14 ความหมายของ รุ้ง จากยุคโบราณ เทพปกรณัม ความหวัง สู่ความหลากหลายทางเพศ
Lite

14 ความหมายของ รุ้ง จากยุคโบราณ เทพปกรณัม ความหวัง สู่ความหลากหลายทางเพศ

Focus
  • รุ้ง ในแง่การเป็นสัญลักษณ์ของความหวังนั้นปรากฏแต่โบราณทั้งในประวัติศาสตร์จีนโบราณ อียิปต์ ชาวเผ่าอินเดียนแดง และพระคัมภีร์ไบเบิล
  • บางชนเผ่าในอินโดนีเซียเชื่อว่า รุ้ง เป็นสะพานที่ดวงวิญญาณ ส่วนในนิทานปรัมปราของญี่ปุ่นเชื่อว่า รุ้งคือสะพานแห่งสรวงสวรรค์
  • ในยุคปัจจุบันรุ้งคือสัญลักษณ์แทนความแตกต่างหลากหลายทางเพศออกแบบโดยกิลเบิร์ต เบเกอร์

มิถุนายนเป็นเดือนที่เส้นรุ้งพาดผ่านไปทุกมุมของโลก เพื่อเฉลิมฉลองความงามตามธรรมชาติที่สร้างสรรค์มาจากเฉดสีที่แตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกับ “สีรุ้ง” ไม่เพียงแต่ รุ้ง ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างหลากหลายแล้ว แต่เดิมนั้นรุ้งยังถูกใช้สื่อความหมายต่างๆ มาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง ความฝัน แรงบันดาลใจ ดังเช่นความหมายของรุ้งที่เราได้รวบรวมมาดังนี้

รุ้ง

1. ความหวัง : ความหมายของรุ้งที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณในแง่การเป็นสัญลักษณ์ของความหวังนั้นปรากฏทั้งในประวัติศาสตร์จีนโบราณ อียิปต์ ชาวเผ่าอินเดียนแดง และพระคัมภีร์ไบเบิล บทปฐมโองการ ว่าด้วยพระเจ้าสร้างโลก ที่ถือเอารุ้งเป็นข้อพิสูจน์ถึงข้อตกลงระหว่างสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งมวลที่อาศัยอยู่ใต้ร่มเงาของพระผู้เป็นเจ้านอกจากนี้ยังมีรากฐานความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณในสังคมผู้นับศาสนาคริสต์ถึงเรื่องเล่าจากพระคัมภีร์ว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ส่งรุ้งมาเป็นสัญลักษณ์ปลุกปลอบกำลังใจให้โนอาห์และประชาชนของเขาได้เดินหน้าสร้างชีวิตกันต่อไปหลังประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่

2. ทางช้างเผือก : ตำนานไวกิ้งในแถบสแกนดิเนเวียเชื่อว่ารุ้งเป็นตัวแทนของ “ทางช้างเผือก” โดยพวกเขามีชื่อเรียกรุ้งว่า Bifröstเป็นสะพานเชื่อมระหว่างดินแดนแห่งเทพเจ้า หรือ ดินแดนแอสการ์ด (Asgard) อาณาจักรแห่งเทพธอร์จอมพลังที่มาร์เวล เอามาแต่งเติมในการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ กับดินแดนของมนุษย์ที่เรียกว่าดินแดนมิดการ์ด (Midgard)

3. สะพานดวงวิญญาณ : ความเชื่อบางชนเผ่าในอินโดนีเซียเชื่อว่ารุ้งเป็นสะพานที่ดวงวิญญาณมนุษย์จะถูกส่งข้ามจากแดนมนุษย์ไปสู่โลกแห่งจิตวิญญาณ

4. สะพานแห่งสรวงสวรรค์ : ในนิทานปรัมปราของญี่ปุ่นเชื่อว่า รุ้งคือสะพานแห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งทั้งเพศชายและหญิงใช้เป็นสะพานออกจากมหาสมุทรวิปโยคมาสร้างแผ่นดิน

5. คันศรพระอินทร์ :ในตำนานของชาวฮินดู รุ้งคือคันศร หรือ คันธนูของพระอินทร์ เทพเจ้าแห่งสายฟ้าและสงคราม ที่ยิงลูกศรออกมาเป็นสายฟ้าฟาด

6. คันธนูของเทพเจ้า : ความเชื่อเก่าแก่ของชาวอาหรับ ก่อนเกิดศาสนาอิสลาม ในศตวรรษที่ 6 ก็มีความเชื่อว่ารุ้งเป็นคันธนูของเทพเจ้าองค์หนึ่งบนฟากฟ้าเช่นกัน

7. หิน 5 สีของนฺหวี่วา: ความเชื่อเก่าแก่ของชาวจีน รุ้งเป็นรอยแยกบนท้องฟ้าที่เกิดจากการวางหิน 5 สีของ เทพนฺหวี่วา (Nuwa) หรือ หนึ่งออ ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หมายถึง เทพีที่มีลักษณะครึ่งคนครึ่งงูเห่า ซึ่งเป็นผู้สร้างมนุษยชาติและฟื้นฟูท้องฟ้า เป็นเทพีผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งตามประมวลเรื่องปรัมปราจีน

8. มงกุฎของเทพมารดา :ความเชื่อของชาวมายัน อารยธรรมโบราณเก่าแก่ในทวีปอเมริกาใต้ เชื่อว่า รุ้ง เป็นมงกุฎของอิกซ์เชล(IxChel)เทพมารดาที่เกี่ยวข้องกับเสือจากัวร์และผู้บันดาลให้เกิดฝนตก

9. เข็มขัดดวงอาทิตย์ : ความเชื่อของชาวอาร์มีเนียน เชื่อว่า รุ้ง เป็นเข็มขัดของเทียร์ ( Tir) เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์

10. เสื้อคลุมของพระอาทิตย์ : ความเชื่อของชาวเผ่าเชอโรคี ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา(อินเดียนแดง) เชื่อว่ารุ้งเป็นเส้นใยที่ถักทอเป็นเสื้อคลุมของพระอาทิตย์

11. รุ้งเปลี่ยนเพศสภาพ : ความเชื่อของชาวบัลแกเรียมีว่า ถ้าใครเดินลอดรุ้งจะทำให้เพศสภาพของคนคนนั้นเปลี่ยนไป

12. สัตว์ประหลาด :ความเชื่อของชาวปกากะญอในเมียนมา เชื่อว่ารุ้งเป็นสัตว์ประหลาดที่กินเด็กเป็นอาหาร

13. งูยักษ์ผู้หยุดฝน : ความเชื่อของชนพื้นเมืองออริจีนีส ในลุ่มน้ำเพนเนฟาเธอร์ (Pennefather River) ทางรัฐนอร์ธควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เชื่อว่า รุ้ง คืองูยักษ์ผู้มาช่วยหยุดฝนที่เกิดจากการกระทำของศัตรูของชาวออริจีนีส และยังมีภาพงูสีรุ้งปรากฏอยู่บนงานศิลปะเขียนสีและสลักหินเก่าแก่ย้อนไปถึง 10,000 ปี ในถิ่นที่อยู่ของชาวออริจีนีส

กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker)

14. ความแตกต่างหลากหลายทางเพศ : ในยุคปัจจุบันรุ้ง คือสัญลักษณ์แทนความแตกต่างหลากหลายทางเพศออกแบบโดย กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ในรูปแบบของ ธงสีรุ้ง (Rainbow flag) ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่าธงสีรุ้งแห่งความภาคภูมิชุมชนหลากหลายเพศ (Rainbow LGBT Pride Flag) เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายเพศและสื่อความหมายถึงการเฉลิมฉลองและความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นซึ่งสิ่งนี้เป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับเฉดสีรุ้งดังที่เบเกอร์เคยกล่าวว่า

“เราต้องการสิ่งที่สื่อถึงตัวเรา มันสวยงาม สีรุ้งเหมาะที่สุด เพราะมันสื่อถึงความหลากหลายในชุมชนของเรา ทั้งเชื้อชาติ เพศสภาพ อายุ และทุกสิ่ง บวกกับมันเป็นธงสีธรรมชาติ…สีรุ้งจากท้องฟ้า”

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป