6 แรงบันดาลใจเบื้องหลัง Asteroid City ภาพยนตร์โดย เวส แอนเดอร์สัน
Lite

6 แรงบันดาลใจเบื้องหลัง Asteroid City ภาพยนตร์โดย เวส แอนเดอร์สัน

Focus
  • Asteroid City (แอสเทอรอยด์ ซิตี้) สร้างสถิติเป็นภาพยนตร์ฉายจำกัดโรง ที่ทำรายได้เฉลี่ยต่อโรงมากที่สุด ด้วยรายได้กว่า 8 แสนเหรียญสหรัฐ ในสุดสัปดาห์กลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 หลังจากเข้าฉายเพียงแค่ 6 โรงเท่านั้น
  • Asteroid City  เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson)  ผู้สร้างภาพยนตร์ที่โดดเด่นด้วยงานภาพ สีสัน การจัดองค์ประกอบที่ไม่ต่างจากงานศิลปะหนึ่งชิ้น

เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่น่าจับตามองสำหรับ Asteroid City (แอสเทอรอยด์ ซิตี้) ซึ่งเพิ่งสร้างสถิติเป็น “ภาพยนตร์ฉายจำกัดโรง” ที่ทำรายได้เฉลี่ยต่อโรงมากที่สุดด้วยรายได้กว่า 8 แสนเหรียญสหรัฐ ในสุดสัปดาห์กลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา หลังจากเข้าฉายเพียงแค่ 6 โรงเท่านั้น ทุบสถิติที่ La la land เคยทำไว้ใน ค.ศ. 2017  โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson)  ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ควบรวมหน้าที่ตั้งแต่คนคิดโครงเรื่อง (ร่วมกับ โรมัน คอปโปลา) อำนวยการสร้าง (ร่วมกับผู้อำนวยการสร้างอีกสองคน) เขียนบทภาพยนตร์ และกำกับภาพยนตร์ซึ่งขึ้นชื่อว่า เวส แอนเดอร์สัน สิ่งที่ผู้ชมจำได้คือสีสันของภาพยนตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน

เวส แอนเดอร์สัน
เวส แอนเดอร์สัน

เวส แอนเดอร์สัน หรือชื่อจริง เวสลีย์ เวลส์ แอนเดอร์สัน (Wesley Wales Anderson) เกิดวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 เขาฉายแววการเป็นนักเล่าเรื่องมาตั้งแต่วัยประถมโดยเริ่มต้นเขียนบทละครองก์เดียว ตั้งแต่เรียนเกรด 4 (ประมาณ ป. 4) เขาเกิดและเติบโตที่เมืองฮุสตัน รัฐเทกซัส เป็นลูกคนกลางมีพี่ชายและน้องชายรวมสามคน พ่อเขาคือนักโฆษณาและมีธุรกิจส่วนตัว ส่วนแม่ที่เป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ แต่หย่าร้างกันตั้งแต่เวสอายุ 8 ขวบ หลังจบมัธยมฯ ปลาย เวสเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ยูนิเวอร์ซิตีออฟเทกซัส เมืองออสติน จบปริญญาตรีสาขาปรัชญา

เวส แอนเดอร์สัน

สมัยเป็นนักศึกษาเขาได้มีโอกาสเขียนบทละครเวทีงานนักศึกษาต่อยอดจากงานบทละครเรื่อง A Night in Tunisia ของนักเขียนบทละครเวทีชื่อดัง แซม เซปเพิร์ด ละครนักศึกษาที่เวสเขียนและกำกับฯ มี โอเวน วิลสัน แสดง เขาเป็นเพื่อนนักศึกษาร่วมห้องในวิชาการละครและเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกันในภาพยนตร์ของทั้งคู่ ผลงานเรื่องแรกของเขาเป็นหนังสั้นเรื่อง Bottle Rocket  ได้ฉายในเทศกาลหนังซันแดนซ์ ค.ศ. 1994 และแจ้งเกิดให้เวสในวงการภาพยนตร์ ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกในแนวคอเมดี Rushmore (1998) และเรื่องที่ 2 The Royal Tenenbaums  (2001) ผลงานภาพยนตร์ของเวสได้รับการตอบรับอย่างดีต่อเนื่องกับสไตล์เฉพาะตัว ผลงานที่ผ่านมาของเขารวมถึง  The Life Aquatic with Steve Zissou (2004) The Darjeeling Limited (2007)  Fantastic Mr. Fox (2009) ภาพยนตร์แอนิเมชันดัดแปลงจากวรรณกรรมเด็กของ โรอัลด์ ดาห์ล เรื่อง  Moonrise Kingdom (2012)  และ The Grand Budapest Hotel (2014) Isle of Dogs ( 2018 ) French Dispatch (2021)

นอกจากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่คุมงานออกแบบทุกกระเบียดนิ้วแล้ว ความโดดเด่นในงานภาพยนตร์ของ เวส แอนเดอร์สัน คือการเปิดประตูสู่งานออกแบบตกแต่งและจัดการงานศิลปะซึ่งเวส แอนเดอร์สัน เคยรับหน้าที่เป็นนักออกแบบตกแต่งภายในให้กับคาเฟ่บาร์ลูเช่ (Bar Luce) คาเฟ่เปิดใน Fondazione Prada สถาบันวัฒนธรรมของแบรนด์แฟชั่น  Prada ที่เมืองมิลาน อิตาลี เมื่อ ค.ศ. 2015 และเป็นภัณฑารักษ์กิตติมศักดิ์ร่วมกับ Juman Malouf จัดงานนิทรรศการ Spitzmaus Mummy in a Coffin and Other Treasures  ที่พิพิธภัณฑ์ Kunsthistorisches Museum ในกรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อ ค.ศ. 2018

เวส แอนเดอร์สัน
เวส แอนเดอร์สัน ในกองถ่าย

สำหรับลายเซ็นของภาพยนตร์ฉบับเวส แอนเดอร์สัน นั้นคือการมีลายมือหรือถ้าเป็นนักวาดภาพก็จะเรียกว่าฝีแปรงที่ชัดเจน งานสร้างสรรค์ของเขาล้วนต่อยอดจากเรื่องราวและได้รับอิทธิพลจากงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่รายรอบ  

“ผมรู้สึกเสมอว่า สำหรับผมแล้ว หนังไม่ใช่แค่ไอเดียเดียว มันเป็นของอย่างน้อยสองสิ่งที่มาผสมรวมกันและเริ่มกลายเป็นหนัง” เวส แอนเดอร์สัน พูดถึงการทำหนังของเขา   

สำหรับการสร้างภาพยนตร์  Asteroid City เล่าเรื่องสะท้อนมวลความรู้สึกแห่งยุคสมัยช่วงกลางทศวรรษ 50 เหตุการณ์ในหนังเกิดใน ค.ศ. 1955  ยุคกลางศตวรรษที่ 20 ที่ถือว่าเป็นยุคแห่งความหวังอะไรก็เกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีเงาสงครามครอบคลุมอยู่ทั้งพลเมืองทหารผ่านศึก การที่โลกเข้าสู่สงครามเย็นและในยุคนั้นสองฟากฝั่งของอเมริกาเหมือนโลกคู่ขนานตามเส้นทางรถไฟที่ผ่ากลางประเทศ ทำให้ เวส แอนเดอร์สัน ได้แรงบันดาลใจและได้รับอิทธิพลจากยุคสมัยดังกล่าวหลายสิ่ง ทั้งข่าวและข่าวลือเกี่ยวกับเอเลียนและจานบินไปจนถึงงานศิลปะการแสดงทั้งละครเวที โทรทัศน์ และภาพยนตร์จากนักสร้างภาพยนตร์ชั้นครู

ทั้งนี้เรื่องราวในภาพยนตร์เป็นภาพจำลองของดินแดนทางฝั่งตะวันตกของอเมริกาที่มีหลุมอุกกาบาตจาก 3,000 ปีก่อน และว่ากันว่ามีอุกกาบาตอยู่ที่นั่นและกลายเป็นสถานที่สังเกตการณ์ มีหอดูดาว มีพื้นที่เขตหวงห้ามของทางราชการ

มีมนุษย์ต่างดาวโผล่มากลางงานชุมนุมเยาวชนนักดาราศาสตร์  รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน กองทัพปิดพื้นที่ห้ามคนเข้าออก ระหว่างนั้นตัวละครที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นายทหารชั้นนายพล เยาวชนมันสมองเป็นเลิศและพ่อแม่ของพวกเขาพยายามอยู่กับสถานการณ์ ค้นหาคำตอบคาใจในชีวิต และมีการค้นพบเกิดขึ้นต่างกันไป Sarakadee Lite ชวนไปย้อนรอยแรงบันดาลใจของ เวส แอนเดอร์สัน มาดูกันว่าแต่ละสิ่งรอบตัวเขามีผลต่อการสร้างสรรค์งานชิ้นล่าสุด Asteroid City อย่างไรบ้าง

1. ละครเวที

ในภาพยนตร์ Asteroid City เวส แอนเดอร์สัน เล่าเรื่องในส่วนของการถ่ายทอดสดละครโทรทัศน์ชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ที่มีทั้งช่วงการแสดงละครและเบื้องหลังของชีวิตนักแสดงและทีมงานละคร  สำหรับ เวส แอนเดอร์สัน “โรงละครเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดดรามาภายใน” เช่นที่เขาเคยทำในภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ อย่าง  Bottle Rock, Rushmore, Royal Tenenbaums และ The Life Aquatic โดยนักเขียนบทละครเวทีคนโปรดของ เวส แอนเดอร์สัน ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาคือ แซม เชปเพิร์ด ซึ่งเวสได้แรงบันดาลใจการเขียนบทตัวละคร ออกี สตีนเบก อดีตช่างภาพสงครามใน Asteroid City  มาจากเรื่องราวของ แซม เชปเพิร์ด ที่เคยพูดถึงการเติบโตมากับพ่อที่เป็นทหารผ่านศึกผู้ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจและเป็นพวกใช้ความรุนแรง 

นอกจากวิธีการเล่าเรื่องที่แบ่งเป็นองก์เหมือนการแสดงละครเวทีแล้ว ในภาพยนตร์  Asteroid City ยังได้อ้างอิงประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมยุค 50 ที่มีทั้งละครเวทีในรูปแบบสะท้อนสังคมการเมืองเกิดขึ้น การแสดงแบบ method หรือ การเข้าถึงตัวตนตัวละคร และยุคที่สื่อโทรทัศน์ (ขาวดำ) เป็นสื่อเข้าถึงมวลชน ตีคู่มากับภาพยนตร์อีกด้วย 

2. ละครโทรทัศน์ถ่ายทอดสดยุค 50

วิธีการเล่าเรื่องใช้เหตุการณ์ของละครเวทีและการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ที่มีพิธีกรเป็นผู้เล่าเรื่องออกหน้าจอ ซึ่งวิธีนี้เวส แอนเดอร์สัน อ้างอิงมาจากละครโทรทัศน์ถ่ายทอดสด หรือ บรอดเวย์ทางจอแก้ว ในยุค 50  อย่างเรื่อง Playhouse 90  ที่นักแสดงจะแสดงสดในสตูดิโอพร้อมติดตั้งกล้องและถ่ายทอดสดผ่านสัญญาณโทรทัศน์  โดยภาพละครโทรทัศน์และละครเวทีใน Asteroid City เป็นภาพขาวดำ แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝั่งทะเลทรายที่เป็นภาพสี ในความเป็นจริงรายการโทรทัศน์ที่เป็นภาพสีเริ่มมีแพร่ภาพตั้งแต่ ค.ศ. 1951 เป็นประเภทวาไรตีโชว์ แต่ประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่เพิ่งหันมานิยมหรือเปลี่ยนมาใช้โทรทัศน์จอสีในยุค 1960  

Asteroid City

3. อ้างอิงภาพยนตร์จากคนทำหนังชั้นครู

ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีการอ้างอิงภาพยนตร์จากคนทำหนังชั้นครูอยู่หลายเรื่อง ได้แก่

Small Change : ภาพยนตร์ฝรั่งเศส กำกับฯ โดย ฟร็องซัว ทรูโฟ หนังเกี่ยวกับเด็กๆ ที่สะท้อนผ่านตัวละครเด็กกลุ่มหนึ่ง  การให้นักแสดงเด็กรวมกลุ่มและมีกิจกรรมร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทำงานกับนักแสดงเยาวชนใน Asteroid City ซึ่งยกกองไปถ่ายทำฉากเมืองทะเลทรายที่สเปน  โดยหนังของ เวส แอนเดอร์สัน ถ่ายทอดภาพของวัยรุ่น ที่มีความเพ้อฝัน แต่มีความสามารถ ความพยายามเป็นตัวของตัวเอง และจินตนาการตามวัย แม้พื้นเพครอบครัวสังคมที่พวกเขาเติบโตมาจะไม่ราบรื่นก็ตาม อย่างที่เห็นในงานเรื่องก่อนๆ ของเขา ทั้ง  Rushmore และ Moonrise Kingdom  และใน Asteroid City ก็เช่นเดียวกัน ตัวละครนักดาราศาสตร์รุ่นจิ๋วทั้ง 5 คน ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวในหนัง เป็นตัวแทนของเด็กๆ ที่เป็นทั้งความภาคภูมิใจและความกังวลของพ่อแม่ ความเป็นวัยรุ่นมารวมตัวกันก็มีเรื่องให้สังสรรค์ทั้งแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและเรื่องความรู้สึกดึงดูดต่อกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และการค้นพบสิ่งใหม่ทั้งเรื่องจักรวาลนอกโลกและโลกภายในครอบครัว โลกในใจของพวกเขาเอง

Ace in the Hole : ภาพยนตร์อเมริกันของ บิลลี ไวล์เดอร์  เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างฉากและภาพเหตุการณ์ โดยเฉพาะมีฉากที่มีคณะคาร์นิวัลมาชุมนุมกันในทะเลทรายทางภาคตะวันตกของอเมริกาหลังจากเอเลียนปรากฏตัว

Street Car Named Desire : ภาพยนตร์ที่กำกับโดย อีเลีย คาซาน คนทำหนังอเมริกันชั้นครูผู้เติบโตในยุครุ่งเรืองของละครเวทีและภาพยนตร์ ดัดแปลงจากบทละครชื่อเดียวกันเขียนโดย เทนเนสซี วิลเลียมส์ ซึ่งเปิดการแสดงที่เวทีละครบรอดเวย์ นิวยอร์ก  “ตอนที่ผมเริ่มอยากจะสร้างหนัง ยุคสมัย (50) เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง มาร์ลอน แบรนโด และ เจมส์ ดีน, มอนกอเมอรี คลิฟต์ และผู้กำกับ อีเลีย คาซาน อารมณ์ของหนังยุคสมัยนี้และความสัมพันธ์ของมันกับละครเวที หนังกลุ่มนี้ที่ผมพูดถึงอาจจะเริ่มต้นด้วยหนังอย่าง A Streetcar Named Desire (สร้างจากบทละครเวทีของ เทนเนสซี วิลเลียมส์)  เป็นบุคคลสำคัญของกระแสนี้และการนำเสนอความเจ็บปวดอะไรก็ตามของตัวละครเหล่านี้” เวส แอนเดอร์สัน บอกในเบื้องหลังงานสร้าง

Nashville : ภาพยนตร์มิวสิคัลคอมเมดี โดย รอเบิร์ต ออลต์แมน ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจทั้งงานภาพ วิธีการเล่าเรื่อง ที่ให้นักแสดงจำนวนมากที่มีบทเด่นเท่ากัน รอเบิร์ต ออลต์แมน คนทำหนังอเมริกันที่โดดเด่นในการเล่าเส้นเรื่องต่างๆ และตัวละครเกี่ยวข้องกันมากมายในภาพยนตร์เรื่องเดียว และตัดมาที่ เวส แอนเดอร์สัน เขาได้แรงบันดาลใจ  ภาพวิวทิวทัศน์กว้างใหญ่ไพศาลของดินแดนตะวันตก เมืองแนชวิลล์ ที่เป็นฐานใหญ่ของดนตรีคันทรี และความเป็นอเมริกันที่โดดเด่น ซึ่งใน Asteroid City องค์ประกอบนี้มีให้เห็นชัดมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวละครสวมชุดเดนิมทั้งตัว ผ้าพันคอ หมวกคาวบอย วงดนตรีที่มีแบนโจเป็นตัวนำในสำเนียงดนตรีที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของอเมริกันในศตวรรษนั้น

นอกจากนี้ในวิธีการทำงานกับนักแสดง เวส แอนเดอร์สัน ยังได้อิทธิพลการทำงานในแบบของ รอเบิร์ต ออลต์แมน ทั้งการเล่าเรื่อง การมีตัวละครหลากหลาย และต่างก็ช่วยกันเล่าเส้นเรื่องต่างๆ วิธีการทำงานกับกลุ่มนักแสดงในกองถ่าย เพื่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน ซึ่งเวสบอกไว้ในเบื้องหลังงานสร้างว่า

“สิ่งที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับ รอเบิร์ต ออลต์แมน คือการที่เขามีแนวทางในการได้มาซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ และเขาก็มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตรงนี้ บางทีอาจจะเพิ่มอะไรอีกนิดเข้าไปตรงนี้ และผลักดันมันตรงนั้น แล้วก็ดูว่าเกิดอะไรขึ้น และคนคนนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง  ระหว่างการถ่ายทำ Asteroid City  ผมรู้สึกประมาณนั้นนะ เพราะเรามีนักแสดงจำนวนมากและพวกเขาก็จะทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเอง ลักษณะที่เด็กๆ (นักแสดงวัยรุ่น) พวกนี้ทำงานก็สอดคล้องตามนั้น และผมก็ชอบอะไรแบบนั้น พวกเขาพัฒนามาเป็นแบบนี้ด้วยกัน”

Bad Day at Black Rock : ภาพยนตร์ผลงานการกำกับ โดย จอห์น สเตอร์เจส ถ่ายทำในสถานที่จริงที่ Death Valley และทะเลทราย Mojave ซึ่งได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของการสร้างภาพภูมิประเทศเมืองกลางทะเลทรายใน Asteroid City ซึ่งฝ่ายออกแบบงานสร้างให้นักปั้นและนักวาดภาพจำลองภาพขึ้นมาเป็นฉากหลังและใช้โลเคชันถ่ายทำฉากทะเลทรายที่สเปน 

It Happened One Night : หลายฉากในเรื่องนี้อ้างอิงจากหนังคลาสสิของ แฟรงก์ แคปรา ไม่ว่าจะเป็นฉากลานจอดรถยนต์ที่แอสเตอรอยด์ซิตี และฉากปิกนิกกลางแจ้ง ที่เห็นเงาพาดผ่านตาข่ายด้านบน

Close Encounter of The Third Kind : กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก พูดถึงตัวละครเด็กและการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาว และฐานปฏิบัติการลับกลางทะเลทรายฝั่งตะวันตก แม้บรรยากาศของหนังจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ฉากหลังที่เป็นแท่งหินกลางทะเลทรายเป็นภาพจำ และการส่งสัญญาณจากยานอวกาศที่นักออกแบบงานสร้างยังใช้เป็นงานอ้างอิง

Asteroid City

4. ข่าวแลกระแสความหมกมุ่นมนุษย์ต่างดาวบุกโลก

แรงบันดาลใจในการเขียนบทเกี่ยวกับเอเลียนและสถานการณ์ในเมืองสมมุติมาจากเหตุการณ์จริงที่เป็นข่าวสองข่าว ข่าวแรก ใน ค.ศ. 1947 ที่พูดถึงยานสีเงินลึกลับตกกลางทะเลทรายใกล้เมืองรอสเวล รัฐนิวเม็กซิโก ภาคตะวันตกของอเมริกา และกระแสข่าวบอกว่าเป็นจานบินลึกลับหรือยูเอฟโอ (UFO – Unidentified Flying Object) ที่มาจากต่างดาว แม้ว่าภายหลังความจริงจะปรากฏว่ายูเอฟโอที่ร่วงในรอสเวลเป็นเพียงบอลลูนสอดแนมของอเมริกาที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสอดแนมโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียข่าวยูเอฟโอเป็นแค่ตัวอำพรางโครงการลับทางทหารของสหรัฐฯ เท่านั้น

ข่าวที่ 2 เป็นข่าว ค.ศ. 1955 ที่มีครอบครัวหนึ่งในรัฐเคนทักกีอ้างว่าพวกเขาได้ต่อสู้กับเอเลียนตัวเล็กสีเขียว นานถึง 4 ชั่วโมง ข่าวที่เป็นเพียงคำบอกเล่า แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน เป็นส่วนหนึ่งของกระแสข่าวลือสะพัดครอบงำจินตนาการเรื่องจานบินจากต่างดาวหรือยูเอฟโอ มนุษย์ต่างดาวหรือเอเลียนในสังคมอเมริกัน และกระจายไปพร้อมกับวัฒธรรมอเมริกันผ่านสื่อมวลชน งานวรรณกรรม ภาพยนตร์ และอื่นๆ 

กระแสความหมกมุ่นเรื่องเอเลียนกับจานบินของคนอเมริกันผสมกับอารมณ์ของสังคมในยุคสงครามเย็นที่มหาอำนาจแข่งขันกันสร้างนิวเคลียร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศ ขณะที่เศรษฐกิจเงินเฟ้อ นโยบายที่ย้ำเตือนความหวาดกลัวต่อผู้รุกรานทั้งจากต่างดาว ลัทธิคอมมิวนิสต์ (ขั้วตรงข้ามกับเสรีประชาธิปไตยของอเมริกา) ทำให้คนหวาดผวา ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอะไรก็เป็นไปได้ Asteroid City จึงเป็นการเล่าเรื่องเชิงเปรียบเทียบที่ เวส แอนเดอร์สัน บอกไว้ว่าสิ่งที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ในสังคมอเมริกันยุคนั้นได้คือความหวาดกลัวมนุษย์ต่างดาว

Asteroid City
เมืองกลางทะเลทรายถ่ายทำที่สเปน กองถ่ายได้สร้างรูปปั้นจำลองเหมือนแท่งหินในดินแดนตะวันตกอเมริกาขึ้นมาใหม่ ไม่มีการถ่ายทำบนกรีนสกรีนหรือบลูสกรีน

5. เมืองทะเลทรายในสเปน

สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลักปักหลักที่นอกเมืองชินชน ประเทศสเปน ที่มีภูมิประเทศโล่งสุดลูกหูลูกตา และร้อนแล้งใกล้เคียงกับดินแดนทะเลทรายทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา นอกจากความใกล้เคียงของสภาพทางภูมิประเทศแล้วเมืองชินชนยังมีพื้นที่กว้างขวางให้สามารถสร้างฉากที่จะเป็นโรงรถ โรงแรม และร้านอาหารในเมืองสมมุติ Asteroid City และถ่ายทำใน แสงธรรมชาติ ได้อย่างสะดวก โลเคชันนี้เคยถูกใช้ถ่ายทำ The Immortal Story ภาพยนตร์ของผู้กำกับชั้นครูชาวอเมริกันอย่าง ออร์สัน เวลส์ มาแล้วด้วย

Asteroid City

6. เบื้องหลังงานภาพ-แสง-สี

ตัวละครแสนเศร้าในโลกสีสันสดใส” เป็นคำอธิบายลักษณะเด่นอันเป็นลายเซ็นในงานภาพยนตร์ของ เวส แอนเดอร์สัน ความสมมาตรในแต่ละเฟรม และสีสวยสว่างเพลินตาคือลายเซ็นในงานภาพยนตร์ของ เวส แอนเดอร์สัน

งานภาพยนตร์ของเขามีลักษณะเฉพาะตัวจนกลายเป็นแรงบันดาลใจในอีกหลายวงการ โดยเฉพาะงานด้านภาพที่เน้น ความสมมาตรในเฟรม การแสดงที่ดูเรียบนิ่งและการบล็อกกิงที่ชัดเจน ขณะที่เรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละตัวละครมีมากมาย แต่ภาพการแสดง การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอและสมมาตรกันทั้งในเฟรม และจากเฟรมสู่เฟรม ท่วงท่าของตัวละครทุกตัวถูกแสดงออกมาด้วยท่าทีการจัดวางร่างกายที่สง่า และเหมือนท่าที ถือตัว บทพูดของตัวละครที่เต็มไปด้วยเนื้อหา แต่เป็นการสนทนาที่ดูเหมือนไร้อารมณ์ บางบทเป็นคำพูดที่ชวนขำ แต่เป็นตลกหน้าตายที่มีความหมายลึกซึ้งอยู่ในบริบทของเรื่องราว

สำหรับงานภาพใน Asteroid City สีโทนสว่างและอิ่มตัว และสีหลักที่ใช้เป็นแม่สี แดง เหลือง ฟ้า ที่ไล่เฉดสีไปตามแสง ความสดของสีจนถึงโทนสว่างจ้า ความหมายในสีเหล่านี้แทนความเปราะบางของตัวละคร เสื้อผ้าของตัวละครเป็นสีโมโนโครม เฉดสีที่ใช้มีสีส้มอ่อนจางและสีฟ้า เขียวน้ำทะเลหรือสีเทอร์คอยส์ตัดกับสีทรายซีดจางกลางแดด สีลิปสติกแดงชาด จับคู่กับสีพื้นหลังซีดจาง เป็นภาพที่ขัดแย้ง สีที่ตัดกันสุดขั้วระหว่างชีวิตดีงามตามอุดมคติและความฝัน แต่ภายในความรู้สึกและตัวตนกลับเต็มไปด้วยความเศร้า อ้างว้าง และเคว้งคว้าง ความพิเศษไม่ซ้ำใครในหนังของ เวส แอนเดอร์สัน คือการกลับค่าความหมายจากทฤษฎีสีแบบเดิมๆ ที่แทนค่าโทนสีอุ่นสื่อความหมายถึงความสุข และโทนสีเย็นแสดงอารมณ์หรือธีมที่มืดหม่น ซึ่งในหนังของเวสนั้นตรงข้ามทั้งหมด ฉากที่เนื้อหาเป็นเรื่องเศร้า แต่ภาพที่เห็นเป็นเฉดสีที่ดูแล้วสบายตาและให้ความรู้สึกสบายใจ เป็นต้น

Asteroid City

โรเบิร์ต ดี. เยเมน (Robert D. Yeoman) ตากล้องภาพยนตร์และผู้กำกับภาพที่ร่วมงานกับ เวส แอนเดอร์สัน มาแล้ว 9 เรื่อง เล่าถึงเบื้องหลังกระบวนการทำงานฉบับ เวส แอนเดอร์สัน ไว้ว่า เริ่มจากผู้กำกับ ตากล้อง และนักออกแบบงานสร้าง ยกขบวนกันไปออกสำรวจหาสถานที่ถ่ายทำตามสเปกในบทภาพยนตร์ ระหว่างนั้นเวสจะสร้างตัวการ์ตูนเป็นตัวละครเล่าเรื่องราว เวสพากย์เสียง และมีทีมงานทำภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว เพื่อเป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับการถ่ายทำ การสร้างฉาก ทีมงานสร้างเมืองแอสเทอรอยด์ ซิตี้ ขึ้นกลางทะเลทรายที่สเปน เริ่มตั้งแต่เป็นเมืองตุ๊กตา และใช้ตัวการ์ตูนแทนตัวละครในการซักซ้อมและหามุมภาพให้ได้ตามวิสัยทัศน์ของผู้กำกับและหาทิศทางในการเคลื่อนไหวกล้องก่อนการถ่ายทำกับนักแสดงจริง

ส่วนในวันถ่ายทำจริง Asteroid City ในกองถ่ายกลางทะเลทรายไม่มีการจัดแสงเพิ่มเติมใดๆ ถ่ายทำทุกเฟรมในแสงธรรมชาติล้วนๆ การถ่ายทำกลางฤดูร้อนที่สเปนแสงแดดกลางวันค่อนข้างแรง แต่ดวงอาทิตย์เป็นเหมือนอีกตัวละครหนึ่งในเรื่อง งานถ่ายภาพอ้างอิงจากภาพยนตร์อย่าง Paris, Texas ของผู้กำกับ วิม เวนเดอร์ส และ Bad Day at Black Rock ภาพยนตร์ของ บิลลี ไวล์เดอร์ ซึ่งถ่ายทำตอนพระอาทิตย์ตรงหัว เทคนิคที่ไม่พิเศษในการถ่ายทำคือใช้แผ่นรีเฟล็กซ์สีขาวสะท้อนแสงขาวเข้าหน้าของบุคคลที่อยู่ในฉากเพื่อลบเงาที่เกิดจากแสงอาทิตย์ส่องตั้งฉากลงมากลางหัว และมาปรับแสงได้อีกนิดหน่อยในภายหลัง นี่แหละคือความเป็นเขา… เวส แอนเดอร์สัน

Fact File

  • Asteroid City (แอสเทอรอยด์ ซิตี้) กำหนดฉายในโรงภาพยนตร์ เฉพาะที่ House Samyan สามย่าน มิตรทาวน์ เริ่มวันที่ 22 มิถุนายน  ค.ศ. 2023

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป