9 ไฮไลต์ Awakening Bangkok 2021 จัดจ้านจากย่านตลาดน้อยถึงซอยนานา
Lite

9 ไฮไลต์ Awakening Bangkok 2021 จัดจ้านจากย่านตลาดน้อยถึงซอยนานา

Focus
  • Awakening Bangkok 2021 มากับธีม RE:VIVE สื่อถึงการฟื้นคืนชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนจากความเงียบเหงาตลอดช่วงที่ผ่านมา
  • นอกจากการขยายพื้นที่จัดงานให้กว้างขวางขึ้นอีกจนถึงซอยนานา เยาวราช ปีนี้ยังมีแพลนจัดงานตลอดทั้งปีทั้งย่านข้าวสาร จนถึงจังหวัดขอนแก่นและเชียงใหม่

Awakening Bangkok 2021 กำลังเริ่มขึ้นแล้ว 25 มีนาคม – 3 มีนาคมนี้ พร้อมพาแสงสีกลับมาฟื้นความคึกคักให้กับย่านหลักในทุกปีอย่างย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อยตลอด 10 วันเต็ม แถมปีนี้ยังขยายวงกว้างขวางขึ้นอีกด้วยการพาชิ้นงานไปไกลถึงย่านซอยนานา เยาวราชให้ได้ตามรอยกันรวมแล้วกว่า 31 จุด 52 ชิ้นงาน โดยคอนเซปต์หลักของงานในปีนี้คือ RE:VIVE สื่อถึงการฟื้นคืนชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนจากความเงียบเหงาตลอดช่วงที่ผ่านมา 

สีสันของงานนอกจากแสงสีที่เราถือกล้องรอคอย ปีนี้ยังมาพร้อมกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเป็นปีแรกอย่าง Awakening Afternoon Walk Tours พาทัวร์ตึกเก่าและประวัติศาสตร์ย่านสำเพ็ง ทรงวาดและตลาดน้อยแบบเจาะลึก แต่สำหรับใครที่จองเข้าร่วมทั้ง 3 ทริปไม่ทันก็ไม่ต้องเสียใจเพราะภายในงานช่วงค่ำยังมีให้เราอินเตอร์แอคทีฟกับชิ้นงานได้อย่างสนุก และด้วยปีนี้ Awakening Bangkok จัดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทางผู้จัดงานเลยเพิ่มมาตรการขึ้นมาให้ทุกคนได้อุ่นใจด้วยการครีเอตเว็บแอปพลิเคชัน Awakening Bangkok (awakeningbangkok.com) ให้ได้ลงทะเบียนก่อนเข้าร่วม โดยภายในจะมี QR Code เพื่อการเช็คอินเข้าชมผลงานแต่ละจุด พร้อมแสดงปริมาณคนชมงานในจุดต่าง ๆ ให้เห็นความหนาแน่นก่อนตัดสินใจเข้าชม นอกจากนี้การเดินชมงานจะง่ายขึ้นด้วยฟังก์ชันแสดงจุดจัดแสดงงาน ร้านอาหารและกิจกรรมแต่ละจุด

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเดินชม Sarakadee Lite ขอแชร์พิกัด 9 ไฮไลต์มาให้ปักหมุดกัน คัดสรรชิ้นงานที่ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปสวย แต่เป็น 9 ชิ้นงานที่มีเนื้อหาที่ศิลปินต้องการสื่อสารแน่นมากจริง ๆ

Awakening Bangkok 2021

Cycle Lantern

ศิลปิน : วิทยา จันมา

สถานที่ : โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน

หากใครได้แวะไปชม Chiangmai Design Week เมื่อสองปีก่อนอาจคุ้นตากับงานชิ้นนี้มาบ้างและตอนนี้ไม่ต้องไปถึงเชียงใหม่ก็สามารถชมงานชิ้นนี้ได้อีกครั้งกับ Cycle Lantern ที่ วิทยา จันมา ศิลปินได้นำไอเดียของ “โคมผัด” หรือ โคมยี่เป็งโบราณ ที่ชาวล้านนานิยมประดับในวันยี่เป็ง หรือตามเทศกาลในสมัยก่อนนิยมนำมาติดตั้งคล้ายกับการจัดฉายมหรสพ แต่แทนที่จะติดตั้งแบบตรงไปตรงมาอย่างของเล่นของคนยุคโบราณ ศิลปินกลับเลือกนำ “โคมผัด” มาต่อยอดให้ร่วมสมัยขึ้นด้วยการผสมผสานเทคนิคภาพติดตาแบบการสร้างสรรค์แอนิเมชันในชื่อชิ้นงาน Cycle Lantern ผู้ชมเลยได้เห็นลวดลายของโคมผัดซึ่งเป็นภาพ 12 นักษัตรแบบล้านนา (ปีกุน เป็นรูปช้างแทนรูปหมู) กำลังเคลื่อนไหวคล้ายมีชีวิตอยู่ขณะที่โคมหมุน สะท้อนถึงความเป็นไปของชีวิตที่ไม่มีการหยุดเคลื่อนไหว

Awakening Bangkok 2021

CLOUDDREAMING 

ศิลปิน : MustStart

สถานที่ : Mother Roaster

อาคารเก่าเก็บอะไหล่ ชั้น 1 ของร้านกาแฟ Mother Roaster ถูกปรับเปลี่ยนเป็นภาพความฝันที่คลุมเครือ ซึ่งทีมสร้างสรรค์อย่าง MustStart ไม่ได้นิยามถึงความหมายของความฝันนี้อย่างชัดเจนเพื่อเปิดให้ผู้คนสามารถตั้งคำถามและตีความได้เองขณะเข้าชม ไม่ว่าจะด้วยแสง สี หรือการมีอยู่ของเมฆภายในอาคารที่ไม่ได้เปิดโล่งเหมือนท้องฟ้า แต่คอนเซปต์หลักสะท้อนถึงความคลุมเครือ และความไม่ชัดเจนคล้ายกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญแบบครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งสถานการณ์ความคลุมเครือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะฝัน

Awakening Bangkok 2021

Fish and Wish

ศิลปิน : 27 June Studio

สถานที่ : ชั้น 1 Patina Cafe

Fish and Wish ตรงตามชื่อคือการเสิร์ฟประสบการณ์ปล่อยปลาแบบ Virtual ผ่านเทคโนโลยี Interaction ศิลปินเลือกหยิบประเด็นนี้มาสื่อสารด้วยเห็นว่า “การปล่อยปลา” คล้ายการตั้งความหวังถึงสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมาหลายคนต้องเผชิญกับความยากลำบากที่ทำให้หมดหวัง ชิ้นงานนี้จึงสื่อถึงการกู้คืนความหวังเล็ก ๆ ให้กับทุกคนผ่านการปล่อยปลาที่ผู้ชมสามารถสแกน QR Code บริเวณพื้นเพื่อเลือกปลาที่ต้องการ อาทิ ปลาหมอ แทนความเชื่อถึงสุขภาพที่แข็งแรง ปลาไหลเพื่อชีวิตที่ราบรื่นหรือปลานิลเพื่อเพิ่มทรัพย์ จากนั้นอธิษฐาน และร่วมปล่อยปลาปล่อยความสิ้นหวัง และหวังอีกครั้งไปพร้อมกับชิ้นงาน

Awakening Bangkok 2021

Silk (ทอ)

ศิลปิน : ASITNAHC

สถานที่ : ชั้น 2 Patina Cafe

นอกจากการฟื้นฟูสีสันของย่านแล้ว ผลงาน Silk (ทอ) โดย ASITNAHC หรือ “แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล” เจ้าของลายเส้นยุกยิกในคาแรกเตอร์อ้วนกลม BOB The Nice Guy ยังมองเห็นแง่มุมความตั้งใจที่กำลังห่างหายและถูกลืมอย่างความประณีตของการทอผ้าไหมซึ่งเธอได้มีโอกาสไปเห็นกระบวนการทำที่ละเอียดละออในซอกหลืบของจังหวัดเชียงใหม่ ผลงานนี้แพรวจึงเลือกฉายประเด็นความฟื้นฟูไปสู่งานฝีมือดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ผู้คนให้คุณค่าในปัจจุบัน

ฉากหลังของชิ้นงานเกิดจากการร้อยเรียงไหมจริงแบบเส้นต่อเส้น ทาบทับด้วย Projection Mapping ฉายลวดลาย Digital Weaving หรือการทักทอผ่านโปรแกรมดิจิทัลจนเกิดลวดลายผ้าไหมอันประณีตขึ้นมา จุดมุ่งหมายของงานชิ้นนี้จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของงานฝีมือไทยผ่านเทคโนโลยีที่ดึงคุณค่าเหล่านั้นมาใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

The Catcher

ศิลปิน : De-selected

สถานที่ : ชั้น 2 Patina Cafe

ตื่นจากฝันร้ายไปพร้อมกันกับผลงาน Audio Visual Performance ผ่าน Light Installation ที่ทีม De-selected โดย กระติ๊บ-นุธิดา ทรัพย์บริบูรณ์ และ เม้ง-ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย นำนิยามของ ตาข่ายดักฝัน (Dreamcatcher) ตัวแทนของการฟื้นฟูจิตใจที่หม่นหมองมาสื่อสารผ่านแสงและเสียง 

ผลงานสื่อถึง 3 สภาวะที่ถ่ายทอดผ่าน 3 ลูป ในเวลาทั้งหมดราว 3 นาที นั่นคือสภาวะอยู่ในภวังค์เคลิ้มหลับแทนด้วยแสงสีฟ้า สภาวะฝันร้ายแทนด้วยสีแดง และลูปสุดท้ายแทนตาข่ายดักฝันที่จะค่อย ๆ มีแสงสีขาวเข้ามาดูดฝันร้ายหรือสีแดงออกไปจนหมดสู่สภาวะที่ถูกฟื้นฟูจนรู้สึกสบายใจ โดยในแต่ละลูปประกอบด้วยซาวด์ที่เข้ามาเสริมนำสู่ความรู้สึกในแต่ละสภาวะให้ชัดเจนขึ้น

น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว

ศิลปิน : Kamin and Promphorn

สถานที่ : บ้านริมน้ำ

เข้าสู่ความแฟนตาซีของโลกใต้น้ำด้วยผลงาน น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว โดย คามิน ภัคดุรงค์ และ แพน-พร้อมพร ชัยจิรวิวัฒน์ พร้อมเทคโนโลยี AR น้องปลาแหวกว่ายเป็นฟีลเตอร์สนุก ๆ ที่ศิลปินครีเอตขึ้นให้เราใกล้ชิดกับผลงานมากขึ้นผ่านอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก 

หันพลิกกลับอีกด้านเบื้องหลังความแฟนตาซี ชิ้นงานนี้สะท้อนประสบการณ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดนครปฐม เมื่อปลายปี พ.ศ.2564 ต้นไม้ของแม่ที่ตายจากน้ำท่วมขังจึงได้ถูกนำมาติดตั้งคืนชีวิต พร้อมลูกโป่งปลาเป็นหุ่นจำลองตัวแทนของปลาที่หลุดมาจากเขตอภัยทานพร้อมน้ำท่วมใหญ่ แต่งเติมด้วยแมงกะพรุนเพิ่มสีสัน อีกฟากหนึ่งของความหมายการ RE:VIVE ให้มีสีสัน จึงเหมือนเป็นการสะท้อนถึงเหตุการณ์น่าเศร้าที่ไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก

3 Stages of Us

ศิลปิน : Lapisara

สถานที่ : บ้านริมน้ำ

ชิ้นงานจัดวางสื่อถึงบัว 3 เหล่าที่ถูกนำมาเรียกแทนเวไนยสัตว์หรือบุคคล 3 จำพวกนั่นคือ “บัวใต้ตม” จำลองถึงการอยู่ใต้รากบัวหรือคนที่ไม่สามารถเข้าใจหรือเรียนรู้ได้ “บัวใต้น้ำ” หมายถึง คนที่สามารถเรียนรู้และบัวพ้นน้ำที่จะมีช่องว่างตรงกลางให้ผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงาน ตามคำเปรียบถึงมนุษย์ที่เป็น “บัวพ้นน้ำ”

หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากับศิลปิน แอปเปิ้ล-ลาภิสรา อินทรสูต จากการประกวดเดอะสตาร์ 7 และผลงานการแสดง แต่สำหรับ 3 Stages of Us ถือเป็นงานจัดแสดงครั้งแรกของเธอ ซึ่งในอีกด้านความสนใจแอปเปิ้ลกล่าวว่ามักศึกษาเรื่องต่าง ๆ อย่างลงลึกรวมถึงศาสนาและวัฒนธรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ในการจัดแสดงจึงเลือกหยิบยกประเด็นนี้มาสื่อสารด้วยคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้คน

Paint What You Like

ศิลปิน : 27 June Studio

สถานที่ : รถเฟียต ตลาดน้อย

ใครเดินย่านตลาดน้อยบ่อย ๆ ต้องจำได้แม่นกับรถเฟียตสีส้มคันเก่าที่อยู่จุดเดิมเสมอเวลาเดินผ่าน แต่งานนี้รถเฟียตจะมีสีสันขึ้นด้วยลวดลายกราฟิกและสีสันจากปลายมือของทุกคน เพราะทีม 27 June Studio ยกความสนุกมาให้เราได้มีส่วนร่วมกับผลงานแบบ Interactive เพราะเห็นว่าช่วงปีที่ผ่านมาเราต้องอยู่ใต้ข้อจำกัดกันมานับไม่ถ้วนและบางครั้งก็ไม่สามารถเลือกอะไรได้เลย

ชิ้นงานนี้จึงถือเป็นการให้อิสระและจินตนาการของผู้ชมคืนกลับมาอีกครั้งผ่านเทคโนโลยีที่ผู้ชมสามารถวาดเขียนเพิ่มลวดลายให้กับรถเฟียตได้แบบไม่จำกัดเฉดสี ซึ่งในอีกด้านสำหรับคนที่เดินผ่านไปมาจะได้เห็นความสดใหม่จากลวดลายที่เกิดขึ้นแบบไม่ซ้ำเพียงชั่วนาที

REVIVE – Life Light Like

ศิลปิน : ARN Creative Studio

สถานที่ : ดำปิ๊ดปี๋ (Studio ย่านนานา)

อาจเรียกชื่อของผลงานนี้อีกได้ว่า Stage of Light หรือ Life installation เพราะศิลปินเลือกหยิบประเด็นของชีวิตอย่างการเกิดและการดับมาแทนด้วยแสงเงา ตัวชิ้นงานแบ่งเป็นสองฟากนั่นคือฝั่งการเกิดแสงที่จะเป็นเงาตกกระทบเป็นภาพในอีกฟาก ซึ่งการจัดแสดงจะเป็นวงจรที่สลับฝั่งแสงและเงาอยู่ตลอดเพื่อสื่อถึงวงจรชีวิตที่มีการเกิดดับเกิดขึ้นคู่กันอยู่เสมอคล้ายแสงกับเงาที่ไม่อาจแยกขาดกันได้

Fact File

• Awakening Bangkok 2021 จัดแสดง 25 มีนาคม – 3 เมษายน พ.ศ.2565 ทั่วย่านตลาดน้อย เจริญกรุงและนานา เยาวราช

• รายละเอียดเพิ่มเติม : www.facebook.com/TimeOutBangkokTH


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม