ไขความหมายที่ซ่อนในสีรุ้งของ Rainbow LGBT Pride Flag
Lite

ไขความหมายที่ซ่อนในสีรุ้งของ Rainbow LGBT Pride Flag

Focus
  • 25 มิถุนายน ค.ศ.1978 ธงสีรุ้ง หรือ Rainbow LGBT Pride Flag  ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการแสดงออกเรียกร้องเสรีภาพ สิทธิเท่าเทียม และการเฉลิมฉลองของชุมชนความหลากหลายเพศ
  • กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) นำเอาสีรุ้งธรรมชาติมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบธงสีรุ้ง หรือ Rainbow LGBT Pride Flag

ย้อนไปวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1978 ธงสีรุ้ง Rainbow LGBT Pride flag  ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการแสดงออกเรียกร้องเสรีภาพ สิทธิเท่าเทียม และการเฉลิมฉลองของชุมชนความหลากหลายเพศในงาน San Francisco Gay Freedom Day parade หรืองาน Gay Pride ซึ่งเป็นการเรียกร้องที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall Riots) การเคลื่อนไหวประท้วงครั้งใหญ่ที่กลายเป็นหมุดหมายของขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนหลากหลายเพศ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1969 ที่โรงแรมสโตนวอลล์อินน์ ในเมืองนิวยอร์ก (Stonewall Inn) 

ธงสีรุ้ง หรือ เรนโบว์แฟลก (Rainbow flag) มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ธงสีรุ้งแห่งความภาคภูมิชุมชนหลากหลายเพศ Rainbow LGBT Pride Flag เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ และสื่อความหมายถึงการเฉลิมฉลอง และความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศสภาพ อายุ เชื้อชาติ และความแตกต่างทุกสิ่งอย่างที่มนุษย์แต่ละคนเป็น เหมือนที่ กิลเบิร์ตเบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสิทธิของชุมชนหลากหลายเพศ ผู้ออกแบบธงสีรุ้งเคยกล่าวไว้ว่า

Rainbow LGBT Pride flag

“เราต้องการสิ่งที่สื่อถึงตัวเรา มันสวยงาม สีรุ้งเหมาะที่สุด เพราะมันสื่อถึงความหลากหลายในชุมชนของเรา ทั้งเชื้อชาติ เพศสภาพ อายุ และทุกสิ่ง บวกกับมันเป็นธงสีธรรมชาติ สีรุ้งจากท้องฟ้า”

มิถุนายน ค.ศ. 1994 ธงสีรุ้ง กลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนหลากหลายเพศที่ได้การยอมรับไปทั่วโลกมากขึ้น เมื่อ กิลเบิร์ต เบเกอร์ ทำธงสีรุ้ง (6 สี) ขนาดมหึมาความยาวเป็นไมล์ ในวาระครบรอบ 25 ปี ของเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ซึ่งตรงกับคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 ตรงกับยุคที่อเมริกามีกฎหมายห้ามแต่งกายข้ามเพศ และในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ก็มีเหตุตำรวจทำร้ายประชาชนในบาร์ที่แต่งกายข้ามเพศจนลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจลในที่สุด

สำหรับประเทศไทย ธงสีรุ้งถูกใช้ครั้งแรกใน ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) ในงาน Bangkok Gay Festival งานเฉลิมฉลองและเรียกร้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกันในรูปแบบใกล้เคียงกับงาน Pride ของอเมริกา ถือได้ว่าเป็นงาน Pride ครั้งแรกในประเทศไทย งานจัดขึ้นวันเดียวคือวันที่ 31 ตุลาคม จุดประสงค์หลักของงาน เพื่อรณรงค์การป้องกันโรคเอดส์ การเปิดเผยตัวตน และสนับสนุนการท่องเที่ยวย่านบันเทิงในกรุงเทพฯ

ค.ศ. 2000 บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศให้ เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน (Gay & Lesbian Pride Month) ต่อมาในปี ค.ศ. 2009 บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรับฯ ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ (LGBT Pride Month) โดยเพิ่มเรื่องการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในชุมชนหลากหลายเพศ และใช้คำว่า LGBT ที่ย่อมาจาก  Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender

Rainbow LGBT Pride flag
กิลเบิร์ต เบเกอร์ ผู้ออกแบบธงสีรุ้ง

ความหมายที่ซ่อนในสีรุ้ง

รุ้ง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปรากฏให้มนุษย์เห็นด้วยตาเปล่าเป็นแถบเส้นโค้งสีสว่างบนท้องฟ้า หลังฝนตก สเปกตรัมของแสงที่ส่องผ่านละอองไอน้ำในบรรยากาศโลกหลังฝนตก ทำให้ดวงตามนุษย์เห็นแสงหลากสี 7 สีเรียงตัวกัน ความสดใสของสี เป็นสิ่งที่มนุษย์เห็นเป็นความสวยงาม ซึ่งจุดนี้นี่เองที่ทำให้ “กิลเบิร์ต เบเกอร์” (Gilbert Baker) นำเอาสีรุ้งมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบธงสีรุ้ง หรือ Rainbow LGBT Pride Flag เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกเห็นความงามบนความแตกต่างหลากหลายที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างขึ้นจนกลายเป็นมนุษย์

แม้รุ้งจะมี 7 สี แต่ธงสีรุ้ง Rainbow LGBT Pride Flag ต้นฉบับถูกออกแบบให้มี 8 เฉดสี ได้แก่สีชมพูสดสีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ สีคราม และสีม่วงดอกไวโอเลต แต่ต่อมาเนื่องจากปัญหาในการผลิต จึงลดเหลือ 6 สี ที่ใช้มาถึงปัจจุบันโดยสีที่ถูกถอดคือสีชมพูสด และ สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ส่วนสีคราม (Indigo) ถูกแทนที่ด้วย สีน้ำเงิน

กิลเบิร์ต เบเกอร์ ได้ให้สื่อความหมายในสีต่างๆ ของRainbow LGBT Pride Flag ดังนี้

  • สีชมพูสด: เรื่องเพศ (Sex) ภายหลังถูกตัดออก เพราะปัญหาในการผลิต
  • สีแดง : ชีวิต (Life) เป็นสีแรกแถบบนสุดของธงสีรุ้งยุคปัจจุบัน ตามสีของรุ้งในธรรมชาติ
  • สีส้ม : การเยียวยา (Healing)
  • สีเหลือง : แสงตะวัน (Sunlight)
  • สีเขียว : ธรรมชาติ (Nature)
  • สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ : ศิลปะความสามารถ (Art) ภายหลังถูกตัดออก เพราะปัญหาในการผลิต
  • สีคราม : ความปรองดอง ราบรื่น แจ่มใส (Harmony) ภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น สีน้ำเงิน
  • สีม่วงดอกไวโอเลต : จิตวิญญาณ (Spirit)

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป