7 เมืองชวนคิดถึง เมียนมา (เวอร์ชันก่อนรัฐประหาร 2021)
Lite

7 เมืองชวนคิดถึง เมียนมา (เวอร์ชันก่อนรัฐประหาร 2021)

Focus
  • 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ของเมียนมา จากนั้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน ออง ซาน ซูจี ได้รับการปล่อยตัวจากการกักบริเวณ แม้ผลการเลือกตั้ง พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ได้เสียงข้างมาก แต่ก็ทำให้บรรยากาศด้านการท่องเที่ยว การลงทุนเริ่มผ่อนคลายขึ้น
  • หลังจากเมียนมาเปิดประเทศ การท่องเที่ยวแทบทุกเมืองก็บูมอย่างก้าวกระโดด แม้แต่เมืองที่ห่างไกลอย่าง มรัคอู รัฐยะไข่ หรือ สีป้อ รัฐฉาน ที่ไม่มีสนามบินก็ยังมีนักเดินทางกล้าที่จะเข้าไปสำรวจมากขึ้น

เมียนมา หรือ พม่า ชื่อนี้แน่นอนว่าคนไทยรู้จักดีกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด ที่มีความแนบชิดด้านประวัติศาสตร์มานานหลายร้อยปี แต่เป็นหลายร้อยปีที่เราอาจจะแทบไม่รู้จักเมียนมาเลยด้วยซ้ำ กระทั่งเมียนมาเปิดประเทศและภาคการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวเมื่อราว 10 ปีก่อนพร้อมกับอิสรภาพของอองซานซูจีในรอบ 20 ปี 

น้ำตกในเมือง Pyin Oo Lwin

ย้อนไปก่อนหน้าที่ เมียนมา ยังไม่เปิดประเทศอย่างเป็นทางการ และยังไม่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง (พ.ศ.2553 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ของเมียนมา) เมียนมาถูกเปรียบเหมือน ฤาษีแห่งเอเชีย ผู้หลับใหล การท่องเที่ยวในเมียนมาทำได้แค่เพียงเมืองใหญ่เพียงบางเมืองอย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ แทบไม่มีบริษัทประกันไหนเปิดให้ทำประกันการเดินทางระหว่างท่องเที่ยวในเมียนมา หรือทำก็ต้องจ่ายในราคาสูงมาก เงินจ๊าตของเมียนมาแทบจะไม่มีราคาต้องแลกตามตลาดใต้ดิน อีกทั้งการเดินทางเข้าไปในบางเมืองถูกจำกัดเส้นทางเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยว หรือไม่ก็ต้องทำหนังสือข้ามระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้านซึ่งวุ่นวายมาก ดังนั้นพอเมียนมาให้สัญญาณเปิดประเทศปุ๊บทุกที่จึงกลายเป็นอันซีนที่แม้แต่คนไทยที่อยู่ใกล้แค่นิดเดียวก็ยังไม่รู้ว่านี่คือเมียนมา

จากซ้าย : ขนมจีนพม่าและอาหารพม่าโมเดิร์นที่ร้าน Rangoon Tea House เมืองย่างกุ้ง

เราแทบไม่เคยรู้เลยว่า เมียนมามีเมืองโคโลเนียลที่เหมือนยุโรปย่อม ๆ ซ่อนอยู่กลางหุบเขาที่อากาศเย็นสบายตลอดปี นั่งรถไฟสายคลาสสิกเลยมัณฑะเลย์ไปไม่ไกลในเมืองสีป้อยังมีพี่น้องไทใหญ่ที่ต่างเอ็นดูพร้อมต้อนรับชาวไทน้อยอย่างเรา ๆ เหมือนญาติที่รู้จักกันมาเนิ่นนาน 

ข้ามมาที่เมืองเศรษฐกิจย่างกุ้งถ้ามีโอกาสได้เดินทางกลับไปอีกครั้ง และถ้าทุกอย่างยังคงโอเค เราขอแนะนำให้มองข้ามซีนศรัทธาไปที่ซีนของงานศิลปะที่กำลังสะพรั่งพอ ๆ กับวัฒนธรรมคาเฟ่ฮอปปิง งานดีไซน์ที่ผสมผสานกับความคลาสสิกของวัฒนธรรมเดิมได้อย่างเหมาะเจาะมาก ๆ 

เมืองโบราณ มรัคอู

ทราบหรือไม่ว่ากาแฟอาราบิกาชั้นเยี่ยมถูกส่งตรงมาจากรัฐฉานและกำลังได้รับความนิยมจากโรงคั่วต่างชาติ รถไฟชานเมืองคือขบวนแห่งวัฒนธรรมที่สามารถจองตั๋ว One Day Trip แล้วจะเห็นทุกความน่ารักของชาวเมียนมาอย่างที่ไม่มีทัวร์ไหนเคยจัดให้มาก่อน ไม่นับรวมชายหาดงาปาลี (Ngapali) ที่เรียงรายด้วยรีสอร์ตหรูจากแบรนด์ต่างชาติ หมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) ในทะเลอันดามันที่ติดอันดับเส้นทางในฝันของนักเดินเรือยอชต์ระดับโลก หรือแม้แต่สกีรีสอร์ตที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราก็แทบไม่รู้เลยว่าตั้งอยู่ที่ปลายหิมาลัยในเมืองกะฉิ่น ประเทศเมียนมานี่เอง 

Sarakadee Lite ขอพา #เที่ยวทิพย์ กลับไปเยือน เมียนมา เวอร์ชันก่อนรัฐประหาร 2021 อีกครั้ง ผ่านจุดหมายปลายทางที่จะทำให้ทั้งหลง ทั้งรักประเทศเมียนมามากขึ้น แนะนำให้ลืมภาพจำเดิม ๆ ของชาวพม่าในสมัยสงครามทุกทัพที่ผ่านมา แล้วคุณจะรู้ว่าที่ผ่านมาเราแทบไม่รู้จักเมียนมาประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ประชิดติดเรามาหลายร้อยปีนี้เลย 

เมียนมา

Pyin Oo Lwin เมืองโคโลเนียลสุดโรแมนติก 

นั่งรถไฟสายคลาสสิกจากเมืองมัณฑะเลย์ไปทางตะวันออกและเฉียงขึ้นทางเหนือไม่ไกล จะพบเจอกับความคลาสสิกของเมืองที่เราขอยกให้เป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดของเมียนมา พินอูลวิน (Pyin Oo Lwin) หรือที่อังกฤษสมัยอาณานิคมเรียก เมืองเมย์เมียว  (Maymyo) ตามชื่อของพันเอกเมย์ ฟลาวเวอร์ ตัวแทนจากอังกฤษที่ถูกส่งเข้ามาดูแลเมืองในอาณัติ 

พินอูลวินซึ่งเป็นเมืองตากอากาศของเหล่าข้าหลวงอังกฤษในสมัยก่อน และเป็นเมืองที่มีรางรถไฟต่อไปยังเมืองสีป้อ รัฐฉาน ซึ่งมีเหมืองแร่เป็นทรัพยากรล้ำค่า แม้พินอูลวินจะอยู่เหนือมัณฑะเลย์ แต่กลับมีอากาศที่ค่อนข้างเย็นสบายทั้งปีและหนาวมากในช่วงฤดูหนาว บรรยากาศในเมืองเหมือนเดินหลงไปในดินแดนเทพนิยาย บ้านแทบทุกหลังมีปล่องไฟ หลังคาทรงโดมแบบยุโรปผสมกับงานไม้ ทั่วทั้งเมืองมีเสียงรถม้าทำจากไม้วิ่งกุบกับเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน 

บ้านเก่าคฤหาสน์เก่าหลายแห่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นรีสอร์ตรับนักท่องเที่ยวที่แน่นขนัดชมงานบอลลูนฤดูหนาว และที่จะพลาดไม่ได้เลยจริง ๆ คือสวนพฤกษศาสตร์กลางเมืองที่เต็มไปด้วยต้นสนขนาดใหญ่ มีการจัดสวนที่เป็นระบบ แบ่งพื้นที่สวยงามไม่ต่างจากสวนในยุโรปเลยจริง ๆ 

เมียนมา

Mrauk U เมืองโบราณที่กาลเวลาหยุดหมุน 

ทะเลเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมียนมาอยู่ที่พุกาม แต่สำหรับคนที่ต้องการประสบการณ์ผจญภัยในเมืองโบราณที่เหมือนกาลเวลาหยุดหมุนแนะนำให้รู้จักเมืองมรัคอู (Mrauk U) รัฐยะไข่ (Rakhine) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบังกลาเทศและอ่าวเบงกอล และคนในแถบนี้เรียกตัวเองว่า อาระกัน (Arakan) เมืองมรัคอูมีชื่อเล่นว่า Mini Bagan หรือเมืองพุกามขนาดย่อม เหตุก็ด้วยที่นี่คือที่ตั้งเมืองโบราณที่แม้จะล่มสลายมาร่วมพันปี แต่กลับมีหลักฐานความรุ่งเรืองเป็นท้องทุ่งทะเลเจดีย์ที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ซึ่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ทางการเมียนมาได้ส่งชื่อของมรัคอู เตรียมขึ้นบัญชีคัดเลือกเป็นเมืองมรดกโลกของ UNESCO 

สถานะเมืองหลวงที่มีกษัตริย์ปกครองยาวนานถึง 300 ปี ทำให้มรัคอูมีวัด เจดีย์ขนาดใหญ่ที่ผสมผสานความเชื่อของพุทธกับฮินดูกระจายอยู่ทั่วเมือง แต่ความต่างจากพุกามก็คือที่นี่เป็นเมืองที่เงียบสงบมาก ๆ หากย้อนไปราว 10 ปีก่อนที่เมียนมาจะเปิดประเทศไม่นาน ทั่วทั้งเมืองยังคงต้องปั่นไฟใช้ และมีเพียงโรงแรมเล็ก ๆ ไม่กี่แห่ง ส่วนตลาดเย็นก็ยังเป็นตลาดแสงเทียน 

มรัคอู ต่างจากพุกามตรงที่พระพุทธรูปนับพันองค์ถูกซ่อนอยู่ในผืนป่ารกชัฏเจดีย์เก่าอายุร่วมพันปีล้วนแทรกตัวอยู่กลางหมู่บ้าน ทว่าเมื่อได้เดินเข้าไปในฐานเจดีย์ที่ค่อนข้างมืดและชื้นเราจะพบกับความสมบูรณ์ของชิ้นงานแกะสลักหินโดยแต่ละวัดมีพระพุทธรูปสลักหินนับได้จำนวนหลักหมื่นองค์ แนะนำให้นั่งรถม้าเทียมเกวียนจะเข้ากับบรรยากาศความเงียบสงบของเมืองเป็นที่สุด 

Mergui อันดามันในฝันของนักเดินเรือ 

หากเอ่ยถึงหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) หลายคนอาจจะไม่รู้จักเท่าไร แต่หากเปลี่ยนใหม่เป็น เกาะหัวใจมรกต หลายคนคงร้องอ๋อขึ้นมาทันที กับภาพหมู่เกาะที่มีทะเลสีเทอร์ควอยซ์รูปหัวใจอยู่ตรงกลาง ซึ่งเกาะหัวใจมรกตนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ Mergui Archipelago หมู่เกาะทางตอนใต้ของเมียนมาซึ่งตั้งอยู่ในเขตทะเลอันดามัน ประกอบด้วยหมู่เกาะเล็ก-ใหญ่กว่า 800 แห่ง และด้วยความที่แต่ละเกาะยังไม่มีโรงแรม รีสอร์ต นักท่องเที่ยวเข้าไปมากนัก จึงรับประกันเรื่องความสมบูรณ์ใต้ท้องทะเล หาดทรายที่ขาวละเอียด และน้ำทะเลที่ใสมาก

Mergui Archipelago เปิดตัวสู่วงการท่องเที่ยวจากโปรแกรมเรือยอชต์และเรือใบสุดไพรเวตของบริษัททัวร์ Burma Boating ซึ่งพาล่องเรือไปยังเกาะแก่งต่าง ๆ สามารถเลือกได้ว่าจะเดินป่า พายคายัคเลาะป่าชายเลน หรือนอนอาบแดดโดยไม่มีใครรบกวน นอกจากนี้ยังมีการไปเรียนรู้วิถียิปซีทะเล และดำน้ำชมปะการังและฝูงปลาที่ยังคงสมบูรณ์อย่างมาก

เมียนมา

Hsipaw นั่งรถไฟข้ามกาลเวลาสู่ “สิ้นแสงฉาน” 

หนังสือ “สิ้นแสงฉาน” หรือ Twilight Over Burma: My Life as a Shan Princessโดย Inge Sargent (อิงเง่ ซาเจนท์) ถือได้ว่าเป็นประตูที่เปิดให้ชาวโลกได้รู้จักรัฐฉานและเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “สีป้อ”ในช่วงต้นเรื่องสิ้นแสงฉานฉายภาพความโรแมนติกฉบับเจ้าหญิง เจ้าชาย ซึ่งมาจากเรื่องจริงของนักศึกษาสาวชาวออสเตรียที่พบรักข้ามขอบฟ้ากับชายหนุ่มต่างแดน โดยที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าความรักครั้งนั้นจะทำให้เธอได้กลายเป็น “สุจันทรีมหาเทวี” ราชินีคู่บัลลังก์ของ “เจ้าฟ้าจาแสง” แห่งรัฐฉานแต่มากกว่าเรื่องรัก คือเกมการเมืองที่กำลังชี้ชะตากรรมของประชาชนและเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉานภายใต้เงื้อมมือของรัฐบาลเผด็จการ 

ไม่น่าเชื่อว่าจากหนังสือสิ้นแสงฉาน จะทำให้มีคนเที่ยวตามรอยไปหาวังของเจ้าฟ้าจาแสงจำนวนมาก แต่ก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองสีป้อ นักท่องเที่ยวต้องนั่งรถไฟสายคลาสสิกGokteik Viaduct ข้ามหุบเขาเป็นเวลาถึงหนึ่งวันเต็ม แต่ไฮไลต์จริง ๆ กลับอยู่ที่สะพานรถไฟเหล็กสีเทาทะมึนที่สร้างตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ ตัวสะพานโค้งยาวทอดผ่านเหวลึก 330 เมตร เป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร มองเห็นผืนป่าอันสลับซับซ้อนอยู่เบื้องล่าง ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากรถไฟเวทมนตร์ที่กำลังลอยอยู่เหนือเมฆ

เมื่อถึงสีป้อที่นี่เงียบสงบเสียจนนึกว่าเข็มนาฬิกาหยุดหมุนไปแล้ว สีป้อเป็นเมืองเล็ก ๆ ลุ่มแม่น้ำดัคทาวดี (Dakhtawaddy) จุดเด่นของการท่องเที่ยวเมืองนี้คือ วิถีชีวิตแบบเนิบช้า การเดินป่า เที่ยวชมไร่ชาแบบขั้นบันไดพร้อมโฮมสเตย์เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเขาที่หมู่บ้านนัมซาน (Namhsan) 

สำหรับนักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตกมักเลือกสีป้อสำหรับแบ็กแพ็กเดินป่า และหนีความวุ่นวายของย่างกุ้ง ส่วนชาวไทยมักจะมาเที่ยวตามรอยสิ้นแสงฉานถามหาเรื่องราวของวังหลวงและเจ้าฟ้าที่นี่มีคาเฟ่เล็ก ๆ เกสต์เฮาส์ไม่กี่หลัง เช่าจักรยาน ปั่นรอบเมือง แวะร้านหนังสือ หาของกินพื้นถิ่นที่ตลาด พูดคุยกับผู้คน เท่านี้ก็ทำให้เวลาหมดไปหนึ่งวันอย่างลืมตัว

Yangon วัฒนธรรมพอปและคลาสสิกมิกซ์ในย่างกุ้ง 

ภาพการลุกขึ้นประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน สลับกับภาพการเข้าปราบปรามฝูงชนของรัฐบาลทหารในเมืองย่างกุ้งที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ทำให้เราแทบจะนึกไม่ออกเลยว่า ณ ตอนนี้ย่างกุ้งและเมืองต่าง ๆ จะเป็นอย่างไรบ้างและหากเราสามารถเดินทางกลับไปย่างกุ้งอีกครั้ง เพื่อน ๆ ร้านค้า คาเฟ่ บาร์ โรงแรม ตลาด แกลเลอรีต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตเป็นซีนใหม่ ๆ ของย่างกุ้งจะยังโอเคและรอเรากลับไปเยี่ยมอยู่ไหม

หากพูดถึงเมืองเศรษฐกิจอย่างย่างกุ้ง แน่นอนว่าเจดีย์ชเวดากองคือภาพแรกที่ทั่วโลกนึกถึง เพราะนี่คือภาพจำของคำว่า The Golden Land ที่ชาวโลกมอบให้เมียนมา แต่หลังการเปิดประเทศเมื่อราวสิบปีก่อน ย่างกุ้งก็เริ่มมีวัฒนธรรมความพอป ความร่วมสมัยเข้าไปผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมแบรนด์ดังระดับโลกที่แทบจะเปิดแข่งกันทุกปี ร้านอาหารเมียนมาสมัยใหม่ คาเฟ่น่ารัก ๆ ในย่านมหาวิทยาลัย บาร์ดี ๆ ในย่านนักท่องเที่ยว รวมไปถึงงานดีไซน์ แกลเลอรีอาร์ต งานศิลปะร่วมสมัยที่เริ่มเปลี่ยนภาพความคลาสสิกดั้งเดิมของย่างกุ้งไปทีละน้อย 

Inle หมู่บ้านใจกลางทะเลสาบ

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ เมียนมา ในแต่ละรัฐ แต่ละภูมิภาคก็มีอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับใจกลางทะเลสาบอินเล ซึ่งมี ชาวอินทา (Intha) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ชาวน้ำ” อาศัย ค้าขาย ทำมาหากินอยู่

ทะเลสาบอินเล ชื่อนี้คือสถานตากอากาศอันเลื่องชื่อแห่งรัฐฉาน ตั้งอยู่ห่างจากเมืองตองยี (Taunggyi) ราว 30 กิโลเมตร โดยมีเมืองยองชเว (Nyaung Shwe) เป็นเหมือนประตูหน้าด่านและศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวที่จะล่องเรือจากลำคลองเล็ก ๆ เข้าไปยังอินเล ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางอ้อมกอดของหุบเขา ซึ่งนั่นทำให้อินเลกลายเป็นหัวใจของรัฐฉานที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ 

ทะเลสาบอินเลแห่งนี้ประกอบไปด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ริมฝั่ง และหมู่บ้านชาวน้ำที่อาศัยอยู่กลางทะเลสาบมานานหลายชั่วอายุคน ความอัศจรรย์คือชาวอินเลสามารถสร้างทุกสิ่งขึ้นมาบนผิวน้ำ นอกจากบ้านเรือนแล้วก็มาเต็มทั้งเล้าหมู วัด โรงเรียน ตลาด แปลงผัก ไร่มะเขือเทศที่งอกงามอยู่บนกอผักตบชวา 

สำหรับช่างภาพอินเลคืออีกสปอตไลต์ของ เมียนมา กับช็อตในตำนานการใช้เท้าพายเรือส่วนมือก็จับสุ่มหาปลา รวมทั้งขบวนเรือนกการเวกสีทองแห่พระบัวเข็ม หรือ พระอุปคุต แห่งวัดผ่องต่ออู (Phaung DawOo Pagada)ซึ่งจัดขึ้นเพียงปีละครั้งในช่วงออกพรรษา

Mount Popa ดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ “มหาคีรีนัต”

เมืองพุกาม หรือ Bagan ไม่ได้มีแค่โปรแกรมขึ้นบอลลูนชมทะเลเจดีย์ ไกลออกไปจากจุดท่องเที่ยวหลักยังมีไฮไลต์ที่ห้ามพลาดนั่นคือMt. Popa หรือภูเขาโปปา (Mount Popa)หรือในภาษาบาลีเรียก เขาบุปผา สูงกว่า 1,518 เมตร

ภูเขาโปปา ตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่ราบมหยิ่นฉันอันแห้งแล้ง บนยอดสูงสุดเขาเป็นที่ตั้งของศาลเจ้ามหาคีรีนัต ที่สถิตของนัตทั้ง 37 ตน ชาวพุกามตั้งแต่ครั้งโบราณเชื่อว่านัตไม่ใช่ผี แต่นัตคล้ายกับเทวดาที่ปกปักรักษาบ้านเมือง แต่ก็ยังไม่ใช่เทวดาเสียทีเดียวเพราะตามตำนานเรื่องเล่านัตมักเปลี่ยนสถานะมาจากบุคคลสำคัญที่มีการตายแบบรุนแรง หรือการตายที่ไม่ค่อยจะธรรมดาสักเท่าไร

ในปลายเดือนพฤษภาคมเข้าสู่เดือนมิถุนายนของทุกปี ชาวบ้านรอบ ๆ เขาโปปาจะจัดประเพณีบวงสรวงนัตอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นที่บนยอดเขา ส่วนในยามปกตินักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นเขาได้ แต่ถ้าจะให้ได้มุมสวยจริง ๆ แนะนำให้จองที่พักโรงแรมที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามภูเขา แล้วถ่ายภาพกลับมายังที่ภูเขาโปปา โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะเห็นมหาคีรีแห่งนัตแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่กลางทะเลหมอกเลยทีเดียว


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์