ์ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส ได้รับยกย่องให้เป็นสถานีรถไฟที่สวยที่สุดในประเทศฝรั่งเศส โดย การ์ แอนด์ กอนเน็คซิยงส์ (Gares& Connections) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของการรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส และนับเป็นปีที่ 3 แล้วที่สถานีแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโดยครั้งแรกใน ค.ศ. 2017 และครั้งที่สองในค.ศ.2018

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์ แห่งนี้สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.1904-1908 โดยสถาปนิกชาวเยอรมัน ยรู้คเกิ้น ครูเกอร์ (Jürgen Kröger) ในสไตล์ที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูโรมาเนสก์ (Neo-Romanesque) และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งประเทศฝรั่งเศส วัตถุประสงค์ในการสร้างนอกจากเพื่อขนส่งสินค้าและผู้โดยสารแล้วยังใช้ในด้านยุทธศาสตร์เพื่อลำเลียงทหารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งให้ได้มากที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตัวอาคารของสถานีมีความยาว 300 เมตรและมีหอนาฬิกาที่สูงถึง 40 เมตรซึ่งเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดความสนใจของผู้ที่ผ่านไปมาซึ่งแฝงนัยถึงอำนาจ ความรวดเร็ว และความเที่ยงตรงบริเวณซุ้มประตูด้านหน้าของตัวอาคารและบริเวณภายในห้องโถงมีการตกแต่งประดับประดาด้วยรูปปั้น คานแบบโค้ง และกระจกสีต่างๆทำให้ได้บรรยากาศแบบยุคกลางผสมสไตล์เยอรมัน

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

10 Frankfurt Main Station, แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

สถานีรถไฟกลางของเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของยุโรปซึ่งมีผู้โดยสารใช้บริการวันละประมาณ 400,000 คน และสร้างขึ้นใน ค.ศ.1883 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-เรอเนซองส์และนีโอ-คลาสสิกด้วยโครงสร้างหลักเป็นเหล็กและกระจกจากผลงานออกแบบของสถาปนิก แฮร์มัน เอกเกิร์ต (Hermann Eggert) ผู้ชนะการประกวดออกแบบสถานีที่จัดขึ้นในค.ศ.1881 และโยฮันน์ วิลเฮ็ล์ม ชเวดเลอร์ (Johann Wilhelm Schwedler) เป็นหัวหน้าวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง

โถงรับรองผู้โดยสารออกแบบในสไตล์นีโอ-เรอเนซองส์ และบนหลังคาประดับด้วยรูปปั้นเทพเจ้ากรีกแอตลัส (Atlas) ผู้แบกโลกไว้บนบ่าและมีผู้ช่วยด้านซ้ายและขวาซึ่งเป็นตัวแทนของเหล็กและไอน้ำอันเป็นสัญลักษณ์ของรถไฟ ต่อมาใน ค.ศ.1924 ได้มีการสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งในสไตล์นีโอคลาสสิก สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของสถานีแห่งนี้คือบริเวณฟาซาดด้านทิศตะวันออกติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ซึ่งขนาบด้วยรูปปั้นทั้งด้านซ้ายและด้านขวาเพื่อสื่อถึงกลางวันและกลางคืน

สถานีรถไฟประวัติศาสตร์

สถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1888 แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จะได้รับความเสียหายแต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนกลับมาเปิดใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันสถานีได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักเดินทางทั่วโลกและเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยในค.ศ.2020 ทางการรถไฟของประเทศเยอรมนีใช้เงินลงทุนไปราว 1.3 พันล้านยูโร

ส่วนสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือเรียกกันทั่วไปว่า สถานีหัวลำโพง เปิดให้บริการหลังสถานีแฟรงก์เฟิร์ต 25 ปี โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอาคารทรงโดมสไตล์อิตาเลียนเรอเนซองส์ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสถานีแฟรงก์เฟิร์ต นอกจากนี้วัสดุในการก่อสร้างเป็นวัสดุสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมนีและมีการติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่บริเวณกึ่งกลางยอดโดมด้านหน้าของสถานีคล้ายกันอีกด้วย

อ้างอิง


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ
ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง