ดูหนังข้ามปีกับ 3 ภาพยนตร์ไตรภาค ที่ว่าด้วยการเดินทางของชีวิตแสนซับซ้อน
Lite

ดูหนังข้ามปีกับ 3 ภาพยนตร์ไตรภาค ที่ว่าด้วยการเดินทางของชีวิตแสนซับซ้อน

Focus
  • ชวนคิดพินิจชีวิตผ่านภาพยนตร์ชุดที่ใช้เวลาดูยาว ๆ ได้ข้ามปี ได้แก่ The Matrix Trilogy, The Butterfly Effect Trilogy และ Wong Kar-Wai’s Love Trilogy (informal)
  • การทบทวนชีวิตและคิดต่อถึงการก้าวข้ามเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจที่หลายคนเลือกทำในระยะเวลารอยต่อของปี ซึ่งนอกจากการเช็กลิสต์ชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองแล้ว การดูหนังข้ามปีเพื่อสะท้อนถึงชีวิตที่ผ่านมาก็เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อย

ช่วงใกล้สิ้นปีมีหลากหลายกิจกรรมให้ได้เลือกทำฉลองปีใหม่ที่กำลังย่างเข้ามา ไม่ว่าจะสังสรรค์กันสุดเหวี่ยง ใช้ชีวิตอย่างอบอุ่นอยู่กับครอบครัว หรือออกเดินทางไปท่องเที่ยว เตรียมนับถอยหลังก้าวสู่ปีใหม่ไปพร้อมกับการนึกทบทวนว่าที่ผ่านมา 365 วันที่ชีวิตได้ออกเดินทาง เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อจะตั้งสติ จดบันทึกชีวิตไว้แก้ไข และเตรียมใช้ชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งนั่นทำให้คำว่า “ปีใหม่” มีนัยหนึ่งถึงการทบทวนและก้าวข้าม และทำให้คิดถึง “ชีวิต” 

บางคนอาจจะเลือกนั่งเขียนบันทึก ไตร่ตรอง สรุปประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา และที่สำคัญหลังจากทบทวนแล้วนั่นคือการคิดถึงการก้าวต่อไป ซึ่งการมองก้าวต่อไปของชีวิตนั้นทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะหา Input ใหม่ ๆ จากประสบการณ์อ่านหนังสือ ดูงานศิลปะหรือจะชมภาพยนตร์ เพราะสื่อใด ๆ เหล่านี้ล้วนมีจุดร่วมกันนั่นคือ “มนุษย์เป็นผู้สร้างเพื่อเล่าเรื่องราวบางอย่างที่มนุษย์คิด” ดังนั้นความคิดใหม่ ๆ จากสื่อต่าง ๆ จึงสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และชวนไตร่ตรองถึงก้าวต่อไปผ่านจินตนาการล้ำเหลือที่ไม่ว่าจะกว้างใหญ่แค่ไหน ก็ล้วนชวนให้คิดถึงสิ่งที่เล็กที่บางเบาที่สุด แต่ก็มีคำถามนับอนันต์ที่รอให้เราตอบเอง นั่นคือ “ชีวิต” อีกเช่นกัน

ในบทความนี้เราจึงมาชวนคิดพินิจ “ชีวิต” ผ่านภาพยนตร์ไตรภาคที่ใช้เวลาดูได้ข้ามปี ด้วยระยะเวลาของการชมภาพยนตร์ที่ทำให้เราค่อย ๆ เรียบเรียงขยายความคิดต่อเนื่องไปได้ ทำให้  3 ภาพยนตร์ไตรภาค ที่คัดสรรมา เหมาะสำหรับการเดินทางของชีวิตและการคำคำนึงถึงชีวิตในช่วงเส้นแบ่งของเวลาเช่นปีใหม่เป็นอย่างยิ่ง

ภาพยนตร์ไตรภาค

The Matrix Trilogy

ภาพยนตร์แอ็กชันไซไฟปรัชญาอันลือลั่นของพี่น้องวาโชว์สกี (Lana and Lily Wachowski) ที่ผสานองค์ประกอบมากมายทั้งภาพยนตร์แอ็กชันต่อสู้ประชิดแบบเอเชียเข้ากับสไตล์ไซเบอร์พังก์ (Cyber punk) และบทปรัชญาชีวิตที่ผสานความคิดของทั้งตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกันไม่ว่าจะประเด็นศาสนา ความเชื่อของความเป็นศาสดาผู้ปลดปล่อยประเด็นเจตจำนงเสรีของมนุษย์ ประเด็นแรงงานของระบบ และที่สำคัญคือประเด็นของการหลุดพ้นไปสู่การไร้ตัวตนที่สุดท้ายแล้วภาพยนตร์ความยาว 3 ภาคนี้ตั้งคำถามไว้เมื่อดูจบอย่างรวบรัด และกระตุ้นให้พิจารณาการมีอยู่ของตัวตนเราว่ามีอยู่ไปเพื่อสิ่งใด เป็นแรงให้แก่อะไร รวมทั้งเรามีทางเลือกมากมายอย่างที่ใจปรารถนาหรือไม่ และเราต้องการปลดปล่อยตัวเองหรือต้องการวีรบุรุษผู้ปลดปล่อยสังคม

ภาพยนตร์ไตรภาคดูสนุกเรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าชมข้ามคืนในวันข้ามปีเพื่อพิจารณาองค์ประกอบแห่งชีวิตในการเริ่มเปลี่ยนแปลง หรือตั้งคำถามใหญ่ ๆ กับตัวเองว่าการเดินทางข้างหน้าคือทางของเราจริงหรือไม่หรือเป็นทางของระบบบางอย่างกันแน่

ภาพยนตร์ไตรภาค

The Butterfly Effect Trilogy

เคยได้ยินที่บางคนมักกล่าวกันว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” บางทีเรื่องที่ยิ่งใหญ่อาจเป็นผลจากการขยับไหวของสิ่งเล็กจ้อยจากทฤษฎีผลกระทบผีเสื้อ (Butterfly effect) ที่ว่าด้วยการที่จะอธิบายความซับซ้อนของปัจจัยที่สร้างเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยปัจจัยยิบย่อยสู่ภาพยนตร์ระทึกขวัญดราม่าที่ตั้งสมมติฐานกับการตัดสินใจของมนุษย์ว่า ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้มากมายมหาศาลผ่านการกระทำเล็ก ๆ ของคนคนนั้น ชะตากรรมของคนจึงประกอบจากการตัดสินใจมากมายจนก่อร่างขึ้นเป็นเส้นทางชีวิตในอนาคต ผ่านการเล่าเรื่องราวของตัวละครเอกที่เผชิญหน้ากับทางแยกของทางเลือกชีวิตที่เขาสามารถเลือกจะทำกับการตัดสินใจได้หลากรูปแบบ และแต่ละรูปแบบที่เขาทำจะเปลี่ยนโฉมชะตากรรมของเขาไปทั้งชีวิต 

อีกจุดเด่นของภาพยนตร์ชุดนี้คือการที่ภาพยนตร์จะฉายภาพให้เห็นว่าหากตัวละครเอกย้อนเวลาได้และตัดสินใจใหม่เขาจะเลือกใหม่และมีผลต่อชีวิตแบบใหม่ได้ เป็นการย้ำถึงอิทธิพลของการเลือกชะตาในมือของตัวละครเองว่าจะยอมรับชะตากรรมแบบไหนในเมื่อทุกการตัดสินใจสำคัญไปเสียหมด

ภาพยนตร์ชุดนี้จึงเหมาะสมควรแก่การชมเพื่อเพ่งมองเตือนสติและทำให้เราใส่ใจกับทุกย่างก้าวในการกระทำมากขึ้นด้วยการเตือนใจว่าทุกสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของชะตากรรมมักมาจากการเคลื่อนไหวกระทำของเราเองด้วยการชมภาพยนตร์ชุดนี้ข้ามปีจึงเป็นเครื่องเตือนใจชั้นเยี่ยมให้เห็นว่าชีวิตมันช่างละเอียดและต้องการสติมากมายเหลือเกิน

Wong Kar-Wai’s Love Trilogy (informal)

ภาพยนตร์ไตรภาค ที่ไม่เป็นทางการแต่ถูกพูดถึงผ่านเว็บไซต์และหลายบทความที่กล่าวถึงภาพยนตร์ของหว่องกาไว (Wong Kar-Wai) ผู้กำกับสุดเข้มข้นด้วยเทคนิคภาพยนตร์อันมีเอกลักษณ์ฉูดฉาดด้วยแสงสีไปกับการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าสั่นไหวอุปมาจิตใจอันเปลี่ยวเหงาของตัวละครต่าง ๆ ไตรภาคอย่างไม่เป็นทางการนี้เป็นการที่นักเขียนและผู้ที่ชื่นชอบภาพยนตร์ของหว่องกาไวได้รวบภาพยนตร์ 3 เรื่องประกอบด้วย Days of Being Wild (1990), In the Mood for Love (2000) และ 2046 (2004) ที่เป็นภาพยนตร์รักเหงาเดียวดายในฉากหลังเป็นยุค 60’s และเรื่องราวในฮ่องกง โดยแต่ละเรื่องเชื่อมถึงกันด้วยประเด็นทางสังคมผ่านการอุปมาชีวิตรักเดียวดายของตัวละครที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนและไม่มูฟออนใด ๆ

การได้เห็นความเหงาเดียวดายในวันที่เราต้องข้ามเส้นแบ่งปีเก่าและปีใหม่ผ่านภาพยนตร์รักไตรภาคอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าพ่อหนังเหงาเป็นอีกหนึ่งชุดภาพยนตร์ที่จะสามารถทำให้เห็นภาพสะท้อนของการเดินทางไปกับชีวิตที่เดียวดาย พร้อมกับแบกความทรงจำส่วนตัวบางอย่างไปด้วยความซับซ้อนของการเดินทางแบบไม่ก้าวข้ามรอยร้าวทางจิตใจ แต่ตัดสินใจเดินทางร่วมไปกับมันเป็นอีกหนึ่งความคิดที่น่าสนใจที่มักปรากฏขึ้นในภาพยนตร์ของหว่องกาไวและกระตุ้นความคิดในวันข้ามปีได้อีกหนึ่งแบบเกี่ยวกับการก้าวข้ามว่าแท้จริงหากบางแผลมันไม่หายการไปต่ออาจหมายถึงการพยายามอยู่ร่วมกับความเจ็บปวดนั้นให้ได้แม้บางทีอาจเดียวดายในทางข้างหน้าก็ต้องเด็ดเดี่ยวที่จะก้าวเดิน

อ้างอิง


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน