กลับมาอีกครั้ง! มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 23
Lite

กลับมาอีกครั้ง! มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 23

Focus
  • เตรียมพบกับ มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 23 จัดแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • การแสดงระดับนานาชาติที่ผสมผสานทั้งความคลาสสิกและความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นบัลเลต์ โอเปร่า เบรกแดนซ์

กลับมาสร้างสีสันให้กรุงเทพฯ อีกครั้งกับ มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 23 เวทีที่รวบรวมศิลปะการแสดงและดนตรีระดับโลก โดยในปี 2564 นี้มาพร้อมกับ 6 ชุดการแสดงภายใต้คอนเซปต์ การเฉลิมฉลองจิตวิญญาณของมนุษยชาติ (A celebration of the enduring spirit of humankind) ซึ่งอีกนัยก็เพื่อฉลองการกลับมาเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการของกรุงเทพฯ พร้อมเปิดม่านให้ชมตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ.  2564  ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และสำหรับใครที่ยังมีความกังวลไม่กล้ามาชม ณ สถานที่จริง นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวไทยสามารถซื้อบัตรรับชมได้ทางออนไลน์ซึ่งจะจัดขึ้นขนานไปกับเวทีจริง

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ

สำหรับไฮไลต์เริ่มจากการแสดงบัลเลต์สุดคลาสสิก Swan Lake (18-19 พฤศจิกายน)ปีนี้ได้นำเทคโนโลยี 3 มิติมาร่วมผสมผสานในการแสดง ถือเป็นการแสดงซิกเนเจอร์ที่มีเพียงจาก คณะรัสเซียนมัลติมีเดียบัลเลต์เธียร์เตอร์ แห่งเดียวในโลกเท่านั้น ต่อด้วยการแสดงบัลเลต์ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงในเรื่อง Nutcracker (20-21 พฤศจิกายน) โดยคณะรัสเชียนมัลติมีเดียบัลเลต์เธียร์เตอร์อีกเช่นกัน พบสุดยอดทีมนักเต้นบัลเลต์จำนวน 44  คน ส่งตรงจากรัสเซียพร้อมฉากดิจิทัล 3 มิติที่สร้างความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของคลาร่าและตุ๊กตาทหารนัทแครกเกอร์สู่ดินแดนแห่งเทพนิยาย ผ่านบทเพลงยอดนิยมของไชคอฟสกีผสานกับเรื่องราวของเวทมนตร์ในคืนวันคริสต์มาสอีฟ

อีกความพิเศษคือ มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 23 เป็นการกลับมาพบแฟนชาวไทยอีกครั้งของ คณะลอสวิวานโกส จากประเทศสเปนกับการแสดงชุดใหม่ล่าสุด Vivancos Live 7 (26 พฤศจิกายน) หนุ่มสเปนรูปงามตระกูลวิวานโกส จะมาโชว์การเต้นอันเร้าใจจนเวทีต้องลุกเป็นไฟ อาทิ แท็ป ฟลาเมงโก ศิลปะการต่อสู้ประกอบกับฉาก ดนตรี และการออกแบบเวทีพร้อมแสงอันอลังการ โดยการแสดงในครั้งนี้ได้รวมฉากเด็ดจากโชว์ 7Hermanos, Aeternum และ Born to Dance เข้าไว้ด้วยกัน

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ

ส่วนแฟนๆ โอเปร่าปีนี้ โจเซฟ คาเลญ่า (เทเนอร์) และ เซลีน เบิร์น (โซปราโน) ได้กลับมารวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับคอนสแตนติน ชูดอฟสกี วาทยกรเจ้ามือรางวัลระดับโลกซึ่งจะผลิตผลงานเพื่องานมหกรรมฯ ครั้งนี้โดยเฉพาะ ด้านศิลปะการแสดงร่วมสมัยยังมี การแสดงชุด Motion (12 ธันวาคม) จาก คณะ คอมพานี ซาร์บัท ประเทศฝรั่งเศส ที่ถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ผ่านการเต้นฮิปฮอป ผสมผสานกับการฉายภาพดิจิทัลแบบไดนามิก แสดงให้เห็นถึงศิลปะในการเต้นเบรกแดนซ์ที่แท้จริง ซึ่งเบรกแดนซ์กำลังจะกลายมาเป็นกีฬาชนิดใหม่ใน โอลิมปิก ปารีส ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้าที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ

ปิดม่านเวทีด้วยการแสดงที่ใครก็พลาดไม่ได้ ดื่มด่ำไปกับเสียงเพลงจากสุดยอดนักร้องคลาสสิกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกกับซุปเปอร์สตาร์ชาวเวลส์ เสียงเมซโซ-โซปราโน แคทเธอรีน เจนกินส์ (Order of the British Empire) เจ้าของรางวัลThe Biggest Selling Classical Artist of the Century จาก Classic FMโดยเธอได้รับเชิญไปขับร้องในวโรกาสงานเฉลิมฉลองของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรหลายครั้ง ซึ่งการแสดงครั้งนี้อำนวยเพลงโดย แอนโทนี่ อิงกลิซ (16  ธันวาคม)

Fact File

  • มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 23 จัดแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ.2564 ดูรายละเอียดรอบจัดแสดง www.bangkokfestivals.com หรือ www.facebook.com/BangkokFestivals
  • สำรองที่นั่งได้แล้วตั้งแต่วันนี้ทาง Thai Ticket Major: www.thaiticketmajor.com  และเคาน์เตอร์ Thai Ticket Major ทุกสาขา
  • สำหรับการรับชมการแสดงผ่านทางออนไลน์ได้โดยสามารถดูรายละเอียดรอบการแสดงและซื้อบัตรรับชมผ่านทาง www.zipeventapp.com
  • สงวนสิทธิ์ในการเข้าชมการแสดงสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบสองเข็มแล้วเท่านั้น ผู้ชมต้องนำเอกสารยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าชมการแสดง โดยสามารถเปิดเอกสารรูปแบบดิจิทัลได้จากโปรแกรมหมอพร้อม
  • สำหรับการจัดงาน มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 23 กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ได้ดำเนินตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยมีการจัดจำนวนที่นั่งสำหรับการรับชมการแสดงภายในพื้นที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ลดลง 50 เปอร์เซ็นต์

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite