เปลี่ยนป่าก์ : นวนิยายที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านรสชาติและวรรณกรรม
Lite

เปลี่ยนป่าก์ : นวนิยายที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านรสชาติและวรรณกรรม

Focus
  • เปลี่ยนป่าก์ นวนิยายโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนผู้มีผลงานนวนิยายชุดเกี่ยวข้องกับอาหารหรือรสชาติ ไม่ว่าจะ ป่าน้ำผึ้ง และ เกลือศรัทธา
  • เปลี่ยนป่าก์ เป็นนวนิยายที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์กำเนิดหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ หนังสือตำราการทำและจัดการอาหารเล่มนิยมของไทย

เปลี่ยนป่าก์ นวนิยายของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนผู้เป็นเจ้าของผลงานนวนิยายชุดเกี่ยวข้องกับอาหารหรือรสชาติ ไม่ว่าจะ ป่าน้ำผึ้ง (พ.ศ.2565) เกลือศรัทธา (พ.ศ.2566) และในเล่มนี้ เปลี่ยนป่าก์ ยังคงมีประเด็นที่ว่าด้วยอาหารและรสชาติเช่นเคย เพิ่มเติมคือการจัดวางความหมายทางวรรณกรรมของงานเล่มนี้ ที่มีที่ทางทั้งการเป็นหนังสือและวัตถุศิลป์ (Art Object) ตัวนวนิยายได้รับการสนับสนุนโดยโครงการทุนศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 21 จึงทำให้ได้จัดแสดงร่วมในนิทรรศการชื่อเดียวกัน ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม – 2 กันยายน พ.ศ.2566 ซึ่งทำให้งานนวนิยายชิ้นนี้ขยายมิติทางความหมายด้วยบริบทจัดแสดงและมิติทางวรรณกรรมในฐานะหนังสือควบกันอย่างน่าสนใจ

เปลี่ยนป่าก์
ภาพการจัดแสดงจาก หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

เปลี่ยนป่าก์ เป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในช่วงเวลาที่กำลังคิดจะเขียนหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ หนังสือตำราทำอาหารที่เป็นเสมือนรากฐานขององค์ความรู้อาหารไทยดังที่ใน เปลี่ยนป่าก์ เปรียบเทียบไว้ว่า

“…การอ้างถึงตำราแม่ครัวหัวป่าก์ หนังสือเล่มนี้ดูเป็นป่าหิมพานต์ขนาดใหญ่ที่ต้นไม้ทุกชนิดที่ไปเติบโตยังที่อื่นล้วนมีรากเหง้าและแหล่งกำเนิดจากมัน”

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือใช้วิธีการของเรื่องแต่งมาคลี่คลายแนวคิดของโลกทัศน์ให้เห็นว่าการมีอยู่ของสิ่งหนึ่งมันไม่ใช่แค่การมีอยู่ของสิ่งนั้น แต่มันทำให้เห็นเครือข่ายความรู้ที่เกี่ยวโยงกับสิ่งนั้นและบริบทยุคสมัยที่เร่งเร้าให้สิ่งต่างๆ เป็นไปในทิศทางของเหตุการณ์ภาพใหญ่ เช่น ในนวนิยายเล่มนี้จะคลี่คลายให้เห็นว่าแม่ครัวหัวป่าก์ไม่ใช่เพียงเรื่องของ “ป่าก์” (สันนิษฐานว่าเป็นคำที่มาจากคำว่าปากะ ซึ่งมาจากคำว่าปาก) เท่านั้น แต่ตำราทำอาหารและการจัดการวัตถุดิบเล่มนี้แสดงให้เห็นแนวคิดของพลวัตในเหล่าชนชั้นสูงที่ต้องเปลี่ยนแปลงขยับให้สยามมีความเป็นอารยะในแบบที่ตะวันตกยอมรับ ซึ่งสอดคล้องกับเวลาที่เกิดขึ้นของตำราเล่มนี้ที่อยู่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ชนชั้นสูงในสยามและนโยบายราชการต่างๆ กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยที่ไม่ใช่สยามเป็นศูนย์กลางดังเดิมอีกต่อไป แต่เป็นตะวันตกต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของความอารยะ ในหนังสือเล่มนี้จึงมีช่วงที่ตัวละคร “เปลี่ยน” บอกเล่าถึงต้นกำเนิดการวางรูปแบบหนังสือว่าจะพัฒนาต่อยอดจากการที่ได้อ่าน The Book of Household Management โดย Isabella Beeton (พ.ศ. 2404) ซึ่งในนวนิยายแสดงให้เห็นผ่านการที่ “เปลี่ยน” พยายามจะทำให้หนังสือของตนเป็น “สากล” ทั้งการจัดระเบียบเนื้อหาที่พัฒนาต่อยอดจากหนังสือตะวันตกและการเปลี่ยนหน่วยชั่งตวงแบบสยามเป็นแบบตะวันตกที่แม่นยำคงที่มากขึ้นทำให้รสชาติเป็น “มาตรฐาน” ซึ่งคำว่ามาตรฐานคือคำสำคัญอย่างยิ่งของการจัดระเบียบ และระเบียบแบบมาตรฐานก็มักเป็นแนวคิดของตะวันตก โดยเฉพาะในเหล่าเจ้าอาณานิคมที่มีแบบแผนแห่งอารยะของตนเองและพร้อมจัดการผู้อื่นให้อยู่ในมาตรฐานนั้น การพยายามเปลี่ยนลิ้นที่เคยรับรสไม่แน่นอนมาสู่การให้ลิ้นและสมองจดจำรสชาติแบบมาตรฐานจึงสร้างสำนึกแห่งการผลิตแบบใหม่ขึ้นมาด้วย และนี่คือสำนึกใหม่ที่มาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่

แน่นอนว่าทั้งเล่มนี้และแม่ครัวหัวป่าก์ไม่ใช่เหมือนกันเพียงเพราะเป็นหนังสือสูตรอาหารและการจัดการวัตถุดิบ แต่มันคือหนังสือการจัดการแรงงานอีกด้วย ดังในนวนิยายเปลี่ยนป่าก์จะมีฉากที่ “เปลี่ยน” สามารถใช้การเขียนบัญชีสิ่งของที่ต้องซื้อเพื่อจัดเตรียมอาหารให้บ่าวเดินซื้อในตลาด การเขียนในที่นี้จึงช่วยผลิตซ้ำคำสั่งในแบบที่เงียบงันและให้บ่าวปฏิบัติตามโดยไม่เสียพลังงานของ “เปลี่ยน” ซ้ำ วรรณกรรมแห่งคำบัญชาในฐานะสูตรอาหารและการเตรียมอาหารจึงแฝงด้วยอำนาจเบาอันเร้นเข้าไปผ่านกระดาษในส่วนนี้ทำให้มิติของการเขียนที่เปลี่ยนสร้างขึ้นมาสะท้อนกับแนวคิดชนชั้นสูงที่มุ่งสร้างระเบียบการจัดการอำนาจผ่านวิธีการต่างๆ โดยเปลี่ยนจากการควบคุมและออกคำสั่งครั้งต่อครั้งเป็นการสั่งการผ่านวัตถุซึ่งเป็นหนึ่งในแบบแผนของสมัยใหม่เช่นกันที่อำนาจเก่าซ่อนเร้นในวิธีที่ละมุนมากขึ้นแต่ทว่าอำนาจนั้นไม่เคยเบาลงไป

ในช่วงท้ายเรื่อง “เปลี่ยน” แสดงแนวคิดของการทำอาหารที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยยกว่าเมื่อประชากรในสยามมากขึ้นทั้งชาวสยามและชาวจีน รวมทั้งประชากรที่อพยพมาจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้จากเดิมที่ชาวสยามผลิตอาหารและใช้ตามที่มี อาจแลกเปลี่ยนบ้าง มาสู่การหาซื้อข้าวของเพิ่มเติมจากการไม่สมดุลระหว่างกำลังผลิตและประชากร ทำให้เกิดเมนูถนอมอาหารที่จะทำให้ไม่ต้องออกมาซื้อของบ่อย เช่น การซื้อหมูมาทำหมูเค็ม หมูแดดเดียว ในแนวคิดของ “เปลี่ยน” ก็จะทำให้มีอาหารกินนานขึ้นไม่ต้องออกมาซื้อหมูทุกวัน ในส่วนนี้ก็ทำให้เห็นว่าแนวคิดระหว่างเมนูอาหารและการบ้านการเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้และเป็นเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันทางปัญญาไม่ว่าจะคำนึงหรือไม่ เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนอาหารก็อาจเปลี่ยน และแน่นอนว่าลิ้นก็จะเปลี่ยน

เปลี่ยนป่าก์ จึงเป็นนวนิยายที่คลี่ให้เห็นภาพของแนวคิดที่ข้องเกี่ยวเป็นเครืออยู่กับ “ตำราอาหาร” ที่ไม่ใช่เพียงเกี่ยวกับครัว แต่เกี่ยวกับชีวิต การเมือง และองค์ความรู้ความเข้าใจโลกทัศน์ของผู้เขียน อีกทั้งตามชื่อหนังสือก็สามารถเข้าใจได้ทั้ง เปลี่ยนป่าก์ ในฐานะงานของท่านผู้หญิงเปลี่ยน กับ ป่าก์ ในฐานะปากะวิชา (วิชาว่าด้วยปาก) และ เปลี่ยนป่าก์ ที่หมายถึง เปลี่ยน-ปาก คือการเปลี่ยนการรับรส เปลี่ยนวัฒนธรรมการกิน จุดเปลี่ยนของสิ่งที่เกี่ยวกับปาก อีกทั้งเมื่อหนังสือเล่มนี้ได้วางไว้ในฐานะการจัดแสดงวัตถุศิลป์ยิ่งทำให้ความเป็นวัตถุของตัวหนังสือเองได้รับการคิดคำนึงว่าเป็นวัตถุที่มีความหมายและสร้างสุนทรียะแบบไหนได้บ้าง การบันทึก เรื่องแต่ง กระดาษที่กำลังจะเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าบริบทของการตั้งหนังสือเล่มนี้ไว้คือใน “วัง” ท่าพระ การจัดแสดงหนังสือเล่มนี้จึงตั้งคำถามกับหนังสือในฐานะวัตถุในการบันทึกโลกทัศน์ชนชั้นสูง หนังสือในฐานะวัตถุส่งต่อความรู้และการจัดระเบียบความรู้ รวมทั้งหน้าปกที่เป็นภาพเหมือนบุคคลที่ทำให้เห็นว่าหรือตำราอาหารไทยเล่มรากเหง้านี้จะเป็นได้ทั้งรากเหง้าอาหารแห่งชาติและรากเหง้าทางปัญญาส่วนบุคคล ซึ่งหากมองว่าเป็นรากเหง้าเป็น ปัญญาชาติ ก็จะย้อนกลับมาตั้งคำถามกับว่า ปัญญาของชาติ ต้องผ่านการจดบันทึกของชนชั้นสูงที่มีทรัพยากรในการบันทึกจนผ่านมาเวลาเท่านั้นหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นจะเรียกว่าปัญญาชาติ ได้จริงหรือ หรือทั้งหมดเป็นเพียงความคิดของคนคนเดียวไม่ใช่สำหรับ “ชาติ” เปลี่ยนป่าก์ จึงถ่างขยายให้เห็นถึงบริบททางความรู้ที่ติดมากับหนังสือเชิงวัตถุอีกด้วย

Fact File
• หนังสือ เปลี่ยนปาก์
• เขียน : อนุสรณ์ ติปยานนท์
• ราคา : 200 บาท
• สั่งซื้อได้ทาง : ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน