Almond : จริงหรือที่มนุษย์ต่างก็มีเมล็ดอัลมอนด์ซ่อนอยู่ในหัว
Lite

Almond : จริงหรือที่มนุษย์ต่างก็มีเมล็ดอัลมอนด์ซ่อนอยู่ในหัว

Focus
  • Almond ผลงานนวนิยายเรื่องแรกของ ซนว็อนพย็อง (Sohn Won-Pyung) ที่ได้รับรางวัลสาขาวรรณกรรมเยาวชนในการประกาศรางวัลวรรณกรรมชังบี ครั้งที่ 10 ขายได้กว่า 300,000 เล่มในเกาหลี และพิมพ์กว่า 13 ภาษา
  • นิยายเรื่องนี้ใช้จินตนาการที่ดัดแปลงสร้างตัวละครจากอาการทางจิตที่เรียกว่า อเล็กซิไธเมีย (Alexithymia) เกิดขึ้นจากการที่สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) มีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไป หรือบางรายก็เกิดจากกระบวนการพัฒนาทางอารมณ์ในวัยเด็กที่ไม่ราบรื่นอเล็กซิไธเมีย สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์ที่ทำลายจิตใจอย่างหนัก

Almond นวนิยายแนวชีวิตขายดีจากเกาหลี ที่ทำยอดขายไปมากกว่า 300,000 เล่มในประเทศและได้รับการแปลไปเป็นภาษาอื่นๆอีกกว่า 13 ภาษา ไม่ผิดแปลกว่านิยายเรื่องนี้จะอยู่ในความสนใจของคนหมู่มากข้ามเขตแดนทางภาษาเพราะตัวนิยายเองมีประเด็นสากลที่ไม่ว่าผู้อ่านจะอยู่มุมไหนของโลกก็สามารถจับต้องได้ นั่นก็คือการชวนคนอ่านทบทวนกับสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึก” ภาวะที่เสมือนหมุนวนอยู่ในร่างกายและมีการทำงานอย่างเป็น “ธรรมชาติ” ทว่าหลายครั้งความรู้สึกก็ถูกตั้งคำถามว่าจริงหรือที่มันเป็นสิ่งที่ต้อง “ฝึกฝน” และ “แสดง”

เราทุกคนล้วนมีผลอัลมอนด์ซ่อนอยู่ในหัว

ความแหลมคมของประเด็นสากลที่เรียกว่า “ความรู้สึก” นี้ ถูกเล่าอย่างคมคายผ่านตัวละคร ซอนยุนแจ เริ่มเรื่องตั้งแต่ช่วงวัยเด็กประถมและการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นมัธยมปลายของเขา ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างแปลกแยกกับสังคมรอบตัว และตัวเขาเองก็เริ่มตั้งคำถามกับอารมณ์ความรู้สึกว่า คำคำนี้มันมีจริงหรือเพียงแค่ “การแสดง”

ซอนยุนแจตัวละครหลักถูกสร้างขึ้นโดยผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจากอาการทางจิตวิทยาที่มีชื่อเรียกว่า อเล็กซิไธเมีย (Alexithymia) กล่าวโดยสรุปอาการนี้เกิดขึ้นจากการที่สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) มีขนาดเล็กกว่าคนทั่วไป หรือในบางรายอาจเกิดจากความไม่ราบรื่นในกระบวนการพัฒนาทางอารมณ์ช่วงวัยเด็ก และอเล็กซิไธเมียก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์ที่ทำลายจิตใจอย่างหนัก แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด อเล็กซิไธเมียส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการประหลาดที่อาจจะทำให้คนคนนั้นไม่รับรู้ถึงความรู้สึกใด ๆ ในเชิงอารมณ์และ ซนว็อนพย็อง (Sohn Won-Pyung)นักเขียนนิยายเล่มนี้ก็เลือกนำ อาการไม่รับรู้ถึงความรู้สึกใด ๆ มาสร้างสรรค์ดัดแปลงเป็นนวนิยาย Almond ที่แปลได้ตรงตัวว่า เมล็ดอัลมอนด์

“ใคร ๆ ต่างมีอัลมอนด์ในหัวคนละสองเมล็ด โดยจะอยู่ลึกเข้าไปบริเวณหลังหู ขนาดและลักษณะมันจะเหมือนเมล็ดอัลมอนด์เลยแต่บางคนบอกว่ามันเหมือนลูกท้อ ชื่อของมันคือ ‘อะมิกดาลา’”
“ถ้าได้รับแรงกระตุ้นจากภายนอกเมล็ดอัลมอนด์จะมีไฟสีแดงสว่าง…”
“แต่ดูเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ในหัวผมจะเสีย แม้จะเจอแรงกระตุ้นไฟสีแดงก็ไม่ทำงาน”


สิ่งนี้เรียกว่า ความรู้สึก” หรือ “การแสดง”
ซอนยุนแจถูกเขียนให้เป็นตัวละครที่ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ไม่ว่าจะกลัว ตกใจ ตื่นเต้น จนเขาถูกตั้งคำถามจากสังคมรอบตัวเช่นในฉากต้น ๆ ของเรื่องมีเหตุที่ซอนยุนแจไปพบคนโดนทำร้าย เขาจึงไปบอกเจ้าของร้านชำซึ่งเป็นพ่อของคนที่กำลังถูกทำร้ายปรากฏว่าเจ้าของร้านชำไม่เชื่อเนื่องจากซอนยุนแจไม่มีท่าทีตื่นตระหนกจนสุดท้ายลูกของเจ้าของร้านชำตาย เขาจึงโทษไปที่ซอนยุนแจว่าเรื่องคอขาดบาดตายอย่างนี้ถ้าพูดให้จริงจังขึ้น และถ้าเขามาหาลูกได้เร็วขึ้น เหตุการณ์คงไม่เป็นอย่างนี้ ซอนยุนแจจึงถูกมองในฐานะ มนุษย์ชำรุดความรู้สึก เหมือนเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์และไม่ปกติ ถ้าเทียบกับคนทั่วไปในสังคมที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แม่ของซอนยุนแจจึงต้องสอนเขาให้รู้สึกเหมือนคน“ปกติ”

มีหลายกติกามากมายในคอร์สการเรียนเรื่องความรู้สึก แถมแม่ของซอนยุนแจมีหมายเหตุไว้ว่า *หากไม่รู้จะทำอย่างไรให้แสดงสีหน้าเหมือนฝ่ายตรงข้ามไปเลย ซอนยุนแจจึงสรุปไปว่าการอยู่ในสังคมนี้เขาต้อง“แสดง”อารมณ์ให้มาก ลดการพูดความจริงให้น้อยลง แม่สอนว่าต้องจับคู่ระหว่าง “ความหมายที่แท้จริง” กับ “สิ่งที่ควรทำ” ไว้ในการสื่อสารกับคนอื่นอย่าง เวลาเพื่อนเอาของเล่นใหม่ ๆ มาคุยให้ฟัง นั่นแปลว่าเพื่อนคนนั้นไม่ได้ต้องการ“บอกคุณสมบัติสิ่งของ”แต่เขาต้องการ “อวดของชิ้นนั้น”ดังนั้นให้ตอบเพื่อนไปว่า “ดีจังเลย” ซึ่งซ่อนความหมายของ “อิจฉา” และความอิจฉานี่แหละที่เป็นสิ่งที่คู่สนทนาของเราต้องการ ซอนยุนแจจึงต้องฝึกแสดงให้เก่งเพราะยิ่งแสดงเก่งเท่าไร ซอนยุนแจก็จะเหมือนคนปกติในสังคมขึ้นเรื่อย ๆ

ชีวิตนักแสดงผู้รับบทคนปกติในสังคมที่ยุ่งยากพอตัวอยู่แล้วยิ่งยากขึ้นอีกเมื่อยายและแม่ของซอนยุนแจถูกทำร้ายอย่างไร้เหตุไร้ผล ทำให้ยายของเขาตายแม่ของเขาต้องตกอยู่ในอาการนิทราตลอดกาลและทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันเกิดของซอนยุนแจความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งใน Almond คือการกำหนดให้ฆาตกรทำงานอย่าง “ไร้เหตุไร้ผล” เป็นการสุ่มฆ่าแบบไม่เลือกเหยื่อหรือเป้าหมาย ในนิยายได้บอกลักษณะความเป็นอยู่ของฆาตกรไว้ว่าเป็นชายชนชั้นกลางทำงานบริษัทแต่พอเศรษฐกิจถดถอยจนต้องเจอมรสุมชีวิตจึงมีการหักมุมมาเป็นฆาตกร

ฆาตกรมีประวัติการยืมหนังสือจากห้องสมุดเป็นหนังสือหมวดเกี่ยวกับมีดและศิลปะป้องกันตัว ย้อนแย้งกับในห้องพักของเขาที่เต็มไปด้วยหนังสือแนวพัฒนาตนเอง มองโลกในมุมบวกส่วนในสมุดบันทึกส่วนตัวเป็นการเขียนระบายความเกลียดโลกและเขียนไว้ว่า “อยากฆ่าคน” ทำให้ตัวละครฆาตกรมีมิติที่ลุ่มลึกและขัดแย้ง มีข้อความหนึ่งบนโต๊ะในห้องของฆาตรกรที่ทำให้เรารู้สึกขนลุกซู่ในทันทีก็คือ

“วันนี้ ใครคนไหนที่ยิ้มอยู่ จะได้ไปกับผม”

และรอยยิ้มบนใบหน้าในวันเวลาแห่งความสุขหลังมื้อเย็นวันเกิดของซอนยุนแจนี่แหละ คือเหตุผลที่ทำให้ยายของซอนยุนแจถูกแทงจนเสียชีวิตและแม่ของซอนยุนแจอาการโคม่าเป็นเจ้าหญิงนิทรา หลังเหตุการณ์นี้ทำให้สื่อมวลชนในเกาหลีหันมาให้น้ำหนักกับการตั้งคำถามว่าหรือแท้จริงแล้วปัญหาสังคมในเกาหลีเองที่เป็นตัวส่งเสริมให้มนุษย์ออฟฟิศกลายเป็นฆาตกรสื่อรายงานเรื่องนี้อย่างหนักแต่ในมุมของซอนยุนแจ เขาคิดว่าสื่อให้ความสำคัญกับการฆ่าของฆาตกร การวิพากษ์สังคมแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้เสียชีวิตเลย

ในงานศพของยายซอนยุนแจไม่ได้ร้องไห้ออกมาเหมือนคนรอบตัว ทำให้หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดเขาจึงไม่ร้องไห้ออกมา และพากันเข้าใจไปเองว่าเขาไม่เสียใจกับการสูญเสียนี้ เหตุการณ์นี้จึงชวนย้อนให้คิดถึงการตัดสินคนอื่น ว่าทุกวันนี้เราตัดสินใครจากอะไรได้บ้าง สิ่งที่เขาแสดงออก หรือสิ่งที่เขารู้สึกนึกคิดข้างในจริง ๆ ผิดไหมหากคนคนหนึ่งไม่ได้แสดงออกถึงความรู้สึกเสียใจต่อการตายของคนในครอบครัว

Almond มีความคมคายทางประเด็นและตัวบทก็ทำงานในเชิงวรรณกรรมในขณะที่อ่านก็ทำให้ผู้อ่านได้ทบทวนถึงความรู้สึกที่มีและการแสดงออกทางความรู้สึกว่าเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร อะไรสร้างอะไรสอนให้เราต้องรู้สึกแบบนั้น ไม่ว่าจะมีอัลมอนด์เมล็ดใหญ่หรือมีอัลมอนด์เมล็ดเล็กแบบซอนยุนแจก็ยังไม่สำคัญเท่ากับตัวบทวรรณกรรมนี้ที่ชี้ให้ตั้งคำถามว่าความรู้สึกถูกสร้างขึ้นผ่านอะไรได้บ้างเป็นความรู้สึกจากข้างในจริง ๆ หรือเป็นการแสดงออกไปเพียงเพื่อการได้รับการยอมรับทางสังคมให้มนุษย์คนหนึ่งดูเป็น “คนปกติ”ของสังคม

แท้จริงแล้วความรู้สึกของมนุษย์ทำงานอย่างไร ความรู้สึกเป็นสิ่งที่มีติดตัวมนุษย์มาแต่แรกหรือเป็นเพียงการแสดงที่ผ่านการสร้างจากประสบการณ์จากการถูกสั่งสอน ที่คนในสังคมใช้ “ความเหมาะสม” ถ่ายทอดสืบกันมาแล้วที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้คือ “ความรู้สึก” หรือ “การแสดง”

Fact File

อัลมอนด์, Sohn Won-Pyung เขียน, ภัททิรา แปล, สำนักพิมพ์ Fuurin, ราคา 225 บาท


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน