Lazada, Shopee หลบไป ตลาดเปิดท้าย หน้า ม. สะพัดแล้วจ้า
Lite

Lazada, Shopee หลบไป ตลาดเปิดท้าย หน้า ม. สะพัดแล้วจ้า

Focus
  • ในวิกฤติ โควิด-19  ได้เกิดโอกาส ใหม่ๆ เพื่อเอาตัวรอดขึ้นมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ กรุ๊ปขายของออนไลน์ของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน, จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส, ตลาดนัด มศว.ออนไลน์, ปล่อยของมือสอง มช.  และ Silpakorn Online Market : ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ เป็นต้น
  • แม้จะเป็นกรุ๊ปขายของเฉพาะสมาชิกของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่กลับมียอดการขายที่สะพัดไม่ต่างจากแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ซึ่งในวันที่ 14 เมษายน 2563 ทั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน และ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส มียอดสมาชิกเกือบแตะ 1 แสนคนแล้ว

ในวิกฤติยังมีโอกาสเสมอ และโอกาสในการสร้างรายได้ช่วง วิกฤติโควิด-19 ตอนนี้ก็ไม่ได้มีแค่การขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มช็อปปิ้งรายใหญ่อย่าง Lazada หรือ Shopee เท่านั้น นาทีนี้พื้นที่ที่ขายกันชนิดตลาดแตกจริงๆ ขายกันนาทีต่อนาที ต้องยกให้กรุ๊ป (ไม่) ลับของเหล่าศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น ประเดิมด้วยกรุ๊ปต้นตำรับที่ขายกันเดือดสุดๆ ตั้งแต่อาหาร นกแก้ว จระเข้ ไก่งวง สะตอ ยันแม่ชีประกาศขายวัด อย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน

ตามมาติดๆ ด้วย จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ที่แม้จะมาทีหลังแต่เงินสะพัดแต่ละวันสูงมาก ง้าวต้นรัตนโกสินทร์ก็มี ด้วงไว้เลี้ยงแก้เบื่อช่วงโควิด-19 ก็หาได้ รับแต่งกลอนงานศพก็มาเปิดกิจการเงียบๆ แต่ปังมาก ตอนนี้เริ่มมีประกาศขายสวนยางที่โดนไฟป่าภาคเหนือไหม้วอดกันแล้วและที่ตามมาเงียบๆ อย่าง ตลาดนัด มศว.ออนไลน์, ปล่อยของมือสอง มช. , Silpakorn Online Market : ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ ก็เริ่มมีศิษย์เก่าเข้าไปเปิดร้านกันรัวๆ ด้วยเช่นกัน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน
ตัวอย่างสินค้าที่มีทุกอย่างเกินกว่าจะนึกออก

“กรุ๊ปลับ” สื่อกลางที่ไม่มีคนกลาง ใช้ดีจนต้องบอกต่อ

“แนวคิดในการสร้างเฟซบุ๊ก ‘ธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ มาจากเพื่อนในเฟซบุ๊กจำนวนมากโดนผลกระทบจากโควิด 19 เพื่อนคนหนึ่งอยู่ระนอง โพสต์ขายปลาร้า เราก็เอ๊ะ ใครจะไปเห็นโพสต์นี้เยอะนอกจากเพื่อนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่เขาเรียน คนคณะนี้ก็น้อยมาก อีกคนเป็นแอร์โฮสเตส บางคนเป็นเจ้าของร้านอาหาร ทุกคนมีรายจ่าย พยายามที่จะหานู่นหานี่มาขาย เราพยายามแนะนำคนนี้ให้อีกคน จนมาคิดว่าเออ มันควรมารวมกันในที่เดียว จะได้ง่ายขึ้น คิดแล้วก็ทำเลยภายในสองนาที จุดประสงค์คือ อยากเป็น ‘สื่อกลาง’ ให้คนต่างคณะในธรรมศาสตร์ที่อยากขายของ ซื้อของได้มาเจอกัน เราแค่หวังว่า เวลามีคนธรรมศาสตร์ต้องการซื้อขายอะไรก็เข้ามาหาของในนี้ อุดหนุนคนกันเอง เชื่อว่าเรียนและทำงานในมหาวิทยาลัยเดียวกันคงไม่หลอกกัน บางคนอยากเริ่มธุรกิจก็อาจจะมาเจอหุ้นส่วนและคู่ค้ากันที่นี่ ความที่เคยเรียนที่เดียวกันมามันก็น่าจะทำให้คุยกันง่ายขึ้น”

ตัวอย่างสินค้าขายดีฝั่งธรรมศาสตร์

แซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร สารคดี ถึงแนวคิดในการก่อตั้งกลุ่ม เป็นการคิดปุ๊บและลงมือทำปั๊บ

เช่นเดียวกับ อาร์ม-ปาณพล จันทรสุกรี ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แอดมินผู้ก่อตั้งกลุ่ม จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งอาร์มเองเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ที่ตัวเองทำอยู่ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ชั่วคราว ประกอบกับทางบ้านมีร้านเบเกอรี่เล็กๆ ที่เคยโพสต์ฝากขายในกลุ่มไลน์ของหมู่บ้าน คอนโด ซึ่งกลายเป็นว่าได้ผลตอบรับดีมาก ตามที่อาร์มได้กล่าวใน Facebook Live วันเปิดตลาดอย่างเป็นทางการ (13 เมษายน 2563)

จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส
อาร์ม-ปาณพล จันทรสุกรี ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แอดมินผู้ก่อตั้งกลุ่ม จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส

“การซื้อของในกรุ๊ปหมู่บ้าน คอนโด โมเดลนี้อาร์มว่าคือการขายความจริงใจ คนซื้อ คนขายได้เห็นหน้ากันในการค้าขาย เป็นโมเดลที่คนซื้อได้รู้ที่มาที่ไปของสินค้าและบริการ คนขายเองก็ต้องมั่นใจในคุณภาพสินค้าตัวเองอยู่แล้ว เพราะอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เป็นเพื่อนบ้านกันก็ต้องเอาของดีมาขาย สำหรับอาร์มเองทำอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ เราเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ  มันเป็นเหมือนปิดเทอมใหญ่ที่ไม่มีแคลชโฟลว์เลยสักบาท ตอนนี้ก็เลยผันตัวมาขายของเต็มตัว ขายผลไม้ ขนม อาหาร ขายเล็กๆ ของเราไป คราวนี้ก็ไปเห็นกรุ๊ปธรรมศาสตร์ที่ขายของกัน มองว่าเป็นไอเดียที่ดี ก็มาโพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า จุฬาฯ มีคนทำรึยัง เราจะได้มาขายของ เพื่อนๆ ก็บอกไม่มี”

เมื่อโควิด-19 มาพร้อมไฟป่าเลยขายไร่ที่โดนไฟป่าเสียเลย

“วันเสาร์ที่ 11 ก็เริ่มครีเอทกรุ๊ป ดึงเพื่อนๆ ศิษย์เก่าเข้ามา และเราก็เห็นการขายสินค้าบริการจริงๆ เกิดขึ้น เริ่มจากคนหลักพัน อาร์มเองก็ได้ยอดสั่งของเพิ่มขึ้น เท่านี้ก็แฮปปี้แล้ว พอวันอาทิตย์คนก็เริ่มเข้ามาเยอะมาก เหมือนของที่ใช้ดีแล้วก็บอกต่อ เราก็เลยเอาล่ะ หันมาจัดการระบบการขายอย่างจริงจัง แบ่งหมวดหมู่สินค้า มีกติกาการขาย ตั้งใจว่าจะทำแพลตฟอร์มนี้ให้เป็นพื้นที่การค้าขายดีที่สุดในช่วงนี้ อยากช่วยเหลือทุกคนให้ผ่านวิกฤติไป คือมันซีเรียสนะ จากคนๆ หนึ่งที่เคยหาเงินได้เยอะๆ และวันหนึ่งเราต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพ ลูกเรือ นักบิน คือเห็นชัดมาก”

จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส
ตัวอย่างสินค้าที่ไม่มีในแอปพลิเคชันช็อปปิงใหญ่ๆ

เปิดตลาดอาชีพ จุดประกายไอเดียใหม่ โควิด-19 เราต้องรอด

นอกจากยอดการขายของร้านเล็กๆ ที่ดีขึ้นทันตาเพียงชั่วข้ามคืนแล้ว ข้อดีของแพลตฟอร์มตลาดในกรุ๊ปลับอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน รวมทั้ง จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส และอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เริ่มเปิดตลาดกัน คือ การขายตรงที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง ไม่ต้องลงทะเบียนในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่าง อาจจะเสียค่าขนส่งเพียงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายตามจริงในราคาที่คนซื้อยอมรับได้

และด้วยกฏกติกาการขายในบางกรุ๊ปที่ต้องระบุรหัสนักศึกษา บอกคณะก่อนจะโพสต์ขาย ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้า บริการ มากขึ้น เชื่อมั่นในความเป็นพี่เป็นน้อง ไม่ต่างจากโมเดลการเปิดกรุ๊ปไลน์ขายของในคอนโด หรือหมู่บ้าน ที่มีความคุ้นเคยของคนบ้านเดียวกันเป็นความเชื่อมั่น

อีกความสนุกของโมเดลกรุ๊ปลับคือ ใครอยากได้สินค้าอะไร อยากขายอะไรสามารถโพสต์บอกได้ทันที เช่น การตามหาสะตอในตำนานของกรุ๊ปธรรมศาสตร์ การประกาศหาร้านอาหารอร่อยย่านบางบอนซึ่งอยู่ไกลเกินพื้นที่บริการของดิลิเวอรี่เจ้าใหญ่ๆ ทั้งหลาย และที่สำคัญกรุ๊ปเหล่านี้มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย อย่างที่แอปพลิเคชันช็อปปิงใหญ่ๆ ก็ทำไม่ได้

จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส
งานของเก่าก็มา

ไม่ว่าจะเป็น ง้าวต้นรัตนโกสินทร์ ที่ดินสวนยางไฟไหม้ ลอดช่องสิงคโปร์เจ้าแรกในไทย หาคู่เดทออนไลน์ ขายรูปเก่าแฝดอินจัน ประกาศขายเพื่อนสวย ขายด้วงซึ่งปกติจะขายอยู่เพียงในกลุ่มคนที่สนใจด้วงเท่านั้น อาชีพรับจ้างสร้างพิพิธภัณฑ์ก็มา ขายตู้ใส่จระเข้ นักจิตวิทยาที่ประกาศดูดวงก็มี เพิ่มพลังศาสตร์ฮวงจุ้ยสู้โควิด-19 ก็เปิดร้านรับปรึกษา รับออกแบบลายเซ็นเสริมดวงก็ขายดีมาก โพสต์ขายของเก่าที่บ้านก็เริ่มฮิตกันแล้ว

คนนี้ก็ว่างยังจ้างได้

ส่วนอาชีพที่หลายคนอาจไม่คิดว่าจะทำเงินได้อย่าง ทำขวัญนาค รับแต่งกลอนงานศพ ก็เป็นไอเดียใหม่ๆ ที่จุดประกายให้หลายคนกลับมาต่อยอดความสามารถที่ตนเองมีอยู่จนกลายเป็นอาชีพใหม่ในช่วงนี้ได้ และต่อไปก็ไม่แน่อีกเหมือนกันว่า โมเดลกรุ๊ปขายของออนไลน์เหล่านี้อาจจะกลายเป็นกรุ๊ปไม่ลับที่เติบโตเป็นแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพในการขาย เฉพาะวันที่ 14 เมษายน 2563 ทั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน และ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส มีสมาชิกเกือบ 1 แสนคนแล้ว และที่แน่นอนที่สุดคือ หลังจบวิกฤติโควิด-19 พฤติกรรมของเหล่านักช็อป นักขาย จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์