ตามหาเสน่ห์ ตลาดน้อย : ซอกหลืบใหม่ในตรอกซอยเก่า
Faces

ตามหาเสน่ห์ ตลาดน้อย : ซอกหลืบใหม่ในตรอกซอยเก่า

Focus
  • ในขณะที่หลายต่อหลายย่านกำลังซบเซาจากผลกระทบของโรคระบาด ในช่วงระหว่างวันที่12-20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ชุมชนตลาดน้อย ดูจะสวนทาง ด้วยกิจกรรม Bangkok Design Week
  • หน้าตาใหม่ของตลาดน้อยมาเริ่มเผยโฉมเต็มที่เมื่อต้นเมษายน 2564 ด้วยการเปิดตัว ท่าเรือภาณุรังษี ด้านหน้าสวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สุดตรอกภาณุรังษีที่เป็นหนึ่งในสี่ท่าเรือชัตเทิล ที่เชื่อมกับอีกสามท่า

ในขณะที่หลายต่อหลายย่านกำลังซบเซาจากผลกระทบของโรคระบาด ในช่วงระหว่างวันที่ 12-20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ชุมชนตลาดน้อย ดูจะสวนทาง ด้วยกิจกรรม Bangkok Design Week ตลอดสองเสาร์อาทิตย์มีหนุ่มสาวหลายร้อยชีวิตย่องเดินลัดเลาะ ต่อคิวเข้าชมนิทรรศการ และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของเทศกาลอย่างรักษาระยะห่าง ส่งผลให้ช่วยฟื้นบรรยากาศคึกคักคล้ายที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งก่อตัวมาในชุมชนเซียงกงเก่าแก่นี้ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงต้นเมษา ที่ทุกสุดสัปดาห์และวันหยุดสำคัญ จะคลาคล่ำไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่พกพากล้องถ่ายรูปหรือสมาร์ตโฟนประหนึ่งอาวุธประจำกาย มีทั้งที่มาเก็บภาพอาคารเก่าขลัง ๆ ภาพกราฟิตีเก๋ ๆ และที่มาบันทึกภาพตัวเองเพื่ออัปเดตสเตตัสด้วยรูปเท่ ๆ ที่ยากจะหามุมถ่ายได้ชุมเท่านี้ในจุดอื่นของกรุงเทพฯ

นอกเหนือจากชีวิตชีวาของผู้มาเยือนที่ปริมาณเพิ่มขึ้น ย่านประวัติศาสตร์นี้ก็ดูจะมีจังหวะของการปรับโฉมที่เร่งเร้าขึ้น โดยเริ่มแต่งหน้าแต่งตามาได้พักใหญ่ ซอกมุมต่าง ๆ ถูกเก็บกวาด จัดระเบียบ ต่อเติม รวมถึงรื้อถอน กลิ่นเอกลักษณ์จากน้ำมันเครื่องยังมิได้จางหาย แต่กลิ่นมวลกาแฟและกลิ่นกรุ่นเนยจากขนมตามคาเฟ่เปิดใหม่ก็ดูอบอวลเพิ่มขึ้นทุกที 

หลายอาคารแข่งกันปรับโครงสร้าง ทาสีใหม่ และตกแต่งเพิ่มเติม บ้างอวดโฉมแล้ว บ้างรอวันแกะกล่อง รวมแล้ว คาเฟ่ ร้านอาหาร และโฮสเทลเจ้าใหม่ ไม่น้อยกว่า 20 เจ้ามาช่วยกันปรุงแต่งเพิ่มเสน่ห์ให้ตลาดน้อย ที่เปิดไปแล้วก็มี บ้านริมน้ำ, Mother Roaster, ตั๊กหลักเกี้ย

บูทีกโฮเทล, Loftel 22 และกลุ่มที่เพิ่งเปิดอย่าง ไทง้วนเองกี่, Panita Bangkok, บ้านธรรมชาติ 1608 และ ฮงเซียงกง ไม่นับรวมที่อยู่รอบนอกตามเส้นเจริญกรุงอย่าง Central: The Original Store, แกลเลอรี ATT19, TLoft coworking space, CARMINA coffeehouse, HOC Beverage Bar & Cat Café และ โครงการ Charoen43

ตลาดน้อย

กิจการแฝงความเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ในระดับต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนมากเป็นฝีมือของผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งก็เป็นลูกหลานชาวตลาดน้อยเอง ที่กลับมาสานต่อกิจการของครอบครัว หรือมาปรับปรุงพื้นที่ดั้งเดิมที่ถูกทิ้งว่างไม่ได้ใช้สอยประโยชน์เต็มที่ 

หน้าตาใหม่ของ ตลาดน้อย มาเริ่มเผยโฉมเต็มที่เมื่อต้นเมษายน 2564 ด้วยการเปิดตัว ท่าเรือภาณุรังษี ด้านหน้าสวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ที่รอวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ) สุดตรอกภาณุรังษีที่เป็นหนึ่งในสี่ท่าเรือชัตเทิล (Shuttle) ที่เชื่อมกับอีกสามท่า (ท่ากรมเจ้าท่าที่อยู่ใต้ลงไปในฝั่งเดียวกัน และท่าปากคลองสานใหม่ กับท่าล้ง1919 ในฝั่งธน) เพื่อสร้างคลัสเตอร์ของพื้นที่สร้างสรรค์ริมน้ำ

โฉมที่กำลังปรับเปลี่ยนของตลาดน้อย จะกระทบกับภาพจำของชุมชนเก่าแก่แห่งนี้หรือไม่ วิถีเก่า ๆ จะเลือนหายหรือลดบทบาทไปมากแค่ไหน ดงเซียงกง ย่านที่พักราคาถูกของผู้ใช้แรงงาน และชุมนุมอาหารอร่อยราคาประหยัด จะยังยืนหยัดทนกระแสความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ตลาดน้อย

ข่าวการขาดมารยาทของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปปีนป่ายรถโบราณที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญเพื่อถ่ายรูปได้ถูกแชร์ไปอย่างรวดเร็วเมื่อต้นปี ในแง่หนึ่งได้สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็บอกถึงความห่วงใยของสาธารณชน ที่เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่าอย่างมีจิตสำนึก

Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 3 คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังอีกก้าวย่างใหม่ของย่านถิ่นวัฒนธรรมและการค้าเก่าแก่แห่งนี้ ทั้งจากทางภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาสังคม ซึ่งจะมาบอกเล่าและสะท้อนมุมมองต่อตลาดน้อยบทใหม่

ตลาดน้อย

ตลาดน้อยกับการปรับโหมดสู่ “การท่องเที่ยวชุมชน”

ฆฤณ กังวานกิตติ นักพัฒนาเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์อาวุโสของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (Creative Economy Agency – CEA) ที่จับงานด้านพัฒนาถิ่นย่านมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ครั้งองค์กรยังอยู่ในนามและรูปแบบการจัดการของ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative and Design Center – TCDC) โดยพื้นที่หนึ่งที่จับมาตั้งแต่ต้นคือเจริญกรุง รวมถึง ย่านตลาดน้อย ด้วย ในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับการทำงานเพื่อการปรับตัวของย่านค้าถิ่นวัฒนธรรมเก่าริมน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน ฆฤณได้บอกเล่าบทบาทของ CEA และที่มาของโฉมใหม่ของตลาดน้อยไว้ว่า

บทบาทของ CEA ต่อพัฒนาการของชุมชนตลาดน้อย

“จริง ๆ แล้ว ทางทีม CEA ได้ริเริ่มที่จะร่วมกับชุมชนตลาดน้อยและเจริญกรุง เพื่อที่จะปรับปรุงพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ ตั้งแต่ก่อนจะย้าย TCDC มาอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก เพื่อสร้างในเห็นคุณค่าของการต่อยอดทุนวัฒนธรรมเดิมและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยจัดทำโครงการเจริญกรุงสร้างสรรค์ เมื่อ พ.ศ.2558-2559 สนับสนุนโดย สสส. ซึ่งมีสรุปประเด็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ ตามความต้องการจากมุมมองคนในพื้นที่ มีอยู่หลายประเด็นในการพัฒนา อาทิ การขาดพื้นที่สีเขียว ปัญหาพื้นที่รกร้าง และใช้สอยได้ไม่คุ้มค่า ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ หรือคนไม่รู้จักพื้นที่และไม่รู้เส้นทางไปไหนอย่างไร เป็นต้น ซึ่งครั้งนั้นเกิดผลงานทดลองต้นแบบและโมเดลกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานต่าง ๆ

“การพัฒนาพื้นที่ของเจริญกรุง-ตลาดน้อย จึงเกิดขึ้นมาจากทั้งความต้องการของตัวชุมชนเอง โดยได้รับความร่วมมือจากบุคคล และองค์กรภายนอกเข้าไปช่วยเสริม สำหรับทาง CEA ได้รู้จักกับตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ของชุมชนว่ามีใคร อะไรบ้าง และต่อยอดสร้างตัวอย่างโครงการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เป็นจุดหมายใหม่ และส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มทำงานกับกลุ่มก้อนที่มีความสนใจร่วมกัน ทั้งในการร่วมจัดงานต่าง ๆ เช่น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จัดในพื้นที่ของชุมชน หรือการร่วมทำโครงการต่าง ๆ เช่น Portrait of Charoenkrung ที่ส่งเสริมต่อยอดเรื่องราวอัตลักษณ์พื้นที่ผ่านภาพถ่ายครอบครัว หรือ Made in Charoenkrung ที่เน้นทำงานส่งเสริมผู้ประกอบการดั้งเดิมในพื้นที่ให้เกิดสินค้าบริการใหม่ กลุ่มลูกค้า และช่องทางการขายใหม่ ๆ”

Bangkok Design Week กับ ตลาดน้อย 

“ตัวกิจกรรม Bangkok Design Week ที่จัดมาทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งทาง CEA มีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพ ก็ถือเป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้ประชาคมสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ เห็นว่าพื้นที่ตลาดน้อยนี้สามารถทดลองให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง สร้างตัวอย่างการใช้พื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งเกิดผลงานสร้างสรรค์ใหม่ จากการต่อยอดเสน่ห์ของพื้นที่ ทั้งทักษะฝีมือ สถาปัตยกรรม หรือวิถีชีวิตเรื่องราวเฉพาะพื้นที่ โดยดึงดูดให้นักสร้างสรรค์ได้เข้ามาทำงานร่วมกับคนในพื้นที่และชุมชน ซึ่งพอยิ่งจัด ทาง CEA ก็ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรหน่วยงานหรือกลุ่มอื่น ๆ มาร่วมกันสร้างความหลากหลายให้พื้นที่มากขึ้น เกิดกระบวนการเรียนรู้พัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมด้วยกัน” 

กระแสการท่องเที่ยวในถิ่นย่านที่เกิดขึ้น

“เห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เริ่มปรับเปลี่ยนบทบาท มีมิติของการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ แน่นอนว่าย่อมมีคนในพื้นที่เดิมส่วนหนึ่งไม่พอใจ อย่างกรณีที่เกิดนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปอย่างไม่เคารพสถานที่ หรือสร้างความรำคาญ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันไป ซึ่งทาง CEA ก็ได้พยายามถ่ายทอดให้ผู้จัดงานที่มาปรึกษากับ CEA ได้รับทราบข้อระมัดระวังการจัดงานและเข้ามาใช้สอยพื้นที่ตลาดน้อย และแนวทางการจัดการเพิ่มขึ้น”

คุณฆฤณได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ช่วงหนึ่ง โซนตลาดน้อยและเจริญกรุงโดยรอบก็ประสบภาวะซบเซา มีตึกร้างมากมาย ทาง CEA ก็ได้เคยทดลองโปรเจกต์กระตุ้นพื้นที่โดยสำรวจและโปรโมตพื้นที่ที่ติดป้ายให้เช่าหรือซื้อ และสื่อสารบนเพจออนไลน์โดยปักหมุดถึงอาคารที่ว่างและให้ข้อมูลอาคารรูปภาพและเบอร์ติดต่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้ติดต่อเจ้าของพื้นที่ที่พร้อมให้เข้ามาเช่าดำเนินธุรกิจโดยตรงได้เอง ในที่สุด ด้วยความพยายามของหลายฝ่ายประกอบกับเอกลักษณ์ของพื้นที่และต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ ตัวตลาดน้อยและถิ่นย่านโดยรอบจะมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า ก็สามารถดึงดูดผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาได้ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ตลาดน้อย และเสน่ห์ย่านที่ดึงดูดนักลงทุน

ปรีชา อธิปธรรมวารี นอกจากจะเป็นทายาทรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ของตลาดน้อย ผู้ประกอบการด้านอะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์และกรรมการชุมชนคนสำคัญ เขายังเป็นเจ้าของอาคารเก่าสำคัญหลายจุด อย่าง ไทง้วนคาเฟ่ รวมถึงร้านอาหาร บ้านธรรมชาติ 1608 หนึ่งในกิจการริมน้ำเกิดใหม่ชุมชนตลาดน้อยที่ปรับเอาเรือนเก่ามาเป็นร้านอาหารและโรงแรมที่พัก ลองมาฟังแนวคิดของคุณปรีชาในฐานะที่เป็นคนตลาดน้อยตัวจริงที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเกิดตนเองมาอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตลาดน้อย 

“ที่ผ่านมา ย่านตลาดน้อยคึกคักมากในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ มีบริบทกิจกรรมที่ต่างไปจากวันธรรมดา ที่มีกิจกรรมซื้อ-ขายเซียงกงเป็นหลัก วัยรุ่นที่เดินช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เคยนับดูร่วมพันคนต่อวัน แต่มักเน้นการถ่ายรูปเป็นหลัก การจับจ่ายจริง ๆ เป็นกลุ่มคนวัย 30 ขึ้นไป ผ่านการกินดื่มเที่ยว

“ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดน้อยมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยบางคนที่ยังชอบความสงบอยู่ มีบางปัญหาอย่างเรื่องการจอดรถ แต่สักพักพอเห็นประโยชน์กันก็จะเริ่มปรับตัว และเริ่มมองเห็นจุดดี ว่ามีสิ่งดี ๆ เข้ามา เช่นสวนสาธารณะ สถานที่ผ่อนคลาย มีประโยชน์ที่เอื้อเข้าหากันได้ อย่างกรณีสวนศิลป์อาจารย์ป๋วยฯ ช่วงแรกก็มีประชาพิจารณ์ เสียงไม่เห็นด้วยมากถึง 70% แต่พอเห็นกิจกรรมที่มานำร่องว่ามีหน้าตาและก่อให้เกิดอะไรบ้าง ชุมชนก็เริ่มปรับเปลี่ยนท่าที” 

ทำไมถึงลงทุนเริ่มธุรกิจสายใหม่อย่างร้านอาหาร คาเฟ่ และโรงแรมในตลาดน้อย จากธุรกิจเดิมที่ทำด้านอะไหล่อุปกรณ์รถยนต์ และมองหน้าใหม่ ๆ ที่เข้ามาลงทุนกิจการในพื้นที่นี้อย่างไรบ้าง

“ส่วนตัวผมเอง เข้ามาลงทุนเพราะชอบบรรยากาศริมน้ำมากกว่า ช่วงที่เริ่มกิจการ ตลาดน้อยเพิ่งจะเริ่มขยับตัว ศักยภาพยังไม่เกิดเต็มที่ แต่ก็ต้องลงทุนไปมากโดยเฉพาะกับการปรับปรุงอาคารติดน้ำที่มีไม้เป็นส่วนประกอบ

“ร้านรวงใหม่ ๆ ได้เข้ามาช่วยเสริมกิจการเซียงกงซึ่งก็เริ่มอยู่ในช่วงของการปรับตัวอยู่แล้ว ด้วยมีการเปลี่ยนของอะไหล่รถรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งรวมถึงการจัดวางสินค้าใหม่ พวกชิ้นใหญ่ ๆ ก็มักย้ายไปขายนอกเมือง รวมกับบทบาทของตลาดออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทางกายภาพดูเหมือนร้านเซียงกงหดขนาดลง โดยตามจริงขนาดธุรกิจไม่ได้ลดลงตาม กิจการเซียงกงจึงยังไม่หายไปไหน

“สำหรับนักลงทุนใหม่ ได้เข้ามาอาศัยความโดดเด่นของตัวสินค้าผสมกับเสน่ห์ของถิ่นย่าน ตัวช่วยที่สำคัญคือสื่อต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับย่านนี้มาก ผู้ประกอบการที่เข้ามาใหม่ พวกเขามองถึงความเป็นที่นิยมของย่านนี้ มาจากต่างจังหวัดก็มี จากกลุ่มสถาปนิกนักออกแบบก็มี เห็นเสน่ห์ของอาคารเก่าในโซนนี้ มีการพบปะพูดคุยบ้าง แต่เป็นส่วนตัวไม่เป็นทางการ เพื่อทำความรู้จัก รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นรุ่นหลานของชุมชนเองก็มีวิสัยทัศน์”

คุณปรีชาเปรยถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีพอสมควร คนเริ่มระวังพื้นที่ปิดในห้องแอร์มากขึ้น เวลาให้กินดื่มก็จำกัดขึ้น ถ้าไม่มีโควิด-19 กิจการต่าง ๆ ก็น่าจะดำเนินไปได้เรื่อย ๆ ด้วยดี จากจำนวนประชากรของกรุงเทพฯ ที่เริ่มแออัดมากขึ้น ไม่นับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก อย่างไรก็ตามทางชุมชนตลาดน้อยก็เริ่มมีกลุ่มท่องเที่ยวเอง เช่น กลุ่มสกูตเตอร์ กลุ่มไกด์เยาวชนท้องถิ่น ที่เริ่มมาได้เกือบปี รวมถึงอาจมีสปีดโบ๊ตของเอกชนในชุมชนที่พาไปท่องลำคลองเองอีก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไป

งานสถาปัตยกรรมและจิตวิญญาณแห่งย่าน

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ เป็นสถาปนิกชุมชนและนักวิจัยจากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้ทำงานอยู่กับกลุ่มปั้นเมือง และร่วมทำงานกับชุมชนตลาดน้อยบ้านเกิดมาอย่างยาวนานกว่าสิบปี มีส่วนร่วมกับโครงการและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนมากมาย อาทิ เพจย่านจีนถิ่นบางกอก ตลาดนัดตะลักเกี้ยะ แอปพลิเคชันเดินไชน่าทาวน์ การปรับปรุงบ้านไทง้วนเองกี่ รวมถึงเป็นกรรมการชุมชนในปัจจุบัน เรียกได้ว่าประวัติศาสตร์บทใหม่ของตลาดน้อยจะขาดชื่อของคุณจุฤทธิ์ หรือที่เรียกขานกันในกลุ่มนักพัฒนาชุมชนเมืองว่าคุณโจ สายเลือดตลาดน้อยหนุ่มเลือดใหม่ไฟแรงคนนี้ไปไม่ได้ ซึ่งเขาได้ให้บอกเล่าถึงมิติของชาวบ้าน ชุมชน และคนรุ่นใหม่กับตลาดน้อยบทใหม่ให้เราได้รับทราบว่า

คนในชุมชนตลาดน้อยมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร และทางกลุ่มปั้นเมืองเองได้เข้าร่วมกับชุมชนได้อย่างไร 

“คนในชุมชนเองโดยรวมมองการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นไปในทางบวก มันเริ่มมาราวสิบปีแล้วตั้งแต่ในสมัยที่ยังไม่ได้ตั้งเป็นกลุ่มปั้นเมือง ซึ่งในตอนนั้นทีมงานได้รับโจทย์ของการฟื้นฟูย่านเก่าที่สามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเมืองได้ ซึ่งช่วงนั้นได้มีกระแสของการทำเมืองน่าอยู่หรือสร้างให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ แพร่หลายกันในระดับโลกทีมงานจึงได้เริ่มทำงานกันที่ตลาดน้อย ด้วยความเชื่อว่าถ้าชุมชนไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเมืองตามยุคสมัยหรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ ก็อาจจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จากกลไกการพัฒนาที่ดินซึ่งทำให้ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่การเข้ามาของรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน และโจทย์อื่น ๆ ของพื้นที่ เช่น ความเสื่อมถอยของย่าน ความขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ ความต้องการรักษามรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ หรือการพัฒนาสู่ความเป็นย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง เป็นต้น

“ช่วงแรก คนในชุมชนไม่ค่อยมีใครเห็นถึงประเด็นการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการพัฒนาใหม่ ๆ นี้แบบชัดเจนเท่าไรนัก แต่เขาสัมผัสได้ถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาลง มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพครอบครัวตัวเอง เช่น ลูกหลานย้ายบ้านออกไปอยู่ข้างนอกมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลด้านครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น หรือจากทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตในชุมชนนี้เริ่มไม่สะดวกสบายคับแคบ วุ่นวาย จอดรถยาก ในขณะที่หลายบ้านก็ยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอยู่ ยังคงรักษาบ้านหลังเดิมที่อยู่มาแต่เดิมไว้ไม่ไปไหน และถึงแม้ว่าจะย้ายออกนอกชุมชนไปชานเมืองกันแล้ว แต่สมาชิกหลักก็ยังต้องกลับมาทำงานทำมาหากิน หรือมาไหว้เจ้าไหว้บรรพบุรุษร่วมกันที่นี่ เพราะคนรุ่นปู่ย่านั้นก็ยังคงอยากให้รุ่นลูกหลานยังอยู่ในนี้สืบทอดมรดกทั้งที่อยู่อาศัยหรือกิจการต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ตลาดน้อย

คนของตลาดน้อยรุ่นใหม่มีบทบาทอย่างไรบ้างต่อการฟื้นตัวและรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปของบ้านเกิดของบรรพบุรุษตนเอง

“ในปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่อยากย้ายออกไป หรือย้ายออกไปแล้วแต่อยากกลับมา ก็เริ่มมีคำถามว่าจะหาทางปรับไลฟ์สไตล์ในการอยู่ที่นี่ต่อไปให้ได้อย่างไร เพราะย่านนี้มีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่เดินทางได้สะดวกมากกว่าบ้านใหม่ที่ตั้งอยู่ที่ชานเมือง และปัจจุบันตัวพื้นที่เองก็มีความสะดวกในด้านการเดินทางมากขึ้นจากระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย นอกจากนี้ก็ยังมีเสน่ห์จากความเป็นย่านชุมชนคนจีนเก่าแก่ที่เริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้าง จึงเริ่มมีคนอยากกลับมาอยู่ในนี้อีกครั้ง

“ปัจจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิดกระแสของคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นรุ่นหลาน ที่อยากจะฟื้นฟูกิจการในพื้นที่เดิมหรืออาคารบ้านเรือนเก่าๆของครอบครัว ซึ่งพวกเขาก็เห็นช่วงโหว่ทางวัฒนธรรมประเพณีในแง่มุมต่าง ๆ ด้วยการที่เติบโตมาในกระแสของสังคมที่เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้าง ทำให้พวกเขาย้อนถามว่าทำไมต้องรักษาสิ่งเก่า ๆ และถ้าจะรักษาจะรักษาอะไร อย่างไร มีการเริ่มกลับมาสำรวจชุดความรู้เดิมที่อาจจะขาดหายไปในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ตามธรรมเนียมหรือเทศกาลต่าง ๆ ก็เริ่มมาศึกษาคุณค่า และตีความใหม่กับประเพณีเหล่านั้น ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น”

ประเพณีดั้งเดิมของชุมชนที่ยังคงอยู่

แล้วคนรุ่นเก่า รุ่นพ่อแม่ รุ่นอากงอาม่า

“ในขณะเดียวก็มีความพยายามของคนรุ่นเก่าที่พยายามรักษาคุณค่าเก่า และพร้อมที่จะถ่ายต่อให้คนรุ่นใหม่ โดยมีความคาดหวังว่า คนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตและสร้างการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้าจะเห็นความสำคัญของเก่าก่อนด้วย เราจึงพยายามสร้างพื้นที่หรือกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดคุณค่ากันในโอกาสต่าง ๆ ในหลาย ๆ ครั้งเราพบว่าบทสนทนาที่ข้ามรุ่นจากรุ่นปู่ย่าตายายไปสู่รุ่นหลานจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าแบบรุ่นพ่อรุ่นแม่คุยกับรุ่นลูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ว่ารุ่นที่ติดกันแบบพ่อแม่กับลูกอาจจะคุยได้ยากกว่าแบบที่ปู่ย่าตายายคุยกับหลาน อาจด้วยบทบาทหน้าที่ในครอบครัวที่แตกต่างกันไป หรืออาจจะไม่มีสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวหรือชวนคุยในรายละเอียดแม้ว่าตัวจะมีส่วนร่วมอยู่ในวัฒนธรรมนั้นในหลายๆ โอกาส แต่ก็ไม่เคยถ่ายทอดกันในหลักการหรือรายละเอียด กลายเป็นทำต่อ ๆ กันมาโดยที่ความรู้และเหตุผลก็ค่อยหายไปตามผู้สูงอายุที่ค่อย ๆ ล่วงลับไป”

ช่วยกันทำขนมประจำเทศกาล

แล้วคนรุ่นใหม่มองมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่ก่อนอย่างไรบ้าง

“ก็มีการมองว่าทำอย่างไรที่จะดึงข้อดีทางสังคมวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนให้กลับมาเข้มแข็งได้ จริง ๆ มันยังไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ในเทศกาล ในประเพณี แต่ต่างคนต่างทำ ขาดพลังเชิงชุมชน ทำให้คิดกันว่าน่าจะมีการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันทำ เพราะทำให้มีพลังมากขึ้น เช่น ความพยายามในการฟื้นเทศกาลหง่วนเซียว ไหว้บ๊ะจ่าง ไหว้พระจันทร์ และเทศกาลกินเจ กระบวนการทำงานจะเน้นไปในเชิงการให้กำลังใจกัน และการถ่ายทอดความรู้แลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกันในชุมชน โดยอาจต้องมีการถอดความรู้ เรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน ก็มาพูดคุยในช่วงเวลานี้ น่าสนใจที่ว่า ศรัทธา และ ความเชื่อ เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้เชื่อมคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับบังคับให้เชื่อหรือไม่เชื่อ แต่มองในแง่เป็นเครื่องมือที่ใช้เชื่อมต่อกัน ผ่านธรรมเนียมประเพณี เห็นได้ว่าในเทศกาลต่าง ๆ คนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดการเทศกาลต่าง ๆ มีการแบ่งหน้าที่ ทำให้เกิดการพูดคุยและถ่ายทอดความรู้ ความทรงจำ เรื่องราวกันในครอบครัวอย่างเป็นธรรมชาติ

“แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ว่าเหล่าคนรุ่นใหม่เองก็ยังไม่ได้มีการรวมตัวจริงจังและยังมีจำนวนไม่มาก ซึ่งทางทีมก็ต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นความสนใจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดเสวนา การจัดนิทรรศการการเดินศึกษาย่าน การทำแผนที่ชุมชน การสร้างสื่อ เช่น วารสาร เพจโครงการ หรือการเปิดเว็บแอปพลิเคชัน Walk in Chinatown (www.walk.in.th) ที่ปักหมุดสถานที่สำคัญและมรดกทางวัฒนธรรมในตลาดน้อยและเขตสัมพันธวงศ์ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มคนใหม่ ๆ รวมไปถึงร้านค้ากิจการของคนดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะนำไปสู่การพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูย่านที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไปในอนาคต”

ภาพรวมของประชากรหรือผู้คนในชุมชนตลาดน้อยทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้าง ส่งผลกระทบต่อลักษณะทางภายภาพของชุมชนบ้างไหม 

“มากกว่าครึ่งของคนอยู่อาศัยเดิม ถือโฉนดที่ดินเป็นของตัวเอง ไม่ได้ขายไปไหน ซึ่งรุ่นหลานก็เริ่มคิดกลับมาอยู่ใหม่ พัฒนา และสร้างความมีชีวิตชีวา แม้ว่าอาจจะเทียบกับวิถีชีวิตแบบเก่าในความทรงจำของผู้ใหญ่หลาย ๆ คนไม่ได้ เพราะเมืองก็มีการขยายตัวไปตามเวลา แต่ก็ยังพอรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ด้พอสมควร ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เนื่องจากยังอยู่กันเป็นชุมชน ยังรู้จักกัน ยังพอมีสำนึกในย่านร่วมกัน จึงรู้สึกปลอดภัย รู้สึกคุ้นเคย และชินกับวิถีการกินการอยู่

“ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงของโครงการสร้างประชากร แรงงานต่างถิ่นเริ่มอพยพเข้ามานานหลายสิบปีมากแล้ว เพราะที่นี่เป็นชุมชนย่านการค้าและย่านอยู่อาศัยที่ต้องอาศัยแรงงานเป็นจำนวนมากในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและกลาง จากแต่เดิมเป็นกลุ่มแรงงานอีสานที่เข้ามาใช้ทักษะง่าย ๆ ในตอนแรก ซึ่งในปัจจุบันพวกเขาก็เริ่มมีการพัฒนาทักษะให้มีมากขึ้น หลังจากพอเก็บเงินตั้งตัว ก็เติบโตเป็นเจ้าของธุรกิจเอง และมาสู่ยุคของแรงงานต่างด้าวที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน

ตลาดน้อย

“ด้านทางกายภาพนั้นอาคารบ้านเรือนที่ว่างลงในช่วงที่คนรุ่นเก่าเกิดการย้ายออก ก็ทำให้เกิดประชากรกลุ่มใหม่ เป็นคนนอกที่เข้ามาเช่าอยู่อาศัย หรือทำธุรกิจ แทนเจ้าของเดิม เกิดการเติบโตของคอนโดมิเนียมและอะพาร์ตเมนต์ที่เข้ามาแทรกอยู่ในกลุ่มอาคารเก่านั้นอยู่บ้าง แต่ก็มีอยู่ไม่มากจากลักษณะรูปที่ดินในตลาดน้อยเป็นพื้นที่แปลงเล็กติดต่อกันเป็นจำนวนมากและมีราคาแพงยากต่อการสร้างอาคารใหม่ขนาดใหญ่ขึ้นตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร จึงทำให้ต้องรักษาอาคารเก่าไว้แล้วไปปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้สอยพื้นที่ภายในหรือต่อเติมอาคาร ใครที่พอมีทุนสะสมที่พอจะปรับปรุงให้อยู่ที่นี่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าสมัยรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ปรับปรุงไป ใครไม่มีหรือไม่อยากเป็นภาระก็หาคนมาเช่า มาเซ้ง หรือขายออกไป

“กฎหมายนี้แม้ว่าในแง่หนึ่งเป็นผลดีด้านคุณภาพชีวิต สวัสดิภาพความปลอดภัยโดยตรง และให้ผลการอนุรักษ์อาคารทางอ้อม แต่ก็อาจไม่เข้ากันกับความเป็นจริงในการดำรงชีวิตทั้งหมด ซึ่งเราอาจจะรักษาได้แค่อาคาร หรือความสวยงามของย่าน แต่เราไม่สามารถรักษาคนและมรดกภูมิปัญญาที่อยู่ในคนไว้ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าอาคารไม่สามารถปรับปรุงได้ หรือไม่มีแนวทาง (guideline) และแรงจูงใจสำหรับปรับปรุงอาคารที่เหมาะสมต่อการรักษาย่าน เราก็ต้องทนอยู่กับความผุพังของอาคารต่อไปจนอยู่ไม่ได้ จะรื้อสร้างใหม่ก็จะต้องถอยร่นอาคารจนไม่คุ้มที่จะสร้างใหม่ จึงต้องยอมย้ายออกหรือปล่อยให้คนนอกมาเช่าอาคารต่อไป ย่านก็อาจจะค่อยๆเสื่อมโทรมลง และมรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญา รวมไปถึงสำนึกของความเป็นเจ้าของย่านกับความสัมพันธ์ของคนชุมชนก็หายไปตามคนที่ย้ายออกไปด้วยเช่นกัน”

จุดเด่นของตลาดน้อยคืออะไร 

“จุดเด่นของตลาดน้อยคือมีต้นทุนมรดกทางวัฒนธรรมสูง มีอาคารเก่าสวยงายหลายหลัง มีความเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ใหญ่เยอะ มีนก มีกระรอก มีค้างคาว มีงู มีเหี้ย มีความสบายเพราะอยู่ติดแม่น้ำ ให้บรรยากาศเหมือนเป็นต่างจังหวัดที่อยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ก็มีความสโลว์ไลฟ์ (slow life) ซึ่งเวลาที่นี่เหมือนจะเดินช้ากว่าข้างนอก คนและสภาพแวดล้อมหลายอย่างไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง และดูรู้จักกันหมด ซึ่งน่าจะเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนในยังอยากอยู่ต่อ และให้คนนอกเข้ามาใช้เวลา ใช้ชีวิต ในแง่มุมของความสนใจที่ต่าง ๆ กันไป”


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว